Skip to main content
sharethis

เหตุสะเทือนใจกรณีการจับตัวครูผู้หญิงโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้า กลายเป็นโศกนาฏกรรมทำร้ายตัวประกัน ทำให้ 1 ใน 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นโคม่านั้น เสมือนละลอกคลื่นใหญ่ในเขื่อนซึ่งกำลังปริ่มน้ำ ที่ยากจะคาดเดาว่า ทำนบของความรู้สึกซึ่งมีสติแยกแยะชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกจากกลุ่มแนวร่วมที่เคลื่อนไหวก่อเหตุไม่สงบ จะพังทลายลงเมื่อไร


 


เหตุการณ์จับครู เช่นที่โรงเรียนกูจิงลือปะนั้น ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้มีกรณีจับครูเพื่อต่อรองกับรัฐหลายต่อหลายครั้ง เช่นที่โรงเรียนบ้านไอบาตู และโรงเรียนบ้านละหาน ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส หรือล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.ต้นปีที่ผ่านมา ชาวบ้านรอบโรงเรียนเจาะเกาะ ม.14 บ้านดารุลอิซาน ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส บุกเข้าจับตัวครูในโรงเรียนเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับรัฐให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยที่ตำรวจบุกเข้าตรวจค้นจับกุม


 


เพียงแต่หลายครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการทำร้ายครูถึงขั้นเลือดตกยางออก แต่กระนั้นก็ทำลายขวัญและกำลังใจของพวกเขาและเธอเหล่านั้น จนบางโรงเรียนต้องปล่อยให้ร้างครู  และกลายเป็นฐานที่ตั้งของหน่วยทหาร ที่เข้าดูแลรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านแทน


 


ย้อนรอยเหตุแห่งกูจิงลือปะ


 


เวลา 10.30 น.ของวันที่ 19 พ.ค. กำลังเจ้าหน้าที่ 3ฝ่ายคือ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลังทำการปิดล้อมและตรวจค้นพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ ม. 4 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อค้นหาผู้ต้องสงสัยในคดีซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 2 นายที่สถานีรถไฟลาโล๊ะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งในเหตุการณ์นั้นมีผู้ต้องสงสัยและออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจำนวน 8 คน


 


ทั้งนี้เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นที่บ้านเลขที่ 47 ม.4 ก็พบกับนายอับดุลการีม มาแต อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37 ม.10 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  ผู้ต้องหามีหมายจับเลขที่ จ.249 /49 และ นาย มูหะมะสะแปอิง มือลี อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 188/1 ม.1 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ผู้ต้องหามีหมายจับที่ ฉฉ.238/49 รวมทั้งพบอาวุธปืนพก.45มม. เลขทะเบียน นธ.03-37000015 จำนวน 1 กระบอกพร้อมกระสุน 4 นัดและซองบรรจุกระสุนปืนจำนวน 1 ซองพร้อมของกลางอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ เงิน วิกผม ซิมการ์ด ฯลฯ 


 


โดยเมื่อตรวจสอบเลขทะเบียนของปืนกระบอกดังกล่าวพบว่าเป็นของ จ.ส.ต.ธเนศ จุลเทพ ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 447 บ้านเจาะวา ซึ่งถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนธ.ค. 4 ปีที่แล้ว ในท้องที่ สภ.ต.มูโน๊ะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จึงคุมตัวทั้ง 2 คนไปสอบสวน


 


ผ่านไป 2 ชั่วโมง หลังเจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกจากหมู่บ้านและเดินทางกลับ ได้มีเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงจากมัสยิดประจำหมู่บ้าน ปลุกระดมให้ชาวบ้านผู้หญิงมารวมตัวกันขณะเดียวกันมีคนเดินไปเคาะประตูเรียกตามบ้าน ทำให้มีชาวบ้านออกมาชุมนุมกันบริเวณหน้าโรงเรียนกูจิงลือปะ จำนวน 100 คนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง


 


หลังจากนั้น  ประมาณ 10 คนจากในกลุ่ม เดินเข้าไปภายในโรงเรียนและถามหาครูไทยพุทธ โดยบางส่วนแยกขึ้นไปบนชั้น 2 ของอาคารเรียน จับตัวตัวครู "จุ้ย" จูหลิง ปงกันมูล"อายุ 27 ปี  แล้วนำไปคุมตัวไว้ในห้องเก็บของ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งห่างจากโรงเรียนประมาณ  300 เมตร


 


ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเดินไปจับตัวครู "ศินีนาฏ ถาวรสุข" อายุ 30 ปี ที่ร้านขายอาหารประจำหมู่บ้าน โดยนำมาควบคุมไว้ที่เดียวกันกับครูจูหลิง และได้ลงมือตบตีและทำร้ายร่างกายครูทั้งสองคน 


 


ตามรายงานการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ ครูศินีนาฏ ให้สัมภาษณ์ นั้นระบุว่า มีชายคลุมหน้าจำนวนหนึ่ง เข้ามาภายในห้องแล้วใช้ไม้ทุบตีจนครูจูหลิงและครูสินีนาฏได้รับอาการบาดเจ็บ โดยครูจูหลิงได้รับบาดเจ็บสาหัสจนสลบ ส่วนครูศินีนาฏได้รับบาดเจ็บน้อยกว่า ซึ่ง เจ้าตัวเองคิดว่า น่าจะเป็นเพราะเธอไม่สู้ ขณะที่ครูจุ้ยนั้นสู้คนร้าย ส่วนเวลาที่ถูกจับนั้น น่าจะไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง จนกระทั่งนายฮารง ยือโซะ ผู้ใหญ่ บ้านกูจิงลือปะ บุกเข้ามาช่วยเหลือนำทั้งสองครูส่งโรงพยาบาล และหลังจากเจ้าหน้าที่เข้ามาคุมพื้นที่ ก็มีการสืบ สวนและจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง


 


รัฐล้มเหลวหรือชุมชนอ่อนแอ?


