งบประมาณผิดทิศผิดทาง เบื้องหลังการเจรจาเอฟทีเอของไทย


บทบรรณาธิการ FTA Watch ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2549

 

 

ข้อวิจารณ์ต่อกระบวนการเจรจาเอฟทีเอของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรตลอด 4 ปีที่ผ่านมาที่มีน้ำหนักมากที่สุดข้อวิจารณ์หนึ่ง เห็นจะไม่พ้น การเจรจาไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อมูลและงานวิจัยอย่างรอบด้านและเป็นอิสระมากเพียงพอ

 

งานวิจัยที่พอมีอยู่ด้วยการสนับสนุนของหน่วยราชการส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะ เป็นการเจรจาไป-วิจัยกันไปบ้าง ซึ่งบางครั้งไม่ทันกับการเจรจา ทำให้ต้องเจรจาไปแบบไม่มีข้อมูล และเกือบทั้งหมดการให้ทุนสถาบันการศึกษาบางแห่งทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการทำเอฟทีเอ ที่กล่าวเช่นนั้นเป็นเพราะ ทีมวิจัยหลายชุดต้องเผชิญกับการขอแก้ผลการวิจัยจากหน่วยราชการหลายครั้ง หากผลการวิจัยนั้น ชี้ชัดว่า จะเกิดผลกระทบในทางลบต่อการทำเอฟทีเอ

 

เมื่อไม่มีการศึกษาที่รอบด้าน หรือไม่มากเพียงพอ...จะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ยากยิ่งที่รัฐบาลคณะผู้เจรจา รวมทั้งประชาชนที่จะได้รับผลโดยตรงจากการทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ จะสามารถมองเห็นผลกระทบทั้งผลได้และผลเสียอย่างรอบด้าน

 

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าว ยังมีความเคลื่อนไหวของแวดวงวิชาการที่พยายามทำการศึกษา ทำวิจัย และพยายามอธิบายถึงความซับซ้อนต่างๆในการเจรจาเอฟทีเอ ทั้งในเชิง เศรษฐศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึง รัฐศาสตร์การเมืองระดับประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่หลายคนอาจไม่เคยตระหนักว่า มันมีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งกับการทำเอฟทีเอ

 

แน่นอนว่า แวดวงวิชาการไม่ละเลยที่จะให้ข้อเสนอแนะต่างๆแก่รัฐบาล และหน่วยราชการที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เช่น การทำร่างข้อเสนอของทางฝ่ายไทยบนฐานข้อมูลที่ "รู้ทั้งเขาและเรา", การเสนอให้มีการวางยุทธศาสตร์หลักของประเทศ และที่สำคัญคือ ให้ชะลอการเจรจาเพื่อศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อให้เอฟทีเอที่ดีและเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในวงกว้างอย่างแท้จริง...เป็นไปได้

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch) ซึ่งมี ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานคณะกรรมการ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดสัมมนาระดมสมอง "นโยบายการค้าระหว่างประเทศ" และนำเสนองานวิจัย 2 ชิ้น เกี่ยวกับการเจรจาเอฟทีเอและนโยบายการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (http://www.thailandwto.org)

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยังได้สนับสนุนสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนา ซึ่งมีท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย เป็นประธาน ในการทำวิจัยศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำเอฟทีเอ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการรายงานความคืบหน้าของงานวิจัย 4 ชิ้น อาทิ ผลกระทบจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว, การจัดการน้ำ, การจัดการขยะและของเสีย, และประเด็นการลงทุน ที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันของประเด็นต่างๆในการเจรจา ที่มีแนวโน้มว่า อาจทำให้การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่เป็นจริง เมื่อถูกประเด็นการลงทุน การบริการ และทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวกีดขวาง

 

ความพยายามอย่างเข้มแข็งและห้าวหาญของแวดวงวิชาการขณะนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางงบประมาณวิจัยที่จำกัดจำเขี่ย ไม่เกินงานวิจัยละ 50,000 บาท และความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลการเจรจา เพราะถึงแม้จะเป็นงานวิจัยเพื่อการศึกษาของนักวิชาการ ก็ได้รับคำตอบคล้ายๆกันจาก คณะเจรจาว่า "ข้อมูลการเจรจาเป็นความลับสุดยอด"

 

อย่างไรก็ตาม หากมองไปอีกด้านยังความเคลื่อนไหวของหน่วยราชการ

 

...ผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากยังเชื่อว่า พรรคไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะสามารถกลับเข้ามาเต็มสภาอีกครั้ง ด้วยเสียงมากกว่า 300 เสียง ฉะนั้นนโยบายการทำเอฟทีเอ ไม่ต้องลดความเร็วแต่อย่างใด ความรอบคอบไม่ต้องพูดถึง

 

...หลายหน่วยราชการ กำลังเร่งแก้ไขกฎหมายทั้งในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญา การบริการ การลงทุน เพื่อรองรับเอฟทีเอต่างๆ ก่อนที่เอฟทีเอเหล่านั้น จะได้ข้อตกลงด้วยซ้ำ

 

แต่ที่ต้องยกเป็นไฮไลท์ในบทบรรณาธิการฉบับนี้ คือ การที่กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ จ้างบริษัทอเมริกันที่มีสาขาในประเทศไทยบริษัทหนึ่งย่านถนนวิทยุ ด้วยเงิน 18 ล้านบาท ใน "การจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" ระยะการทำงาน 8 สัปดาห์ นั่นหมายความว่า เสียค่าจ้างบริษัทอเมริกันบริษัทนี้ มากกว่าสัปดาห์ละ 2 ล้านบาท เทียบไม่ได้เลยกับ งบงานวิจัยชิ้นละไม่เกิน 50,000 บาทที่บรรดาแวดวงวิชาการกำลังทำงานอยู่

 

"การจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" คืออะไร เป็นคำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะจากข้อมูลของคณะเจรจาบางส่วนอธิบายสั้นๆง่ายๆว่า "ไปทำให้คนคัดค้าน เข้าใจและยอมรับว่า เอฟทีเอ...ดี"

 

การหาข้อมูล ยิ่งน่าสนใจ เพราะ จะไม่หาข้อมูลจากผู้ที่คัดค้าน ไม่ว่าจะเป็น องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ องค์กรประชาชนต่างๆ และรวมทั้ง นักวิชาการที่เคยวิจารณ์เอฟทีเอมาก่อน

 

แล้วผลงาน  "การจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" หลังเสร็จสิ้น การทำงาน "8 สัปดาห์ 18 ล้านบาท" ???

 

ให้พูดกันตรงๆ ก็คือ FTA Watch ยังหาข้อมูลฉบับเต็มไม่ได้

 

แต่จากคำปรารภแกมบ่นอย่างอิดหนาระอาใจของคณะเจรจาที่เข้าร่วมฟังการสรุปครั้งสุดท้ายของบริษัท พอจับความได้ว่า

 

"สนุกมาก ... 4 ชั่วโมงแรก สอนวิธีพูดคุยจับไม้จับมือกับคนที่มาค้านเอฟทีเอ (ถอนหายใจเฮือกใหญ่) เงิน 18 ล้านได้แค่เนียะ"

 

 

เฮ้อ ฉันถอนหายใจเฮือกใหญ่กว่า ...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท