Skip to main content
sharethis

ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่ากำลังพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการปกครองตนเอง หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองเจ้าเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่ามานานกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งการต่อสู้ได้ล้มลุกคลุกคลานสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันดูเหมือนว่าความหวังที่จะได้เอกราชกลับคืนมายังริบหรี่


 


อย่างไรเสียก็ดี หากมองดูความเคลื่อนไหวที่นานาประเทศมีต่อพม่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าปฏิรูปการเมือง รวมถึงการเผยแพร่พฤติกรรมการกระทำของอำนาจเผด็จทหารให้กับประชาคมโลกแล้ว ความหวังที่จะเห็นสหประชาชาติเข้าไปแก้ไขปัญหาในพม่าก็เริ่มมีเงามากขึ้น แต่จะอีกนานเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงและความพยายามของหลายๆ ฝ่าย


 


แต่ในขณะที่การต่อสู้ในพม่ายังดำเนินต่อไปโดยที่ไม่รู้ว่าเสียงปืน และน้ำตาจากการข่มเหงรังแกของรัฐบาลผู้มีอำนาจจะหยุดสงบลงเมื่อไหร่นั้น กลับมีรัฐในประเทศแถบยุโรปกลางที่ชื่อ "รัฐมอนทินิโกร" อันเป็นหนึ่งในหลายๆ รัฐของยูโกสลาเวีย กลับได้รับการอนุมัติจากสหภาพยุโรปให้เป็นรัฐเอกราชปกครองตนเองไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากได้มีการทำประชามติเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2549 ที่ผ่านมา อันเป็นไปตามกฎกติกาของสหภาพยุโรปที่มีขึ้นเมื่อปี 2002 ภายหลังจากที่ประธานาธิบดี สโลโบดัน มิโลเซวิช ของยูโกสลาเวียถูกโค่นและยูโกสลาเวียตกอยู่ภายใต้ควบคุมดูแลของกองกำลังนาโตกับสหภาพยุโรป


 


กฎกติกาดังกล่าวระบุว่า หากรัฐใดมีความประสงค์ที่จะแยกตัวออกปกครองตนเอง จะต้องมีผู้มีสิทธิลงคะแนนไปลงคะแนนอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนี้จะต้องมีผู้เห็นชอบในการแยกปกครองตนเอง 55 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป


 


รัฐมอนทินิโกร มีประชากรอยู่ 6.2 แสนคน และมีผู้ที่มีสิทธิออกคะแนน 485,000 คน โดยประชากรหลักได้แก่ ชาวมอนทินิกรีน 34 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือชาวเซิร์บ 32 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์เป็นชนกลุ่มต่างๆ จากการจัดเก็บคะแนนเสียงพบว่า มีผู้ไปลงคะแนน 86.3 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้มีผู้ลงคะแนนเสียงเพื่อแยกปกครองตนเอง 55.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎของสหประชาชาติกำหนด


 


ปัจจัยที่ทำให้มอนทินิโกรได้รับเอกราชนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความเห็นชอบของชนเผ่าต่างๆ ที่มีอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลำพังเพียงคะแนนเสียงของประชาชนหลักอันเป็นชาวมอนทินิโกรที่มีเพียง 43 เปอร์เซ็นต์คงจะไม่ผ่านกฎกติกาได้ เพราะชาวเซิร์บแม้จะเป็นชนชาติรอง แต่ไม่ออกคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย


 


ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าที่ต้องการแยกปกครองตนเอง อาจต้องนำมาเป็นบทเรียนเช่นเดียวกัน เพราะในแต่ละรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์มีหลายชนชาติอาศัยอยู่ ที่สำคัญมีชาวพม่ารวมอยู่ด้วยทุกรัฐ และการที่จะแยกตัวเป็นเอกราชก็จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากจากชนเผ่าต่างๆ ในรัฐนั้นด้วยเช่นกัน


 


ยกตัวอย่างรัฐฉาน (ไทยใหญ่) มีชนชาติต่างๆ อาศัยอยู่นับสิบเผ่า โดยชนชาติหลักได้แก่ไทยใหญ่ ปะโอ ปะหล่อง ลาหู่ ว้า ตามสถิติประชากรรัฐฉานในสมัยที่รัฐฉานเป็นประชาธิปไตยปกครองตนเองระหว่างปี 2481-2505 ระบุว่ารัฐฉานมีชนชาวไทยใหญ่อยู่ 68 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 32 เปอร์เซ็นต์เป็นชนชาติต่างๆ รวมทั้งพม่า


 


แต่หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าเข้ามาปกครองได้ระบุว่า ในรัฐฉานมีชนชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่เพียง 38.6 เปอร์เซ็นต์ 61.4 เปอร์เซ็นต์เป็นชนชาติต่างๆ เกี่ยวกับสถิติตัวเลขจำนวนประชากรนี้ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ จนทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาจำนวนประชากรของพม่าต้องหันไปพึ่งสถิติของอังกฤษที่ได้จากการสำรวจเมื่อปี 2474 แทน โดยสถิติของอังกฤษระบุจำนวนประชากรรัฐฉานว่า มีชาวไทยใหญ่ 47 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 63 เปอร์เซ็นต์เป็นชนชาติต่างๆ


 


ด้วยเหตุที่รัฐต่างๆ ในพม่ามีชนหลายชนชาติอาศัยอยู่เช่นนี้ หากมีการจัดตั้งกฎเกณฑ์การแยกเป็นเอกราชปกครองตนเองดังเช่น "มอนทินิโกร" ของยูโกสลาเวียแล้ว อาจจำเป็นต้องได้รับแรงผลักดันจากชนชาติต่างๆ ที่อยู่ในรัฐเดียวกัน เพราะลำพังเพียงชนกลุ่มหลักจะทำให้คะแนนเสียงไม่เพียงพอ และการที่จะได้เอกราชตามลำพัง ไม่ว่าจะเกิดจากการต่อสู้ด้วยกำลังหรือการลงคะแนนเสียงก็ตาม หากไม่ได้รับความร่วมมือกับชนชาติที่อยู่ในรัฐเดียวกันแล้วคงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน


 


..............................


บทวิเคราะห์จากสำนักข่าว SHAN

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net