Skip to main content
sharethis

ศราวุฒิ ประทุมราช


นักสิทธิมนุษยชน / ผู้รับทุนปัญญาชนสาธารณะ ระดับอาวุโส (API -Fellowship)ประจำปี 2005-2006 tuactive@yahoo.com


 


หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน  โครงการ API Fellowship ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบแต่ประการใด          


 


 


"ผมรู้สึกตกใจเมื่อทราบว่าลูกชายถูกจับ และไม่ทราบว่าถูกควบคุมไว้ที่ไหน แปดปีมาแล้วที่เราตามหาลูก ปัจจุบันก็ยังคิดว่าเขาน่าจะมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง"คุณดิโอนีซีอุส อูโตโม วัย 60 ปี


 


"...เพื่อนของลูกชายมาที่บ้านบอกว่าลูกฉันถูกทหารจับตัวไป..ฉันจึงรีบไปยังค่ายทหาร เจ้าหน้าที่บอกว่า ลูกฉันไม่ได้อยู่ที่นี่ เขาถูกปล่อยตัวไปแล้ว ให้ไปถามเพื่อนๆ ลูกดูซิ ฉันกลับไปตามหาตามบ้านเพื่อน ทุกคนว่าเขาไม่ได้มา ฉันกลับไปที่ค่ายทหารอีก เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าปล่อยตัวไปแล้ว และให้ดูเอกสาร แต่ฉันไม่มีกะจิตกะใจแล้ว จึงได้แต่ร้องไห้ .."นางตูตี้ วัย 68 ปี


 


"ผมถูกจับตัวไปจากห้องพัก ไปที่ไหนก็ไม่ทราบ ผมกลัวจนตัวสั่นและวิตกไปต่างๆ นานา ว่าเขาจะพาผมไปฆ่าแน่ๆ เพราะผู้ที่มาจับผมคือทหาร ไม่ใช่ตำรวจ ผมถูกซ้อมทรมานอยู่ 2 คืน ถูกตี ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า หลังจากนั้นจึงถูกนำตัวมายังสถานีตำรวจ...ผมยังนับว่าโชคดีที่ยังมีชีวิตรอดมาได้ ต่างจากเพื่อนๆ และประชาชนอีกมากที่ยังหายสาบสูญมาจนทุกวันนี้" มูกียันโต วัย 32 ปี


 


ข้างต้นนี้คือความรู้สึกของผู้เสียหายและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2540 - 2541 ก่อนที่ระบอบซูฮาร์โตจะพังทลายลงในเวลาต่อมา


 


มูกียันโต ประธานสมาคมญาติผู้สูญหายแห่งอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในผู้เสียหาย เขาถูกจับกุมตัวโดยทหารเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2541 ขณะยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ขณะนั้นเขาได้ทำกิจกรรมทางการเมืองเช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไปที่มีจิตสำนึกทางการเมือง ก่อนถูกจับเขาทำงานการเมืองด้วยการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมาย 5 ฉบับที่ออกมาในสมัยซูฮาร์โต เมื่อปี พ.ศ.2528 นั่นคือ กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งทั่วไป กฎหมายว่าด้วยองค์การประชาชน กฎหมายว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร และกฎหมายว่าด้วยการถอดถอน ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คณะทหารเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการบังคับใช้ เพราะในยุค พ.ศ.2523 - 2541 ฝ่ายทหารมีอาณัติที่เรียกว่า Dual Function of the Armed Forces หรือ ทวิภารกิจ กล่าวคือ นอกจากทหารมีหน้าที่ในด้านปกป้องความมั่นคงของชาติแล้ว ยังมีหน้าที่รักษาความมั่นคงทางสังคมและการเมืองด้วย ในช่วงดังกล่าวฝ่ายทหารมีความเข้มแข็งค้ำจุนและเกื้อกูลระบอบซูฮาร์โตให้สามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างสงบราบคาบ มีพรรคการเมืองเพียง 3 พรรคเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทางการเมืองได้ การรณรงค์ของกลุ่มนักศึกษา ภายใต้การนำของมูกียันโต ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าป็นพรรคการเมืองนอกกฎหมาย ซึ่งต่อมารัฐบาลได้สั่งหยุดกิจกรรมนักศึกษาและประกาศว่ากลุ่มของมูกียันโตเป็นพวกปฏิปักษ์ต่อรัฐ  


 


มูกียันโตถูกควบคุมตัวอยู่ 3 เดือน จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อ วันที่ 8 มิถุนายน 2541 ภายหลังจากนายฮาบีบี ได้รับการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานาธิบดี ภายหลังการสิ้นสุดของซูฮาร์โต


 


เมื่อได้รับการปล่อยตัวเขาได้เข้าร่วมงานกับ KontraS หรือ คณะกรรมาธิการเพื่อผู้สูญหายและเหยื่อของความรุนแรง องค์การพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งก่อตั้งโดยนายมูนีลและคณะนักสิทธิมนุษยชน แต่เนื่องจากต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยเขาจึงได้เข้าเป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวแห่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ ประจำอินโดนีเซียในปี 2543 - 2544 ทำให้เวลาส่วนใหญ่ต้องทุ่มเทให้กับงาน จนห่างเหินจากคอนทรัส จนกระทั่งวันหนึ่งเขาจึงฉุกคิดขึ้นว่าตนไม่ได้ช่วยเหลือผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกับเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ยังคงหายสาบสูญไปในช่วงเดียวกับที่เขาถูกจับ มูกียันโตจึงลาออกจากการเป็นผู้สื่อข่าว และทำงานเต็มเวลาให้แก่สมาคมในฐานะเจ้าหน้าที่ด้านข้อมูลและรณรงค์


 


เพื่อนของมูกิยันโตที่หายสาบสูญไปคนหนึ่ง คือ บิโม เปตรุส นักศึกษาภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัย Driyarkara Jakarta บุตรของดิโอนีซีอุส อูโตโม ซึ่งถูกจับพร้อมเพื่อนๆ เมื่อ 31 มีนาคม 2541


 


ดิโอนีซีอุส เป็นชาวบ้านธรรมดา ทำงานประจำอยู่ใกล้บ้าน ในฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลประสาทกลาง เมืองมาลัง เมื่อทราบว่าลูกถูกจับก็ได้ออกตามหายังค่ายทหารและสถานีตำรวจหลายแห่ง แต่ก็ไม่ทราบความคืบหน้า เขาไปยื่นจดหมายถึงรัฐบาลหลายครั้ง เพียงเพื่อต้องการทราบว่าลูกยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากเสียชีวิตไปแล้วก็ขอให้ได้ศพกลับมาจัดการทางศาสนา นอกจากนั้นอยากให้มีกฎหมายในการลงโทษผู้จับตัวไปเพราะเชื่อว่าลูกไม่ได้ทำอะไรผิด และที่สำคัญคืออยากเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก


 


"ผมมีความหวังเพียงน้อยนิดต่อรัฐบาล ในการพิสูจน์ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกของผม รัฐบาลไม่เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนกรณีนี้ ไม่เคยให้คำตอบอะไรเลย" ดิโอนีซีอุสกล่าว และโดยส่วนลึกๆแล้ว เขาคิดว่าลูกชายยังคงมีชีวิตอยู่  


 


เช่นเดียวกับนางตูตี้ แม่ของลูกชายที่หายสาบสูญไปเมื่อ 26 กรกฎาคม 2540 เมื่อรู้ว่าลูกถูกจับ เธอก็ออกตามหา แต่ไร้คำตอบจากรัฐ เมื่อทราบว่ามีหน่วยงานชื่อ คอนทรัส เธอจึงไม่รีรอที่จะไปขอความช่วยเหลือ เธอได้พบกับมูนีล ทนายความและนักสิทธิมนุษยชนผู้ก่อตั้งคอนทรัส มูนีลเป็นตัวตั้งตัวตีพาตูตี้ออกตามหายานี อาฟรี บุตรชายของตูตี้ในทุกส่วนราชการ รวมทั้งได้เข้าพบประธานาธิบดี อับดุลเลาะห์มาน วาฮิด และผู้บัญการทหารสูงสุด ในขณะนั้น คือ พลเอกวิรันโต แต่ก็ไม่มีร่องรอยของอาฟรีแต่อย่างใด


 


"..ฉันได้รับการเยียวยาทางใจจากคอนทรัส แต่ก็ยังคงไม่สามารถทำใจได้ ฉันร้องไห้ทุกครั้งที่ไปคอนทรัส และเมื่อได้ยินนักดนตรีข้างถนนร้องเพลง ฉันก็ยิ่งสะท้อนใจคิดถึงลูก แม้เราจะยากจนแต่เขาก็มีวิญญาณศิลปินในหัวใจ เขาเคยร้องเพลงและเล่นกีร์ต้า เขาเคยแต่งเพลงและร้องให้ฉันฟังโดยนำทำนองมาจากเพลงยอดนิยมเพลงหนึ่ง ...เราไม่มีรายได้อะไร เขาถือเป็นเสาหลักของครอบครัวในการหารายได้ เมื่อลูกหายไป เราจึงขาดรายได้ ฉันจึงต้องไปขอยืมเงินจากญาติ และเพื่อนๆ และอีกส่วนหนึ่งได้จากการที่ฉันรับจ้างเย็บผ้า..."


 


ญาติของผู้สูญหายเหล่านี้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากองค์การพัฒนาเอกชน ชื่อ อิโคฮี - IKOHI ในภาษาบาฮาสา-อินโดนีเซีย แปลว่า สมาคมญาติผู้สูญหายแห่งอินโดนีเซีย ก่อตั้งขึ้นโดยนายมูนีลและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ภายหลังจากซูฮาร์โตสิ้นอำนาจ ปัจจุบันมีนายมูกียันโตเป็นประธาน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัชชา ผู้สูญหายแห่งอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา


ในการประชุมสมัชชาญาติผู้สูญหายนั้น ผู้เข้าร่วมสมัชชามาจากประชาชนทุกส่วน นับตั้งแต่อาเจะห์ซึ่งเป็นจังหวัดทางตะวันออกสุด จนกระทั่งถึงปาปัวซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกสุดของอินโดนีเซีย รวมทั้งสิ้นกว่า 80 คน ทั้งที่เคยเป็นผู้ต้องหาโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม และผู้ที่มีญาติพี่น้องสูญหายจากสาเหตุทางการเมืองในสมัยซูฮาร์โตเรืองอำนาจ นับตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปี 2541 การจัดสมัชชาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 นับจากครั้งแรกที่จัดขึ้นเมื่อปี 2545 และมีกำหนดจัดสมัชชาทุกๆ 3 ปี


 


นอกจากสมัชชาจะมีเป้าหมายเพื่อการเลือกตั้งคณะกรรมการและประธานสมาคมคนใหม่แล้ว ยังมีการทบทวนภารกิจและทิศทางขององค์กรในการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่สมาชิกด้วย รวมไปถึงการติดตามหาผู้สูญหายเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ครอบครัว อันเป็นวิถีทางหนึ่งในการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย


 


"รัฐบาลอินโดนีเซียทุกสมัย ตั้งแต่สิ้นสุดระบอบซูฮาร์โต นอกจากจะไม่เคยให้คำตอบที่เป็นรูปธรรมต่อการติดตามหาผู้สูญหายแล้ว ยังไม่เคยบรรเทาความทุกข์ยากแก่ญาติมิตร ไม่เคยจัดการเรื่องค่าเสียหายหรือจัดหาอาชีพให้แก่ครอบครัว เราจึงต้องเรียกร้องทางการเมืองให้รัฐบาลรับผิดชอบ"นายมูกียันโตอธิบาย และกล่าวเสริมว่า "ปัจจุบัน สังคมอินโดนีซียเริ่มไม่สนใจผู้เสียหายและผู้สูญหายเนื่องจากสาเหตุทางการเมืองแล้ว เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมอื่นๆ ที่รุกเร้ารัฐบาลให้ต้องแก้ไข และยังมีเรื่องการคอรัปชั่นอีก ซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานในสังคมของเรา คนอินโดนีเซียเป็นคนลืมง่าย.."ประโยคสุดท้ายฟังดูเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน คนไทยก็ลืมง่ายกับความบอบช้ำทางการเมือง


 


แม้อินโดนีเซียกำลังอยู่ในช่วงของระบบการเมืองที่เรียกว่า "ยุคปฏิรูป" หรือ Reformasi ภายหลังการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากระบอบซูฮาร์โต ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นยุค "คำสั่งใหม่" หรือ New Order แต่ผู้สูญหายและผู้เสียหายจากสาเหตุทางการเมืองยังคงต้องต่อสู้ต่อไป ภายใต้ระบอบการเมืองและการปกครองใหม่ เพื่อเรียกร้องหาความยุติธรรม ทั้งนี้มิใช่เพื่อตนเองและครอบครัว แต่เพื่อกระบวนการทางการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศ 


 


แม้งานของสมัชชาผู้สูญหายของอินโดนีเซียจะผ่านพ้นไป แต่ภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น เป็นภารกิจที่ไม่มีทางทราบได้ว่าเมื่อไรจะได้รับคำตอบ ทำให้นึกถึงผู้สูญหายทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นการสูญหายจากสาเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นในภาคใต้ปัจจุบัน หรือกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่รัฐบาลไม่เคยให้คำตอบแก่ญาติ ได้เลยว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง


 


ยุคปฏิรูปของอินโดนีเซียคงไม่ต่างกับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่การปฏิรูปการเมือง เพียงแต่การเมืองของไทยเข้าสู่ขั้นที่สองในการโค่นล้มระบอบทักษิณ จึงอาจกล่าวได้ว่าระบบการเมืองสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคนี้ยังมีปัญหา และนับเป็นปัญหาร่วมก็ว่าได้ ที่นักการเมืองและข้าราชการส่วนใหญ่ยังไม่มีหลักการ ไม่มีหลักคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม จึงมักจะใช้อำนาจนอกระบบกฎหมาย หรือใช้  "กฎหมู่" จัดการกับผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หรือผู้ที่ไปขัดผลประโยชน์ฝ่ายตน


 


อินโดนีเซียคงต้องหันกลับมาทบทวนเรื่องการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง เพื่อให้การเมืองเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การเมืองเป็นเรื่องของการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง การเมืองเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน การเมืองที่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง


 


ถ้าพลเมืองของประเทศมีความเข้มแข็งและไม่ยินยอมให้มีการใช้อำนาจนอกระบบดังกล่าวได้แล้ว นี่คือการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง และเราคงไม่ต้องมานั่งหาคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูญหายทางการเมืองอีกต่อไป


 


สู้ต่อไปเถิด...ประชาชนชาวอินโดนีเซีย คนไทยไม่อยากเห็นท่านเดินตามรอยที่ปวดร้าวทางการเมืองเช่นที่เมืองไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้


 





ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net