บทความ : จับตาอินโดฯในเวทีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

โดย ศราวุฒิ ประทุมราช


 

 

ในบรรดาประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ต้องยกให้อินโดนีเซียเป็นเอกในเกมการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในแง่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง อาเซียน เพื่อให้เป็นเวทีนานาชาติในระดับภูมิภาคนี้ และเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเพิ่งได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ตามโครงสร้างใหม่ของสหประชาชาติ และกำลังมุ่งมั่นที่จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council)ในอนาคตอันใกล้นี้เป็นลำดับต่อไป

 

นี่คือ บทบาท ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะอย่าลืมว่าอินโดนีเซียและประเทศไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน ที่ถือว่าเป็นทั้งคู่แข่งและคู่การค้าที่สำคัญในตลาดโลก ไทยแข่งขันกับอินโดนีเซียในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ส่งออกข้าว รายสำคัญของโลกเช่นกัน ซึ่งต้องมีการแข่งขันกันในด้านราคาและคุณภาพ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ส่งผลผลิตทางการเกษตร ทั้งพืชผัก ผลไม้ มาขายยังอินโดนีเซีย และดูเหมือนจะประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย เพราะเดี๋ยวนี้เดินไปในซูเปอร์มาเก็ตใน จาการ์ตา จะเห็นมะละกอ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะขามหวาน ฯลฯ ล้วนตีตราว่า มาจากแบงคอก และได้รับความนิยมมากในตลาด ทั้งนี้ไม่รวมถึงผลพลอยได้ของร้านอาหารไทย ที่มาครองตลาดในอินโดนีเซีย และได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทั้งต้มยำกุ้งและ ผัดไทย รวมถึงจานเด็ดอย่างอื่น

 

หันกลับมามองดูบทบาทของอินโดนีเซียใ นเวทีการเมืองระหว่างประเทศ จะเห็นว่าอินโดนีเซียมีความสามารถและมีพัฒนาการที่เหนือกว่าไทยเป็นอย่างมาก ในอดีตนั้นการก่อตั้งอาเซียน ถือเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาค ครั้งแรกๆของไทยและอินโดนีเซีย ที่ผลักดันให้ชาติในแหลมทอง 5 ชาติ เป็นผู้ก่อตั้งอาเซียน สำเร็จเมื่อวันที่ 8  สิงหาคม 2510 ซึ่งต้องยกเครดิตให้แก่ พันเอกถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุคนั้น และต้องไม่ลืมว่าทั้งไทยและอินโดนีเซีย อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารเช่นกัน เพราะปี 2510 เป็นยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เรืองอำนาจ ในขณะที่ พลเอกซูฮาร์โต ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จในอินโดนีเซีย

 

นับแต่การก่อตั้งอาเซียนเป็นต้นมา สังคมโลก ก็เฝ้าดูว่าอาเซียนจะร่วมมือกันไปได้นานแค่ไหน และอาเซียนก็ได้พิสูจน์บทบาทของตนจน ประเทศในกลุ่มมหาอำนาจต่างยอมรับ แม้แต่สหประชาชาติก็ยอมรับเช่นกันเพราะ ถือว่าอาเซียนเป็นความร่วมมือของประเทศในเอเชีย ที่มีพัฒนาการจากเวทีระดับภูมิภาค ไปสู่เวทีนานาชาติ ในระดับทวีปได้ในอนาคต เช่นเดียวกับ อาฟริกา ยุโรป ลาตินอเมริกา

           

ย้อนกลับไปไกลอีกนิดอินโดนีเซียเป็นตัวตั้งตัวตีริเริ่มเวทีความร่วมมือระดับประชาชนในชาติเอเชียและอาฟริกา ในการประชุมเอเชียอาฟริกา (The Asian-African Conference) เมื่อปี 2498  เพราะในยุคนั้น เป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นใหม่ๆ ก่อให้เกิดการคืนดินแดนในอาณานิคมให้แก่ประเทศเหล่านั้นเป็นเอกราช จึงมีประเทศใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายในอาฟริกาและเอเชีย การประชุมในครั้งนั้นถือเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่างประเทศใหม่ๆ ที่ทั้งจำนวนประชากรและทรัพยากรของทั้งสองทวีปรวมกันแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งหรือกว่าครึ่งหนึ่งของพลโลก เพราะมีผู้แทนจากประเทศจีนและอินเดียเข้าร่วมประชุมด้วย (หัวหน้าคณะผู้แทนไทยคือ หม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยนั้น)แต่สิ่งที่สำคัญคือ ผลจากการประชุมก่อให้เกิด หลักการบันดุง 10 ประการ ที่มุ่งมั่นในการสร้างการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตรสหประชาชาติและการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศทั้ง 2 ทวีป ซึ่งต้องยกประโยชน์ให้แก่ดร.ซูการ์โน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของชาติอินโดนีเซีย และประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ถือว่านี่คือวิสัยทัศน์อันยาวไกลของอินโดนีเซียในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

 

เมื่อมาดูบทบาทของอินโดนีเซียในเวทีสหประชาชาติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อย่าลืมว่าซูฮาร์โต ปกครองอินโดนีเซียมานานเกือบ 30 ปี คือนับแต่ปี 2508 - 2547 ในช่วงดังกล่าวอินโดนีเซียถูกจับตาจากชาวโลกว่าเป็นประเทศต้นๆในการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ สหประชาชาติมีเวทีหรือกลไกต่างๆมากมายในการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งอินโดนีเซีย มักถูกตรวจสอบโดยกลไกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นถูกตั้งคำถามเรื่องอีสติมอร์ ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (UN Commission on Human Rights)หรือ ต้องเชิญผู้รายงานพิเศษด้านต่างๆของสหประชาชาติให้เข้ามาตรวจสอบการหายสาบสูญทางการเมืองบ้าง การทรมานบ้าง การวิสามัญฆาตกรรมบ้าง การจับกุมคุมขังแบบรวบรัดโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งกลไกเหล่านี้มีการทำงานทุกปี และอินโดนีเซียมักมีชื่ออยู่ในกลุ่มของประเทศที่ต้องชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน แม้ในเวทีนี้จะถือว่าเป็นเวทีการเมืองระหว่างประเทศของสหประชาชาติ แต่ในฐานะสมาชิกของสหประชาติ ประเทศต่างๆต้องให้ความร่วมมือ เพื่อแสดงว่าประเทศตนยังเคารพหลักการสิทธิมุษยชนตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ

 

ในขณะเดียวกันซูฮาร์โต ก็เล่นการเมืองระดับสากลด้วยการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในปี 2533 อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ในปี  2537 และมีคำสั่งประธานาธิบดีจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี 2536 ต่อมาภายหลังการสิ้นอำนาจของ ซูฮาร์โต อินโดนีเซียจึงได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีก 2 ฉบับในปี 2542 คือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และเมื่อเดือนกันยายน 2548 รัฐบาลพลเอกซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโนได้ส่งหนังสือแสดงความจำนงขอเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

 

การจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขึ้นในปี 2536 นั้น เกิดจากแรงกดดันของนานาชาติที่มีต่ออินโดนีเซีย ในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีสติมอร์ แม้จะถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และอาจกล่าวได้ว่าอินโดนีเซียเป็นชาติแรกๆในอาเซียน ที่ได้ก่อตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ก่อนประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ เพราะประเทศไทยเพิ่งจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นเมื่อปี 2544 นี่เอง และถือว่าขณะนี้อินโดนีเซียได้ก้าวหน้าประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญ ครบถ้วนแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้ยอมรับที่จะผูกพันต่อกฎหมายว่าด้วยการทรมานหรือการลงโทษอย่างโหดร้ายผิดมนุษย์ ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญอีกฉบับหนึ่ง

 

การได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศในเอเชีย เป็นหนึ่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9  พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของอินโดนีเซียในเวทีการเมืองระดับสหประชาชาติ เพราะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เป็นโครงสร้างใหม่ที่จะมาทำหน้าที่แทนกลไกเดิมคือ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ความเป็นกลไกระดับคณะมนตรี (Council)ในโครงสร้างของสหประชาชาติ นั้นเป็น กลไกที่น่าจะสามารถทำงานได้คล่องตัวและมีอำนาจมากกว่า ในรูปของคณะกรรมาธิการ เพราะคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ต้องทำงานภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) แต่คณะมนตรี ถือเป็นโครงสร้างระดับรองของสหประชาชาติ รองจากสมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly) และเป็นโครงสร้างลำดับเดียวกับคณะมนตรีอื่นๆของสหประชาชาติ คือ คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษกิจและสังคม และคณะมนตรีบริหารประเทศในภาวะทรัสตี ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือศาลโลก

 

"สหประชาชาติจะทำการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง ในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ เราประสบความสำเร็จในการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแล้ว ก้าวต่อไปเราหวังว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นไปได้นี่คือความสำเร็จในขั้นที่สอง " นี่คือถ้อยแถลงของนาย อัสซาน วิรายุธ (Hassan Wirayuda) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์จาการ์ตาโพสต์ เมื่อวันที่ 13พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

อินโดนีเซียในยุคปฏิรูป มีแผนการในเวทีการเมืองในสหประชาชาติ และถือว่าได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แม้ว่าภายในประเทศจะมีปัญหาสังคมและการเมืองรุมเร้าให้รัฐบาลแก้ไข ทั้งปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา  ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปัญหาการเมืองเรื่องการปกครองตนเองของอาเจะห์และปาปัวตะวันตก และอีกมากมาย แต่ต้องยอมรับว่า ท่ามกลางวิกฤต ดังกล่าว อินโดนีเซียยังคงมีแผนการที่จะมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก คงต้องจับตาบทบาทต่อไปของอินโดนีเซียว่าจะไปถึงฝั่งแห่งความคาดหวังได้จริงตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่ เป็นห่วงก็แต่สังคมไทย ที่นักการเมืองไทยไม่มีแผนการทางการเมืองระหว่างประเทศ มีมิติทางการค้าและการธุรกิจเพียงมุมเดียว นับแต่สมัยพลเอกชาติชายที่ต้องการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า มาจนถึงยุครัฐบาลดาวเทียม ยังคงมีความหวังลมๆแล้งๆ เรื่องส่งคนไทยไปชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ นับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าการดำเนินนโยบายใดๆทั้งสิ้น

 

 

........................................

ศราวุฒิ ประทุมราช : นักสิทธิมนุษยชน / ผู้รับทุนปัญญาชนสาธารณะ ระดับอาวุโส (API -Fellowship) ประจำปี 2005-2006

ติดต่อ : tuactive@yahoo.com

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน  โครงการ API Fellowship ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบแต่ประการใด

 

           

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท