เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง: "การตัดสินใจ" ของที่ประชุมศาลฎีกา

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

 

วานนี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานแผนกคดีพิเศษในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และผู้พิพากษาศาลฎีกา รวม ๘๒ คน ได้ประชุมพิจารณากรณีที่ นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา มีหนังสือขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสรรหาผู้สมควรเป็น กกต. แทนนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี และ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรรณ

 

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติว่า จะไม่พิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ตามหนังสือของนายสุชน ชาลีเครือ ด้วยคะแนนเสียงข้างมากจำนวนถึง ๗๒ เสียง!

 

ขณะที่เขียน ยังไม่ทราบว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เหตุผลประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าอย่างไรบ้าง แต่ข้อที่น่าพิจารณาเป็นเบื้องต้นจากกรณีนี้ คือ

 

1) กรณีนี้ ไม่ได้เป็นกรณีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาตัดสินคดี ไม่ได้ชี้ผิดชี้ถูก แต่เป็นการประชุมของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาว่า จะเข้าไปช่วยงานในการสรรหา กกต. ตามคำร้องขอของประธานวุฒิสภา หรือไม่

 

พูดง่ายๆ ว่า เป็น "การตัดสินใจ" ไม่ใช่ "การตัดสินคดี"

 

จึงเห็นได้ว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่ต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องไปให้ปากคำชี้แจง แต่เป็นเรื่องที่ประชุมกันเองเป็นการภายใน ก่อนจะตัดสินใจตามความเหมาะสม ตามดุลยพินิจ

 

ในการประชุมครั้งนี้ ทราบว่า ได้มีผู้อภิปรายมากเป็นประวัติการณ์

 

2) มติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่บอกว่า จะไม่ดำเนินการสรรหา กกต.ใหม่ ไปเติม กกต. ที่เหลืออยู่ เป็นมติที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติภารกิจของ "ประธาน 3 ศาล"

 

"ประธาน 3 ศาล" นำเสนออย่างชัดเจนว่า ต้องการให้ กกต. ชุดที่กระทำการเลือกตั้งโดยมิชอบ ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เที่ยงธรรม ลาออกจากตำแหน่งทั้งชุด เพื่อจะได้ดำเนินการสรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ กกต. เป็นชุดใหม่ทั้งชุด!

 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กกต.ชุดที่ยังอยู่ในขณะนี้ เป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ว่ากระทำการโดยมิชอบ

 

แม้ กกต. ชุดนี้ จะฝืนทนอยู่ในตำแหน่งต่อไป ก็ไม่สามารถจะทำงานลุล่วงได้หากไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ตลอดจนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ปัญหาวิกฤติของชาติจะไม่จบสิ้น

 

3) น่าสังเกตว่า ขณะนี้ กกต.ชุดนี้ กำลังตกเป็นจำเลยอยู่ในศาลอาญา คงจะมีผลการ "ตัดสินคดี" ออกในเร็วๆ นี้

 

4) น่าติดตามว่า นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา จะหาทางดิ้นต่อไปอย่างไร เมื่อที่ประชุมพิจารณา "ตัดสินใจ" ไม่ทำตามที่นายสุชน ร้องขอ

 

นายสุชน ได้กลับคำวินิจฉัย เปลี่ยนมาตรฐานการดำเนินการของตัวเอง หรือไม่

 

เพราะนายสุชน ดำเนินการแตกต่างจากที่ได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว

 

เมื่อครั้งที่ กกต. ว่างลงหนึ่งตำแหน่ง จากการเสียชีวิตของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ดำเนินการสรรหาตามมาตรา 138 (2) เสนอชื่อนายเกษม วีรวงศ์ เป็นผู้สมควรเป็น กกต. ขณะนั้น ไม่มีกรรมการสรรหาจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กรรมการสรรหา กกต. ไม่ครบองค์ประกอบ ดำเนินการสรรหาไม่ได้ แต่นายสุชน ชาลีเครือ ก็ไม่ดำเนินการให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการแทนตามมาตรา 138 (3) โดยนายสุชน อ้างว่า ไม่อาจใช้มาตรา 138(3) ได้ จึงปล่อยให้มี กกต.ทำงานอยู่ 4 คน จนเกิดปัญหาร้ายแรงต่อมา

 

แต่มาบัดนี้ คณะกรรมการสรรหา กกต. ยังไม่ครบองค์ประกอบอยู่เหมือนเดิม เมื่อ กกต.กระผิดร้ายแรง "ประธาน 3 ศาล" ต้องการให้ กกต. ลาออกทั้งหมด แต่นายสุชน ชาลีเครือ กลับส่งเรื่องไปให้ที่ประชุมศาลฎีกาโดยอ้างมาตรา 138(3) ทั้งๆ ที่ เคยอ้างไม่ดำเนินการมาแล้ว

 

สถานการณ์เปลี่ยน กฎหมายไม่เปลี่ยน แต่พฤติกรรมของคนเปลี่ยน

 

การตัดสินใจของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา น่าชื่นชม น่านับถือในความกล้าหาญ

 

แต่การตัดสินใจ และการปฏิบัติของประธานวุฒิสภา ทำให้ผมซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา มีความรู้สึกยากลำบากใจที่จะช่วยอธิบาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท