สัมภาษณ์ "ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์" : น้ำมัน นิวเคลียร์ในอิหร่าน และหนทางสู่สงครามโลกครั้งที่ 3

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ชายและหญิงชาวอิหร่านกว่า 100 คนได้มารวมตัวกันที่อนุสรณ์สถานแห่งการรำลึกถึงผู้เสียสละพลีชีพ (Martyrs) ณ กรุงเตหะราน ท่ามกลางโลงศพเปล่านับร้อยซึ่งถูกคลุมด้วยธงชาติอเมริกา อังกฤษ และอิสราเอล

ผู้มารวมตัวกันครั้งนี้ได้ลงนามแสดงเจตจำนงพร้อมจะเป็น "มือระเบิดพลีชีพ" และประกาศว่าจะต่อต้านการรุกรานของอเมริกาและประเทศพันธมิตรทั้งหลายด้วยชีวิต

 

การประกาศตนอย่างชัดแจ้งของกลุ่มผู้เสียสละพลีชีพชาวอิหร่าน สะท้อนให้เห็นว่าความกดดันที่อเมริกาพยายามบีบให้อิหร่านยอมรับว่าประเทศของตนกำลังทดลองโครงการนิวเคลียร์เพื่อผลิตอาวุธเป็นความจริง ส่งผลกระทบไปยังกลุ่มผู้เชื่อมั่นในหลักศาสนา หรือฟันดาเมนทัลลิสต์ในอิหร่าน เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าอเมริกากำลังหาช่องทางที่จะเล่นงานประเทศของตน เหมือนอย่างที่อเมริกาได้พยายามเข้าไป "จัดการ" กับอิรักอย่างหนักหนาสาหัสมาแล้ว พวกเขาจึงต้องออกมารวมตัวเพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับอำนาจรุกรานทั้งหลายทั้งปวง โดยไม่สนใจว่าจะต้องเสียสละพลีชชีพตัวเองหรือไม่

 

แม้มาห์มุด อะห์มาดิเนจัด ผู้นำคนใหม่ของอิหร่านจะมีท่าทีแข็งกร้าวและปฏิเสธการแทรกแซงของอเมริกาและทบวงปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA: International Atomic Energy Agency ซึ่งต้องการจะเข้าไปตรวจเรื่องโครงการทดลองนิวเคลียร์ในอิหร่าน และรัฐบาลปัจจุบันของอิหร่านยืนยันว่าประเทศของตนมีเพียงการทดลองเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียม (Uranium Enrichment) เพื่อนำไปเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ทั้งอเมริกาและไอเออีเอก็ยังปักใจเชื่อว่าอิหร่านต้องมีโครงการทดลองนิวเคลียร์เพื่อนำไปเป็นอาวุธทำลายล้างอย่างแน่นอน

 

ความกังขาในเรื่องนี้ทำให้อเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีและโน้มน้าวให้ทั่วโลกเชื่อว่าอิหร่านเป็นอักษะแห่งปีศาจ หรือ Axis of Evil ที่น่าหวาดกลัวและต้องจัดการขั้นเด็ดขาดให้ได้

 

"ประชาไท" จึงอาสาไปสัมภาษณ์ "ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์" นักคิด นักเขียน หนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ เพื่อตั้งคำถามว่าในความเป็นจริงแล้ว ข้ออ้างเกี่ยวกับอิหร่านที่อเมริกาหยิบยกมาใช้นั้น มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน และความจำเป็นที่อิหร่านจะต้องมีพลังงานนิวเคลียร์ในครอบครองมีส่วนเกี่ยวโยงหรือส่งผลกระทบอย่างไรกับนานาประเทศ (ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย) เช่นเดียวกับการถามไถ่ถึงความโยงใยของโครงการทดลองนิวเคลียร์กับปัญหาราคาน้ำมันซึ่งถีบตัวสูงพรวดพราดในปัจจุบันด้วย

 

 

0 0 0

 

โครงการทดลองนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างที่ทั่วโลกกำลังหวั่นวิตกจริงๆ หรือ เป็นแค่เรื่องที่ตื่นเต้นกันไปเอง เพราะโครงการทดลองนิวเคลียร์ตอนนี้ก็มีอยู่หลายที่ทั่วโลก

โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เขาเรียกของเขาว่ามันเป็นการเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียม และเขาก็ได้ประกาศเป็นทางการว่า เขาต้องการนำไปใช้เพื่อพลังงานจำพวกไฟฟ้า เหตุผลที่เขายกมาอ้างอิงว่าทำไมเขามีน้ำมันแล้วยังต้องใช้นิวเคลียร์ เขาก็อ้างกลับไปว่า อเมริกาก็มีน้ำมัน ก็ยังใช้นิวเคลียร์ เขาว่าอย่างนี้ แต่ในส่วนที่ก่อให้เกิดปัญหาความกลัวไปทั่วโลกนั้น มันเป็นการมองในเชิงการเมือง นับตั้งแต่อเมริกาได้บุกโจมตีอิรัก ในความหมายทางการเมืองก็เป็นที่รู้ๆ กันโดยทั่วไปว่า เป้าหมายของอเมริกาคือการปฏิรูปทั่วทั้งตะวันออกกลาง อเมริกาพยายามจะบอกว่า เขาจะเป็นผู้สร้างประชาธิปไตยให้ทั่วตะวันออกกลางให้ได้

 

มีความเป็นไปได้สูงไหมที่จะเกิดสงคราม เพราะอเมริกาต้องการจะเล่นบทบาทผู้นำโลกต่อไป

เมื่อคราวที่เขาจ่อไปที่อิรัก มันก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าจะต้องลุกลามไปสู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิหร่านและซีเรีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นอักษะปีศาจ แต่ซีเรียเป็นประเทศเล็ก ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เขากระตุ้นให้มีปัญหากับเลบานอนนิดหน่อยก็สั่นแล้ว แต่อิหร่านนั้นเป็นประเทศที่ว่าไปแล้ว หลังจากที่อิรักโดนโค่นล้มไป ก็ต้องถือว่าเข้มแข็งที่สุดในตะวันออกกลาง เพราะเป็นประเทศที่มีกำลังทหารถึงสองล้านคน ระบบเศรษฐกิจก็แข็งกว่าอิรักมากหลายเท่า เพราะอิรักโดนบอยคอตมาเป็นสิบๆ ปี อิหร่านถึงจะมีการบอยคอต แต่ก็มีการฟื้นฟู มีการกู้เงินจากจีนเพื่อเข้าไปพัฒนาอย่างอื่นเยอะแยะ แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าอิหร่านเป็นเป้าโจมตีของอเมริกา ซึ่งอเมริกาเองก็ไม่ได้ปิดบัง ถึงแม้ทางการจะปฏิเสธ แต่อเมริกาก็ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอิหร่านมาตั้งนานแล้ว

 

อิหร่านนั้นก็รู้ดีว่าอเมริกาน่าจะบุกตัวเองแน่ๆ เพราะฉะนั้นความน่าจะเป็นที่จะต้องหาพลังที่จะตอบโต้ให้ได้ มันก็จะต้องมี เพราฉะนั้นเมื่ออิหร่านเอื้อมมือไปแตะเรื่องนิวเคลียร์เมื่อไหร่ ก็จะถูกมองว่าเป็นการนำไปสู่การพัฒนาขีปนาวุธ ถึงแม้อิหร่านจะบอกว่าตัวเองเป็นสันติภาพ แต่โลกทั้งโลก โดยเฉพาะอเมริกาก็เชื่อว่ามันเป็นการทดลองเพื่ออาวุธนิวเคลียร์

 

ถ้าเราลองคิดดูว่า เพราะอิรักไม่มีน้ำยาก็เลยโดนบุกง่ายๆ แต่เกาหลีเหนือที่เขามีนิวเคลียร์แน่ๆ อเมริกายังไม่กล้าบุกจนทุกวันนี้ เพราะขีดความสามารถการทำลายมันมากกว่า คืออเมริกาจะไม่กล้าทำสงครามที่มันไม่จำกัดเขต สงครามที่มันมีเขตขยายได้ ลองนึกภาพว่า ถ้าอิหร่านมีนิวเคลียร์ ถ้าไม่อยากยิงอเมริกา แต่ไปยิงอิสราเอลแทน ก็เป็นเรื่องของสงครามนิวเคลียร์แทนแล้ว เพราะฉะนั้น การมีนิวเคลียร์ของอิหร่านก็อาจจะให้คำสรุปได้ว่า มันน่ากลัวทางด้านการเมือง แต่ทางข้อเท็จจริงที่พูดๆ กันอยู่ก็คือ ทุกฝ่ายก็พยายามจะพูดถึงแง่ที่เป็นประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น

 

แต่ทบวงปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA: (International Atomic Energy Agency) เองก็ยังยืนยันไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าอิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จริง

ตามข่าวของสหรัฐฯ เขาบอกว่ามันยังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี ขั้นตอนนี้รู้สึกว่าจะเป็นขั้นตอนที่เขาใช้คำว่าเป็นการเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียม และจะนำไปสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ว่าก็ไม่มีใครรู้ว่าโครงการนี้ไปถึงไหนแล้ว

 

อเมริกาก็พยายามทำทุกอย่างไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เพราะเมื่อตัวเองจะบุกก็ต้องพยายามไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ไม่อย่างนั้นก็จะโดนตอบโต้ได้ง่าย และถ้าอเมริกาจะโจมตีอิหร่านเป็นรายต่อไป เขาต้องพยายามทำให้อิหร่านอ่อนแอที่สุด หรือไม่มีนิวเคลียร์ เพราะถ้ามีนิวเคลียร์เขาก็บุกยาก ในขณะเดียวกันอิหร่านก็ต้องพยายามเร่งหานิวเคลียร์ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะตอบโต้ได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นนี่คือจุดที่อเมริกาบอกว่า ต้องไม่มี นิวเคลียร์ และอิหร่านก็บอกว่า ต้องมี นิวเคลียร์

 

ท่าทีของที่ประชุมยูเอ็นที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าสหรัฐอมริกาจะต่อต้านอิหร่าน แต่อิหร่านก็ยังได้รับ

ความสนับสนุนจากจีนและรัสเซียอยู่ การรวมตัวของสองประเทศมหาอำนาจที่เคยเป็นฝ่ายซ้ายมาก่อนมีนัยยะอะไรหรือเปล่า

แต่ไหนแต่ไรมา รัสเซียกับจีนก็ไม่ได้เอาด้วยกับสหรัฐอยู่แล้ว นี่คือความพยายามที่ไม่ต้องการให้โลกอยู่ภายใต้คนๆ เดียว หรืออาจจะใช้คำว่า เขาไม่ต้องการให้โลกเป็นมหาอำนาจขั้วเดียว แต่ว่าโดยท่าที นอกเหนือจากที่รัสเซียกับจีนพยายามคัดค้านอเมริกาอยู่นี่ จุดสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเราไปดูในแผนที่ อิหร่านจะเป็นจุดยุทศาสตร์ที่สำคัญ เพราะมันเป็นรอยต่อระหว่างตะวันออกกลางและเอเชียกลาง นึกภาพแผนที่นะ นี่อิหร่าน แล้วมันก็จะต่อไปที่อัฟกานิสถาน ขึ้นไปก็รัสเซีย ลงมาก็เป็นทาร์จิกิสถาน รัสเซีย แล้วก็จีน ซึ่งรัสเซียกับจีนเขาก็เพิ่งจะซ้อมรบกันเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา การซ้อมรบร่วมก็ผนวกเอเชียกลางเข้าไปด้วย เพราะหลังจากอเมริกาบุกอิรักไปแล้ว อเมริกาก็กระจายกำลังทหารไปทั่วเอเชีย จนขึ้นไปจ่อถึงจอร์เจียที่ติดกับรัสเซีย ไปสร้างความวุ่นวายเรื่องท่อน้ำมันซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย แล้วก็หันไปทางอัฟกานิสถาน ทาร์จิกิสถาน แล้วก็ไปกวนจีนอีกด้านหนึ่ง จีนเองพยายามจะสร้างเส้นทางขนส่งเส้นทางน้ำมัน เพื่อที่มันจะมาออกทางด้านตะวันออกกลางให้ได้ พออเมริกาเข้าไปป่วน สองประเทศนี้ก็เลยต้องร่วมมือกัน

 

ทั้งหมดนี้มีเหตุผลแค่เรื่องน้ำมันเพียงอย่างเดียว

จริงๆ มันก็หลายอย่าง แต่เรื่องน้ำมันอาจจะทำให้เห็นภาพได้มากที่สุด พูดง่ายๆ คืออิหร่านเป็นยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ซึ่งคำว่ายุทธศาสตร์ด้านการทหารก็มีส่วนเกี่ยว พูดง่ายๆ อีกก็คือ ถ้าสองประเทศนี้มีสัมพันธมิตรที่แน่นเหนียวพอที่จะยันอเมริกา มันก็ช่วยได้ไม่น้อย เพราะอเมริกาเขาก็พยายามรุกเข้ามา ในขณะเดียวกัน รัสเซียกับจีนต่างก็มีผลประโยชน์ผูกติดอยู่กับอเมริกา จีนค้าขายกับอเมริกาอยู่มหาศาล ถ้าอเมริกาโมโหขึ้นมาในเรื่องของอิหร่าน จนถึงขั้นประกาศตัดความสัมพันธ์ มันก็มีคำถามว่า แล้วจีนจะเลือกอิหร่านหรือว่าอเมริกา หรือถ้าเกิดว่าอเมริกาเกิดโมโหขึ้นมาจริงๆ รัสเซียจะเอายังไง จะเลือกยืนอยู่ข้างไหน เพียงแต่ว่าสองประเทศนี้โดยปกติเขาก็คัดค้านอเมริกามาหลายเรื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิรักหรือเรื่องอะไรต่างๆ ตอนนี้เขาก็ยังคัดค้านกันเรื่องกรณีที่จะเอาอิหร่านเข้ามาพูดกันในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะค้านได้ขนาดไหน

 

ปกติอเมริกาก็เป็นเสียงหลักของยูเอ็นอยู่แล้ว ประเด็นเรื่องอิหร่านไม่น่าจะมีทางสำเร็จได้

บางทีอาจจะมีทางสำเร็จก็ได้นะ คืออเมริกามันเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่บางประเทศที่เคยคัดค้านเรื่องการโจมตีอิรักในคณะมนตรีความมั่นคงก็มีอยู่ แต่ครั้งนี้ประเทศเหล่านั้นดันมาเอาด้วยกับอเมริกาที่จะกดดันอิหร่านให้เลิกเรื่องนิวเคลียร์ แล้วก็กดดันด้วยท่าทีที่แรงด้วย แล้วท่าทีของฝ่ายอเมริกาเองก็ดูจะเชื่อมั่นว่า ถ้าเรื่องขึ้นไปถึงคณะมนตรีความมั่นคง ก็แน่นอนว่ามันมีวิธิบีบหลายทาง เช่น อเมริกาอาจจะบอกว่าต้องบุกอิหร่านแล้ว แต่อาจจะเป็นการจำกัดเขต คืออาจจะไม่มีการส่งทหารเข้าไป แต่ก็มีวิธีที่เขาพูดๆ กันคืออาจจะใช้จรวดบังเกอร์ จรวดนิวเคลียร์ขนาดเล็กโจมตีสถานที่ที่คิดว่าเป็นแหล่งผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถ้าเกิดว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา แล้วอิหร่านเกิดอ่อนแอลงไปจริงๆ จีนและรัสเซียก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยังอยู่ข้างอิหร่านไหม ตอนนี้มันกำลังอยู่ในสภาพก้ำกึ่ง แต่ว่าแนวโน้มหนักๆ นี่ทั้งจีนและรัสเซียยังไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตอิหร่าน

 

ถ้าพูดถึงท่าทีของมาห์มุด อะห์มาดิเนจัด ซึ่งเป็นผู้นำอิหร่านประกาศว่า จะลบอิสราเอลจากแผนที่โลก สิ่งนี้เป็นการบอกเป็นนัยๆ หรือเปล่าว่าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในระดับนั้นจริง

อะห์มาดิเนจัดเป็นคนที่ค่อนข้างจะศาสนานิยม เขาเป็นผู้นำทางการเมืองที่เคร่งศาสนา ซึ่งในแง่ของศาสนา ที่เขาเรียกว่าฟันดาเมนทัลลิสม์ของอิสลามนี่ก็มักจะเป็นปรปักษ์กับอิสราเอลอยู่ค่อนข้างมาก มันเป็นเรื่องที่อยู่ในสายเลือดนะ เพราะฉะนั้นการที่เขาพูดด่าอิสราเอลว่าจะลบออกไปจากแผนที่โลกก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ มันเป็นเรื่องของท่าที ซึ่งถ้าเขาทำได้จริง เขาก็คงทำเหมือนกัน

 

แนวคิดที่ว่าทั่วโลกต้องการบอยคอตอิหร่านเพราะไม่ต้องการให้อิหร่านสนับสนุนด้านกำลังอาวุธกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิม ประเด็นนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบันนี้เขาก็หนุนอยู่แล้วไง เช่นกองกำลังฮามาส (ปาเลสไตน์) ซึ่งอิหร่านคิดว่าฮามาสจะมีขีดความสามารถมากกว่าอัลกออิดะห์ อันนี้เป็นแนวความคิดของฝ่ายความมั่นคงนะ หรือแม้กระทั่งการก่อการร้ายในอิรักในปัจจุบันก็เชื่อว่าอิหร่านมีส่วน นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่อเมริกาต้องเข้าไปบดขยี้อิหร่าน อย่างน้อยก็เพื่อให้สงครามในอิรักไม่โดนไหล เพราะพรมแดนติดกันสองประเทศ เพราะอิหร่านเขาเป็นชีอะห์ เขาก็มีอิทธิพลกับพวกชีอะห์ในอิรัก อเมริกาก็มักจะกล่าวหาอิหร่านอยู่เรื่อยๆ ว่าที่อิรักไม่สงบซักทีเพราะอิหร่าน เพราะฉะนั้นถ้าทำยังไงเพื่อปราบอิหร่านได้ ก็คงจะทำให้อิรักสงบได้ และถ้าอิรักสงบแล้ว สหรัฐก็จะบุกกวนเข้ามาถึงอิหร่าน อิหร่านก็เลยต้องพยายามกวนไม่ให้อิรักสงบ

 

แต่ว่าความน่ากลัวตอนนี้มันไม่ได้อยู่ที่การก่อการร้าย มันอยู่แค่เรื่องที่ทำให้โลกสะเทือนอยู่ทุกวันนี้คือเรื่อง "ราคาน้ำมัน" เพราะอิหร่านเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองเป็นอันดับ 2 ของตะวันออกกลาง และเป็นอันดับ 4 ของโลก นอกไปจากนั้นก็ยังเป็นประเทศที่โดยแผนที่แล้ว เขามีอิทธิพลเหนือช่องแคบฮอร์มุส ตรงอ่าวเปอร์เซียนี่แหละ คือช่องแคบซึ่งเป็นทางแล่นเรือขนส่งน้ำมันวันละสิบห้าล้านบาร์เรลเป็นอย่างน้อย คราวนี้ถ้าเกิดกดดันหรือโจมตีอิหร่านมากๆ เขาก็อาจจะเลิกผลิตน้ำมัน เขาแค่ไม่เอาน้ำมันออกสู่โลก อาจจะแค่วันละสองล้านบาร์เรล หรือถ้าเขาปิดช่องแคบฮอร์มุส ไม่ยอมให้มีการขนส่งน้ำมันวันละสิบห้าล้านบาร์เรลจริงๆ มันจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แน่นอนว่าไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเศรษฐกิจโลกจะพังพินาศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ความน่ากลัวมันอยู่ที่ตรงนี้ ยังไม่ต้องไปกลัวถึงเรื่องนิวเคลียร์เลยนะ

 

โครงการพลังงานทดแทนเป็นทางออกของปัญหานี้ไม่ได้หรือ

โลกเราตอนนี้เสพติดน้ำมันไปแล้วน่ะ น้ำมันเป็นเป็นสิ่งเสพติด อันนี้คือปัญหาข้อหนึ่ง สองก็คือพลังงานทดแทนแต่ละอันมีราคาแพง แม้ว่าน้ำมันปัจจุบันจะราคาขนาดนี้ แต่การคิดพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาใหม่ รวมแล้วต้นทุนยังราคาแพงกว่าน้ำมันเสียอีก มีความพยายามมากเหลือเกินที่จะคิดเรื่องนี้ แต่โดยสรุปแล้วก็ยังตองใช้น้ำมันกันอยู่ดี อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องความเร็วของการบริโภค เดิมทีโลกเราผลิตน้ำมันมากกว่าความต้องการของโลก แต่หลังจากไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประมาณสักสิบปี มันเกิดสองประเทศที่เปลี่ยนตัวเองไปเป็นทุนนิยม คือจีนกับอินเดีย แล้วสองประเทศนี้เทคโนโลยีก็ล้าหลังเกินกว่าที่จะไปใช้พลังงานแสงแดด และทั้งสองประเทศต้องการเร่งตัวเองให้เศรษฐกิจโตเร็ว มันก็เลยเกิดการบริโภคน้ำมันอย่างมหาศาลและก้าวกระโดด เพราะฉะนั้นการสร้างพลังงานทดแทนให้ทันกับความต้องการบริโภคมันไม่มีทางทันเลย พูดง่ายๆ ก็คือว่าตอนนี้มันก็กลายเป็นสงครามน้ำมันแล้ว จีนก็มีผลประโยชน์กับอิหร่านในเรื่องน้ำมัน สหรัฐอเมริกาเองก็ต้องกันไม่ให้จีนเอาไป เพราะถ้าจีนเอาไปก็จะกลายเป็นมหาอำนาจภายในอีกไม่กี่ปี

 

ทั่วโลกจะต้องได้รับผลกระทบจากสงครามน้ำมันแน่ๆ แต่ถ้าเราจะเฉพาะเจาะจงแค่ประเทศไทย เราควรจะเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้อย่างไร

เศรษฐกิจพอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น เศรษฐกิจพอเพียงคือความคิดที่ฉลาดและทันสมัยที่สุด ไม่ใช่เป็นความคิดท้องถิ่นนะ แต่มันเป็นความคิดที่สอดคล้องกับกระแสโลก เพราะในขณะที่เราบริโภคน้ำมันกันอย่างไม่บันยันยัง ราคาน้ำมันขึ้นไปหนึ่งร้อยดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทุกอย่างก็พังหมด คือที่พูดๆ กันว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะรองรับราคาน้ำมันได้ประมาณห้าสิบดอลลาร์ต่อบาร์เรล นี่คือระบบเศรษฐกิจใหม่แล้วนะ ที่จีดีพีโตๆ สูงๆ นี่แหละ เรารองรับได้แค่ห้าสิบดอลลาร์ต่อบาร์เรล เดี๋ยวนี้มันขึ้นไปถึงเจ็ดสิบแล้ว ขึ้นไปทุกหนึ่งดอลลาร์มันเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องสูญเสียมหาศาลเลย แล้วการขึ้นของราคาน้ำมันในขณะนี้คือการขึ้นในระยะยาวด้วย ไม่ใช่ขึ้นพรวดพราดๆ เพราะมันเกิดสภาพที่มีการตรึงราคา มีความเดือดร้อนว่าจะทำยังไงกันดี ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้มันก็ปั่นป่วนไปทุกประเทศ ประเทศที่สามารถพึ่งตัวเองได้สูงก็จะอยู่รอด ประเทศที่พึ่งพาปัจจัยภายนอกมากก็จะล่มสลาย เกิดปัญหาตามมาเช่น ราคาสินค้าแพง เกิดภาวะเงินเฟ้อ เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะลุกลามไปสู่ประชาชนซึ่งเป็นคนกู้เงินไปซื้อบ้านซื้อรถ ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ในขณะที่เงินในกระเป๋าก็ยังมีเท่าเดิม ค่าของเงินก็ลดลงไป เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ เงินร้อยบาทลดไปหกบาท เงินเฟ้อหกเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันหนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

ค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นช่วยอะไรไม่ได้เลยหรือ

ค่าเงินบาทขณะนี้มันสูงขึ้นอย่างมีเลศนัยนะ ไม่ใช่สูงขึ้นโดยธรรมชาติของมัน เท่าที่นั่งคุยๆ กับพรรคพวกเขาบอกว่าคล้ายๆ กับว่า มันมีเงินก้อนใหญ่ผ่านเข้ามา แต่ว่ายังไม่ได้เป็นเรื่องที่ดูธรรมชาติ มันมีเลศนัยอยู่ แต่ปัญหาราคาน้ำมันแพงนี่พูดง่ายๆ ก็คือเจ๊งกันทั่วโลก

 

กรณีประเทศในละตินอเมริกา เช่น โบลิเวีย หรือเวเนซุเอลาที่พยายามดึงน้ำมันคืนมาเป็นของรัฐบาล จะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้บ้างไหม

ก็ไม่แน่นะ ถ้าพูดกว้างๆ ว่าความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในขณะนี้ ทำให้สิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีที่เราพูดๆ กันว่าเป็นสิ่งสำคัญของโลกมาสิบกวาปี กำลังจะพังลง เพราะมันเริ่มเกิดลัทธิที่เรียกว่าชาตินิยมทางเศรษฐกิจแพร่กระจาย ดูอย่างละตินอเมริกาเป็นตัวอย่าง โบลิเวีย ชิลีเวเนซุเอลา เอกวาดอร์ อะไรพวกนี้ ยิ่งกว่านั้นก็คือ แม้แต่มหาอำนาจก็ยังเกิดลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจขึ้นมา อย่างสหรัฐอเมริกามีการกีดกันไม่ให้บริษัทจีนที่ชื่อว่าชีนุคเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทน้ำมันยูโนแคลของสหรัฐ มีการต่อต้านบริษัทคอมพิวเตอร์ของจีนซึ่งไปได้รับงานกระทรวงกลาโหมของอเมริกัน จีนเองก็เกิดการต่อต้านกลุ่มคาร์ไลล์ของอเมริกาที่ต้องการจะเข้าไปซื้อบริษัทก่อสร้างซูตงกรุ๊ปหรืออะไรนี่แหละ ก็โดนกีดกันเหมือนกัน ที่ฝรั่งเศสก็มีการออกพระราชบัญญัติชาตินิยมทางเศรษฐกิจออกมา เหล่านี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กลายเป็นว่าแต่ละประเทศกลับเข้าไปสู่การกีดกันทางการค้า

 

การเกิดลัทธิชาตินิยมในระยะยาวมันจะเป็นผลดีหรือผลเสีย

มันเป็นผลที่จะนำไปสู่สงคราม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสงคราม สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือครั้งที่ 2 ก็เป็นอย่างนี้ มันจะเริ่มที่การเปิดเสรีก่อน ทุนนิยมมันจะเริ่มต้นอย่างนี้ พวกมาร์กซิสม์เขาเคยพูดว่า ทุนนิยมนั้นจะเริ่มต้นด้วยการแข่งขันอย่างเสรี และการแข่งกันซื้อโดยเสรีก็จะนำไปสู่การผูกขาด ซึ่งเป็นตัวตรงกันข้ามของการค้าเสรี และการผูกขาดนี่ก็จะนำไปสู่สงครามทางการค้า และสงครามทางการค้าก็จะนำไปสู่สงครามทางอาวุธในที่สุด รูปการมันจะคล้ายกับยุคที่เคยเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงที่เรียกว่าเสรีก็กลายเป็นของปลอมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างการเปิดให้ทำการค้าทวิภาคี แต่พอประเทศไทยจะส่งผลไม้เข้าก็บอกว่าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่ก่อนจะทำสัญญากันก็ยังส่งเข้าไปได้ แต่ช่วงสักครึ่งปีหลัง มันเริ่มชัดขึ้นนะ ไอ้เรื่องค่านิยมทางเศรษฐกิจ มันกีดกันนานาชาติชัดขึ้น

 

ที่เห็นชัดที่สุดก็คงจะเป็นโบลิเวีย หรือเอกวาดอร์ อันนั้นร้ายกว่า อันนั้นยึดเลย อเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซียก็เหมือนกัน รัสเซียก็ซื้อรัฐวิสาหกิจมาจากเอกชน เรื่องซื้อบริษัทน้ำมัน แต่อันนั้นเป็นการบังคับซื้อนะ มีนักธุรกิจรัสเซียที่นิยมอเมริกันอยู่คนหนึ่ง ในสมัยเยลต์ซินเขาก็ไปกว้านซื้อบริษัทน้ำมัน และพอในสมัยที่วลาดิเมียร์ ปูตินขึ้นมาเป็นผู้นำ ปูตินก็ไปซื้อคืนด้วยวิธีการที่ไม่ได้ยุติธรรมนัก เพราะเห็นว่าหมอนี่เป็นนักธุรกิจที่มีความโน้มเอียงไปทางอเมริกัน ก็เลยโดนจับข้อหาเลี่ยงภาษี และรัฐบาลก็บังคับซื้อบริษัทพวกนั้นคืนมา  

 

ถ้าเทียบกับที่โบลิเวียซึ่งประธานาธิบดีโมราเลสไปยึดบริษัทน้ำมันมาเลย ดูจะเป็นการกระทำที่แรงกว่ามาก และจะเป็นอันตรายต่อตัวผู้นำโบลิเวียหรือไม่

มันก็แรง แต่เขาก็ไม่ใช่ผู้นำคนเดียวที่ทำอย่างนั้น อย่างฮิวโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา นั่นก็มีคนอยากจะทำรัฐประหารตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นตาย หรืออย่างฟิเดล คาสโตรอีก โดนลอบสังหารมากี่ปีก็ยังอยู่ แล้วตอนนี้เราจะเห็นได้ว่ามีมาเป็นแผงเลย ชาติต่างๆ ร่วมมือกัน ปรากฏว่าบราซิลก็ไม่เอาด้วย บอกว่าก็ต้องเห็นใจโมราเลส นี่ก็เป็นอีกจุดที่อเมริกาจะต้องกลัว เพราะที่นี่คือหลังบ้านของเขา แต่ตอนหลังๆ มาผลประโยชน์ของอเมริกามันไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้แล้ว เป้าหมายของอเมริกาอยู่ที่อื่น เอเชียคือเป้าหมายใหญ่ของอเมริกา เอเชียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด และเป็นตลาดที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตไปได้อีก และเป้าหมายอันดับสองก็คือจีน เพราะจีนคือมหาอำนาจที่ทำอะไรกับตัวเองได้มากที่สุด ต่อจากนั้นก็เอเชียใต้ อเมริกาพยายามมากว่า ทำยังไงถึงจะทำให้ความขัดแย้งและปัญหาของปากีสถานกับอินเดียค่อยยังชั่วลง คือตรงนี้มันจะต้องมองที่ว่าอเมริกามาญาติดีกับอินเดียก็เพราะต้องการจะตีกันจีน อเมริกาไปบุกเอเชียกลางก็เพื่อตีกันจีน ในขณะเดียวกันอินเดียก็พยายามจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับจีนเพื่อตีกันอเมริกาด้วย จีนจะไปหมดเลย เวเนซุเอลาก็ไป มีน้ำมันที่ไหน ไปหมด

 

ระหว่างจีน อิหร่าน และประเทศในแถบละตินอเมริกา ใครน่ากลัวสำหรับอเมริกามากที่สุด

ผมคิดว่าจีน เพราะว่ายุทธศาสตร์ทั้งหมดมันอยู่ที่เอเชีย อเมริกาย้ายกำลังที่เคยอยู่ในยุโรปเป็นภารกิจหลักมาอยู่ที่เอเชีย มีการปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ เพราะกลัวว่าจีนจะตามทันภายในปี 2020 ถ้าจีนตามอเมริกาทัน โลกก็จะกลายเป็นพหุนิยมทางอำนาจ ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาเป็นใหญ่แต่ประเทศเดียวอีกต่อไป แต่พอเป็นพหุนิยมทางอำนาจแล้ว อเมริกาก็จะรู้สึกว่าโลกมันวุ่นวาย เขาไม่สามารถควบคุมได้ คนนั้นจะเอาอย่างนั้น ประเทศโน้นจะเอาอย่างนั้น ซึ่งอเมริกากับโทนี แบลร์นี่แหละ ที่คอยคิดว่าเขาจะกำหนดทิศทางให้แต่ละประเทศเอง ที่ไหนควรจะมีความเจริญทางเทคโนโลยี ที่ไหนควรจะมีทรัพยากรธรรมชาติ พวกนี้จะช่วยจัดการด้านการจัดระเบียบโลก ซึ่งมันก็ยุ่งยากที่อเมริกาจะถือสิทธิ์แบกโลกเอาไว้คนเดียว แต่การที่โลกมีหลายขั้วอำนาจก็ยุ่งเหมือนกัน เพราะประวัติศาสตร์บอกเอาไว้ว่าอย่างนั้น

 

เมื่อไหร่ที่โลกมีขั้วอำนาจแบบพหุนิยม มันจะนำไปสู่สงคราม ย้อนกลับไปดูสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะโลกมีประเทศมหาอำนาจมากกว่าหนึ่ง สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เหมือนกัน ทั้งฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน ไม่มีใครยอมใคร ถ้าหากเมื่อไหร่ที่โลกมีการแข่งขันกันขึ้นเพื่อเป็นมหาอำนาจ เมื่อนั้นจะเกิดสงครามขึ้นเสมอ แต่การตั้งตนเป็นใหญ่ของอเมริกาก็เป็นสิ่งที่กำลังทำลายตัวเองเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังรู้สึกว่า โดนอเมริกาเอาเปรียบอยู่ แต่ถ้าจะบอกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคืออะไร ก็คงต้องบอกว่าลัทธิชาตินิยมที่จะนำไปสู่การเป็นพหุนิยมทางอำนาจเป็นเรื่องน่ากลัวกว่ามาก

 

มีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม

มีสูงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และจะเรียกว่าผู้คนในยุคนี้อยู่ไปวันๆ ก็ได้ แต่ว่าการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นแค่ประเทศนะ ฝ่ายก่อการร้ายก็มีด้วย ซึ่งถ้าเกิดนิวเคลียร์มันระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็จะบานปลาย สงครามอาร์มาเกดดอนไง มันใกล้เข้ามาทุกที แต่พื้นที่ตรงละแวกนั้นนั่นแหละที่สำคัญ

 

ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นจริงๆ ประเทศไทยจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่จะมาถึงตัวเรา

ก็เศรษฐกิจพอเพียงอีกนั่นแหละ พึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน อย่าไปเชื่อเรื่องเอฟทีเอมากนัก จะว่าผมเลือกข้างก็ได้ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการทำเอฟทีเอ มันมีแต่เสียกับเสีย ไม่มีที่ไหนหรอกที่ประเทศเล็กๆ ตกลงทำการค้ากับประเทศใหญ่ๆ แล้วคนในประเทศเล็กจะได้ผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย คนได้ประโยชน์ก็คือคนรวยไม่กี่กลุ่มในประเทศเล็กๆ เท่านั้นแหละ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท