Skip to main content
sharethis

รายงานโดย เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดอุบลฯ


 


 


เครือข่ายภูมิปัญญาอุบลใต้ กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เผยชาวบ้านบางคนแห๋ซื้อปุ๋ยจากต่างถิ่น ซึ่งใช้โปรโมชั่นล่อใจ ทำให้ยอดขายลดลง ชี้อาชีพชาวนาไม่ตายหากเร่งปลูกฝังจากครอบครัว ขณะที่ภาครัฐเร่งเปิดตลาดข้าวหอมมะลิภาคตะวันออก

นายขุนไทย แจ่มใส เครือข่ายภูมิปัญญาชาวบ้านอุบลใต้ กลุ่มผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์และเกษตรอินทรีย์ อ.น้ำยืน จ.อุบลฯ เปิดเผยว่า ในพื้นที่และสมาชิกของตนปัจจุบันซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 69 คนได้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นในการทำนา ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำนาได้เป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับการซื้อปุ๋ยเคมี อีกทั้งปุ๋ยอินทรีย์เป็นการปรับปรุงและบำรุงรักษาดินได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากสภาพดินที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งลดปัญหาดินเค็มลงได้ในระดับที่น่าพอใจ สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น สัตว์เลี้ยงจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลาก็จะไม่ตาย ในส่วนตัวแล้วเลิกใช้ปุ๋ยเคมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ในขณะที่ทางกลุ่มก็มีความพยายามที่จะให้สมาชิกและชาวบ้านทุกคนหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น แต่ก็มีชาวบ้านบางคนยังไม่มีความมั่นใจต่อประสิทธิภาพของปุ๋ยอินทรีย์เนื่องจากในระยะแรกอาจจะเห็นผลช้าต่อผลิตที่ได้ แต่ถ้าในระยะยาวผลที่เกิดขึ้นก็นับว่าคุ้มค่ามาก ทั้งนี้ชาวบ้านบางคนเมื่อซื้อปุ๋ยจากกลุ่มไปแล้วก็ไปผสมกับปุ๋ยเคมี ซึ่งทำให้ปุ๋ยมีผลต่อพืชส่งผลให้ผลผลิตเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปกติ แต่ตนก็ได้เตือนชาวบ้านที่กระทำเช่นนั้นไปแล้ว เพราะถ้าหากไปผสมกับปุ๋ยเคมีก็เหมือนกับเรายังใช้ปุ๋ยเคมีอยู่นั่นเอง



นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังประสบปัญหายอดจำหน่วยลดลง จากการที่ผู้ประกอบการในพื้นที่นำปุ๋ยอินทรีย์จากที่อื่นเข้ามาขาย โดยมีการจัดทำกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อจูงใจลูกค้า เช่น การจัดโปรโมชั่นซื้อปุ๋ยแล้วมีของสมนาคุณ ลดแลกแจกแถมไม่ว่าจะเป็นเสื้อ หรือการให้ลูกค้าซื้อได้โดยเงินเชื่อ ซึ่งจะเก็บเงินหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนี้ราคาปุ๋ยที่นำมาจากที่อื่นราคาเงินเชื่อกระสอบละ 390 บาท ราคาเงินสดกระสอบละ 350 บาท ขณะที่ราคาปุ๋ยของกลุ่มฯ กระสอบละ 300 บาท และราคาเงินสดกระสอบละ 270 บาท



"ชาวบ้านยังมีจิตใจที่ไม่มั่นคง เขาเอาอะไรมาล่อก็เอนเอียงไปกับเขา ทั้งที่ราคาปุ๋ยของกลุ่มก็ถูกกว่ามาก ทำให้กลุ่มเองต้องเกิดความเสียเปรียบกับผู้ประกอบการที่มีทุนมาก ชาวบ้านก็ยังเป็นชาวบ้านซึ่งต้องมีการกระตุ้นส่งเสริมและนำร่องให้เห็นผลที่ชัดเจนและเข้าใจการพึ่งพาตนเอง"



นายขุนไทย ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การที่จะให้ชาวบ้านหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือมีความรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองและคนอื่นๆ ด้วยนั้น เวลาอย่างเดียวคงจะไม่เป็นปัจจัยสำคัญ กลุ่ม,องค์กรต่างๆ ต้องมีความเข้มแข็งและทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อหยุดเมื่อไหร่ภูมิปัญญาที่ทำมาก็จะหายไป ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ขณะเดียวกันหลายฝ่ายเกรงว่าต่อไปอนาคตชาวนาไทยอาจจะไม่มีใครสืบสาน ตนคิดว่าคงจะไม่มีวันนั้นอย่างแน่นอน หากเราช่วยกันจัดการหรือปลูกฝังตั้งแต่ระดับครอบครัวให้มีความรักอาชีพและสำนึกในท้องถิ่น ไม่จำเป็นว่าเมื่อคนรุ่นใหม่มีการศึกษาที่สูงแล้วต้องไปทำงานที่ตรงกับสาขานั้น แต่หากเราประยุกต์กับความรู้ใหม่ก็อยู่ด้วยกันได้ และต้องช่วยกันลบล้างกระบวนการทำงานที่ชาวบ้านต้องรับคำสั่งมากจากส่วนกลางเสมอไป ที่ตนกล่าวเช่นนี้ไม่ได้ต่อต้านระบบราชการ แต่ 20 ปีที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้น



"เดี๋ยวนี้กำลังปรับปรุงการทำนาให้ลดต้นทุนลงให้มาก เช่นการทำรถไถนาให้มีเครื่องยนต์ที่เล็กลง เพราะพื้นที่ทำนาเหลือน้อยลงมากถ้าคิดต่อครัวเรือนในปัจจุบัน ในส่วนตัวก็เหลือเพียง 7-8 ไร่เท่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้รถไถนาขนาดใหญ่ นอกจากนี้ก็พยายามที่จะให้สมาชิกหันมารื้อฟื้นการใช้แรงงานจากควายแทนรถไถซึ่งสมาชิกมีอยู่ด้วยกัน 3 ตัวและพยายามจะให้มีมากขึ้น โดยปีนี้กลุ่มมีงบประมาณ 70,000 บาทที่จะพัฒนาด้านการผลิตปุ๋ยต่อไป"



ด้านนายทวีศักดิ์ ชีวสุทโธ ผู้ช่วยพาณิชย์จังหวัดอุบลฯ เปิดเผยว่า หลังจากการเดินทางไปร่วมงานการเปิดตลาดและขยายตลาดข้าวหอมมะลิที่จังหวัดระยองนั้น เป็นการประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิของกลุ่มยุทธศาสตร์ประกอบด้วย ศรีษะเกษ,อำนาจเจริญ,ยโสธร,อุบลฯ และเจรจากับผู้ประกอบการค้าข้าวทั้งที่เป็นโรงสี ร้านอาหาร ภัตตาคาร ซึ่งที่ผ่านมามักจะประสบกับปัญหาการนำข้าวหอมมะลิไปปลอมปนกับข้าวอื่น ดังนั้นการหาข้าวหอมมะลิที่แท้จริงจึงเป็นการยาก รวมทั้งการยกระดับราคาข้าวให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ร่วมเดินทางไปด้วยในครั้งนี้ได้แก่ โรงสีเดชอุดมศิริโชค,สหกรณ์การเกษตรเดชอุดม,สหกรณ์การเกษตรตระการพืชผล ทั้งนี้ในการเจรจาได้นำข้าวสารบรรจุถุงและหุงให้เห็นถึงคุณภาพข้าวของกลุ่มยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มการติดต่อซื้อขายข้าวของกลุ่มยุทธศาสตร์จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับชาวนาของเรา อย่างไรก็ตามจากการรับจำนำข้าวในฤดูที่ผ่านมาสามารถรับจำนำข้าวได้กว่า 200,000 ตันซึ่งการดำเนินงานไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net