Skip to main content
sharethis


 


ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเมืองไทยในช่วงพลิกผัน ในรายการ "มองคนละมุม" สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาถือเป็นการเลือกตั้งที่มีปัญหามากที่สุดในประวัติศาสตร์ ย้ำทุกฝ่ายต้องยอมรับความแตกต่างและยึดขันติธรรม


 


0 0 0


 


สถานการณ์ทางการเมืองช่วงนี้จะพลิกผันอยู่ตลอดเวลา?


ดูเหมือนจะวุ่นวายสักนิดหนึ่ง แต่ผมก็คิดว่าเป็นการเคลื่อนตัวในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันคิดว่าเราจะจัดการกันอย่างไรต่อไป


 


อยากให้มองประเด็นเรื่อง "คำสั่งชั่วคราวของศาลปกครอง" ว่าทำไมถึงมีคำสั่งเช่นนี้?


การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าพูดกันตรงๆ น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีปัญหามากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่คุณทักษิณได้ประกาศยุบสภา มีคนถกเถียงกันมากเลยว่าจะขัดกับหลักการประชาธิปไตยหรือเปล่า เพราะโดยปกติการยุบสภาตามที่เรียนมาคือต้องเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ พูดง่ายๆ ก็คือ ระหว่างสภากับรัฐบาล แล้วถ้าเกิดตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลอยากจะรู้ว่าแนวทางใครกันแน่ที่ได้รับการสนับสนุน ก็ยุบสภา


 


แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ ครั้งนี้ไม่ได้เกิดการขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่าย ส.ส. เพราะเราก็เห็นว่า ส.ส.เป็นลูกพรรคของพรรคไทยรักไทยส่วนใหญ่ ผมก็เลยคิดว่ามันไม่ได้เป็นการขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งมาก พอมากำหนดวันเลือกตั้งก็เป็นปัญหาขึ้นอีก เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งประมาณ 37 วัน ก็มีคนบอกว่าอันนี้น่าจะเป็นการกำหนดวันเลือกตั้งเร็วไป


 


จึงมีบางคนไปยื่นฟ้องว่า การยุบสภาและการกำหนดวันเลือกตั้งมันเร็วเกินไป อาจจะไม่ชอบ ผมอยากจะเพิ่มเติมข้อมูลนิดหนึ่ง เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือตามรัฐธรรมนูญของไทยกำหนดไว้สองแบบ


 


แบบแรก เป็นแบบที่สมมติว่าสภาหรือ ส..อยู่จนครบวาระ คืออยู่ครบ 4 ปี ซึ่งการอยู่ครบ 4 ปี การจัดการเลือกตั้งใหม่มันต้องจัดการเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาครบวาระ อันนี้ก็อยู่ครบวาระ ซึ่งกรณีนี้อย่างเช่นกรณีของรัฐบาลทักษิณหนึ่งที่อยู่ครบ 4 ปีแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน


 


แต่ถ้าเป็นกรณีที่ยุบสภาที่ผ่านมาอย่างกรณีนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งหมายความว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง 20 วัน 30 วันก็ได้ หากตีความตามลายลักษณ์อักษร ซึ่งก็อยู่ภายใน 60 วันเหมือนกัน แต่ผมก็มีข้อสังเกตนิดหนึ่งว่า ทำไมถึงกำหนด 2 กรณีนี้ไว้ต่างกัน กรณีที่อยู่ครบวาระ 45 วัน กรณีที่ถ้าเป็นการยุบสภา 60 วัน


 


ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้ กรณีที่เป็นการยุบสภามันเป็นเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ พูดง่ายๆ ว่ามันจะยุบสภากันเมื่อไหร่ ในขณะที่หากเกิดอายุสภา ส.. ตามปกติ ถ้าอยู่จนครบกฎหมายกำหนด 45 วัน คือจะรู้ว่าสภานี้อยู่ถึงวันไหน คนที่จะลง ส.. สามารถที่จะย้ายพรรคหรือเตรียมการหาเสียง กกต.หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็รู้ว่าจะจัดการเลือกตั้งเมื่อไร เพราะฉะนั้น อันนี้ค่อนข้างสั้นกว่า


 


แต่ในขณะที่เป็นกรณียุบสภาคือไม่รู้ล่วงหน้า เพราะฉะนั้น กฎหมายเลยกำหนดระยะเวลาให้ยาวนานกว่า ซึ่งกรณีที่ยาวกว่าออกมาแบบนี้ ถ้าเป็นการยุบสภา ก็ควรจะต้องมีการกำหนดให้มีวันเลือกตั้งให้มันมีระยะเวลานานพอสมควร คืออย่างน้อยมันต้องนานกว่า 45 วัน


 


 


ทีนี้กลับมาที่คำถาม เท่าที่ผมลองตามข่าวและลองประเมินดู คือคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว มันเป็นกรณีที่ศาลจะใช้อำนาจเพื่อที่จะระงับการกระทำอะไรบางอย่างได้ คือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย


 


คือถ้ามีการเพิกถอนการเลือกตั้งย้อนหลัง แล้วมันจะเกิดผลกระทบที่กว้างขวาง ศาลก็มีอำนาจออกคำสั่งชั่วคราว ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งต่อไป สมมติว่าอีกสองสามวันต่อมา ศาลสั่งให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เช่น คนต้องเสียเวลาไปลงคะแนน เสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง หรือแม้คนที่ได้รับการเลือกตั้ง ก็อาจจะบอกว่า เราได้เป็น ส.ส.แล้วทำไมต้องมาเพิกถอน กรณีนี้จะเกิดความเสียหายบางอย่างขึ้น ซึ่งไม่สามารถจะเยียวยาได้ ซึ่งศาลอาจจะใช้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้


 


เพียงแต่ผมมีข้อสงสัยเล็กๆ ของผม จริงๆ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีคนเป็นจำนวนมากเท่าที่ประมวลได้ อย่างน้อยก็ประมาณ 8 คดีที่ค้างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง บางคดีคนไปยื่นที่ศาลหลังการเลือกตั้งไม่กี่วัน หลายๆ คนยื่นคำร้องไปไม่กี่วันหลังวันเลือกตั้ง แต่ศาลปกครองใช้เวลาเขียนคำสั่งเกือบเดือน สมมติว่าศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตั้งแต่ตอนนั้น เรื่องทั้งหมดคงจะไม่ใหญ่โตจนเป็นถึงขณะนี้ คงไม่มีการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ตามมา


 


จริงๆ แล้ว การมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองในทัศนะผม เห็นด้วยว่าเป็นช่องทางอันหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาอันนี้ คือให้ศาลพิจารณาก่อนว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่ก็อย่างที่ผมพูดว่า ทำไมต้องปล่อยให้รอมาเนิ่นนาน ปล่อยให้มีการเลือกตั้งครั้งที่ 2 หรือปล่อยให้ในหลวงต้องมีพระราชดำรัส


 


ดังนั้น ถ้าศาลปกครองได้ทำหน้าที่นั้นตั้งแต่ต้น อย่างน้อยมันก็จะทำให้เรารู้สึกว่า ปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่ เรามีองค์กรหรือมีระบบที่สามารถจัดการกับปัญหาเรื่องนั้นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไประคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท


 


หมายถึงว่าจำเป็นจะต้องมีองค์กรที่เป็นที่พึ่งในระบอบประชาธิปไตยได้?


การเมืองระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญเราต้องสร้างระบบหรือองค์กรที่แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ตรงนี้มีความสำคัญ  สมมติเมื่อไรมันมีปัญหาเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย เรามีระบบ เรามีองค์กร เช่น เรามีรัฐธรรมนูญ เรามีองค์กรต่างๆ มีศาลปกครอง มีศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่างๆ ได้อย่างฉับพลันทันท่วงที ผมคิดว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในสังคมเรา จะมีความเชื่อมั่น มีความมั่นใจในตัวระบบ ซึ่งอันนี้สำคัญ


 


เพราะฉะนั้น อันนี้คงจะเป็นสิ่งที่อาจจะต้องตั้งคำถามว่า ทำไมศาลปกครองดำเนินการช้าไปนิดหนึ่ง ถ้าเกิดดำเนินการเร็วกว่านี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น ทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่น แต่อันนี้ก็ไม่ใช่ข้อผิดพลาดอะไร ซึ่งศาลปกครองอาจจะบอกว่าเนื่องจากมีคดีอยู่ในศาลมากมาย ก็เข้าใจได้


 


เมื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการเลือกตั้ง กระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไร?


คือตรงนี้ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคงสำหรับเขตการเลือกตั้งที่ยังไม่สำเร็จ คือหมายความว่า ยังไม่สามารถหา ส.ส. ได้ เช่น ในบางเขตลงสมัครคนเดียว ผู้ที่ลงสมัครคนเดียวต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 20% ของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งลงไปแล้วไปเล่าก็ไม่ถึง 20% คือจะมีประมาณสิบกว่าเขต อันนี้ที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเฉพาะในเขตเลือกตั้งนี้เท่านั้น


 


สิ่งที่จะเกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ ศาลปกครองคงจะต้องพิจารณาว่า คำร้องที่ยื่นเข้าไปในศาลหลายๆ คำร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำร้องที่ยื่นไปเพื่อให้เพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนนี้ ศาลจะพิจารณาอย่างไร นี่เป็นประเด็นที่สำคัญ ถ้าศาลเห็นว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยไม่ชอบ แล้วศาลสั่งเพิกถอนการเลือกตั้ง ก็หมายความว่า ปีนี้เราจะได้เลือกตั้งกันอีกแล้ว สำหรับบางคนอาจจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 เลือก ส.ส.รอบแรก ส.ว.รอบสอง แล้วเราก็จะได้เลือก ส.ส.อีก


 


ถ้าศาลพิจารณาแล้วให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนเป็นโมฆะ ผู้สมัครพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกไปแล้ว จะทำอะไรได้บ้างไหม


ก็ไปร้องคัดค้าน อุทธรณ์คำสั่งของศาลได้ เป็นสิทธิอันหนึ่งของบรรดาผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่า ในหลายๆ เขตเป็นการเลือกตั้งที่มีคู่แข่ง เป็นสิทธิที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งสามารถที่จะกระทำได้ เป็นสิทธิที่ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคน คงจะต้องไปเรียกร้องสิทธิ ซึ่งก็สามารถยื่นอุทธรณ์ สมมติว่าศาลปกครองมีคำสั่งมา เราก็สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งไว้ได้ ซึ่งอันนี้เบื้องต้น คงต้องรอดูว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งอย่างไรต่อกรณีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน


 


มองอย่างไรในแง่ของประชาชน ที่มีการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นพวกในขณะนี้?


การมีเป็นกลุ่มเป็นพรรคเป็นพวก สำหรับผมไม่ใช่เรื่องแปลก ในสังคมประชาธิปไตย เป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้คนแสดงความคิดเห็นได้ เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงความคิดเห็นได้ มันก็ไม่เป็นเรื่องแปลกหรอกที่คนเรามีความคิดเห็นต่างกัน ในเมื่อเราอยู่ต่างกัน เช่น เรามีชีวิตที่มาที่ต่างกัน เรียนหนังสือมาคนละอย่าง ทำงานกันมาคนละอย่าง อยู่ในสังคมคนละแบบ เพราะฉะนั้น การมีความคิดที่ต่างกันจึงเป็นเรื่องปกติ แต่สังคมไหนที่ไม่มีความคิดต่างอันนั้นเป็นสังคมที่ประหลาด ในสังคมไทยเราคนกลุ่มหนึ่งอาจจะรักคุณทักษิณ คนกลุ่มหนึ่งอาจจะเกลียดคุณทักษิณ มันมีอยู่จริง ก็ต้องยอมรับ


 


คนรักก็อาจจะรักด้วยอย่างเช่น รู้สึกว่าคุณทักษิณได้ทำนโยบายอะไรให้กับประเทศชาติ ทำอะไรให้กับประชาชนคนรากหญ้าหรืออะไรเต็มไปหมด โครงการต่างๆ กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารคนจน บ้านเอื้ออาทร คืออาจจะรู้สึกรักคุณทักษิณ เพราะคุณทักษิณได้ทำอะไรให้ได้มาก ก็มีเหตุผล


