Skip to main content
sharethis


 

นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่ประตูเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานถูกยกขึ้นอีกครั้งหลังจากปิดตายมากว่า 8 เดือน  ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547  เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอให้เปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ตุลาคม ตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม (1 ตุลาคม 2545 และ 14 มกราคม 2546) เป็น 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคมของทุกปี


 


กระทรวงพลังงานได้ให้เหตุผลในการขอเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการเปิดและปิดประตูเขื่อนปากมูลว่า กฟผ.ได้รับหนังสือร้องเรียนจากคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล ขอให้พิจารณาเลื่อนการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ให้เริ่มเปิดประตูระบายน้ำในเดือน พ..-.. เพราะเป็นช่วงที่ปลาจากแม่น้ำโขงขึ้นมามากที่สุด


 


ซึ่งสอดคล้องกับผลการประชุมร่วมระหว่าง  กฟผ. กับ ม.อุบลราชธานี นักวิชาการ และจังหวัดอุบลราชธานี ได้พิจารณาประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนจากข้อมูลการศึกษานิเวศวิทยาการประมงของ ม.อุบลราชธานี สรุปได้ว่า การอพยพของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ จากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำมูลจะมีมากในช่วงเดือนพฤษภาคม และจะอพยพกลับลงสู่ลุ่มน้ำโขงในเดือนสิงหาคมของทุกปี


 


ดังนั้น เพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันและเป็นประโยชน์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและการประกอบอาชีพประมงของชาวบ้านปากแม่น้ำมูล  จึงเห็นสมควรว่าการเปิดประตูเขื่อนควรจะอยู่ในช่วง 4 เดือนดังกล่าว ซึ่งจะเป็นผลดีกว่าช่วง 1 ..-31 .. และจะไม่มีผลกระทบในทางลบต่อชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังและชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรแต่กลับเป็นผลดีในการสนองตอบต่อความต้องการของชุมชน


 


แม้การเลื่อนช่วงเวลาการเปิดเขื่อนปากมูลขึ้นมาเป็นพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคมตามข้อเสนอของชาวบ้าน จะทำให้ปลาสามารถว่ายขึ้นมาจากแม่น้ำโขงได้มากกว่าเดิมบ้าง แต่การเปิดเขื่อนปากมูลเพียง 4 เดือน ยังคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกใจของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนปากมูลทั้งหมด  


 โดยฝ่ายที่คัดค้านที่แสดงจุดยืนและปักหลักต่อสู้ทั้งการเคลื่อนไหว กดดัน ด้วยกำลังมวลชน  และการต่อสู้ด้วยหลักวิชาการมาเป็นเวลา 10 กว่าปี 


 


ถึงวันนี้พวกเขาเหล่านั้นยังคงยืนยันตามหลักการเดิมว่า  การเปิดประตูเขื่อนเพียง 4 เดือน และปิดอีก 8 เดือนยังไม่ใช่แนวทางในการฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้กับแม่น้ำมูล และไม่ใช่แนวทางแห่งการฟื้นฟูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยอยู่กันมาอย่างสงบสุข ซึ่งหลังจากโครงการสร้างเขื่อนเข้ามา  ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ  และวิถีชีวิตอันเรียบง่ายหาอยู่หากินกันมาอย่างพอเพียงก็ถูกทำลายลง   ภาพการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน  เพื่อดิ้นรนหันหาอาชีพใหม่แทนการประมงจึงเป็นฉากชีวิตใหม่ที่เข้ามาทดแทน


 


สมเกียรติ   พ้นภัย   ผู้เฒ่าแห่งหมู่บ้านด่านเก่า ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม  .อุบลราชธานี  ผู้ยึดอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักหาเลี้ยงครอบครัวมาหลาย 10ปี  ได้เล่าถึงบรรยากาศในหมู่บ้าน  ภายหลังจากที่ กฟผ.เริ่มเปิดประตูเขื่อนปากมูลมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า 


 


ขณะนี้ชาวบ้านต่างพากันดีอกดีใจที่จะได้ลงจับปลาหลังจากที่รอคอยกันมานานกว่า 8 เดือนเนื่องจากช่วงที่ปิดประตูเขื่อนชาวบ้านไม่สามารถลงไปจับปลาได้เพราะระดับสูง  อีกทั้งจำนวนปลาก็ลดน้อยลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถว่ายเข้ามาในแม่น้ำมูลได้   ถึงแม้ว่าโครงการจะมีการออกแบบให้มีบันใดปลาโจนแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ทำให้วัฎจักรของปลาถูกตัดตอนออกไป


 


 "พอปิดประตูเขื่อนระดับน้ำก็สูงขึ้น  วงจรชีวิตของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ก็ไม่เกิดการหมุนเวียนตามธรรมชาติ  พอจับไปสักระยะหนึ่งจำนวนปลาที่จับได้ก็น้อยลงเรื่อย ๆ   ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปลาไม่สามารถขึ้นมาจากน้ำโขง  และส่วนหนึ่งก็หนีเข้าไปในพงป่าตรงที่น้ำท่วมถึง  ยากต่อการจับทำให้ชาวบ้านหยุดจับปลา และหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน เช่นไปรับจ้างทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพและมีบางรายไปไกลถึงภูเก็ต พังงาก็มี  ทิ้งให้ลูกหลานอยู่กับพ่อเฒ่าแม่เฒ่า   บรรยากาศในหมู่บ้านเต็มไปด้วยความเงียบเหงา ไร้ชีวิต ไร้จิตวิญญาณ เหมือนหมู่บ้านร้างไม่ผิด"


 


พ่อสมเกียรติ เล่าต่อว่า  ดูจากปีที่แล้วพอถึงช่วงเดือนที่เปิดเขื่อน(.- ..)ของทุกปี ลูกหลานที่ไปรับจ้างต่างถิ่นต่างก็เดินทางมุ่งกลับสู่หมู่บ้านของตนอีกครั้ง  เพื่อเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือจับปลากันอย่างคึกคัก  โดยให้เหตุผลว่าอาชีพจับปลาเป็นอาชีพที่อิสระไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร  อีกทั้งรายได้ก็ดีกว่าการรับจ้างหลายเท่า


 


"บางรายหาได้อย่างน้อยวันละ 500 - 1,000 บาทก็มี  ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคนโดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนาถึงเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ปลาขนาดใหญ่จากแม่น้ำโขงขึ้นมายิ่งทำรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นกอบเป็นกำทีเดียว"


 


พ่อสมเกียรติยังเล่าต่ออีกว่า  การสร้างเขื่อนไม่ได้ทำลายเฉพาะวัฏจักรของสัตว์น้ำเท่านั้นแต่ยังได้ทำลายวิถีชีวิตของคนปากมูลลงอย่างราบคาบ  เพราะปัจจุบันชุมชนแถบลุ่มน้ำมูลโดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนปากมูลเต็มไปด้วยความขัดแย้งมานานนับ 10 กว่าปีแล้ว  แต่หลังจากที่มีการเปิดประตูเขื่อนปรากฎการณ์หนึ่งที่ตนได้เห็นคือภาวะความขัดแย้งต่างก็ลดลงอย่างน่าแปลกใจ


 


 "พอถึงช่วง 4 เดือนของการเปิดเขื่อนตามมติ ครม.ปี 47 ชาวบ้านกลุ่มที่เคยขัดแย้งกันต่างก็ยุติความขัดแย้งลง  ทุกคนต่างมุ่งหน้าลงแม่น้ำมูลเพื่อจับปลาหากิน  หาขาย บางรายก็ลงเรือลำเดียวกันหาปลา  พอหาได้ก็จับกลุ่มกันทำอาหาร กินข้าวป่าด้วยกัน ราวกับว่าไม่เคยมีปัญหากันมาก่อน   แต่พอถึงช่วงปิดประตูเขื่อนอีก 8 เดือนปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มก่อตัวขึ้นมาอีก เรียกว่า 4 เดือนดีกัน  อีก 8 เดือนขัดแย้งกัน วิถีชุมชนที่นี่เปลี่ยนไปมาก" พ่อสมเกียรติกล่าว


 


สอดคล้องกับผลการศึกษาและวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (บันทึกการสัมมนา "การวิจัยเพื่อฟื้นฟูชุมชน : มิติใหม่ของสังคม  โดย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545 " )  ซึ่ง ดร.กนกวรรณ   มะโนรมย์  ผู้ประสานงานโครงการวิจัย  .อุบลราชธานี ได้ระบุว่า 


 


หลังสร้างเขื่อนชาวบ้านยังอยู่ด้วยกันได้  แต่ว่ามันไม่แนบแน่นเหมือนเดิม   การกลับมาใช้ทรัพยากรร่วมกันอีกครั้ง  หลังการเปิดประตูเขื่อน  ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีปฏิสัมพันธ์  อย่างเช่นการไหลมอง  คือการเอาตาข่ายไปขวางแม่น้ำแล้วก็ลากมอง(ตาข่าย) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ระบบคิว  คือใครมาทีหลังต้องเคารพสิทธิผู้มาก่อน


 


"การไหลมองเป็นกิจกรรมที่เห็นได้ชัดเจนมาก  ซึ่งสะท้อนว่าเมื่อแต่ละหมู่บ้านไหลมองร่วมกัน  จุดบริเวณไหลเดียวกัน มันให้เห็นการพูดคุยกันและแลกเปลี่ยนกัน  กิจกรรมตรงนี้มันทำให้ความบาดหมางลดลง "


 


ตั้งแต่มีเขื่อนไม่มีกิจกรรมไหลมองเลย  เนื่องจากว่าการไหลมองต้องอาศัยน้ำไหลไม่ใช่น้ำนิ่ง  การปิดเขื่อนเป็นการปิดกั้นแล้วก็สูญสลายไปของกิจกรรมชุมชนซึ่งไม่ใช่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่เป็นระหว่างชุมชนเป็นเครือญาติร่วมกันตรงนี้หายไปอย่างสิ้นเชิง  อันนี้น่าเสียดาย  พอเปิดประตูปุ๊บมันให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันกลับคืนมา  แล้วช่วยฟื้นความสัมพันธ์ที่มันบาดหมางกันได้ดีขึ้น  ผลการศึกษาและวิจัยของ ม.อุบลราชธานี ระบุ


 


แม้มติ ครม.ตกลงให้เปิดประตูเขื่อนปากมูล 4 เดือน ปิด 8 เดือน จะออกมีผลบังคับใช้มาเป็นปีที่3 แล้ว แต่เช้าวันนี้ (9 ..) หลังจากที่นายสุธี   มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี  เดินทางมาเป็นประธานเปิดประตูเขื่อนปากมูล ก็ยังมีกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บางส่วนมายื่นหนังสือเพื่อคัดค้าน มติ ครม.ดังกล่าวและเสนอให้ปิดเขื่อนปากมูลแบบถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการเลี้ยงปลากระชัง


 


สุธี   มากบุญ กล่าวว่า ตนเข้าใจและเห็นใจทุกฝ่ายแต่การจะทำให้ทุกฝ่ายพอใจเต็มร้อยนั้นเป็นเรื่องยาก  การปิดเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเดียวนั้นทำไม่ได้   ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนที่ต้องการประกอบอาชีพประมงด้วย อยากให้มีการยืดหยุ่นให้กันและเคารพ มติ ครม.ที่ให้เปิดประตูเขื่อน  4 เดือนปิด 8 เดือน เพราะกว่ามติ ครม.จะคลอดออกมาได้  ก็ต้องผ่านการระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดความพอใจของทุกฝ่ายมากที่สุด  ผู้ว่าราชาการ จ.อุบลราชธานีกล่าว


 


สมภาร   คืนดี  พี่เลี้ยงกลุ่มสมัชชาคนจน  กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล  กล่าวว่า   กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้เปิดประตูเขื่อน 4 เดือนก็อ้างว่าการเปิดเขื่อนจะทำให้ปลาหรือกุ้งที่อยู่ในแม่น้ำมูลว่ายลงไปแม่น้ำโขงหมด  ซึ่งเหตุผลข้อนี้ก็ได้มีการทำวิจัยกันอย่างชัดเจนแล้วว่าในช่วงเวลา 8 เดือนที่ปิดประตูเขื่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า ไม่สามารถจับปลาได้เนื่องจากจำนวนปลาน้อยลงและปริมาณน้ำก็สูง เรือขนาดเล็กไม่สามารถทำการประมงได้   ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนจึงไม่ยอมรับความจริงเรื่องนี้


 


สมภาร  กล่าวอีกว่า  การเปิดประตูเขื่อนปากมูลตนได้มองเห็นวิถีชีวิตของคนปากมูลได้ย้อนกลับคืนมาอีกครั้งหลังจากล่มสลายไปจากการสร้างเขื่อน  หลายครอบครัวต้องละถิ่นฐานบ้านเกิดไปตั้งรกรากแห่งใหม่เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินและไม่สามารถจับปลาซึ่งเป็นอาชีพหลักได้เหมือนอดีตที่ผ่านมา 


 


หลายครอบครัวอพยพไปปักหลักปักฐานที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี  ต้องไปเช่าบ้าน และเช่าเรือนายทุนเพื่อจับปลาขายประทังชีวิตไปวัน ๆ ซึ่งนับวันคนกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ   หลายครอบครัวจำต้องหันเหชีวิตไปเสี่ยงโชคชะตาในเมืองใหญ่ตั้งแต่กรุงเทพ ไปถึงภูเก็ต  ซึ่งกลุ่มนี้โดยมากจะไม่หันกลับมาบ้านอีก เนื่องจากกลับมาแล้วกลัวจะขาดความต่อเนื่องของอาชีพใหม่    


 


"การเปิดประตูเขื่อนเพียงปีละ 4 เดือน ไม่ได้มีผลอะไรต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในระยะยาว   แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็น 4 เดือนแห่งการฟื้นฟูวิถีชีวิตของคนปากมูล   จำนวนปลาที่เพิ่มมากขึ้น  ชนิดของพันธุ์ปลามีความหลากหลายมากขึ้น  การกลับมาของพรานปลาที่หายไปจากหมู่บ้าน  จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งของคนปากแม่น้ำมูล  แต่สุดท้ายพอถึงช่วงปิดเขื่อนอีก 8 เดือนต่อมา  ภาพวิถีชีวิตเหล่านี้ก็มลายหายไปอีกครั้ง " สมภารกล่าว


 


มนูญ  มุ่งชู


สำนักข่าวประชาธรรม


 


 


 


           


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net