Skip to main content
sharethis

ณรรธราวุธ เมืองสุข
ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย



นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความรุนแรงของสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ก่อเหตุรายวันข่มขวัญประชาชน ทั้งการลอบยิง การลอบเผาสถานที่สำคัญทางราชการ บุกสังหารชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมจนก่อให้เกิดความสูญเสียไม่น้อย นั่นจึงกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของเหล่าทหาร-ตำรวจ


         


โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการเฝ้าระวังชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่กระนั้นหลายชีวิตในสังคมก็ล้มลงดุจใบไม้ร่วง โดยเฉพาะตำรวจเองก็สูญเสียกำลังพลไปไม่น้อย หลายชีวิตถูกลอบสังหารขณะออกลาดตระเวนรักษาความปลอดภัย บางนายถูกวางระเบิด และบ้างเป็นการปะทะซึ่งหน้ากับกลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ


"ปีแรกนี่ยอมรับว่า เรายังมืดบอด ปีที่ 2 พอจะเห็นเค้าลางบ้าง พอขึ้นปีที่ 3 นี่เหมือนเราเจอกับแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์...พอจะช่วยให้เรามีความหวังขึ้นมาบ้าง" พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการทำงานของตำรวจท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


           ทั้งนี้ข้อมูลจากการแถลงข่าวผลการปฏิบัติงานในรอบ 6 เดือน (ต.ค.2548-มี.ค.2549) ของกองอำนวย การเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)เมื่อวันที่  17 พ.ค.ที่ผ่านมา สรุปสถิติความสูญเสียในรอบ 6 เดือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 49 ราย จากยอดผู้เสียชีวิตรวม 284 ราย บาดเจ็บ 325 ราย


           ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารสูญเสียในระดับใกล้เคียงกันคือ เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 36 ราย ส่วนพลเรือน ประชาชนเสียชีวิตมากที่สุดถึง 204 ราย บาดเจ็บ 240 ราย ซึ่งหากรวมยอดผู้สูญเสียแล้วเทียบสถิติในรอบ 6 เดือน ก่อนหน้า (เม.ย.- ก.ย. 48) ปรากฏว่า การเสียชีวิตลดลง 17 ราย ส่วนการบาดเจ็บลดลง 228 ราย


           ขณะที่ข้อมูลของ ศปก.ตร.ส่วนหน้า สรุปและยืนยันในทิศทางเดียวกับข้อมูลข้างต้นว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมาได้ผลเป็นที่ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะฟากตำรวจเองสามารถลดความสูญเสียลงได้ไม่น้อย 


          "ที่ผ่านมาตำรวจทำงานแบบปะทะอย่างเดียว เอาแต่เรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ช่วงหลังนี่มีการปรับใช้ยุทธวิธีการเข้าหามวลชน ดึงมวลชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา แยกน้ำออกจากปลา ซึ่งปรากฏว่ามันได้ผลดีมาก เจ้าหน้าที่ก็ทำงานง่ายขึ้น" พล.ต.ท.อชิรวิทย์กล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันเพิ่งเกิดเหตุสลดใจ เมื่อตำรวจหนึ่งนายจาก สภ.อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ถูกจ่อยิงอย่างอุกอาจกลางงานแข่งขันฟุตบอลในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี


        ย้อนกลับไปดูข้อสรุปผลการปฏิบัติงานในรอบ 6 เดือน ซึ่ง กอ.สสส.จชต.ระบุว่า ภาพรวมของสถานการณ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า สถิติจำนวนเหตุร้ายได้ลดลง บ่งชี้ว่า สถานการณ์เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เจ้าหน้าที่พยายามแยกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจากประชาชน ทางยุทธวิธีให้เกาะติดพื้นที่ เกาะติดข้าศึก และเกาะ ติดประชาชน ใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในกรณีฉุกเฉินเฉพาะเท่าที่จำเป็น เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดและขยายผลไปสู่การยึดอาวุธ กระสุน วัตถุระเบิด และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อเหตุได้เป็นจำนวนมาก ใช้การเมืองนำการทหาร สามารถสร้างความพอใจให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนได้เห็นความจริง เจ้าหน้าที่ได้รับความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น ลดความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ค่อนข้างมาก


          สิ่งสำคัญที่สุดคือ ยุทธวิธีที่เรียกกันว่า แยกน้ำออกจากปลา หรือแยกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบออกจากกลุ่มประชาชน ดึงมวลชนเข้ามาเป็นฝ่ายรัฐ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สามารถตอบโต้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบได้เต็มกำลัง


          พล.ต.ท.อชิรวิทย์ ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 กล่าวเพียงสั้นๆว่า "ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาการทำงานของตำรวจค่อนข้างเข้มแข็งและเป็นฝ่ายรุกมาตลอดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อนจะพบว่าต้องสูญเสียตำรวจกว่า 100 นาย เป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าได้ยาก"


         โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวอีกว่า การสูญเสียของตำรวจซึ่งแลกกับความสงบสุขของพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือภาระที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเข้าไปดูแล


          "เมื่อเราสูญเสียตำรวจ เราก็ต้องเข้าไปดูแลญาติพี่น้องของเขา ต้องมีเงินให้เมีย ต้องส่งลูกเรียน นี่คือภาระที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเข้าไปจัดการดูแลให้" 


           13 พ.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ท.อชิรวิทย์ เพิ่งเดินทางลงมาที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานมอบเงินสวัสดิการ เพื่อช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 17 ราย เป็นทายาท 66 ราย และตำรวจ 5 ราย รวมเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท


          "แต่ปัญหาก็คือ ตำรวจเก่งเรื่องการทำงานภาคสนามอย่างเดียว งานธุรการนี่ต้องคุยกันหน่อย ผมเห็นแล้วต้องสั่งการให้จัดการเรื่องเอกสารให้ดี เพราะสะเปะสะปะมาก คนไหนบาดเจ็บ คนไหนเสียชีวิตต้องมีเอกสารพร้อมทีเดียว เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของครอบครัวเขา ถ้าตกหล่นตรงไหนลูกเมียเขาจะลำบาก ผมจึงกำชับไปให้เขาดูแลตรงนี้กันให้ดีหน่อย" โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกเล่าถึงปัญหาที่เพิ่งประสบมา


            แต่จากข้อสรุปของทาง กอ.สสส.จชต.ซึ่งระบุว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวแปรที่สำคัญของสถิติดังกล่าวคือสภาพภูมิอากาศอันแปรปรวน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเมื่อปลายปีที่แล้วทำให้สถิติการก่อเหตุลดจำนวนลงค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2547 นั่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจสรุปได้อย่างมั่นใจว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประสบความสำเร็จ


         ทั้งนี้ต้องรอดูว่า ในช่วง 6 เดือนหลังไปจนถึงช่วงปลายปี พ.ศ. 2549   ทางการจะสามารถลดจำนวนผู้สูญเสียซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเงื่อนปัจจัยที่สำคัญก็คือ  การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานให้สอดรับกับสถานการณ์และพื้นที่


           เท่าที่ทราบ ขณะนี้ไม่ว่า จะเป็น กอ.สสส.จชต. และ ศปก.ตร. ส่วนหน้า ต่างก็ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี โดยเฉพาะส่วนของการพัฒนาและการดึงมวลชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน


           โดยเฉพาะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ก็พยายามพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานเพื่อลดภาวะความขัดแย้ง เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เพิ่งจัดอบรมให้ความรู้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถระดับหัวหน้าสถานี โดยจัดอบรมหลักสูตรเจรจาต่อรองและบริหารเหตุวิกฤติการณ์ รับมือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกรณีการจับตัวประกันโดยใช้เหตุการณ์สูญเสียตัวประกัน 2 นาวิกโยธินที่บ้านตันหยงลิมอ หรือการสูญเสียตำรวจพลร่มที่บ้านบองอ จังหวัดนราธิวาสเป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่ง พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในฐานะผู้บัญชา การ ศปก.ตร.สน.ให้เหตุผลว่า "จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 บทเรียน ทำให้ทราบว่าการแก้ปัญหาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ยังขาดเครื่องมือในการช่วยเหลือตัวประกัน 2 ด้าน คือ ผู้บริหารวิกฤติการณ์ และ นักเจรจาต่อรอง"


           ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ยอมรับว่า ในเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปฏิบัติการเชิงรุก สืบสวนสอบสวน ขยายผลจับกุมเครือข่ายกระบวนการก่อการร้ายได้ แต่ปฏิบัติการเชิงรับ เช่นการเจรจาต่อรองที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น จึงต้องเร่งให้ความรู้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยเร็วที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยได้ในเร็ววัน


          ซึ่งต้องติดตามดูกันว่า ขณะมองเห็นแสงสว่างเรืองๆ อยู่ปลายอุโมงค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินทางไปสู่ทางออกนั้นได้โดยราบรื่นหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net