Skip to main content
sharethis


 


 


"หลักฐานที่ใช้ตัดสินคดีคือ เอกสารที่เอฟบีไอทำมาให้ ส่วนพยานบุคคล คือคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง อีกประการหนึ่งก็คือการที่อับดุลอาชิยอมรับว่า ได้รับกระเป๋าสีดำจากฮัมบาลี เมื่อเปิดกระเป๋าก็เห็นแผ่นซีดีซึ่งเขาแอบเอาไปเปิดดูในคอมพิวเตอร์ เห็นภาพรถที่มีคนเดินเอาระเบิดไปใส่ไว้เหมือนเป็นละครเรื่องหนึ่ง พอเดินออกมาก็ตูม"


 


ข้อความข้างบน คือคำบอกเล่าจากปาก "เกา โสภา" ทนายสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชาที่ระบุถึง พยานและหลักฐานทั้งหมดที่ศาลกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาใช้ในการตัดสิน อับดุลอาชิ หะยีเจ๊ะมิง และนายมูฮำหมัดยาลาลูดิน มะดิง ว่ามีความผิดตามมาตรา 3 ว่าด้วยการพยายามฆ่า ของกฎหมายก่อการร้าย  โดยสมรู้ร่วมคิดกับ "ฮัมบาลี" เตรียมวางระเบิดสถานทูตของชาวตะวันตกในกัมพูชา ให้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต!


 


ทีนี้ลองมาพิจารณากันต่อว่าคดีนี้มีจุดสังเกตที่น่าสนใจหรือไม่อย่างไร


 


ความกังขาของทนายกัมพูชา


คดีเจไอไทยในกัมพูชาเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2546 เมื่อทั้งสองคนถูกจับที่กรุงพนมเปญ


 


เกา โสภา เข้ามาว่าความในคดีนี้ตั้งแต่แรก โดยเขายอมรับว่า ลูกความของเขาที่ชื่ออับดุลอาชิ สารภาพเองว่า รู้จักกับฮัมบาลีในชื่ออื่น และรู้ว่าเป็นนักธุรกิจ ประเด็นในการโดนจับคือ ให้ที่พักและอาหารแก่นายฮัมบาลี โดยมีผู้แนะนำให้รู้จักเป็นคนไทยมุสลิมคนหนึ่ง


 


"การเป็นผู้สอนศาสนา ไม่ได้เลือกว่าให้คบค้ากับใคร เป็นลักษณะของการรู้จักภาษากันและคุยกันรู้เรื่อง เป็นความสัมพันธ์ที่ธรรมดา" เกา โสภา กล่าว นอกจากนี้ประเพณีของชาวมุสลิมก็มีเรื่องของการทำอาหารเลี้ยงต้อนรับแขกที่มาเยือนอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อับดุลอาชิ ซึ่งรู้จักฮัมบาลีมาก่อนมาที่พนมเปญถึง 3 ปีจะทำหน้าที่เลี้ยงต้อนรับ


 


ส่วนความเกี่ยวข้องกับนายมูฮัมหมัดยาลาลูดินนั้น ไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่าเกี่ยวข้องเลย เพียงแต่เป็นผู้ที่ได้รับเชิญไปร่วมทานอาหารด้วยเท่านั้น


 


ดังนั้นในคดีที่ตัดสินอย่างผิดสังเกตนี้ เกา โสภา จึงตั้งข้อสันนิษฐานส่วนตัวว่า เหตุที่ลูกความของเขาต้องโดนจำคุกตลอดชีวิตนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการไต่สวนในคดีเลย แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับการกดขี่ทางการเมืองที่มีสหรัฐเข้ามาเกี่ยวมากกว่า


 


เพราะศาลเองไม่มีพยานหลักฐานใดที่นำมาแสดงว่า ลูกความของเขาสมรู้ร่วมคิดกับนายฮัมบาลีเพื่อวางแผนก่อการร้าย ศาลมีพยานในคดีสำคัญระดับนี้เพียงคนเดียว คือ "คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างคนหนึ่ง"


 


"มอเตอร์ไซด์รับจ้างระบุว่า ได้ยิน 2 คนนี้พูดคุยโทรศัพท์ติดต่อกันกับนายฮัมบาลี เหตุที่รู้จักคนที่ชื่อฮัมบาลีก็เพราะนายฮัมบาลีบอกว่า จะซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้ใหม่ แต่ให้ขับพาเขาไปดูจุดต่างๆ เช่นสถานทูตของชาวตะวันตก"


 


การซักค้านของเกา โสภา ในศาล ทำให้เห็นท่าทีพิรุธถึง 3 จุด จุดแรกคือพยานเป็นเพียงมอเตอร์ไซด์รับจ้างและซ่อมแซมรถที่ไม่รู้จักภาษาอื่น ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ อาหรับ หรือมลายูมุสลิม พูดได้แต่ภาษาเขมร จุดที่สองคือ ฮัมบาลีพูดภาษาเขมรไม่ได้ แล้วสื่อสารกันอย่างไรให้มอเตอร์ไซด์รับจ้างรู้เรื่อง สาม คือลูกความของเขาทั้งสองคนก็ไม่สามารถพูดภาษาเขมรได้ แล้วมอเตอร์ไซด์รับจ้างฟังรู้เรื่องได้อย่างไร และหากมองที่บริบทการเป็นผู้ก่อร้ายระดับเป้งของฮัมบาลี ก็ควรจะระวังตัวมากกว่าการใช้มอเตอร์ไซด์รับจ้างพาไปที่ต่างๆ


 


"ชิพ ส่งหัก" เป็นทนายอีกคนหนึ่งที่ทำคดีเดียวกัน แต่มีลูกความเพียงคนเดียวคือชาวอียิปต์ ที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอุมอัลกุร (Um-Al-Qura) ที่ทั้งสองคนสอนอยู่ ชาวอียิปต์คนนี้ ถูกจับก่อน ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2546 แต่เป็นคนเดียวที่ศาลตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากมอเตอร์ไซด์รับจ้างไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงว่าไปร่วมงานเลี้ยงดังกล่าว แต่ทว่าเบื้องลึกแล้ว การยกฟ้องอาจจะเกี่ยวกับการที่ชาวอียิปต์คนนี้มีเงินจ้างทนายอย่าง ชิพ ส่งหัก ซึ่งมีค้าจ้างที่แพงมากก็เป็นได้


 


ชิพ ส่งหัก กล่าวว่า ในคดีของชาวอียิปต์ที่ศาลยกฟ้องนั้น เขาได้ซักค้านจนศาลไม่รับฟังพยานที่เป็นมอเตอร์ไซดรับจ้าง เนื่องจากพอสอบถามเส้นทางในพนมเปญกับมอเตอร์ไซด์รับจ้างดังกล่าวก็ตอบผิดไปหมด บอกอยู่ข้างหน้า แต่กลับอยู่ข้างหลัง เป็นต้น มอเตอร์ไซด์คันนี้รับจ้างอยู่ที่เสียมเรียบไม่ใช่พนมเปญ ศาลจึงตัดบทไม่เอาพยานปากนี้


 


แต่ศาลก็ยังใช้พยานนี้เป็นปากสำคัญเอาผิดกับสองคนไทย !!!!


 


ในหลักฐานคดีนี้ นอกเหนือจากที่เกา โสภา พูดถึงแล้ว ยังมีหลักฐานที่เป็นบันทึกการโทรศัพท์ด้วยซึ่งผูกมัดว่า อับดุลอาชิติดต่อกับฮัมบาลีตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯหลายครั้ง ก่อนที่ฮัมบาลีจะมากัมพูชา


 


แต่ชิพ ส่งหัก บอกว่า ในกรณีที่พบว่ามีการโทรศัพท์กับฮัมบาลีนั้นไม่สำคัญ เพราะการคุยกันไม่ได้หมายความว่าเป็นสมาชิกองค์กร เพราะเขาจะคุยกันเรื่องอะไรก็ได้


 


"สมมติคุณคุยกับผมแล้วคุณเป็นองค์กรก่อการร้าย ผมไม่รู้ แต่ก็คุย เหมือนกันการคุยกับฮัมบาลีก็ไม่รู้ว่าคุยกันเรื่องอะไร หลักฐานแค่นี้ยังใช้ไม่ได้"


 


เขาบอกว่า ความจริงเขาเสนอตัวไปที่สถานทูตไทยเพื่อที่จะทำคดีนี้พร้อมกับลูกความชาวอียิปต์ แต่ทางสถานทูตไทยไม่ติดต่อกลับมา กรณีนี้ทางสถานทูตไทยบอกว่า เป็นเรื่องราคาที่สูงมากถึงหนึ่งล้านบาท สถานทูตไม่มีเงินเพียงพอในการรองรับขนาดนั้น เนื่องจากต้องใช้ภาษีของประชาชนทุกคนมาช่วยและต้องคิดถึงคนไทยอื่นๆ ที่อยู่ในกัมพูชาด้วย


 


ตามข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่ามีคนไทยติดคุกอยู่ในกัมพูชาถึง 200 คน


 


ชิพ ส่งหัก ยังยืนยันด้วยว่า ถ้าตกลงให้เขาว่าความ ก็มาคุยกันอีกที โดยคิดราคาตามระยะเวลาในการทำคดี เขามั่นใจในการชนะคดีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จากพยานและหลักฐานที่ใช้กล่าวโทษในชั้นต้น


 


"เมื่อสถานทูตไทยไม่ติดต่อมา ผมก็รับแค่คนเดียว ผมเป็นบริษัทกฎหมาย ไม่ใช่เอ็นจีโอ ทางอียิปต์มีชาวต่างชาติคนหนึ่งติดต่อกลับมาว่า จะจ่ายเงินให้ผม ผมก็ทำคดีเดียว"


 


คำชี้แจงของอับดุลอาชิ


กลับมาที่นายอับดุลอาชิ ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า รู้จักจริง แต่ไม่ใช่ในชื่อฮัมบาลี โดยสารภาพตั้งแต่ตอนที่ตำรวจเอารูปมาให้ดู จึงตอบตามตรงว่ารู้จัก ส่วนโทรศัพท์นั้นมีเพื่อนคนอื่นใช้อีกหลายคน และที่ยอมรับในเรื่องซีดีการก่อการร้ายในกระเป๋าสีดำที่นายฮัมบาลีฝากนั้น ก็เพราะฮัมบาลีบอกว่า กลัวว่าถ้าทิ้งไว้ในโรงแรมอาจไม่ปลอดภัย


 


ตอนนั้นลูกคนเล็กร้องไห้งอแง พอเห็นกระเป๋าใบนั้นก็เปิดดู จึงเห็นซีดีแผ่นหนึ่งเป็นรูปลูกฟุตบอล แต่พอเปิด กลับกลายเป็นรถที่ถูกวางระเบิด เรื่องในหนังไม่มีอินโทรดัคชั่นใดๆ เป็นภาพแล้วก็ระเบิด ตรงนี้เป็นคำสารภาพในศาล และไม่มีใครซักค้านในรายละเอียด ส่วนซีดีตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะฮัมบาลีเอากระเป๋านั้นกลับไปแล้ว


 


ประเด็นนี้ก็ถูกการตั้งคำถามจากเกา โสภา ทนายชาวกัมพูชาเช่นกันว่า หากอับดุลอาชิ สมรู้ร่วมคิดกับฮัมบาลี ทำไมต้องสารภาพเรื่องซีดีตามตรง เพราะหลักฐานที่เป็นซีดีนั้น ฮัมบาลีก็เอากลับไปแล้ว ถ้าไม่พูดถึงก็คงไม่มีใครสามารถรู้ได้


 


เงื่อนงำที่สหรัฐต้องสร้างคดีเจในภูมิภาค


หลังจากได้ข้อมูลทางรูปคดีต่างๆ และเห็นจุดน่าสังเกตต่อคดีดังกล่าวแล้ว จึงได้ไปพูดคุยกับทนายความผู้ประสานเกี่ยวกับคดีเจไอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ขออนุญาตไม่เปิดเผย..นาม) ได้ข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่างเช่นกันว่า


 


ปกติประเทศอิสลามที่ร่ำรวยอย่างซาอุดิอาระเบียหรือคูเวต จะมีองค์กรที่เผยแผ่ศาสนาไปยังประเทศต่างๆ โรงเรียนอุมอัลกุร (Um-Al-Qura) คงเป็นหนึ่งในการเผยแผ่ศาสนาที่กัมพูชา ที่รับเงินสนับสนุนจากซาอุดิอาระเบีย นำเงินนั้นมาจ้างครูสอนศาสนาจากที่ต่างๆ ที่มาจากประเทศไทยมีจำนวน 13 คนรวมทั้งสองคนนี้ที่อยู่ในเรือนจำ


 


การเผยแผ่ศาสนานี้เอง อาจนำไปสู่ความหวั่นวิตกของสหรัฐ เนื่องจากมีเส้นทางการเงินที่โยงใยมาจากตะวันออกกลาง และอาจกลัวการแผ่ขยายของศาสนาอิสลามอันเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งในสายตาสหรัฐหลังจากเกิดกรณี 911


 


กัมพูชาได้รับความร่วมมือจากสหรัฐในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะเรื่องเงิน ส่วนไทย ภายหลังเหตุการณ์ 911 ดูจะเลือกข้างอเมริกาอย่างชัดเจนมาก คดีเจไอไทยกับกัมพูชาจึงดูจะเป็นเนื้อเดียวกันจนเรียกได้ว่า การจับสองคนไทยดังกล่าวในกัมพูชา คือที่มาของการจับฮัมบาลี ในประเทศไทย และนำไปสู่การรีบเร่งออกพระราชกำหนดแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือที่เรียกกันติดปากว่า พ.ร.ก.การก่อการร้าย ซึ่งน่าจะเข้าตีนสหรัฐ


 


ดังนั้นจึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ารัฐบาลไทยจะลอยแพสองคนนี้อย่างไม่อินังขังขอบใดๆ ทั้งๆ ที่สิทธิคุ้มครองคนในชาติตามกรอบกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย อย่างน้อยก็ควรจะถามถึงการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ที่ไม่ควรปล่อยให้เนิ่นนานมาถึง 3 ปี  ต่างจากกรณีเผาสถานทูตที่พ่วงบริษัทในเครือ "ชินวัตร" ไปด้วย ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลเต้นแร้งเต้นกาถึงขั้นขู่จะส่งหน่วยทหารไทยเข้าสู่กัมพูชาแบบนับนาทีเลยทีเดียว ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลไทยห่วง "อะไรกันแน่" หนอ ????


 


หากมองไปที่ความสัมพันธ์ของช่วงเวลาที่สองคนไทยถูกจับในกัมพูชา คือ 25 พฤษภาคม 2546 ก็จะตามมาด้วยการจับ นายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ ในประเทศไทยวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ในฐานะเจไอที่มีแผนที่จุดต่างๆ ที่จะก่อการในไทย ต่อมาการจับกุมตัวนายฮัมบาลีก็เกิดขึ้น ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันอย่างเชื่อมโยงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยประเทศกัมพูชาเป็นจุดเริ่มต้นของการจับกุมตัวละครที่แวดล้อมนายฮัมบาลี


 


สิ่งที่ตามมาคือ รัฐบาลรีบเร่งออกพระราชกำหนดการก่อการร้ายที่น่าจะโดนใจสหรัฐ เพราะต้องการใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนในกัมพูชาขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายดังกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยคดีหมอแว ยกฟ้องไปแล้ว และอีกไม่นานคดีที่เรียกว่าเจไอ ก็จะกลายเป็นคดีตกยุคที่ถูกลืมเลือน แต่ "กฎหมายการต่อต้านการก่อการร้าย" จะยังคงอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป โดยไม่รู้ว่า "ใคร" กันแน่ที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้


 


ในสายตาผู้สังเกตการณ์


สิ่งที่น่าสนใจมากในคดีนี้ก็คือ คดีนี้เหมือนกับว่า มีคำตัดสินไว้แล้วว่า สองคนไทยต้องโดนตัดสินจำคุกตลอดชีวิตภายใต้ข้อหาที่รุนแรงมาก ในการตัดสินของศาล มีแม้กระทั่งการเปลี่ยนข้อหาในการตัดสินโดยกะทันหัน


 


เดิมทั้งสองคนถูกจับกุมในมาตรา 2 ของกฎหมายการก่อการร้ายกัมพูชาที่ใช้ในการจัดการเขมรแดง มาตรานี้เป็นข้อหาลักพาตัว มีโทษเพียงการจำคุกไม่นานนัก แต่ตอนตัดสิน กลับตัดสินโทษด้วยมาตรา 3 คือพยายามฆ่าภายใต้กฎหมายเดียวกัน โทษของมาตรานี้คือจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว !


 


ในวันตัดสินคดีมีเจ้าหน้าที่อเมริกันขึ้นให้การเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยอ่านหลักฐานจากเอฟบีไอเกี่ยวกับเรื่องเจไอซึ่งเป็นหลักฐานที่ศาลกัมพูชาให้น้ำหนักต่อคดีเช่นกัน


 


ผู้สังเกตการณ์ในศาลวันตัดสินที่มาจากองค์กรตะวันตกสององค์กร (ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการทำงานในกัมพูชา) กล่าวตรงกันว่า หลักฐานจากเอฟบีไอที่ใช้ในวันนั้น เป็นเพียงการรายงานโครงสร้างของขบวนการเจไอและอัลกอร์อิดะเท่านั้น ไม่ได้บ่งชี้เรื่องการก่อการร้ายและไม่มีการระบุชื่อทั้งสองคนนี้เลย นอกจากนี้การพิจารณาคดีนี้ค่อนข้างแปลก แทนที่อัยการจะเป็นผู้ชี้นำคดี กลับกลายเป็นศาล ส่วนอัยการทำหน้าที่เพียงชี้ตาม จึงดูจะกลับกับการพิจารณาคดีตามหลักสากลอยู่บ้าง


 


ในขณะเดียวกัน ในวันนั้นกลับไม่มีตัวแทนจากทางสถานทูตไทยเลย หากเป็นคดีระหว่างประเทศ สถานทูตอื่นๆ จะมีตัวแทนจากประเทศนั้นๆ มาร่วมสังเกตการณ์มากมาย วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาเป็นภาษาเขมร จำเลยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ถูกตัดสินว่าอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก


 


ส่วนจุดยืนของสถานทูตสหรัฐกับอังกฤษในกัมพูชา หลังการตัดสินคดีก็คือ การออกมาแสดงความยินดีกับคำตัดสิน แหล่งข่าวกล่าวอย่างขำๆ ต่อว่า "ทั้งๆ ที่สองประเทศนี้มีจุดยืนมาโดยตลอดว่าต้องการเห็นความยุติธรรมในกัมพูชา" เขากล่าวอีกว่า คดีนี้ไม่ใช่เพียงแค่การตัดสินผิดหรือถูก แต่เป็นเรื่องที่กระบวนการของคดีมีพิรุธหลายจุด


 


การเปลี่ยนข้อหาจากลักพาตัวเป็นพยายามฆ่านี้ สำคัญกับสหรัฐ เพราะต้องการบอกว่า "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือที่พักพิงของผู้ก่อการร้าย" ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งกล่าว


 


นอกจากนี้ สังเกตได้อีกว่า ที่ปรึกษาของสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เข้าไปดูการพิจารณาคดีนี้โดยตลอด คงต้องตั้งคำถามกันต่อว่า ทำไมทางรัฐบาลกัมพูชาจึงให้ความสำคัญกับคดีนี้มากเป็นพิเศษคล้ายๆ กับเช็คให้ชัวร์ ในขณะที่รัฐบาลไทยกลับไม่สนใจอะไรเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net