Skip to main content
sharethis


แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเคยถูกเรียกว่า "รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก" เพราะให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ในความเป็นจริง ยังมี "คน"อีกจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและความเป็นมนุษย์

 


ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ใหม่ในสังคม เป็นเรื่องที่รัฐดูเหมือนจะละเลยความสำคัญของสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ ตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมชั้นต้นที่แม้จะมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครอง อัยการก็ยังใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายที่เน้นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปราบปรามการประกอบอาชญากรรม มากกว่าที่จะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการจับกุม คุมขัง ยึดทรัพย์และบังคับให้สารภาพอยู่เนืองๆ


 


นโยบายสงครามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กดดันในเจ้าหน้าที่สร้างผลงานให้ได้ภายในเวลา 3 เดือน ก่อให้เกิดการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยขาดกระบวนการกลั่นกรอง มีการบังคับให้รับสารภาพ จนเกิดปัญหาการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังมีการปล่อยปละละเลยให้เกิดการวิสามัญและ "ฆ่าตัดตอน" จำนวนกว่า 2,500 ราย ในจำนวนนี้สืบพบภายหลังว่า ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดเลยกว่า 1,000 ราย แต่ก็ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด


 


แม้จะมีการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยนักกฎหมาย ทนายความของสภาทนายความและนักต่อสู้เพื่อมนุษยชนภาคประชาชน ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงไปในสังคมไทยเลย มีการอุ้มฆ่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนไปหลายราย เช่น คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ตำรวจผู้ต้องสงสัยในคดีได้เลื่อนยศกันครบทุกคน, คดีนายเจริญ วัดอักษร, คดีพระสุพจน์ สุวโจ และนักต่อสู้อีกหลายคนที่เสียชีวิตไปอย่างสูญเปล่า สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไว้ยังไม่ได้รับการแก้ไขและที่สำคัญ คดีเหล่านี้ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้


 


ความจริงที่สำคัญอีกประการที่ทำให้มีนักกฎหมายที่คอยช่วยเหลือประชาชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ถูกละเมิดไปยังมีน้อย คือหลักสูตรการศึกษาของคณะนิติศาสตร์บรรจุเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนไว้เป็นตัวเลือกเพียง 1 หรือ 2 วิชาเท่านั้น จึงอาจจะมีนักกฎหมายหรือทนายความบางคนไม่เคยศึกษา หรือมองเห็นปัญหาสังคมในมิติของการละเมิดสิทธิมนุษยชนเลยก็ได้ ซ้ำอาจเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเองโดยไม่รู้ตัว


 


เมื่อความหวังของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถรอการผลิตจากหลักสูตรการศึกษาได้ จึงเกิดโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยความร่วมมือของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.), ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม, สำนักงานเครือข่ายทนายความสิทธิมนุษยชนและสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


นางกรรณิกา ควรขจร ผู้อำนวยการ มอส.เล่าให้ฟังถึงแนวคิดโครงการว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญ แต่มีบุคคลกรที่จะมาช่วยน้อย รวมทั้งขาดบุคลากรที่ได้รับการบ่มเพาะ มีความเข้าใจ และตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการจึงพุ่งเป้าไปที่ นักศึกษา  หรือผู้ที่จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์   เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ปัญหาสังคมไทยในภาพรวม และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย  ปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านประสบ  ได้สัมผัสปัญหาที่เป็นจริง  และได้ใช้ความรู้ทางด้านกฎหมายเข้าไปมีส่วนช่วยในกระบวนการทำงานขององค์กรชาวบ้านหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ในฐานะอาสาสมัคร 


 


โครงการฯ หวังว่าผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการจะเข้าใจปัญหาที่เป็นจริง และเป็นผู้ที่จะเข้ามาหนุนช่วยงานต่อไปในอนาคต ซึ่งเข้ามาช่วยเต็มตัวหรือเข้ามาช่วยอย่างต่อเนื่องเป็นบางเวลา เพื่อเพิ่มนักกฎหมาย และทนายความที่ทำงานเพื่อประชาชน หรือเป็นนักกฎหมายที่เข้าใจปัญหา มีจิตใจอาสาที่จะมีส่วนช่วยสังคมในบทบาทที่เขาทำงานอยู่ และมีการสานเครือข่ายหนุนช่วยกันในการแก้ปัญหาเพื่อประชาชน


 


นอกจากนี้ยังหวังจะให้เกิดหลักสูตรทางเลือกสำหรับนักศึกษา หรือผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์  ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์  เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีการปฏิบัติจริงอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการหล่อหลอมอุดมคติที่จะใช้วิชาชีพด้านกฎหมาย เอื้อต่อผู้ด้อยโอกาส  และเอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมในสังคม  


 


โครงการแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกรับสมัครนักศึกษาที่กำลังเรียนคณะนิติศาสตร์มาลงพื้นที่กับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน สัมผัสปัญหาจริงตลอดระยะเวลา 2 เดือน และส่วนที่สองรับสมัครผู้ที่จบด้านนิติศาสตร์แล้ว ลงพื้นที่เป็นเวลา 1 ปี การติดตาม ประเมินผลเป็นระยะ


 


นายอภิชาต ธนรุจีวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้นกล้าต้นหนึ่งของโครงการฯ เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการฝึกงานที่ศูนย์กฎหมายอันดามันว่า "หลังจากที่ลงไปสัมผัสพื้นที่ที่โดนสึนามิ ก็เห็นว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิไม่ได้ผลเท่าที่ควร ในส่วนเงินช่วยเหลือของรัฐบาลจะผ่านส่วนราชการมา ผ่านผู้ว่าฯ นายอำเภอมาถึงผู้ใหญ่บ้าน เงินก็จะเหลือน้อย เมื่อมาถึงพื้นที่บุคคลที่ใกล้ชิดผู้นำชุมชนก็จะได้ความช่วยเหลือก่อน บางคนไม่ประสบภัยแต่ก็ได้รับการช่วยเหลือ มีบางคนที่บ้านติดถนนไม่โดนสึนามิ ได้เรือ ได้บ้านใหม่ หรือเงินช่วยเหลือจากเอกชนแบบให้เปล่า ประชาชนที่ได้ไปเอาไปขายหมดก็มี บางคนไม่ได้ประสบภัยได้มาก็เอาไปขายหมด"


 


"ชาวบ้านที่นี่ พอโดนสึนามิ วิถีชีวิตก็เปลี่ยนจากคนทำมาหากิน เป็นคนที่รอรับความช่วยเหลือ บางคนพอมีคนมาช่วยเหลือ วิ่งถอดทองแทบไม่ทันเพราะหวังจะได้อีก บางคนก่อนสึนามิบ้านชั้นเดียว หลังสึนามิบ้าน 3 ชั้น เพราะหาประโยชน์จากความช่วยเหลือได้ แล้วก็มีคนที่ประสบภัยจริง เดือดร้อนจริงที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะไม่สนิทกับผู้นำ เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือก็มี"


 


"เหล่านี้เป็นปัญหาที่การจัดการของรัฐ มันไม่มีระบบการจัดการที่ดี ไม่มีการตรวจสอบว่าเงินที่ช่วยไปนำไปใช้อย่างไร ช่วยคนเดือดร้อน หรือตกหล่นไปตรงไหนหรือเปล่า ปัญหาเหล่านี้คนไม่ค่อยรู้ เพราะคิดแต่ว่าผู้ประสบภัยเป็นผู้น่าสงสารอย่างเดียว ต่างก็อยากช่วยเหลือ ให้ความช่วยเหลือไปถึงคนเดือดร้อนก็ดีไป แต่ไม่ถึงก็ไม่รู้ มีคนที่หาประโยชน์จากตรงนั้นเยอะมาก"


 


"ประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาที่กฎหมาย เป็นปัญหาที่นโยบายรัฐ มันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิอย่างที่เล่าไปว่าคนที่เดือดร้อน แต่ไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้นำชุมชนก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งๆที่เขาควรจะได้รับความช่วยเหลือ"


 


อภิชาตบอกว่า "รู้สึกถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก่อนจะมาเข้าโครงการฯนี้ จากข่าวการวิสามัญที่ลงหนังสือพิมพ์ ท่าตายท่าเดียวกันเลย ทั้งๆ ที่บริสุทธิ์ กลับตายไปโดยมีมลทิน ไม่ได้ตายฟรีอย่างเดียว ถามว่าถ้าผิดจริง ทำไมไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม ไปวิสามัญเขาแล้วสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเขาอยู่ตรงไหน"


 


"ปัญหาสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับทุกคน แต่ในหลักสูตรมีวิชาสิทธิมนุษยชนเป็นตัวเลือก ซึ่งถ้าไม่ได้เลือกก็ไม่ได้เรียน ทั้งที่ความจริงเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ น่าจะผลักดันให้กฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นกฎหมายหลักแบบเดียวกับกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อที่เราจะได้นักกฎหมายที่ไม่เพียงแต่รู้กฎหมาย แต่เราจะได้นักกฎหมายที่เข้าใจสังคม เข้าใจมนุษย์ด้วย"


 


"โครงการฯนี้ดีตรงที่มันมีจุดเริ่มต้น เมื่อมีคนเริ่มต้น ถ้ามันดีก็จะมีคนตาม จะกระจายไปเรื่อยๆ มันน่าจะเปลี่ยนอะไรบางอย่างให้มันดีขึ้นได้ ในสังคมไทย ในกฎหมายไทย"


 


ทางด้านนาวสาวอาภาพรรณ วิเศษ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 โครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้นกล้าอีกต้นของโครงการฯ เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าไปฝึกงานในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า


 


 "หลังจากที่เข้าไปฝึกงานที่คณะกรรมการสิทธิฯ ได้เห็นสำนวน ได้เห็นคดีที่ร้องเรียนเข้ามาแล้วรู้สึกว่า "กฎหมายพึ่งพาไม่ได้เลย" ชาวบ้านจึงต้องพึ่งพาองค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่รัฐก็ทำงานแบบสักแต่ว่าทำไป พยานหลักฐานไม่ใช่ส่วนสำคัญ อย่างกรณี ฆ่าตัดตอนช่วงสงครามยาเสพติด มีการฆ่าผู้บริสุทธิ์ไปเยอะมาก เช่น กรณีของคนหนึ่งที่โคราช ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 แต่ไม่กล้าบอกใคร ก็นำเงินที่ได้มาปรับปรุงบ้าน ไปซื้อรถ ชาวบ้านที่ไม่รู้ก็มาลงคะแนนออกความเห็นในชุมชนว่า เขาเป็นผู้ค้ายาเสพติด แม้เขาจะนำใบรับรองจากกองสลากไปยืนยัน ตำรวจก็ไม่เชื่อ สุดท้ายก็ถูกวิสามัญฯ ทั้งสามี-ภรรยา แล้วก็ยัดยาบ้าใส่รถไว้ อ้างว่าค้นรถพบยาบ้า เมื่อตรวจสอบสมุดเงินฝากจริงๆ มีเงินเข้าแค่ครั้งเดียว คือครั้งที่ถูกลอตเตอรี่ แล้วก็ใช้ออกไปเรื่อยๆ อย่างนี้จะเป็นพ่อค้ายาเสพติดได้อย่างไร หลังจากนั้นตำรวจก็ยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบหลักฐาน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยค่าเสียหาย หรือลงโทษเจ้าหน้าที่"


 


อาภาพรรณยอมรับว่า การมาฝึกงานครั้งนี้เหนื่อยมาก ทั้งจากการเดินทาง และการทำงาน แต่คุ้มมาก เพราะทำให้ได้เปิดมุมมองอีกมุมหนึ่ง ได้เรียนรู้อีกแง่มุมหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมว่า หลายครั้งการตัดสินไปตามตัวอักษรที่ตำรวจหรืออัยการได้มา โดยอาจจะไม่ได้ดูสาเหตุและเหตุผลที่กระทำนั้น ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมตามที่ควรจะเป็น และยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาเอาเปรียบประชาชนได้อีก


 


แม้อาภาพรรณจะเห็นปัญหาที่เกิดจาก "กฎหมาย" ที่เรียนมา แต่ก็ยังเชื่อมั่นในกฎหมายไทยว่าดีแล้ว แต่มีปัญหาที่คนใช้ คือคนใช้กฎหมายขาดจรรยาบรรณ ขาดจริยธรรม และเชื่อมั่นว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิเกิดจากการไม่คำนึงถึงจิตใจคนอื่น


 


"วิธีแก้คือ ต้องเริ่มที่ตัวเอง ทำตัวเองให้ดี ทำความเข้าใจปัญหาแล้วค่อยๆอธิบายให้คนรอบข้างฟัง เพิ่มความเข้าใจและในอนาคตหากมีโอกาสก็จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในเรื่องนี้"


 


เยาวชนกลุ่มนี้ ตั้งวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้พบเจอจากการฝึกงาน หาวิธีที่จะทำให้สังคมเข้าใจ เรียนรู้และกล้าที่จะใช้กฎหมายเพื่อปกป้องและเรียกร้องสิทธิของตนเองอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส ตลอดเวลา 3 วันของค่ายสรุปผลการศึกษา โดยมีพี่ๆ ทนาย พี่ๆ อาสาสมัครนั่งยิ้มอยู่ใกล้ๆ บ่งบอกถึงความภูมิใจและความหวังว่า "ต้นกล้า" เหล่านี้ จะเติบโตอย่างสมบูรณ์และเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาชนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net