Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


: The Real War


 



 


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 


หลังการเลือกตั้งผ่านไปกว่า 5 เดือน ขณะที่คนอิรักทั้งประเทศแทบจะลืมไปแล้วว่าตัวเองกำลังรออะไร (นอกจากรอความตาย) อยู่ๆ รัฐบาลชุดใหม่ของอิรักก็โผล่ขึ้นมา


 


20 พฤษภาคม 2006 ระหว่างที่สภากำลังวุ่นวายกับการโหวตรับรัฐบาลใหม่ 37 ตำแหน่งนั้น ข้างนอกสภา ชาวอิรักกว่า 33 คนก็ต้องประสบชะตากรรมตายอนาถ (ต้อนรับรัฐบาล) อันเนื่องมาจากการปะทะโจมตีที่เกิดขึ้นทุกหนแห่ง ยังไม่นับอีก 22 ศพ เหยื่อของการอุ้มฆ่า ทรมาน ฝีมือหน่วยล่าสังหารทั้งในแบกแดดและจุดอื่นๆ


 


ชาวอิรักที่ได้ยินข่าวรัฐบาลใหม่...ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจ นูรี อัล-มาลิกี (Nuri al-Maliki) (1) นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของอิรัก อุตส่าห์มีรายชื่อรัฐมนตรีการท่องเที่ยวมาให้ แต่ยังหาตัวรัฐมนตรีสำคัญๆ อย่างมหาดไทย (ตำรวจ) กลาโหม (ทหาร) และกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติไม่เจอ


 


อัล-มาลิกี สัญญาว่าจะหาคนมานั่งเก้าอี้ให้ได้เร็วๆ นี้ แต่ระหว่างนี้ ทั้งนายกฯ และรองนายกฯ อีก 2 คน จำเป็นต้องช่วยๆ กันดูแลและนั่งควบไปก่อน (บายัน จาเบอร์ อดีตรมต.มหาดไทยผู้อื้อฉาว ถูกย้ายไปนั่งการคลัง)


 


และนี่ก็คือรัฐบาลใหม่ของอิรัก ผ่านการโหวตไว้วางใจจากรัฐสภาที่มาการเลือกตั้ง กลายเป็นรัฐบาลชุดแรกตัวจริงที่จะได้ทำหน้าที่ครบเทอม 4 ปี หลังจากทิ้งช่วงมานาน ตั้งแต่รัฐบาลของโมฮัมเหม็ด ฟาดิล อัล-จามาลี ในปี 1953-1954 เป็นต้นมา


 


วันรุ่งขึ้น ประธานาธิบดีบุช แสดงความยินดีข้ามโลกด้วยการกล่าวว่า นี่คือ "วันใหม่สำหรับชาวอิรักหลายล้านที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพ"


 


ขณะที่ โทนี แบลร์ (เรตติ้งหล่นฮวบแข่งกับบุช) อุตส่าห์แอบบินมาทำพีอาร์ถึงอิรัก พร้อมกับประกาศก้องกรีนโซนว่า นี่คือ "การเริ่มต้นใหม่" เช่นกัน


 


คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผลลัพธ์ของการจับมือกันระหว่างแกนนำคือพรรคชีอะต์ฟันดะเมนทัลลิสต์ ยูไอเอ (UIA United Iraqi Alliance) ร่วมกับพรรคพันธมิตรเคิร์ด (KA - Kurdistan Alliance) พรรคซุนนีฟันดะเมนทัลลิสต์ (IAF - Iraqi Accord Front) และพรรคฆราวาสของอิยัด อาลาวี (National Iraqi List)


 


สำหรับพรรคหลัง แม้ว่า อิยัด อาลาวี อดีตสินทรัพย์ซีไอเอ และอดีตนายกรัฐมนตรีชั่วคราวที่ทำเนียบขาวตั้งมาเองกับมือในปี 2004 จะไม่มีตำแหน่งออกหน้าในรัฐบาลนี้ (เพราะขาใหญ่รายหนึ่งของยูไอเอผู้เคยเปิดศึกมาแล้วกับอเมริกา-รับไม่ได้เด็ดขาด) แต่ก็ใช่ว่าอาลาวีจะหลบฉากไปไหน นักการเมือง "แบ็คอัพใหญ่" อย่างเขายังคงได้กินตำแหน่งหรูอยู่ดี นั่นก็คือ เป็นประธาน "สภาความมั่นคงแห่งชาติ" (NSC - National Security Council) ถึงไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลแต่ก็ยากจะแยกออกจากรัฐบาล


 


ยิ่งกว่านั้น เพื่อรับประกันถึงเสรีภาพและประชาธิปไตยสุดๆ อเมริกายังคงส่งคนของตนจำนวนหนึ่ง ไปช่วยดูแล (และกำกับ) กระทรวงสำคัญๆ เหมือนที่ผ่านมา


 


และงานนี้ ผู้บริหารอิรักทั้งหมดคงจะไม่ได้ออกมาหน้าตาอย่างนี้...ถ้าปราศจากบทบาทอันอุทิศทุ่มเทของทูตอเมริกาประจำแบกแดดที่ชื่อว่า ซัลเมย์ คาลิซัด (Zalmay Khalilzad)


 


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐสภาชุดใหม่จะมาจากส่วนผสมที่หลากหลายมากกว่าชุดก่อน แต่ในส่วนของซุนนี ลางไม่ดีเริ่มปรากฏให้เห็นในสภาแล้ว เมื่อซุนนีฆราวาสกลุ่มหนึ่งวอล์คเอาท์เพื่อประท้วงการจัดตั้งรัฐบาลที่อิงศาสนาและชาติพันธุ์มากไป เกินกว่าจะรับได้ว่าเป็น...รัฐบาลเพื่อความสมานฉันท์หรือรัฐบาลเพื่อคนทุกกลุ่ม


 


และเมื่อนายกรัฐมนตรี อัล-มาลิกี ชีอะต์เคร่งลัทธิจากพรรคยูไอเอ ออกมาประกาศนโยบายว่าจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นในประเทศ รวมทั้งการปราบปรามผู้ก่อการร้ายแบบ "ใช้กำลังเต็มพิกัด" (maximum force) ถึงตรงนี้ แม้แต่ซุนนีเคร่งลัทธิในซีกรัฐบาล (Iraqi Accord Front) ก็ชักจะนั่งไม่ติดอีกต่อไป ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า


 


"เรายังไม่ได้ตกลงใจเห็นชอบกับโปรแกรมทั้งหมดของรัฐบาล เรายังไม่แน่ใจเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่จะมีขึ้น ในกรณีที่ไม่มีการแยกแยะระหว่างนักรบฝ่ายต่อต้าน - ซึ่งได้แสดงบทบาทต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อปลดปล่อยอิรักให้เป็นอิสรภาพ กับผู้ใช้ความรุนแรงกรณีอื่นๆ ซึ่งอย่างหลังนี้ ทุกคนต่างก็ปฏิเสธเช่นเดียวกัน"


 


นักวิเคราะห์การเมืองตะวันออกกลางชื่อดังอย่าง ฮวน โคล (Juan Cole - สรรพคุณอยู่ข้างท้าย) ให้ความเห็นหลังการเปิดตัวรัฐบาลใหม่ว่า แม้รายชื่อรัฐมนตรีจะออกมาไม่ครบ แต่นั่นอาจจะไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว ตรงข้ามกับบุชและแบลร์ เขาเชื่อว่าความรุนแรงในอิรักกำลังจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และการเคลื่อนไหวของชาวซุนนีในรูปแบบสงครามกองโจรน่าจะยิ่งเข้มข้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ


 


ฉากต่อไปในอิรัก จึงไม่มีอะไรใกล้เคียงการเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรหน้าตาเหมือนสันติภาพ อิรักของฮวน โคล กำลังตกอยู่ในวงล้อมของ 4 สงคราม พร้อมๆ กัน


 


1.       สงครามกองโจรของฝ่ายต่อต้านชาวซุนนี เพื่อขับไล่อเมริกาออกจากพื้นที่หัวใจสำคัญของชาวซุนนี


2.       สงครามกองโจรของกองกำลังติดอาวุธชีอะต์ เพื่อขับไล่กองทัพอังกฤษออกจากภาคใต้


3.       สงครามกลางเมืองระหว่างซุนนี-ชีอะต์


4.       สงครามของเคิร์ด ซึ่งกระทำกับชาวอาหรับและชาวเติร์กในจังหวัดเคอร์คุก (ดินแดนบ่อน้ำมัน) และการรบแบบกองโจรของเติร์กและอาหรับที่สู้รบกับกองกำลังติดอาวุธของเคิร์ด (Peshmerga)


 


ถ้าคุณกำลังจะคิดว่าฮวน โคล มองโลกในแง่ร้ายเกินไป ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงตาย ว่างงาน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ และเต็มไปด้วยการอพยพลี้ภัยอย่างทุกวันนี้ ลองมาฟังเสียงคนอิรักจากท้องถนนดูบ้าง


 


อาห์เม็ด คารีม ชีอะต์ นักศึกษาอายุ 24 แบกแดด ให้สัมภาษณ์สื่ออังกฤษ The Observer ว่า


 


"กับรัฐบาลชุดนี้ ผมคงไม่มองโลกในแง่ดี พวกเขาไม่มีทางที่จะควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงตอนนี้ได้ ความวุ่นวายต่างๆ จะไม่สงบลง พวกเขาก็แค่เข้ามายึดตำแหน่งและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันก็แค่นั้น เราก็จะถูกปล่อยให้ทุกข์ยากไปตามยถากรรม ไม่มีทางที่พวกเขาจะทำได้อย่างรัฐบาลในยุคซัดดัมหรอก นั่นน่ะ...รัฐบาลที่แท้จริง"


 


เซกกี (ไม่มีนามสกุล) ซุนนี อายุ 65 ให้สัมภาษณ์สื่ออเมริกา Los Angeles Times ว่า


 


"ผมไม่ค่อยเชื่อหรอกว่ารัฐบาลใหม่จะเอาประชาธิปไตยและความมั่นคงปลอดภัยมาให้ จริงอยู่...เราไม่ควรจะหมดอาลัยตายอยาก เราควรจะมีความหวังเข้าไว้ แต่จนถึงตอนนี้ ผมก็ยังมองไม่เห็นร่องรอยอะไรให้หวังได้เลย สักนิดเดียวก็ไม่มี"


 


              


 


และเพื่อจะให้ผู้อ่านมองเห็นอิรัก-ฉากต่อไปได้คมชัดลึกมากยิ่งขึ้น อิรักกำลังจะเริ่มต้นใหม่...อย่างที่บุชกับแบลร์โฆษณาไว้จริงหรือไม่? ต่อไปนี้เป็นบทความแปล 2 ชิ้น จากนักข่าวอังกฤษและนักวิชาการอเมริกัน ซึ่งทั้ง 2 คนต่างก็เป็น "ตัวจริง-เสียงจริง" ในเรื่องอิรักทั้งคู่


 


ชิ้นแรก เป็นบทความชื่อ  "Which is the Real Iraq?" ของ แพทริก โคเบิร์น (Patrick Cockburn - เขียน Cockburn  แต่ออกเสียง Coburn นะคะ) สุดยอดนักข่าวพรางตัว-เดนตายที่รายงานส่งตรงมาจากอิรัก โคเบิร์นเป็นนักข่าวชื่อดังมือรางวัล ประจำอยู่ที่ อินดิเพนเดนท์/อังกฤษ (ที่เดียวกับรอเบิร์ต ฟิสก์) และมีงานตีพิมพ์แพร่หลายตามเว็บซ้ายทั่วไป โดยเฉพาะเว็บของพี่ชาย-บก.สุดบิ๊กแห่ง CounterPunch (พี่ชายเขาเป็นหนึ่งในสุดยอดปัญญาชนซ้ายระดับ A++)


 


ชิ้นที่สอง มาจากเว็บบล็อกของ ฮวน โคล 23 พฤษภาคม พาดหัวว่า "Critique of US Policy in Iraq" ฮวน โคลสอนวิชาประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางและเอเชียใต้อยู่ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ก่อนหน้าปี 2003 เขาก็มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วพอประมาณ แต่หลังสงครามอิรักเป็นต้นมา โคลได้สร้างความโดดเด่นเป็นที่ฮือฮาอย่างรวดเร็ว เขาเป็นอเมริกันที่ไม่ใช่อาหรับ-แต่เชี่ยวชาญภาษาตระกูลอาหรับเป็นอย่างดี เติบโตมาในหลายประเทศ และเดินทางไปมาแถวตะวันออกกลางอยู่บ่อยๆ ในเว็บของเขา (ซึ่งได้รับรางวัลตรึม) อุดมไปด้วยข่าวสารและรายงานชั้นดีที่คัดสรรมาจาก 2 ซีกโลก พร้อมการแสดงทัศนะของเขาเองแบบวิเคราะห์เจาะลึกและได้อารมณ์ "อินไซด์" มั่กๆ เข้าใจว่านักวิเคราะห์ตัวจริงทั้งซ้าย-ขวา-ลิเบอรัลที่จับประเด็นเรื่องอิรัก ไม่มีใครไม่ตามอ่านงานของฮวน โคล เพราะความสามารถในการดมกลิ่นและประเมินสถานการณ์ของเขาล้ำหน้านิวยอร์คไทมส์และแอลเอไทมส์ ไปอย่างน้อย 1 ปี (อย่างมาก 3.548 ปี)


 


และถ้างานชิ้นนี้ของโคล จะมีสุ้มเสียงที่เห็นอกเห็นใจทหารระดับปฏิบัติการในอิรักบ้าง...ก็เพราะเขาเติบโตมาในครอบครัวของทหารนั่นเอง ในรายละเอียด คนที่ติดตามผลงานเขาจะรู้ดีว่า ฮวน โคลไม่ใช่ปัญญาชนซ้ายตระกูล radical left  แต่ในภาพรวมแล้ว เขาจัดเป็นนักวิชาการคุณภาพในซีกก้าวหน้า วิจารณ์บุช วิจารณ์อิสราเอล รักสันติภาพ-รักความยุติธรรม และไม่เอาสงครามแน่ๆ


 


สุดท้าย เพื่อจะทำให้ชีวิตของผู้อ่านสับสนน้อยลง ผู้แปลได้ตัดเล็มส่วนเกินของโคลออกไปนิดหน่อย (นิดเดียวจริงๆ) พร้อมเขียนอธิบายแทรกตามจุดต่างๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้นแล้ว (กรุณาอย่าทำหน้าผากย่นเวลาอ่าน จะเสียบุคลิก) o


 


0 0 0


 


 


 



 



โทนี แบลร์กับนายกอิรักคนใหม่


 


อิรักของแบลร์ VS อิรักของจริง


แพทริก โคเบิร์น


พฤษภาคม 23, 2006


(อาร์บิล อิรัก)


 


วิวของแบลร์ : เราได้รัฐบาลแห่งชาติที่มีความเป็นเอกภาพอยู่เหนือการแบ่งแยกใดๆ ขึ้นมาแล้ว ต่อไปนี้ ชาวอิรักจะได้เป็นผู้เขียนบทใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ของตัวเอง


 


วิวของคนอื่นๆๆๆ : คาร์บอม 2 คัน ระเบิดบึ้มในแบกแดด สังหารโหดไป 9 การโจมตีในจุดอื่นๆ ฆ่าคนอิรักไปอีกกว่า 23 ยอดผู้ตายเดือนพฤษภาคมขยับเป็น 848 ขณะที่ความรุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางลัทธิศาสนายังแพร่สะพัดไปไม่หยุด


 


 มีอยู่มุมหนึ่งซึ่งชวนให้เสียอารมณ์มากที่สุดเวลาเขียนเรื่องอิรัก นั่นก็คือ ยิ่งสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นเท่าไหร่ มันยิ่งง่ายสำหรับบุชกับแบลร์ที่จะแกล้งทำเหมือนว่า...สิ่งต่างๆ กำลังจะดีขึ้น ยกเว้นก็แต่สามจังหวัดภาคเหนือของเคิร์ดเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือแบกแดดและอิรักทั้งประเทศ ต่างก็กลายเป็นพื้นที่ล่าเหยื่อของ "นักลอบสังหาร" และ "หน่วยล่าสังหาร" ไปหมดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรายงานความล่มสลายของระบบความปลอดภัยของที่นี่ โดยที่ผู้รายงานไม่ถูกฆ่าตายตามไปด้วย


 


ช่างเป็นความไร้สาระอันน่าสยดสยองจริงๆ สำหรับอาการมองโลกในแง่ดีของแบลร์ ขณะที่เขายืนอยู่ข้างๆ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิรัก นูรี อัล-มาลิกี เมื่อวานนี้ ในพื้นที่กรีนโซนของแบกแดดที่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยเข้มข้นสูงสุด แบลร์เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์...ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับคนระดับเขา ขณะที่ชาวบ้านธรรมดา ใครก็ตามบนท้องถนนที่จำเป็นต้องแวะเข้ามาในเขตกรีนโซนแล้วล่ะก็ จะต้องฝ่าด่านจุดตรวจค้นถึง 8 จุดให้ได้ โดยแต่ละจุดจะมีการ์ดและทหารที่มีอาวุธหนักครบเครื่องประจำอยู่ ล้อมรอบด้วยกระสอบทราย รั้วลวดหนาม พร้อมทั้งสุนัขดมกลิ่น และเครื่องเอ็กซเรย์อีกต่างหาก


 


มิสเตอร์แบลร์บอกว่าการสถาปนารัฐบาลแห่งชาติที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ จะทำให้ฝ่ายต่อต้านในอิรักหมดข้ออ้างในการโจมตีอีกต่อไป เขายังบอกอีกว่า ในที่สุด "ชาวอิรักก็จะได้รับผิดชอบต่อชะตากรรมของตนเอง เขียนบทใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ของตัวเอง นับตั้งแต่วันนี้"


 


แต่ความจริง ดูเหมือน ซัลเมย์ คาลิซัด ทูตสหรัฐฯ ประจำอิรักจะอยู่เบื้องหลังชะตากรรมที่ว่ามากกว่า เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำจัด อิบราฮิม อัล-จาฟารี นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ (และแคนดิเดตสำคัญในรอบนี้) ออกไป คนของคาลิซัดไม่เสียเวลาปิดบังด้วยซ้ำว่า ท่านทูตของเขาได้ทำในสิ่งที่นิวยอร์ค ไทมส์นิยามไว้ นั่นก็คือ "เป็นหมอตำแยผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการทำคลอดรัฐบาลใหม่" และนี่ก็คงไม่ใช่สัญญาณของความเป็นเอกเทศหรือเอกราชของรัฐบาลชุดนี้แน่นอน


 


แบลร์บอกว่า "เรามีรัฐบาลแห่งชาติที่มีความเป็นเอกภาพอยู่เหนือการแบ่งแยกใดๆ " แต่โชคร้ายจริงๆ สิ่งที่แบลร์บอกนั่นแหละ...ใช่เลย...คือสิ่งที่เรายังไม่ได้มา การที่ต้องใช้เวลาถึง 5 เดือนเพื่อฟอร์มรัฐบาลนับตั้งแต่การเลือกตั้ง 15 ธันวาคมปีที่แล้ว ก็น่าจะบอกได้ว่า ความแตกแยกที่ดำเนินมาตลอดมันลึกซึ้งแค่ไหน  แล้วไง? เราก็ได้มาแต่รัฐมนตรีการท่องเที่ยวน่ะสิ แต่กลับไม่มีรัฐมนตรีว่าการกลาโหมและมหาดไทย…สองตำแหน่งที่มีความหมายสำหรับประเทศที่กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะสงคราม


 


ในการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง และการโหวตแสดงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญอีก 1 ครั้งในปี 2005 ชาวอิรักโหวตตามเส้นแบ่งทางศาสนาและชาติพันธุ์อย่างเข้มข้น ผู้ชนะได้แก่พรรคชีอะต์อิสลาม ซุนนีอิสลาม และพรรคพันธมิตรของเคิร์ด ผู้สมัครสายฆราวาสและชาตินิยมต่างก็ฟอร์มตกไปตามๆ กัน รัฐธรรมนูญใหม่ (2) เพิ่มอำนาจให้เคิร์ดและชีอะต์ ด้วยการส่งเสริมการแบ่งแยกอิรักออกเป็นภูมิภาคใหญ่ๆ (super-region) ไม่กี่ส่วน และแต่ละส่วนต่างก็มีสิทธิควบคุมเหนือบ่อน้ำมันใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ อนาคตของอิรัก จึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ที่กำลังจะตามมา


 


และเพราะความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายของรัฐบาลใหม่ แต่ละกระทรวงย่อมจะกลายเป็นอาณาจักรทำมาหากินของแต่ละพรรคไปโดยอัตโนมัติ ในทางปฏิบัติ แต่ละกระทรวงจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือค้ำยันอย่างดีสำหรับระบบอุปถัมภ์ของพรรค เป็นแหล่งรีดทึ้งผลประโยชน์ ในรูปเงิน งาน และสัญญารับเหมาสัมปทานทุกชนิด แต่ถึงกระนั้น ต่อให้โกงกินหรือไร้ประสิทธิภาพในการบริหารแค่ไหน รัฐมนตรีเหล่านั้นก็จะไม่ถูกปลดออกไป เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีสิ่งที่ต้องปกปิดเอาไว้เหมือนๆ กัน


 


แบลร์บอกว่า จุดแข็งอย่างหนึ่งของรัฐบาลใหม่ก็คือ "ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนอิรักหลายล้าน" แต่ทั้งสถานทูตอังกฤษและอเมริกาต่างก็ทุ่มเวลาส่วนใหญ่ในช่วง 5 เดือน พยายามอย่างยิ่งที่จะยัดเยียดหลอกขายคนของตัวเองเข้าไปในลิสต์รัฐบาลใหม่มาตลอด หนึ่งในนั้นคืออดีตนายกรัฐมนตรี อิยัด อาลาวี นั่นเอง แม้ว่าพรรคของเขาจะทำคะแนนได้ไม่น่าประทับใจเลยก็ตาม


 


ปัญหาของอเมริกาและอังกฤษในอิรัก ในระดับหนึ่ง อาจสรุปได้ง่ายๆ อย่างที่ ซามี ชอเรช (Sami Shoresh) นักวิจารณ์การเมืองรายหนึ่งว่าไว้ "เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีประชาธิปไตยในอิรัก มันย่อมเป็นประโยชน์ต่ออิหร่าน องค์กรทางศาสนา และชีอะต์"


 


และทุกอย่างที่อเมริกาและอังกฤษต้องการหลีกเลี่ยง ถึงวันนี้ มันก็พิสูจน์ออกมาแล้วว่าเป็นไปไม่ได้


 


ชาวซุนนี ซึ่งเป็นแกนนำในการต่อต้านการยึดครองของอเมริกา กำลังคอยดูอยู่ว่า ใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยและกลาโหมตัวจริง และด้วยความหวาดผวามากขึ้นเรื่อยๆ ต่อหน่วยล่าสังหารของมหาดไทย กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มบาเดอร์ และกองทัพมาห์ดี (3) ชาวซุนนีระดับนำบางรายจึงเริ่มมองหาความร่วมมือจากอเมริกามากขึ้น แต่ดูเหมือนว่างานนี้ พรรคพวกชาวซุนนีที่เคยร่วมต่อสู้กับอเมริกามาตลอด 3 ปี น่าจะทำใจลำบากและไม่รับลูกง่ายๆ


 


จุดแข็งอย่างหนึ่งของรัฐบาลชุดอัล-มาลิกี ก็คือ มันได้รวมเอาชาวซุนนี-พรรคที่ทำคะแนนได้ดีในการเลือกตั้ง (ซุนนีอิสลาม - Iraqi Accord Front) เอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของชาวซุนนี  5 ล้านหรือ 20% ของประชากรอิรักนี้ ยังคละเคล้าไปด้วยสุ้มเสียงที่หลากหลาย ไม่ได้มีผู้นำที่สามารถชี้นำความคิดเห็นไปในทางเดียวกันได้แบบชีอะต์และเคิร์ด นักการเมืองซุนนีที่ได้รับเลือกตั้ง ไม่สามารถออกคำสั่งให้กองกำลังติดอาวุธเข้ามอบตัวหรือสลายตัวตามใจชอบได้ ยิ่งกว่านั้น ผู้นำซุนนีต่างก็รู้อยู่แก่ใจดีว่า เหตุผลเดียวที่อเมริกาเห็นความสำคัญของพวกเขา และทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะสงครามกองโจรที่ทำให้กองทัพอเมริกันต้องบาดเจ็บล้มตาย รวมกันได้ประมาณ 20,000 นั่นเอง


 


สำหรับชีอะต์ ผู้ซึ่งใช้ประโยชน์จากอเมริกาในการบุกยึดและล้มล้างระบอบซัดดัมเพื่อเข้าสู่อำนาจ  แน่นอนว่า ย่อมไม่อยากเห็นอำนาจของพวกเขาถูกยึดไปโดย ซัลเมย์ คาลิซัด หรือใครก็ตาม  และการยึดครองของต่างชาติจะมาถึงจุดจบทันทีที่ชีอะต์ตัดสินใจได้ว่า...การมีอยู่ของอเมริกาไม่ได้เป็นประโยชน์แก่พวกเขาอีกต่อไปแล้ว


 


- - - - - - - - - - - - - - -


 


 


 



 


          


 


ความห่วยสุดๆ ของบุชในอิรัก


ฮวน โคล


พฤษภาคม 23, 2006


 


นโยบายของบุชในอิรักส่วนใหญ่คือความล้มเหลว มันทำให้อิรักกลายเป็น รัฐล้มเหลว (failed state) ที่กำลังลุกเป็นไฟด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา...อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ช่วงหลังของอิรัก ความไร้เสถียรภาพขั้นรุนแรงนี้กำลังส่งผลคุกคามต่อความมั่นคงไปทั่วทั้งภูมิภาค และมันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร...ที่สงครามกองโจรในอิรักจะขยายวงลุกลามออกไปในประเทศแถบนั้น พร้อมที่จะส่งผลถึงการส่งออกน้ำมันและเศรษฐกิจโลกตามมา


 


เป็นไปไม่ได้ ที่จะหวังให้ทหารจำนวนน้อยนิด (โดยเปรียบเทียบ) ของอเมริกา (4) มาเนรมิตความมั่นคงปลอดภัยใดๆ ให้เกิดขึ้นได้ ในประเทศที่มีประชากรถึง 26 ล้านและกำลังเกิดสงครามกลางเมืองอยู่ในเวลานี้ ล่าสุด กองทัพอังกฤษในเมือง บาสรา ซึ่งมีกำลังน้อยยิ่งกว่า ก็ได้แสดงความไร้ประสิทธิภาพออกมามากขึ้นเรื่อยๆ การปะทะกันของกองกำลังติดอาวุธและการลอบสังหารในเมืองๆ นั้น กลายเป็นเรื่องปกติสามัญไปแล้ว


 


ข้อดีของการมีรัฐบาลใหม่ ถูกบั่นทอนทำลายไปด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ด้วยเวลามากมายที่ต้องสูญเสียไปในการจัดตั้งรัฐบาล (5 เดือน!) ด้วยการแทรกแซงอย่างไม่ปิดบังของอเมริกาในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี และการเจ้ากี้เจ้าการเรื่องอื่นๆ อีกมาก ตามด้วยการวอล์คเอาท์ของสมาชิกรัฐสภาจำนวนกว่าสองโหล ทั้งในซีกชีอะต์ (Virtue Party) และซุนนี (National Dialogue Front, Iraqi Accord Front) ตลอดจนด้วยความล้มเหลวของนายกฯ คนใหม่ที่ไม่สามารถสรรหาตัวรัฐมนตรี 3 กระทรวงหลักได้ ไม่ว่าจะเป็น กลาโหม มหาดไทย และความมั่นคงแห่งชาติ และนี่ก็คือรัฐบาลอิรัก รัฐบาลผู้มีชื่อเสียงด้านคอรัปชันติดอันดับโลก ทำงานภายใต้การติดสินบนและระบบพรรคการเมืองที่เละเทะมาตั้งแต่แรก


 


รัฐสภาใหม่คือเวทีที่แตกเป็นฝักฝ่าย ไม่มีใครคุมเสียงข้างมากได้จริง และอัล-มาลิกีก็เป็นแค่นายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยเท่านั้น ในพรรคยูไอเอ เขาคุมเสียงจริงๆ อยู่ไม่ถึง 115 เสียง จากจำนวนทั้งหมดในสภา 275 เสียง เพราะฉะนั้นงานนี้ อัล-มาลิกีจึงดูจะถูกจับเป็นตัวประกันของเคิร์ดอยู่กลายๆ ก็แล้วอะเจนดาของเคิร์ดคืออะไร? ตลอดมา เคิร์ดต้องการให้อิรักมุ่งสู่หนทางของการมีรัฐบาลกลางที่อ่อนแอ การปกครองท้องถิ่นที่แยกตัวเป็นอิสระ-ในดีกรีที่ยังไม่มีประเทศไหนในโลกทำกัน ยิ่งกว่านั้น นอกจากจะยึด 3 จังหวัดภาคเหนือที่เคิร์ดเป็นประชากรหลักไปแล้ว เคิร์ดยังกระหายอยากได้ เคอร์คุก ที่ร่ำรวยบ่อน้ำมันเป็นจังหวัดที่ 4 ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยการต่อต้านดุเดือดจากชาวเติร์กและชาวอาหรับในพื้นที่


 


โครงการก่อสร้างและบูรณะอิรักของบุชก็ล้มเหลวเกือบทั้งหมด บางส่วนเป็นเพราะการก่อวินาศกรรมในสงครามกองโจร  ที่ทำให้งบก่อสร้างหลายพันล้านถูกแปรไปเป็นงบรักษาความปลอดภัย-แถมยังไม่สามารถรักษาความปลอดภัยได้จริงด้วยซ้ำ บางส่วนเป็นเพราะมหกรรมการยักยอก ฉ้อโกง คอรัปชันกันอลังการชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของอเมริกาหลังยุค Gilded Age (อเมริกาช่วง 1865 -1901 ยุคบูมสุดๆ ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ในทางการเมืองจัดเป็นยุคทองของคอรัปชัน) และบางส่วนเป็นเพราะอเมริกายืนยันที่จะว่าจ้างแต่บริษัทของตัวเองเป็นหลัก ไม่สนใจว่าผู้รับเหมาเหล่านั้นจะมีคุณสมบัติหรือไม่ คนอิรักเองเป็นได้แค่ผู้รับช่วงต่อ ได้เศษเงินติดมือนิดหน่อย และแทบจะไม่มีความหมายอะไรในทางเศรษฐกิจ


 


อาทิตย์ที่แล้ว มีการปะทะหนักระหว่างกองทัพอเมริกากับฝ่ายต่อต้านซุนนีที่ รามาดี ซึ่งเหตุการณ์นี้ 


สื่อเมนสตรีมในอเมริกาแทบจะไม่มีใครให้ความสนใจเลยสักนิด ฟัลลูจาห์ กลับมาเป็นพื้นที่อันตรายอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ทุกหนแห่งใน แบกแดด ก็บอมบ์กันได้ทุกวัน สงครามกลางเมืองที่ร้อนแรงยังคงผลิตศพใหม่ๆ ออกมาได้ตลอดทุกค่ำคืน บางครั้งมากมายหลายสิบจนทำให้การออกล่าหาศพทุกๆ เช้ากลายเป็นหน้าที่หลักของตำรวจอิรักไปแล้ว พวกเราจำนวนมากต่างก็เชื่อว่า ตำรวจบางหน่วยนั่นแหละที่พัวพันกับการอุ้มฆ่าที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าพวกเขาจะรู้ดีว่า...ควรจะไปมองหาศพพวกนั้นได้ที่ไหน


 


สุดยอดแทคติกในพื้นที่สู้รบของกองทัพอเมริกายังคงเป็น...การออกค้นตามบ้านและทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า (search and destroy) ซึ่งนับเป็นวิธีการที่ส่งเสริมความนิยมของนักรบฝ่ายต่อต้านซุนนีในหมู่ประชาชนอิรักได้อย่างยอดเยี่ยม นับวัน นักรบจรยุทธ์ในอิรักก็ยิ่งแสดงความเก่งกล้าเป็นมืออาชีพมากขึ้นทุกวัน มีการจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปฏิบัติการตอบโต้และยึดคืนของอเมริกาในเขตใจกลางพื้นที่ซุนนี กลับหาความก้าวหน้าที่ยั่งยืนจริงจังอะไรไม่ได้เลย แต่ที่น่าเศร้าสลดอย่างมากก็คือตัวเลขผู้ตายในสงครามครั้งนี้ จำนวนคนอิรักที่ตาย (จากความรุนแรงไม่ว่ามาจากจะฝ่ายไหน) เป็นตัวเลขที่ไม่สามารถคาดการได้ แต่แน่นอนว่า มันมากกว่า 100,000 ไปแล้ว และก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่จะเป็นอย่างนั้น ตัวเลข 30,000 ที่มีการอ้างถึงกันบ่อยๆ เป็นตัวเลขที่นับจากรายงานความตายในสื่อตะวันตกอย่างเดียว และสะท้อนแค่เสี้ยวเดียวของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด อย่างน้อย ความตายของคนอิรักจำนวนเกือบๆ 1,000 ที่ถูกลอบสังหารในบาสราเดือนที่แล้ว (ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีตำรวจพัวพันอยู่ด้วย) ก็ไม่เคยถูกรวมอยู่ในตัวเลขอันนั้น


 


อเมริกาเสียทหารไปมากกว่า 2,400 บาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่อีกมากกว่า 27,000 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีผู้บาดเจ็บสาหัสจนกระทั่งพิการรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย ทหารผ่านศึกบางรายมีปัญหาทางจิต บางรายกลายเป็นพวกร่อนเร่อนาถาข้างถนน ถูกทอดทิ้งอยู่ตามเมืองต่างๆ ตรงกันข้าม บริษัทยักษ์ใหญ่ฮัลลิเบอร์ตันกลับได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากกองทัพจนรอดพ้นจากการล้มละลายมาได้ ทหารของอเมริกาได้สู้รบอย่างกล้าหาญในสมรภูมิที่ตัวเองไม่เคยคุ้น ล้มล้างระบอบซัดดัมให้พ้นไป และบางส่วนยังได้ช่วยทำงานพัฒนาให้กับชุมชนต่างๆ ในอิรักอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ศัตรูของพวกเขาไม่ใช่แค่นักฆ่าอดีตพรรคบาธ หรือนักจีฮัด ซาลาฟี เท่านั้น (5) แต่ศัตรูของกองทัพอเมริกัน ยังหมายถึงเหล่านักรบกู้ชาติผู้ต่อสู้อย่างมีศักดิ์ศรีอีกด้วย เป็นเคราะห์กรรมของกองทัพอเมริกาที่ถูกสั่งให้มาสู้รบในสงครามที่ผิดกฏหมาย ตกอยู่ในวังวนของสงครามกองโจรที่ดิ้นรนเพื่อจะปกครองตัวเอง และนี่ก็คือสงครามกองโจรชนิดที่มหาอำนาจจักรวรรดินิยมไม่สามารถเอาชนะได้ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา


 


ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า ทั้งกองทัพและกองกำลังต่างๆ ในอิรักที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ จะมีความสามารถต่อกรกับนักรบฝ่ายต่อต้านอย่างมีประสิทธิภาพได้ กองกำลังความมั่นคงของอิรักถูกแทรกซึมอย่างหนักจากกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายของทุกฝ่าย เร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ของอเมริกาได้ให้ข่าวว่า กองทัพของอิรักใน บาคูบาห์ ได้สู้รบกับฝ่ายต่อต้านอย่างแข็งขันจนกระทั่งกระสุนหมด ไม่ต้องแปลกใจหรอกว่าทำไมกองทัพอิรักถึงต่อสู้อย่างห้าวหาญขนาดนั้น เพราะมันเกือบจะชัดเจนว่า กองทัพนั้นก็คือทหารเคิร์ดหรือไม่ก็ทหารชีอะต์ที่กำลังต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านซุนนีนั่นเอง ว่ากันตรงๆ แล้ว มันก็แค่อีกรูปแบบหนึ่งของ สงครามกลางเมือง เท่านั้นแหละ แต่ยังมีอีกบางแง่มุมเหมือนกันที่เราจะได้จากข่าวสนุกๆ ชิ้นนี้ นั่นก็คือความจริงที่ว่า ฝ่ายต่อต้านมีกระสุนใช้มากกว่ากองทัพที่ขาดแคลนของอิรัก และนี่ก็คงไม่ใช่สัญญาณที่ดีเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขของสงครามกลางเมือง ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในเลบานอน การจัดกองทัพที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ และปัญหาที่ว่านี้ก็เกินกว่าจะเยียวยาแก้ไขกันได้ง่ายๆ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี


           


ไม่มีหนทางไปสู่เสถียรภาพในอิรัก ถ้าปราศจากความช่วยเหลือของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่าน ตุรกี ซีเรีย จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย (ซออุดีอะเรเบีย) และคูเวต แต่ที่ผ่านมา คณะบริหารของบุชก็สู้อุตส่าห์ตั้งหน้าตั้งตาหาเรื่องเล่นงานอิหร่านกับซีเรียไม่หยุดหย่อน ขู่จะโจมตีทางทหารบ้าง จะล้มล้างรัฐบาลบ้าง ทำทุกอย่างเพื่อจะให้คนพวกนั้นเห็นอเมริกันเป็นศัตรูให้ได้ หรือแม้แต่กับตุรกีก็เช่นกัน อเมริกาก็ม่ได้เป็นเพื่อนที่ดีเสมอไป เพราะอเมริกาได้ปล่อยให้ นักรบกองโจรฝ่ายซ้ายของเคิร์ด (PKK - Kurdistan Workers Party) มาปักหลักยึดทางตอนเหนือของอิรักเป็นฐานที่มั่นในการโจมตีทั้งตุรกีและอิหร่าน ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของซาอุดิอาระเบีย อเมริกาก็ไม่เคยระมัดระวังที่จะสร้างความห่างเหินหนักขึ้น ตั้งแต่การกล่าวหาเป็นนัยๆ ว่า อิสลามในรูปแบบของ วาฮาบี (5) เป็นแหล่งเพาะพันธุ์การก่อการร้าย ไปจนถึงการทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่ออาการวิตกจริตของซาอุดิอาระเบียในเรื่องที่ว่า...อาณาจักรชีอะต์กำลังจะผงาดขึ้นมาในภูมิภาคนั้น


           


แต่ความดักดาน ไร้ปัญญา และไร้สมรรถภาพของคณะผู้บริหารของบุช...ก็ใช่ว่าจะหาคู่แข่งในระดับเดียวกันไม่ได้ ย้อนไปในฤดูใบไม้ร่วง ปี 2005 เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย ซาอุด เอล ไฟซาล เดินทางไปอเมริกาและตำหนิอเมริกาที่ปล่อยให้อิรักตกอยู่ในมือของอิหร่าน (หมายถึงพวกชีอะต์อิรักที่ฝักใฝ่อิหร่าน) และก่อให้เกิดความร้าวฉานทางการทูตตามมาระหว่างริยาดห์กับแบกแดดนั้น แทนที่จะเล่นบทที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนบ้านอาหรับด้วยกัน ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัก ของอียิปต์กลับทำทุกอย่างให้เลวร้ายขึ้นไปอีก ด้วยการกล่าวว่า พวกชีอะต์ภาคใต้ในอิรักจงรักภักดีต่ออิหร่านยิ่งกว่าประเทศตัวเอง ผลลัพธ์ก็คือ ไม่เพียงแต่จะทำให้ชีอะต์เหล่านั้นหัวเสียไปตามๆ กัน แต่ยังทำให้โอกาสของ สันนิบาตอาหรับ (Arab League) ในอันที่จะมีบทบาทสำคัญนำไปสู่การแก้ปัญหาให้อิรัก...ต้องริบหรี่ลงอย่างมาก เพราะชีอะต์ในอิรักไม่เชื่อถือความจริงใจของนายหน้าพวกนั้นอีกแล้ว


 


รัฐบาลบุชป่าวประกาศว่า การเอาชนะอัล-ไคดาในอิรัก จะส่งผลสำคัญต่อการเอาชนะผู้ก่อการร้ายทั่วโลกในลำดับต่อไป แต่ดูเหมือนว่า นโยบายของบุชที่ผ่านมาจะมุ่งไปสู่การส่งเสริมลัทธิก่อการร้ายมาตลอด ก่อนหน้าปี 2003 กลุ่มอันซาร์ อัล-อิสลาม (Ansar al-Islam) ที่ปฏิบัติการอยู่แถวตอนเหนือของอิรัก สามารถรอดพ้นเงื้อมมือของกองกำลังพรรคบาธมาได้ ก็เพราะหนีไปหลบใน "เขตห้ามบิน" (no-fly zone) ของอเมริกาต่างหาก ทำให้ซัดดัมไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปราม จนถึงเดี๋ยวนี้ บุชก็ยังไม่เคยโชว์ความสามารถว่าจะเอา "จีนนี" ยัดกลับเข้าไปใน "ขวด" ได้อย่างไร ตรงกันข้าม สงครามในอิรักกลับเป็นผลดีมหาศาลต่อ ขบวนการจีฮัดซาลาฟี ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ( International Salafi Jihadi Movement) ในการกระตุ้นให้เยาวชนผู้โกรธแค้นมากมายเข้าร่วมสงครามต่อต้านอเมริกาอย่างคึกคัก  และนโยบายที่ก้าวร้าวแต่อ่อนหัดของบุชนี่เอง ที่สร้างปรากฏการณ์ที่...ปากของเขาอาจจะพร่ำบอกว่าเขากำลังต่อสู้ แต่เราก็มองเห็นกันแล้วว่าเขาไม่มีทางชนะ


 


สิ่งที่รอเราอยู่ข้างหน้า จึงหมายถึงความไร้เสถียรภาพของดินแดนตะวันออกกลางและบริเวณรอบๆ ซึ่งอาจจะกินเวลายาวนานหลายปี หรือบางทีก็อาจจะ...หลายทศวรรษ อันตรายจากราคาน้ำมันที่อาจจะพุ่งขึ้นไปถึงสองหรือสามเท่า อันตรายจากการก่อตัวและความร่วมมือโยงใยของผู้ก่อการร้ายสำนักต่างๆ ที่จะขยายตัวต่อไปในรอบหลายปีข้างหน้า และทั้งหมดนี้ ชาวซุนนีในฟัลลูจาห์ ทัลอาฟาร์ รามาดี...จะมีวันยกโทษให้กับพวกเราได้จริงๆ หรือ? ยิ่งกว่านั้น ยังไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าชาวชีอะต์จะยืนอยู่ข้างเราไปตลอด ขณะนี้ความเกลียดชังอเมริกาเที่ยวล่าสุดได้เริ่มคุกรุ่นขึ้นมาแล้วที่ภาคใต้ มันเป็นผลลัพธ์ของการสังหารพลเรือนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และนโยบายแข็งกร้าวของกองทัพอเมริกาที่มีต่อกองกำลังมาห์ดีนั่นเอง


 


ถึงตอนนี้ บุชและทีมบริหารของเขาก็ได้ไล่ต้อนพวกเราให้ออกมาเล่นเกมไต่เชือกเหนือแผ่นดินอิรักแล้ว เราต่างก็ยืนอยู่บนที่สูง 60 ฟุต กำลังจะก้าวเท้าออกไป...และไม่มีตาข่ายรองรับ


 


 


- - - - - - - - - - - - - - -


อธิบายท้าย (โดยอุทัยวรรณ)


 


(1)       นูรี อัล-มาลิกี (Nuri al-Maliki) เป็นนายกรัฐมนตรีที่มา กลุ่มดาวะ (Dawa Party) ของพรรคพันธมิตรชีอะต์หรือยูไอเอ


 


พรรคยูไอเอไม่ใช่พรรคการเมืองในความหมายที่แท้จริง แต่เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของชีอะต์ฟันดะเมนทัลลิสต์กว่าสิบกลุ่ม ที่เป็นกลุ่มใหญ่และเป็นแกนนำหลักมีอยู่ 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มดาวะ กลุ่มสกิรี (SCIRI - Supreme Council for the Islamic Revolution in Iraq) และ กลุ่มของม็อกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ (Moqtada al-Sadr) หรือพวกซาดริสต์ (Sadrist) นั่นเอง และทุกกลุ่มที่ว่ามาต่างก็มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตัวเองทั้งสิ้น เพียงแต่กองกำลังของกลุ่มดาวะเป็นเพียงกองกำลังเล็กๆ ที่ไม่ได้มีฤทธิ์เดชจริงจังอะไร


 


สกิรีเป็นกลุ่มที่ "ทำในอิหร่าน" และเป็นฝ่ายร่วมรบอยู่เคียงข้างเตหะรานในสงครามอิรัก-อิหร่านตลอดยุค 80 เพราะฉะนั้นถ้าจะมีนักการเมืองกลุ่มไหนที่ "รู้ใจอิหร่าน" มากที่สุดในอิรัก ก็คงจะหนีไม่พ้นชีอะต์กลุ่มสกิรีนี่เอง และกลุ่มนี้ก็คือศัตรูหมายเลขหนึ่งของชาวซุนนีด้วย อันเนื่องมาจาก กองกำลังบาเดอร์ (Badr Militia) กองกำลังติดอาวุธของสกิรีที่แทรกตัวอยู่ทั่วมหาดไทย ได้ออกล่าสังหารชาวซุนนี (อดีตศัตรู) ไปทั่ว ขณะที่กลุ่มของอัล-ซาเดอร์ ก็ไม่น้อยหน้า กองกำลังติดอาวุธที่ชื่อ กองทัพมาห์ดี (Mahdi Army) ซึ่งเคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตของอเมริกามาก่อน ก็หันมาเล่นงานซุนนีมากขึ้นเรื่อยๆ (โดยเฉพาะช่วงหลัง ท่ามกลางสถานการณ์โกลาหลและสงครามกลางเมือง) แม้ว่าม็อกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ จะเป็นชีอะต์ชาตินิยมที่สนับสนุนแนวทางการเจรจาและการอยู่ร่วมกับซุนนีมาก่อนก็ตาม


 


ในส่วนของอัล-มาลิกี ย้อนหลังไปในยุค 80 หลังจากที่ซัดดัมประกาศให้พรรคดาวะเป็นกลุ่มการเมืองที่ผิดกฎหมายแล้ว (อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งรัฐอิสลาม) อัล-มาลิกีก็ได้ลี้ภัยไปอยู่อิหร่าน ก่อนที่จะย้ายไปดามัสกัสในเวลาต่อมา ระหว่างช่วงสงครามในเลบานอน ราวๆ ปี 1984 กลุ่มดาวะได้มีส่วนร่วมจัดตั้งองค์กร เฮซบัลละห์ (Hezbollah) ขึ้นมา แต่ไม่ชัดเจนว่า อัล-มาลิกีมีเอี่ยวด้วยหรือไม่


 


อัล-มาลิกีกลับมาอิรักหลังซัดดัมหมดอำนาจ และก็มีตำแหน่งในทีมบริหารของอิรักมาตลอด โดยเฉพาะในกิจการด้านความมั่นคง ยุคพอล เบรเมอร์คุมอิรัก อัล-มาลิกีเคยนั่งเป็นรองประธาน คณะกรรมการเพื่อการยุบสลายพรรคบาธ นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นผู้ผลักดัน กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย อย่างแข็งขัน สื่ออิรักบอกว่าอัล-มาลิกีเป็นพวกฮาร์ดไลน์ แต่ก็มีส่วนผสมของชาตินิยมอยู่เหมือนกัน อัล-มาลิกี เป็นผลลัพธ์ของการต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ (อเมริกา ชีอะต์ ซุนนี เคิร์ด) อันยาวนานถึง 4 เดือน แม้จะไม่ใช่ตัวเลือกแรกของยูไอเอที่อเมริกาพอใจแต่เป็นตัวเลือกที่ยอมรับได้มากกว่านายกฯ คนที่แล้ว อิบราฮิม อัล-จาฟารี


 


นูรี อัล-มาลิกี ผ่านการโหวตรับรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปในวันที่ 22 เมษายน เกือบ 1 เดือนต่อมา หลังผ่านการประลองวิชากำลังภายในพอสมควรแล้ว เขาก็ได้นำรายชื่อครม.ที่ยังไม่ครบชุดดีมาฝากชาวอิรักจนได้ แม้จะไม่มีใครเชื่อว่า รัฐมนตรีท่องเที่ยวของเขาจะสามารถจัดโปรแกรมท่องเที่ยวโปรโมชันพิเศษใดๆ ได้ชนะใจทัวริสต์ทั่วโลกสักคนเดียวเลยก็ตาม


 


(2)       รัฐธรรมนูญใหม่ หลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว ภารกิจร้อนมาก-สำคัญมากที่รออยู่งานแรกของรัฐบาลก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งต้องรีบจัดการให้เสร็จภายในกรอบ 4 เดือน และเนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติไปในวันที่ 15 ตุลาคมปีที่แล้ว ได้ทิ้งปมขัดแย้งซึ่งพร้อมจะสร้างความแตกแยกถึงตายตามมาอีกมากมาย (โดยเฉพาะประเด็นการปกครองระบบสหพันธรัฐและอำนาจในการจัดสรรรายได้บ่อน้ำมัน) อิรัก-ฉากต่อไป จึงมีแนวโน้มสยองขวัญดูไม่จืดจริงๆ ทั้งในและนอกสภา


 


(3)       กองทัพมาห์ดี อ่านรายละเอียดในข้อ (1) สำหรับหน่วยล่าสังหารของมหาดไทย และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มบาเดอร์ อธิบายไปแล้วในบทความอิรักชิ้นแรก


 


(4)       ทหารของอเมริกา ตามข้อมูลล่าสุดของการ์เดียน กองทัพอเมริกาในอิรักทั้งหมด (รวมงานบริการและอื่นๆ ทุกชนิด) ตอนนี้มีอยู่ 133,000 นาย กองทัพอังกฤษ 8,000 นาย กองทัพอิรักและตำรวจอิรักรวมกันอีก 263,000 นาย อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้ ฮวน โคลได้ระบุว่า ทหารอเมริกาที่ทำหน้าที่สู้รบจริงๆ (US fighting troops) มีราวๆ 60,000-70,000 นาย


 


(5)       Salafism เป็น movement ย่อยอันหนึ่งของพวกอิสลามซุนนีเคร่งลัทธิ ที่เชื่อในคุณค่าอิสลามบริสุทธิ์และไม่ปฏิเสธเรื่องจีฮัด และความเชื่อที่ว่านี้ก็แยกไม่ออกจากซุนนีสาย Wahhabism เพียงแต่ความเป็นมาของมูฟเมนต์อาจมีบางส่วนต่างกันไปบ้าง ระยะหลัง กระแส Salafi มาแรงและดูจะกลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมมากกว่า (เนื่องจากผู้เขียนไม่ใช่มุสลิมค่ะ ส่วนนี้สรุปเอาจากคำอธิบายของวิกกี้พีเดียเป็นหลัก - ถ้าคลาดเคลื่อนไป วานผู้รู้ชี้แนะด้วย จะขอบคุณมากๆ)


 


ข้อมูลประกอบ


Informed Comment, Juan Cole, JuanCole.com, May 2006


Which is the Real Iraq? , Patrick Cockburn, CounterPunch, May 23, 2006


Iraq Swears in Cabinet After 5 Months, Patrick Quinn, AP, May 20, 2006


Blair welcomes Iraq's 'new start', BBC, May 21, 2006


New dawn for Iraq marked by bloodshed, Peter Beaumont in London and Muhammad Al-Ubedy in Baghdad, The Observer, May 21, 2006


Iraqi PM vows "maximum force" as bombs kill 19, Lutfi Abu Oun and Ibon Villelabeitia, Reuters, May 21, 2006


Host springs surprise for PM, Ewen MacAskill, The Guardian, May 23, 2006


Fractured new Iraqi regime: a prelude to deepening sectarian violence, Peter Symonds, WSWS, May 24, 2006

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net