องค์กรเฝ้าระวังสื่อวอนสื่อทำการบ้านเสนอข่าวเชิงลึก

ประชาไท - 18 เม.ย. 49 มีเดีย มอนิเตอร์ เสนอให้สื่อมวลชนช่วยกันรายงานข่าวการเลือกตั้งในเชิงลึก พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย บทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา รวมถึงนำเสนอรายการวิเคราะห์ทิศทางการทำงานของวุฒิสภา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองในระบอบประชาธิปไตยว่า "ประชาธิปไตยไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง"


 

โครงการเฝ้าระวังสื่อ เพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ โครงการมีเดีย มอนิเตอร์(Media Monitor) แถลงผลการศึกษาและเฝ้าระวังรายการโทรทัศน์เรื่อง "จับตาข่าวเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549" ณ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อเสนอแนะ การทำงานของสื่อมวลชน ในการรายงานข่าวการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) วันที่ 19 เมษายน 2549 นี้

 

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการฯกล่าวถึงผลการศึกษาการรายงานข่าวการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมาของสื่อฟรีทีวี พบว่า ทุกช่องเน้นหนักไปที่บรรยากาศทั่วไปในการเลือกตั้งแต่ละเขต และออกอากาศภาพของผู้มีชื่อเสียงที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยที่บางช่องไม่มีรายการพิเศษเพิ่มเติมจากผังรายการเดิม หรือมีรายการพิเศษ เชิญวิทยากร นักวิชาการมาพูดคุยหรือสนทนาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย

 

ผู้อำนวยการโครงการกล่าวถึงการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องประชาธิปไตยว่าแต่ละช่องมีน้อยมาก เช่น กรณีการฉีกบัตรเลือกตั้งของ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หลายช่องผู้ดำเนินรายการนำเสนอว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และเป็นความวุ่นวายจากการเลือกตั้ง โดยไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ รศ.ดร.ไชยันต์ใช้ต่อสู้ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

 

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์ฯตั้งข้อสังเกตเรื่องการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ปกติ แต่สื่อมวลชนกลับนำเสนอในรูปแบบเดิม คือรายงานสถานการณ์ และบรรยากาศ ไม่มีการให้ข้อมูล และการวิเคราะห์ทิศทางทางการเมืองว่าจะส่งผลอย่างไร รวมทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งวุฒิสภาของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีน้อยกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมามาก

 

ในการเลือกตั้ง ส.ว. วันที่ 19 เมษายนนี้ โครงการฯจึงมีข้อเสนอแนะให้สื่อมวลชนหลายประการ คือ ประการแรก ควรจัดให้มีรายการพิเศษเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว. และให้มีการแสดงความคิดเห็นของอดีต ส.ว. นักวิชาการ คณะกรรมการการเลือกตั้งและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่และความสำคัญของวุฒิสมาชิกต่อระบอบประชาธิปไตย  ประการที่สอง เสนอให้มีการเสนอบรรยากาศทั่วไปของการเลือกตั้งทุกระยะ ทั้งก่อนเปิดหีบ ขณะเลือกตั้ง และหลังปิดหีบ การขนย้ายรวมทั้งการนับคะแนนให้เน้นไปที่การวิเคราะห์เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ทางการเมือง แนวโน้มและทิศทางของการเมือง

 

ประการที่สาม โครงการฯเสนอให้สถานีมีการเตรียมบุคคลากรให้เข้าใจสาระสำคัญและแก่นความคิด และวิธีการในการเลือกตั้ง ไม่มองการเลือกตั้งอย่างแยกส่วนและต้องเชื่อมโยงสถานการณ์อันเป็นเหตุให้มีการเลือกตั้ง

 

และประการสุดท้าย สื่อมวลชนควรให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้นในกระบวนการเลือกตั้ง และความรู้ความเข้าใจในกฎหมายเลือกตั้ง รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนเฝ้าระวังการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้ง รายงานให้ทราบถึงองค์กรที่สามารถร้องเรียนได้ และเสนอให้มีการร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้งผ่านสื่อด้วย

 

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งวุฒิสภาครั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศเปิดศูนย์จับตาการเลือกตั้ง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยแจ้งเหตุหรือเบาะแสการทุจริตมาได้ที่ 0-2621-6705, 0-9163-3326, 0-9163-3376, 0-9163-3364, 0-9163-3397 และโทรสาร 0-2621-6716 e-mail : seree.org@gmail.com และ www.seree.org รวมทั้ง ตู้ ปณ. 339 ปณจ.สามเสนใน พญาไท กทม. 10400

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท