Skip to main content
sharethis

ประชาไท—16 พ.ค. 2549 สตูล พบผุ้ป่วยต้องสงสัยโรคไข้กาฬหลังแอ่นเสียชีวิต1 ราย  ในขณะที่นครศรีธรรมราช พบอีกหนึ่งราย


 


ประชาไท—16 พ.ค. 2549 นายสำรวม  ด่านประชันกุล  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล  เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลสตูล  เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาว่า พบผู้ป่วยสงสัยโรคไข้กาฬหลังแอ่น 1 ราย และเสียชีวิตแล้ว ชื่อนายนีวัฒน์ นิลสกุล อายุ 26 ปี  อาชีพกรรมกรก่อสร้าง อยู่ที่หมู่ 6 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู  ภายหลังทราบเหตุทางงานควบคุมโรคติดต่อและเอดส์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล  ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่  ค้นหาผู้สัมผัสในพื้นที่บ้านผู้ป่วย และใกล้เคียง โดยได้จ่ายยาไรแฟมฟิซิล จำนวน 23 ราย และให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคกาฬหลังแอ่นแก่ผู้ใกล้ชิด พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เฝ้าสังเกตอาการผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย


 


ทั้งนี้สาเหตุของโรคกาฬหลังแอ่น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย "ไนจีเรียมนิไจตีร์ส"  พบในน้ำมูก น้ำลาย สามารถติดต่อโดยการสัมผัสกระจายของน้ำมูกน้ำลาย สัมผัสของใช้ร่วมกัน ติดต่อจากคนที่ใกล้ชิดผู้ป่วย  และอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะแพร่เชื้อในสภาพแวดล้อมแออัด มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี  โดยเฉพาะในแหล่งชุมชน  ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามข้อ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นแดดงขึ้นเป็นจ้ำเลือด หากมีอาการมาก จะลุกลามทำให้เยื้อหุ้มปอดอักเสบ ทำให้เกิดหูน้ำหนวก  ส่วนการรักษาในปัจจุบันสามารถรักษาได้ อัตราการรอดชีวิตมีมากกว่าเสียชีวิต  โดยจังหวัดสตูล 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2544 -2548  พบผู้ป่วย 16 ราย เสียชีวิต 6 ราย


 


ด้านจังหวัดนครศรีธรรมราช พบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้กาฬหลังแอ่น 1 ราย เป็นเด็กเพสหญิงอายุ 1 ปี 7 เดือน โดยเดินทางเข้ารักษาตัวด้วยอาการอาการไข้สูง ออกผื่นสีคล้ำทั้งตัว มีภาวะช็อก และเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น


 


น.พ. นพพร ชื่นกลิ่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าวว่า จากการตรวจสอบสวนโรคในระยะ 10 วัน ผู้ป่วยไม่ได้ติดต่อสัมผัสกับบุคคลภายนอก นอกจากผู้อาศัยภายในบ้าน อย่างไรก็ตาม ทางสาธารณสุขได้จ่ายยาปฏิชีวนะต่อต้านเชื้อให้กับผู้สัมผัสผู้ป่วยทั้งสิ้น 38 ราย และได้มีการสุขศึกษาประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันควบคุมโรคแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน


 


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวังโรคดังกล่าวตามหลักวิชาการควบคุมโรคอย่างใกล้ชิดต่อไปอีก 20 วัน และค้นหาผู้ป่วยรายอื่น และได้สอบสวนโรคเพื่อค้นหาแหล่งโรคให้ได้ เนื่องจากมีการให้ยาปฏิชีวนะผู้สัมผัสใกล้ชิด จึงเป็นปัญหาไม่สามารถตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาแหล่งโรคได้ดีเท่าที่ควร


 


นายแพทย์นพพร กล่าวต่อว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เชื้อนี้ติดต่อจากคนไปสู่คน โดยเชื้อจะออกมาทางละอองน้ำมูก น้ำลาย จากปาก หรือจมูกของผู้ที่เป็นพาหะ หรือผู้ป่วย


 


โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 2-10 วัน (เฉลี่ย 3-4 วัน) อาการและการแสดงออกมาผู้ป่วยจะมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะมาก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ คอแข็ง ปวดเมื่อยกล้มเนื้อ ปวดข้อ มักมีผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง ร่วมกับจ้ำเลือดขึ้นตามตัว แขนขา อาจมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ในรายที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยจะซึม ชัก และช็อกเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง หากมีอาการเริ่มต้นดังกล่าวตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สัมผัสผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนทันที


 


นายแพทย์นพพร เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกขณะนี้ว่า เป็นระยะที่มีฝนตกชุก แต่ฝนจะไม่ตกหนักต่อเนื่องเช่นฤดูมรสุมเหมือนช่วงปลายปี ทำให้ระยะนี้จะมีสภาวการณ์เหมาะต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น หากไม่มีการป้องกันควบคุมอย่างดี


 


ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงต้องมีการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผู้ป่วยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2548 และต้นปี 2549 ยังคงพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาตลอด และยังคงมีหมู่บ้านที่มีผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องซ้ำซาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงมีผู้ป่วยเสียชีวิตได้ สิ่งสำคัญโดยให้ทุกครอบครัวได้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง


 


สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ มีจำนวนผู้ป่วย 215 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย โดยผู้ป่วยกลุ่มอายุ 10-14 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี, 0-4 ปี, 15-24 ปี, 25-34 ปี, 55-64 ปี, 35-44 ปี, 45-54 ปี และ 65 ปีขึ้นไป ตามลำดับ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ อำเภอเมือง รองลงมาคือ พรหมคีรี, จุฬาภรณ์, ทุ่งสง และอำเภอฉวาง ตามลำดับ


 


ที่มา: เว็บไซต์ผู้จัดการและสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net