ร่อน จม.ฟ้อง "โคฟี อันนัน" หวั่น "แม้ว" ละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซาก

ประชาไท - 26 พ.ค. 2549 วันที่ 26 พ.ค. นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่หายสาบสูญไปโดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ผศ.ดร.อรรณพ ตันละมัย และนายอนันต์ เหล่าเลิศวรคุณเป็นตัวแทนกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่มีทั้งองค์กรต่างๆ นักวิชาการ นักศึกษา นักสิทธิมนุษยชน ร่วมลงนามรวม 119 รายชื่อเป็นจดหมายเปิดผนึกยื่นถึง นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติที่มาเยือนประเทศไทย

 

จดหมายดังกล่าวรายงานให้ทราบถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและขอให้เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเข้าร่วมในการยื่นจดหมายเปิดผนึกในวันนี้ด้วยกล่าวถึงเนื้อความในจดหมายว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของรักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่น กรณีกรือเซะหรือตากใบที่ทำให้ชาวมุสลิม จำนวนกว่า 200 คน เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตในพื้นที่ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน

 

หรือการปราบปรามยาเสพติดที่ยังคงไม่มีความก้าวหน้าในการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนกรณีการฆ่าตัดตอนจำนวนกว่า 2,598 รายระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน พ.. 2546

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนไปเพียง 752 คดี มีการจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 117 คน ขณะนี้ยังคงดำเนินการสืบสวนสอบสวนในอีก 90 คดี ส่วนคดีที่เหลือสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากขาดพยานและหลักฐาน

 

นอกจากนี้ยังมีการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนมีนาคม พ.. 2547 นายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนถูกอุ้มหายไปโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัจจุบันนี้คาดว่าเสียชีวิตแล้ว และยังมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีก 19 คนที่ถูกฆ่าสังหารไปแล้วตั้งแต่ปี พ.. 2544 ซึ่งเป็นปีแรกของการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ส่วนกรณีอื่นๆก็ได้แก่การปิดกั้นสื่อและการปกป้องผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

 

"มีข้อเสนอแนะให้ยูเอ็นนำเรื่องดังกล่าวไปพูดคุยกับรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องนโยบายยาเสพติดเพื่อไม่ให้มีการฆ่าตัดตอนเหมือนตอนที่ปราบปรามยาเสพติดครั้งแรก ซึ่งต่อไปอาจกระทบต่อนิติรัฐ ตรงนี้ยูเอ็นเองก็ให้ความสำคัญแต่ยังไม่มีกลไกใดของยูเอ็นเข้ามาตรวจสอบอย่างเต็มตัว" พรเพ็ญ กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ยูเอ็นไปพูดคุยกับรัฐบาลไทยในเรื่องของการเคารพกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆที่ไทยไปลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาไว้ โดยให้ยูเอ็นย้ำให้ไทยต้องมีนโยบายและการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม นายโคฟี อันนัน ไม่ได้มารับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเอง แต่ให้ ต้องตา เขียวไพศาล จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นดีพี เป็นผู้รับแทน โดยรับปากว่าจะส่งจดหมายเปิดผนึกนี้ให้กับนายโคฟี อันนัน ทันที

 

นอกจากการจดหมายดังกล่าวแล้ว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งได้ถือป้ายรณรงค์เกี่ยวกับการหายตัวไปของทนายสมชาย รวมทั้งการเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีก19 คนป้ายเรียกร้องให้ยุติการวิสามัญฆาตกรรม รวมถึงการเป็นรัฐตำรวจที่เจ้าหน้าที่ไม่ถูกดำเนินคดีเมื่อกระทำผิด เป็นต้น

เอกสารประกอบ

จดหมายเปิดผนึกถึงนายโคฟี อันนัน

จดหมายจากอังคณา นีละไพจิตร ถึงนายโคฟี อันนัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท