"ยุวมุสลิม"มั่นใจชายแดนใต้คนหายเพียบ

ประชาไท—1 มิ.ย. 2549 "ยุวมุสลิม" มั่นใจชายแดนใต้คนหายเพียบ "นักวิชาการมุสลิม" ชี้ตัวเลข 400 ศพนิรนามมากผิดปกติ "ชวน" หนุนพิสูจน์ข้อเท็จจริงศพไร้ญาติ "กูจิงลือปะ" ได้ฤกษ์เปิดเรียนจันทร์นี้ ขน 12 ครูอัตราจ้าง สอนแทนครูชุดเก่าที่ขอย้ายยกทีม

 

"ยุวมุสลิม"มั่นใจชายแดนใต้มีคนหาย

นายอับดุลอาซิด ตาดิอิน อุปนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนเป็นอดีตคณะทำงานพิสูจน์บุคคลสูญหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับศูนย์พิสูจน์บุคคลสูญหาย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่มีคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้าชุด ระยะเวลา 2 - 3 เดือนที่ทำงาน มีชาวบ้านมาแจ้งบุคคลสูญหายกว่า 20 ราย

 

"พอมีการร้องเรียนจากญาติของผู้สูญหาย เราก็เดินทางไปที่บ้านของผู้ร้องเรียน ทีมงานของคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ จะเก็บดีเอ็นเอของญาติผู้สูญหายไว้ เพื่อที่จะนำไปเปรียบเทียบกับศพนิรนามที่ถูกฝังอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การช่วยเหลือเบื้องต้น มีการเยียวยาช่วยเหลือรายละ 1 แสนบาท แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการพยายามติดตามหาตัวผู้สูญหายอย่างจริงจัง ทำงานได้เพียง 2 - 3 เดือนก็ปิด เพราะงบประมาณหมด ท่าทีของรัฐบาลก็ไม่ค่อยจริงใจ ทีมงานทุกคนก็เสี่ยง ผมมั่นใจว่าหากมีเวลามากกว่านี้ จะมีผู้ร้องเรียนเรื่องบุคคลสูญหายนับร้อยราย" นายอับดุลอาซิด กล่าว

 

นายอับดุลอาซิด เปิดเผยอีกว่า ผู้สูญหายที่ได้รับแจ้ง มีทั้งจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส โดยญาติของผู้สูญหายส่วนใหญ่ได้ให้ข้อมูลในการหายตัวไปของคนในครอบครัวว่า มีกลุ่มคนที่แต่งในชุดสีดำคล้ายเจ้าหน้าที่ พกอาวุธปืนครบมือมาเชิญตัวไป โดยไม่ได้บอกว่าไปไหน เหตุการณ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกลางดึก คนที่ถูกนำตัวจะไม่กลับมาที่บ้านอีกเลย โดยไม่รู้ชะตากรรม

 

นายอับดุลอาซิด เปิดเผยอีกว่า แนวทางการดำเนินการของคณะทำงานพิสูจน์บุคคลสูญหาย จะมีการขุดศพนิรนามที่ฝังไว้ในมูลนิธิกู้ภัยของใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นมาเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอนำไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอ ที่เจ้าหน้าที่เก็บมาจากชาวบ้านที่มาร้องเรียน ในส่วนจังหวัดปัตตานี จะมีการขุดศพขึ้นมาทั้งหมด เป็นไปได้ว่าอาจจะมีบุคคลที่ชาวบ้านมาร้องเรียนไว้ถูกฝังอยู่ สิ่งที่ยังติดขัด คือ งบประมาณในการดำเนินการ ที่ยังรอการสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่

 

นักวิชาการชี้400ศพนิรนามมากผิดปกติ

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการสันติวิธี กล่าวว่า การตรวจสอบศพนิรนาม เป็นประเด็นปลายทาง สิ่งที่จะต้องตรวจสอบต่อไป คือ ที่มาที่ไปของศพเหล่านั้นเป็นอย่างไร มิใช่เพียงตรวจสอบว่าเป็นศพใครเท่านั้น

 

"แน่นอนเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากที่มีศพนิรนามมากถึง 300 - 400 ศพ แต่คนไทยกลับนิ่งเฉย ไม่เหมือนต่างประเทศ แม้เพียงศพเดียวเขาก็ไม่อยู่เฉย เพราะฉะนั้น จะต้องตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร ต้องร่วมมือกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือพูดไปคนละทาง หมอพรทิพย์พูดไปทางหนึ่ง ตำรวจพูดไปอีกทาง"นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าว

 

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า หากพิสูจน์พบว่า ศพเหล่านั้น มี 1 หรือ 2 ศพ เป็นมุสลิม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จะต้องแจ้งไปยังมัสยิดทุกแห่งในจังหวัด ติดตามหาญาติ ทางราชการจะต้องร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดด้วย ตนขอเสนอให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกจังหวัด หากพบศพนิรนามเป็นมุสลิม ให้ประกาศทางสื่อ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุท้องถิ่น หรือสื่ออื่นๆ เป็นเวลา 40 วัน ก่อนจะดำเนินการใดๆ ต่อศพ

 

"ชวน"หนุนพิสูจน์ศพไร้ญาติ

เมื่อเวลา 16.20 น.วันที่ 31 พฤษภาคม 2549 นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาเยี่ยมอาการครูจูหลิง ปงกันมูล ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

จากนั้น นายชวน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาความไม่สงบในหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความล้มเหลวที่มาจากความผิดพลาดของนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2545 ส่วนกรณีมีหลุมฝังศพไร้ญาติขนาดใหญ่ในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ เคยพูดมาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อเรื่องนี้กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง ถือเป็นเรื่องดี เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้พิสูจน์ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

 

อาการ"ครูจุ้ย"ไม่ดีขึ้น

วันเดียวกัน คณะแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 12 เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของครูจูหลิง ปงกันมูลว่า อาการยังคงที่ไม่สามารถหายใจเองได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและยาควบคุมความดันตลอดเวลา ยังไม่รู้สึกตัว สมองไม่สามารถรับรู้ หรือมีอาการตอบสนอง เมื่อคืนวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 สัญญาณชีพคงที่ตลอด 24 ชั่วโมง มีไข้เล็กน้อย แพทย์พยายามประคับประคองสัญญาณชีพให้อยู่ในภาวะปกติ เพื่อรอดูการตอบสนองของสมองต่อไป

 

กูจิงลือปะเปิดเรียนจันทร์นี้

เวลา 13.30 น. วันเดียวกัน นายไพรัช แสงทอง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนราธิวาส เขต 1 พร้อมด้วยนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะครู ได้ประชุมร่วมกับนายอารง ยูโซะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านกูจิงลือปะ หมู่ 4 ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และชาวบ้านประมาณ 200 คน ที่บริเวณด้านหน้าอาคารโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ เพื่อหามาตรการรักษาความปลอดภัยครู

 

จากการหารือประมาณ 1 ชั่วโมง ทางคณะครูและชาวบ้านมีมติร่วมกัน คือ หากเปิดโรงเรียนตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไป ชาวบ้านจะร่วมกันดูแลครูอย่างดีที่สุด เพื่อให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

 

นายไพรัช กล่าวว่า ในส่วนของด้านครูที่จะมาประจำที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ แทนครูชุดเก่าที่ขอย้ายออก ขณะนี้เขตพื้นที่การศึกษาได้รับครูอัตราจ้างไว้แล้ว 12 อัตรา ทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่ตำบลเฉลิม และตำบลปาโงสะโต อำเภอระแงะ ในการรักษาความปลอดภัยครู กองกำลังทหารประจำพื้นที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด

 

ห่วงมาตรการ รปภ.ครู

เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ที่สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12 อำเภอเมืองยะลา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ ได้ประชุมร่วมกับ นายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ตัวแทนกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมปอเนาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานชมรมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยครู และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

 

นายจาตุรนต์ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ล่าสุด พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ได้ของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงบ้านพักครู รั้ว กำแพงโรงเรียน ส่วนนโยบายด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ มีการทำหลักสูตรร่วมกับผู้นำศาสนาอิสลาม เพื่อใช้สอนในโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ล่าสุด โรงเรียนของรัฐก็ได้สอนศาสนาอิสลามควบคู่กันไปด้วย ส่วนการสอน 2 ภาษานั้น ขณะนี้มีการสอนภาษามลายูท้องถิ่น หรือภาษาจีนควบคู่กับภาษาไทย เหตุที่มีการสอนภาษาจีน เป็นเพราะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบางพื้นที่ที่ภาษาจีนเป็นภาษาที่ยังนิยมใช้กันอยู่

 

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการหลักสูตรด้านอาชีพในโรงเรียนปอเนาะ และในโรงเรียนเอกชนที่สนใจ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จัดทำโครงการสอนวิชาชีพให้กับเยาวชนและประชาชนที่สนใจ ต้องการนำไปประกอบอาชีพในประเทศเพื่อนบ้าน หรือในพื้นที่

 

จากนั้น คณะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางไปที่โรงเรียนธารโตวัฒนวิทย์ อำเภอธารโต จังหวัดยะลา พร้อมร่วมประชุมกับผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากร ในพื้นที่อำเภอธารโต ก่อนจะเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อติดตามผลการสอนภาษาจีน ที่โรงเรียนจงฝ่ามูลนิธิ พร้อมกับร่วมประชุมผู้บริหารโรงเรียนและครู ก่อนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมบ้านพักครูในอำเภอเบตง

 

เปิด 10 ยุทธศาสตร์มหาดไทย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรม ซี.เอส จังหวัดปัตตานี นายชาญชัย สุนทรมัฏฐ์ อธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

นายชาญชัย กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งตนมีความห่วงใยต่อการปฏิบัติงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน สำหรับแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กำหนดเป็น 3 ระยะ ปี 2548 - 2549 มุ่งเน้นการคลี่คลาย สถานการณ์การก่อเหตุร้ายรายวันให้ยุติโดยเร็ว ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจำเป็นเร่งด่วน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ระยะที่ 2 ปี 2550 - 2551 มุ่งเน้นการขยายผลการดำเนินงานต่อจากระยะที่ 1 ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และระยะที่ 3 ปี 2552 เป็นต้นไป ขยายผลการดำเนินงานต่อ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

นายชาญชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนยุทธศาสตร์การดำเนินการให้คณะกรรมการนโยบายสันติสุข จังหวัดชายแดนใต้ ยึดแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 200/2548 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ซึ่งมี 10 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1. ยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2. ยุทธศาสตร์ด้านการข่าว 3. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับความคิดและความเชื่อ 4. ยุทธศาสตร์ด้านปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์ 5. ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ 6. ยุทธศาสตร์ด้านพลังประชาชนและการจัดระเบียบชุมชน 7. ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดน 8. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการศึกษา 9. ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน 10. ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ

 

พร้อมกันนี้ นายชาญชัยได้มอบหมายให้สำนักกิจกรรมความมั่นคงภายใน จัดประชุมร่วมกับปลัดจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำตำบล เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานในพื้นที่ เนื่องจากปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำตำบลยังคงมีความจำเป็น เพราะต้องมีผู้ปฏิบัติงานรับผิดชอบในระดับตำบล จึงต้องสร้างระบบการป้องกันตนเองขึ้นมารองรับ การขอเพิ่มอัตรากำลังสมาชิกอาสาสมัครรักษาดินแดนตำบล ก็เป็นแนวทางหนึ่ง แตก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งในการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีแล้ว

 

"ในเบื้องต้นกรมการปกครองได้จัดให้มีการฝึกอบรมทักษะการป้องกันตัว ให้กับปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำตำบล ที่ยังไม่ผ่านการฝึกอบรมผู้บังคับหมวดอาสาสมัครรักษาดินแดน โดยประสานให้กองกำลังสันติสุข และกองกำลังศรีสุนทร จัดทำหลักสูตรและวางแผนการฝึกโดยด่วน" นายชาญชัย กล่าว

 

นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการปฏิบัติงานของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ขณะนี้กรมการปกครองร่วมกับกองกำลังสันติสุข และกองกำลังศรีสุนทร ดำเนินการฝึกอบรมทบทวนชุกดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 820 หมู่บ้าน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะดำเนินการใน 8 อำเภอเป้าหมาย คือ อำเภอยะรัง อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี อำเภอรามัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และอำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส รวม 422 หมู่บ้านก่อน จากนั้นจะฝึกอีก 398 หมู่บ้าน ที่เหลือ นอกพื้นที่ 8 อำเภอเป้าหมายต่อไป

 

นายชาญชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน มีเป้าหมายให้นายอำเภอในฐานะผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขอำเภอ กำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกับทีมงาน โดยผู้ที่มีรายชื่ออยู่แล้ว แต่ไม่สามารถตามตัวมาดำเนินการตามกรรมวิธีได้ ต้องระบุเป็นรายบุคคล ส่วนผู้ที่ผ่านการอบรมจากโรงเรียนเสริมสร้างสันติสุขแล้ว ต้องติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด

 

"ส่วนแนวทางการสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำศาสนานั้น ให้จังหวัดและอำเภอควร เปิดโอกาสให้ผู้นำศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและอิหม่าม เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมด้วยทุกครั้ง" นายชาญชัย กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท