Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เวลา 09.30 - 12.00 น. ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้จัดเสวนาเรื่อง "นโยบายการเปลี่ยนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นอุทยานแห่งชาติ กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง" โดยผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย


 


นายชัยยุทธ คุณชมภู หัวหน้าฝ่ายจัดการและฟื้นฟูทรัพยากร ส่วนจัดการทรัพยากรในอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีการเปลี่ยนนโยบายจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นอุทยานแห่งชาติ มาจากปัญหาในเรื่องการจัดการในพื้นที่ ซึ่งในอดีตแต่เดิม การประกาศพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ คือการที่จะรักษาพื้นที่ให้ปลอดภัยจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการทำไม้ เหมืองแร่ แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์ของการท่องเที่ยวมาประกอบการพิจารณา แต่ในปัจจุบันนี้ ปัญหาการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งสภาพความเป็นจริงของพื้นที่กับตัวกฎหมายนั้นขัดกัน โดยได้ยกตัวอย่าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง จ.สงขลานั้น มีคนเข้าไปเที่ยวหลายหมื่นคน แต่มีสถานภาพเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งกฎหมายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่อนุญาตให้คนเข้า แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถห้ามนักท่องเที่ยวได้


 


"กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางก็เช่นเดียวกัน กรมฯพยายามที่จะหาวิธีการในการแก้ปัญหาการจัดการพื้นที่ และในที่สุดก็มาลงที่การปรับเปลี่ยนเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคิดว่ากฎหมายทั้งสองฉบับ มีความเข้มของกฎหมายไม่ต่างกัน"


 


นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ทำหน้าที่เหมือนกันคือการรักษาพืชพันธุ์ ความหลากหลายต่างๆ แต่ความเข้าใจของคนทั่วไป มักจะคิดว่าอุทยานแห่งชาติสามารถเข้าไปท่องเที่ยวได้ แต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเที่ยวไม่ได้ ทำให้กลายเป็นว่าวันนี้เราจะต้องมาเปลี่ยนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้เป็นอุทยานฯเพื่อให้คนเข้าไปเที่ยวได้


 


"อุทยานฯจึงเปลี่ยนจากที่ที่ต้องการเก็บรักษาทรัพยากร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่เราเป็นห่วง"


 


"วันนี้ ประเทศไทยถึงคราวต้องคิดให้จริงจัง และต้องใช้ธรรมชาติเป็นตัวตั้ง ที่ไหนธรรมชาติรับได้เท่าไหร่เป็นตัวสำคัญ ไม่ใช่ว่าพอมีคนเที่ยวเยอะก็เปิดให้เที่ยวไม่เห็นด้วยแบบนั้น แต่ต้องใช้การเที่ยวท่องแบบพอเพียง การจัดการเป็นเรื่องสำคัญคือต้องโซนพื้นที่ออกมา แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจากเขตรักษาพันธุ์เป็นอุทยานฯ"


 


ด้านนายสุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ปัญหาที่สำคัญของอุทยานคือการ การบริหารจัดการที่ขาดทิศทางที่ชัดเจน และขาดการควบคุมนักท่องเที่ยว ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และกรมอุทยานฯยังคิดว่า การเปลี่ยนจากเขตฯรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นอุทยานฯจะสามารถแก้ปัญหาการควบคุมนักท่องเที่ยวได้


 


" ต้องทำให้ชัดเจนว่ากรมฯแก้ปัญหาตรงไหนได้ ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเข้มงวด และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากกว่านี้"


 


เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดว่าอุทยานฯเป็นแหล่งท่องเที่ยว รัฐบาลกลางก็เลยพัฒนาทุกอย่างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จนจะกลายเป็นสวนสนุก ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด


 


อย่างไรก็ตาม หัวหน้าฝ่ายจัดการและฟื้นฟูทรัพยากร ส่วนจัดการทรัพยากรในอุทยานแห่งชาติ ตัวแทนจากกรมอุทยานฯ ได้ตอบตอข้อซักถามถึงแนวทางอื่นนอกจากการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เช่นการออกระเบียบการบริหารจัดการพื้นที่เฉพาะนั้น เป็นไปไม่ได้เพราะระเบียบดังกล่าวขัดกับกฎหมายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนความคืบหน้าในกรณีนี้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของคณะกรรมการจากกรมอุทยานฯ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net