 


หลังเกิดเหตุมีคำถามจากทุกสารทิศว่า เหตุใดหลังจากครูทั้ง 2 คนถูกจับกุม จึงไม่มีใครเข้าไปช่วยจนเวลาล่วงเลยมานานกว่า 3 ชั่วโมง กระทั่งตัวประกันทั้งสอง ถูกทำร้าย ผู้ใหญ่บ้านจึงตัดสินใจนำ ชรบ.บุกเข้าไปช่วย


 


 "ไชยยงค์ มณีพิลึก" นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย วิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า เหตุดังกล่าวสะท้อนให้เห็น "ความห่างเหิน"ของรัฐกับชุมชน โดยเฉพาะผู้นำศาสนาซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด ลงไปถึงหมู่บ้าน


 


ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐล้มเหลวในการนำองค์กรในพื้นที่เข้าร่วมแก้ปัญหา หรือสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน โดยเฉพาะการนำพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาบังคับใช้ ซึ่งแม้ว่า ทางหนึ่งจะสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อเหตุได้เป็นจำนวนมาก แต่อีกทางหนึ่งก็ก่อปมปัญหาใหม่ๆ รวมถึงเปิดช่องว่างให้แนวร่วมฯ เข้าไปสื่อสารกับชาวบ้านด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ และนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัฐหลายต่อหลายครั้ง ขณะเดียวกันก็ทำผู้นำศาสนา หรือองค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐ ต่างห่างเหินและวางเฉยต่อปัญหาที่เกิดมากขึ้น


 


เขาเห็นว่า แม้เหตุที่กูจิงลือปะ อาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้เตรียมการจากฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้ารัฐกับชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดี เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะรู้ความเคลื่อนไหวที่ผิดปรกติภายในหมู่บ้าน รวมถึงสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันทันที


 


อีกประเด็นซึ่งเขาเห็นว่า มีส่วนอย่างมากทำให้รัฐล้มเหลว คือ เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ขาดขวัญและกำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้การช่วยเหลือเหยื่อเมื่อเกิดเหตุร้ายจึงไม่ทันท่วงที ซึ่งหากไม่ปรับแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของเหตุความรุนแรงมากขึ้น


 


 "นารี เจริญผลพิริยะ" กรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. และประธานโครงการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ที่กูจิงลือปะว่า ถามว่า ทำไมชุมชนถึงไม่ปกป้องครู ก็เพราะชุมชนปกป้องตัวเองไม่ได้


 


"คนในพื้นที่ไม่มีทางเลือก เพราะรัฐไม่สามารถป้องกันเขาได้ ถ้าเขาแสดงตัวปกป้องคนของรัฐ เขาก็อาจจะอยู่ไม่ได้และสังคมก็ไม่ควรมองแบบเหมารวมว่าทั้งหมู่บ้านมีปัญหา เพราะเท่ากับว่า เราผลักให้พวกเขาไปเป็นผู้ร้าย ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีทางเลือก"


 


นารี ซึ่งเคยเข้าไปที่บ้านตันหยงลิมอ หลังเหตุการณ์สังหาร 2 นาวิกโยธิน จากค่ายจุฬาภรณ์  เปรียบเทียบเหตุที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งว่า เมื่อเทียบเหตุที่เกิดขึ้นกูจิงลือปะกับตันหยงลิมอแล้ว เห็นว่า กรณีตันหยงลิมอมีความซับซ้อนของเหตุการณ์ ทั้งเวลายังทอดยาวกว่า


 


เธอเห็นว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะไม่ได้มีการเตรียมการแต่เป็นเหตุสืบเนื่อง เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่ใกล้เคียง กล่าวคือ ชาวบ้านมีปฏิกิริยากับคนของรัฐเมื่อมีคนในหมู่บ้านถูกจับ ซึ่งในหมู่บ้านก็มีโรงเรียนและมีครูซึ่งเป็นคนของรัฐที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดอยู่


 


 "รัฐน่าจะรู้ว่า พื้นที่แบบนี้มีโอกาสเกิดเหตุจับครูเป็นตัวประกัน เพราะเคยเกิดมาก่อน ทั้งเหตุเช่นนี้สามารถป้องกันได้"


 


นารี เห็นว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐทำงานแบบแยกส่วน ทั้งไม่มีการเตรียมการรับกับสถานการณ์วิกฤต ทั้งนี้ถ้ารัฐเตรียมการล่วงหน้าก่อนการบุกจับ เช่น แจ้งโรงเรียนให้เตรียมรับมือ หรือให้ปิดโรงเรียน กระทั่งส่งกำลังเข้าดูแล เหตุน่าสลดใจเช่นนี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น


 


บทสรุปของผู้คลุกคลีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไชยยงค์และนารี เห็นสอดคล้องกันว่า ถ้ารัฐเตรียมพร้อมมากกว่านี้ ก็น่าจะป้องกันบรรเทาเหตุร้ายที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาทบทวนเงื่อนปัจจัยการก่อเกิด ทั้งนี้เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐเช่น ครู ซึ่งต้องทำงานอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา


 


มิเช่นนั้น เหตุการณ์อย่างที่กูจิงลือปะ ก็อาจเกิดขึ้นอีก เนื่องจากรัฐมิได้สรุปบทเรียนอย่างชัดเจนว่า มีปัญหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันผลกระทบข้างเคียงโดยเฉพาะความรู้สึกของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยสื่อมวลชน อาจะทำให้สถานการณ์บานปลายไปจนเกินกว่าจะจินตนาการได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net