 


แต่ถามว่าคนที่เกลียดคุณทักษิณ เกลียดเพราะว่าคุณทักษิณหน้าตาไม่หล่อหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ สมมติว่าคนที่เกลียดคุณทักษิณ ซึ่งก็มีอยู่ ก็ต้องยอมรับความจริง ที่เกลียดเขาก็ให้เหตุผลว่า ก็เพราะว่าคุณทักษิณดำเนินการหลายๆ อย่าง อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ขัดต่อจริยธรรม การดำเนินนโยบายว่าทำไมผลประโยชน์ไปเข้ากับกลุ่มและพรรคพวกเครือญาติของตระกูลคุณทักษิณมาก นี่เป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้ เราอาจจะต้องช่วยกันพิทักษ์ว่า ในท่ามกลางความขัดแย้งในเรื่องความคิดนี้ สิ่งหนึ่งที่สังคมประชาธิปไตยต้องมีคือ ขันติธรรม ในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างผมคิดว่านี้สำคัญ


 


ผมไม่อยากให้มีความรู้สึกว่า ถ้าใครพูดไม่เหมือนเรา เราต้องตบหัวเขาแล้ว ไม่ใช่นะ สังคมประชาธิปไตยที่มันเติบโตได้ ก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะเราฟังความคิดเห็นคนอื่น ว่าเขาคิดอย่างไร เช่น ถ้าผมเป็นคนที่รักคุณทักษิณ ผมก็ต้องฟังว่า คนที่เกลียดคุณทักษิณเกลียดด้วยเรื่องอะไร ในขณะเดียวกัน คนที่เกลียดคุณทักษิณ ก็ต้องฟังว่าคนที่รักคุณทักษิณรักด้วยเหตุผลอะไร อันนี้คือสิ่งที่มันจะทำให้สังคมขยับไปข้างหน้าได้ คือเราเรียนรู้ความแตกต่าง


 


ในช่วงหนึ่งเดือนหรือสองเดือนที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งไม่กี่วันที่ผ่านมา ในหลักการประชาธิปไตย เรื่องขันติธรรมในการฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ และเป็นเรื่องที่เราต้องปกป้อง นี่เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างให้มันเกิดขึ้น ในรอบหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมา เราพบกับการกระทำที่ละเมิดหลักการนี้เยอะมาก แม้กระทั่งที่เชียงใหม่เอง เมื่อตอนที่พรรคประชาธิปัตย์มาปราศรัย กลุ่มคนในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนหนึ่ง ไปรบกวน ไปก่อกวน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือปราศรัยได้ ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ละเมิดสิ่งที่เรียกว่าขันติธรรม ขันติธรรมจะรักจะเกลียดก็ได้


 


ในทำนองเดียวกัน ถ้าเกิดคุณทักษิณไปที่ภาคใต้ ซึ่งเราก็รู้ว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ เกิดมีคนทำแบบนี้กับคุณทักษิณบ้างล่ะ คุณทักษิณจะไปชี้แจงนโยบายเอื้ออาทร ไปชี้แจงนโยบายประชานิยม เกิดมีคนภาคใต้มาก่อกวนมาขว้างของใส่คุณทักษิณ เราจะรู้สึกอย่างไร เช่นเดียวกัน ไม่ว่าที่ไหน ถ้าสมมติว่าคุณทักษิณจะไปพูดที่ภาคใต้ คุณทักษิณก็มีสิทธิที่จะพูด มีสิทธิที่จะจัดเวทีชี้แจงทำได้เช่นเดียวกันอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เขามาพูดที่เชียงใหม่


 


เหตุการณ์นี้เราต้องช่วยกันปกป้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันเกิดเหตุขึ้นแล้วผมไม่สบายใจ ที่จังหวัดอุดรธานีที่เป็นข่าวคุกคามแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ ผมอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เราไม่เปิดโอกาสให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้มีโอกาสพูด นี่เป็นการละเมิดขันติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ไม่ควรอนุญาตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net