การศึกษาไทยไม่ได้มีปัญหาที่ระบบแอดมิสชั่น

วันนี้ (15 พ.ค.) เมื่อปีที่แล้ว นักเรียนที่จบชั้น ม.6 คงกำลังเตรียมตัวเป็นนิสิตใหม่ในมหาวิทยาลัย กำลังสะลัดชุดกระโปรงบานขาสั้น กำลังคุยกับเพื่อนๆว่าใครได้เรียนที่ไหน คณะอะไร พ่อแม่บางคนกำลังเลี้ยงฉลองให้ลูกที่สอบได้ และบางคนให้กำลังใจลูกที่สอบไม่ได้ กำลังลุ้นผลการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งมีสิทธิได้มากกว่าตก

 

และแน่นอน "ผลลัพท์ของการเรียนกวดวิชา คงจะเห็นแล้วในวันนี้"

 

แต่ 15 พ.ค. ปีนี้ ว่าที่นิสิตนักศึกษาใหม่ยังไม่เกิด สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) เลื่อนการประกาศผลสอบออกไปอีก ทำเอาทั้งนักเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครองใจหายใจคว่ำ จะเปิดเทอม.แล้วลูกๆยังไม่มีที่เรียน

 

แอดมิชชั่นหนีปัญหาเก่า เจอปัญหาใหม่

แนวคิดที่นำเอาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิสชั่นมาใช้ เพราะเล็งเห็นปัญหาว่าการสอบ เอ็นทรานซ์ระบบเดิมมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตเยาวชนไทยในเรื่องความเครียด ต้องกวดวิชาเป็นบ้าเป็นหลัง ข้อสอบยากเกินไปเพราะเป็นเนื้อหาของการเรียนในระดับปริญญาตรี นักเรียนฝึกเทคนิคการทำข้อสอบแบบปรนัย ส่วนข้อสอบอัตนัยอ่อนมาก

เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กที่เรียน ม.6 จึงไม่มีใครตั้งใจเรียนในห้อง เพราะจะติวแต่วิชาที่ใช้เฉพาะในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น และ ครูอาจารย์ระดับมัธยมศึกษาเป็นผู้สอนตามหลักสูตรแต่ไม่มีโอกาสออกข้อสอบแม้แต่ข้อเดียว

 

เมื่อนักเรียนไม่ตั้งใจเรียนในโรงเรียน โรงเรียนกวดวิชาเต็มเมือง ความเครียดสะสม ความรู้พื้นฐานไม่แน่น ส่งผลต่อการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จึงมีแนวคิดนำเอาระบบแอดมิสชั่นเข้ามาใช้

 

หลักการของระบบแอดมิสชั่น คือ ต้องการให้นักเรียนให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ มีความรอบรู้ในขั้นพื้นฐานทุกสาระกลุ่มวิชาและในสาขาวิชาเฉพาะที่ตนเองสนใจที่จะศึกษาต่อ จึงกำหนดให้น้ำหนักในเรื่องของ GPA และ GPAX ในระดับโรงเรียน ในเวลานั้นการให้คะแนนและเกรดค่อนข้างเป็นธรรมชาติและเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลการการวิจัยพบว่ามีโรงเรียนประมาณ 200 โรงเรียนเกรดเฟ้อ ปล่อยเกรด อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการคิดคำนวณเรื่องการถ่วงน้ำหนักกับเกรดของแต่ละโรงเรียนให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

ประการต่อมาคือการออกข้อสอบเอ็นทรานซ์ที่ยากมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเนื้อหาของนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำเป็นต้องยกเลิกแต่ให้เป็นข้อสอบวัดเนื้อหาระดับ ม.6 จริงๆ อาจารย์ในโรงเรียนต้องออกข้อสอบร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งพัฒนาขึ้นมาเป็นโอเน็ตในปัจจุบัน สำหรับมหาวิทยาลัยที่ต้องการผู้เรียนเฉพาะด้านสาขาวิชาให้สอบได้ 1-3 วิชา ซึ่งก็คือข้อสอบเอเน็ตนั่นเอง ข้อสอบต้องมีจำนวนและสัดส่วนของปรนัยและอัตนัยใกล้เคียงกัน

ด้านการจัดการสอบให้มีข้อสอบมาตรฐาน เชื่อถือได้ ความแม่นตรงระดับความสามารถผู้เรียน ให้มีหน่วยกลางที่รับผิดชอบโดยตรงที่ต่อมาคือสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)ที่สร้างปัญหาในเรื่องความไม่พร้อมในเรื่องโอเน็ตและเอเน็ตในปัจจุบัน

สรุปคือระบบใหม่นี้จะคลายความกดดันเรื่องการกวดวิชาลง นักเรียนมีความรอบรู้ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สร้างการเชื่อมโยงระบบหลักสูตรระดับมัธยมศึกษากับอุดมศึกษาให้ต่อเนื่องกัน เพิ่มทักษะการเขียนอัตนัย ทุ่มเทการเรียนในห้องเสมอต้นเสมอปลาย ระบบแอดมิสชั่นส์ จึงเป็นความหวังว่าจะเป็นรอยต่อและก่อให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้และหลักสูตรการศึกษาในระยะยาว

 

หลักการยังอยู่ในแฟ้ม เมื่อมีการใช้จริงกลับปรากฏปัญหามากมายหลายเรื่องที่ผิดหลักการไปมากนับแต่การประกาศผลโอเน็ตและเอเน็ตไม่น่าเชื่อถือ ล่มแล้วล่มอีกอันเกิดจากปัญหาทางเทคนิคและความอ่อนด้อยประสบการณ์ของ สทศ. ,การไม่คิดถ่วงคะแนนเกรดของโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่ปล่อยเกรดเฟ้อ เพราะทำไม่ทัน, รีบเร่งประกาศใช้ระบบแอดมิสชั่นทั้งที่ไม่พร้อม, ระบบคอมพิวเตอร์ตรวจคะแนนผิดพลาด, ข้อสอบอัตนัยไม่ยุติธรรม และอื่นๆ

 

ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรียกร้องหาผู้รับผิดชอบ แล้วเลยไปถึงการงัดเอาระบบเอนทรานซ์มาขัดถูแล้วนำมาใช้ใหม่ โดยเครือข่ายพ่อแม่-เยาวชน เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นแกนนำ

บทเรียนราคาแพงครั้งนี้ เป็นความผิดพลาดโดยตรงของ สกอ. และ สทศ. และยังสะท้อนถึงแนวคิดพื้นฐานบางประการที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย

 

รากความคิด "โรงเรียนดี มหา"ลัยดัง" ปุ๋ยชั้นดีของปัญหาการศึกษา 

เมื่อ"การศึกษา" เท่ากับ "การแข่งขัน" มีทั้งการแข่งขันที่มองเห็นและมองไม่เห็น การดำเนินชีวิตในสังคมเป็นแบบแพ้คัดออก คนมีความสามารถต้องเรียนเก่ง ต้องเป็นนักเรียนชื่อดังอย่างเตรียมฯ, สวนกุหลาบ ต้องจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐ ต้องจบจุฬาฯ หรือ ธรรมศาสตร์ ไม่เช่นนั้น ก็จะมีเสียงยี้ตามหลัง เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เป็นการสร้างมาตรฐานของแบรนด์ขึ้นมาเพื่อวัดว่าใครดีกว่าใคร ทั้งที่มันเป็นเพียงแค่ "เส้นวัดโอกาส" เท่านั้น

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งยอมจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ย ยอมบริจาคเงินให้โรงเรียนเพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนชื่อดัง หลังจากนั้นก็ส่งลูกเรียนกวดวิชาเพื่อที่จะเข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐให้ได้

 

ปรากฎการณ์นี้เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของ พญ.กมลพรรณ และนักเรียนในกลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ฯ ซึ่ง เป็นการเคลื่อนไหวของผู้ปกครอง และนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแอดมิสชั่นส์มาตั้งแต่ต้น โดยมักหยิบยกประเด็นมาตรฐานของโรงเรียนที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ทั้งที่เด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในกรุงเทพฯ อยู่ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ผลการเรียนสูงมาก ฐานะทางบ้านดี และมีโอกาสที่ดีกว่าเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล

 

หลายคนในกลุ่มนี้ยอมรับว่า ต้องบริจาคเงินเขาโรงเรียนเพื่อให้ลูกๆได้เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมชื่อดัง ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างของโอกาสทางการศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มนี้เรียกร้องเรื่องมาตรฐานของโรงเรียนที่ไม่เท่ากัน และน้ำเสียงในแนวคิดนี้บ่งบอกว่า "โรงเรียนข้าดีกว่าโรงเรียนบ้านนอก"

 

ในประเด็นเรื่องมาตรฐานโรงเรียนนี้ ดร.ธงชัย มั่นคง รองผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรีกล่าวว่า "มาตรฐานโรงเรียนจะเปรียบก็เหมือนรถยนต์ หน้าที่ของรถยนต์คือขับได้ พาไปถึงจุดหมายได้ แต่บางแห่งสามารถซื้อรถเบนซ์ หรือบีเอ็มฯ ความนุ่มสบายมันก็ต่างจากรถธรรมดาอยู่แล้ว แต่กระทรวงฯมีหน้าที่ทำให้รถวิ่งไปถึงจุดหมายได้ ส่วนจะนุ่มสบายแค่ไหน ก็อยู่ที่ปัจจัยอื่นของแต่ละโรงเรียน"

 

ดร.ธงชัยกล่าวอีกว่า มาตรฐานของโรงเรียนทุกโรงเรียนเท่ากัน คือ คำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์ ที่ว่าไม่มีใครมีความสามารถเท่ากัน แต่เมื่อทุกคนมาอยู่ด้วยกันในระบบโรงเรียน ต้องหลอมรวมและดึงความสามารถของทุกคนด้วยระบบเดียว จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

 

"อย่างเตรียมฯ หรือสวนกุหลาบ นั่นไม่ใช่ธรรมชาติ เพราะไม่มีความหลากหลาย มีแต่คนเก่งไปอยู่รวมกัน ครูที่นั่นจึงสอนได้โดยไม่มีปัญหา จะให้ความรู้เท่าไหร่ นักเรียนรับได้หมด หรือบางคนเก่งเองอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับระบบการเรียน ต่างจากระบบโรงเรียนอีกทั้งทั่วประเทศที่ใช้ธรรมชาติ" ดร.ธงชัยกล่าว

 

เมื่อทั้งสังคมพยายามทำให้ "เด็กเก่งเกินธรรมชาติ" เด็กธรรมดาจึงตกเป็นผู้แพ้ และถูกคัดออกจากสังคมในที่สุด บางคนทนกับความพ่ายแพ้ไม่ได้ก็เครียด ฆ่าตัวตาย หรืออยู่ในสังคมอย่างตายทั้งเป็น จ่มจมอยู่กับความรู้สึกพ่ายแพ้ไม่เท่าเทียม กลายเป็นคนอีกชั้นหนึ่งของสังคมไปโดยปริยาย ไม่ใช่แนวหน้า ไม่ใช่ชนชั้นกลางที่มีแรงในการผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า ยอมเป็นคนที่เดินตามหลังสังคม

 

หากยังแก้แนวคิดระบบแพ้คัดออกที่ฝังอยู่ในสังคมไม่ได้ ภาพผู้ปกครองไปอดตาหลับขับตานอนหน้าโรงเรียนกวดวิชาเพื่อสมัครเรียนให้ลูกๆ จะยังอยู่ในสังคมไทยต่อไป

 

จะมีเด็กไทยจำนวนมากอยู่ในภาวะหนอนหนังสือ ท่องจำเพื่อไปสอบโดยอาจไม่กล้าประยุกต์ หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะมันไม่เหมือนในทฤษฎี

 

"ปัญหาเรื่อง "ผู้สอน" เป็นอีกปัญหาที่ปฏิเสธไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจ เมื่อรายได้ของอาชีพครูไม่พอ ทำให้ต้องหารายได้เพิ่มทั้งจากงานนอก และเปิดสอนพิเศษให้เด็กๆในห้อง และน่าแปลกที่เด็กที่เรียนพิเศษมักได้เกรดดีกว่า เด็กที่ไม่ได้เรียนพิเศษกับครูคนนั้น หากทำให้อาชีพครูเป็นที่น่าภาคภูมิใจเหมือนกับแพทย์ หรือวิศวะ รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับการดำรงชีพ น่าจะทำให้ "อาชีพครู" เป็นอาชีพหนึ่งที่เพิ่มประสิทธิภาพให้คนในสังคมได้ดังอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ได้" ดร.ธงชัยกล่าว

 

อย่างไรก็ตามนักการศึกษาผู้นี้ สนับสนุนแนวคิดพื้นฐานของระบบแอดมิสชั่นส์ ที่ให้เด็กมีความรอบรู้ จนหาความถนัดของตัวเองเจอในการศึกษาระดับสูง และให้สนามแข่งขันทาสังคมมีที่กว้างพอให้เด็กๆในชนบทเข้ามาลงแข่งมุ่งสู่ การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้

 

"และหวังว่าหลังจากนี้ว่า ปีหน้าระบบแอดมิสชั่นส์จะไม่มีข้อผิดพลาดแม้แต่เปอร์เซ็นเดียว พร้อมๆกับที่กระทรวงศึกษาธิการจะเพิ่มสมรรถนะรถยนต์คันเดิม ให้กลายเป็นรถยนต์ที่มีเบาะนุ่มๆ มีเพลงฟัง และเร่งความเร็วได้ สัก 60 กม./ชม.ก็พอ ไม่ใช่วิ่งไปหยุดไป ถึงจุดหมายเหมือนกันแต่ช้ากว่าที่ควรจะเป็นไปหลายขุมเช่นนี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท