Skip to main content
sharethis

ประชาไท—6 พ.ค. 2549 นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ ที่ปรึกษาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตยินดีสนับสนุนกรณีชาวบ้านในพื้นที่สะบ้าย้อยต้องการมีส่วนร่วมในการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะบ้าย้อย ระบุ กฟผ. ยินดีและพร้อมสนับสนุน


 


นานยณรงศักดิ์ กล่าววว่าเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา นายณรงศักดิ์ และนายฮามะ ดอเลาะ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เขตอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อำเภอสะบ้าย้อยได้หารือกับ นายจีระพันธ์ เดมะ รองคณะบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายสุกรี หะยีสาแม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่องการตั้งคณะทำงานศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อย เนื่องจากนายฮามะ แจ้งว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาดังกล่าว ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีความยินดีมากและพร้อมจะสนับสนุน ซึ่งทุกฝ่ายแสดงความเห็นด้วย


 


ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า นานฮามะได้นำรายชื่อชาวบ้านในตำบลทุ่งพอที่ต้องการเข้าร่วมในการศึกษาจำนวน 60 คน มาด้วย โดยต้องการให้มีนักวิชาการที่เป็นอิสระมาเป็นที่ปรึกษา และคณะทำงานชุดนี้ต้องเป็นคณะทำงานอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้คณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ที่มีนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน เนื่องจากไม่มีความไว้วางใจในตัวข้าราชการ แต่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องการให้คณะทำงานชุดนี้ เข้ามาอยู่ในโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย


 


แหล่งข่าวรายเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 นายฮามะได้แจ้งความต้องการตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวไปยังนายปรีชา ดำเกิงเกียรตินายอำเภอสะบ้าย้อยมาแล้ว พร้อมนำรายชื่อชาวบ้านทั้ง 60 คนไปมอบด้วย


 


ด้านนักวิชาการซึ่งได้เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ กล่าวว่ายังไม่มีข้อสรุป แต่ฝ่ายนักวิชาการได้มีข้อท้วงติงไปว่าการที่ฝ่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำเสนอว่า หากไม่รีบดำเนินการอาจทำให้ชาวบ้านในพื้นที่จะต้องเสียโอกาสปีละ 30 - 40 ล้านบาท ซึ่งหากต้องการทำงานร่วมกับชาวบ้านโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง ก็อาจจะไม่ได้รับความจริงใจจากชาวบ้าน และการทำงานก็อาจไม่ยั่งยืนได้


 


"ผมเห็นได้ว่าชาวบ้านกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะนายฮามะเอง เพราะเขาเสนอว่า การดำเนินโครงการฯต้องให้คณะทำงานชุดนี้ตัดสินใจ หมายความว่า ถ้าชาวบ้านเห็นว่าควรสร้าง ก็ต้องให้ชาวบ้านมาศึกษากันอีกว่าจะสร้างอย่างไร มีการเสนอถึงขั้นว่า ต้องให้ชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ใครมาจำทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสังคมเป็นต้น แต่ถ้าชาวบ้านเห็นว่าไม่ควรสร้างทุกอย่างก็จบ" นักวิชาการรายเดิมกล่าว


 


นายนคร ศรีวิเชียรสมบัติ หัวหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการก่อร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลาว่า โดยภาพรวมมีความคืบหน้าร้อยละ 26 ซึ่งเป็นไปตามแผนการก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นงานฐานราก แต่ขณะพบอุปสรรคที่อาจทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปบ้าง คือ พื้นดินบริเวณก่อสร้างมีความอ่อนตัว ต้องทำการอัดซีเมนต์ลงในเนื้อดินทำเป็นม่านซีเมนต์รอบพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อป้องกันพื้นดินเคลื่อนตัว ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ขณะนี้ได้เริ่มไปแล้วบางส่วนตั้งแต่ปลายปี 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net