Skip to main content
sharethis

ฝันร้ายที่เกิดกับพี่น้องภาคเหนือตอนล่างกลางดึกวันที่ 22 ..ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์น้ำป่าจากเขา


พลึง ไหลทะลัก พัดเอาโคลนถล่มลงมา หอบเอาบ้านเรือน และกระชากร่างของชาวบ้านสูญหายไปหลายครอบครัว โดยเฉพาะที่ อ.ลับแล  . อุตรดิตถ์ ตามที่ปรากฏบนหน้าสื่อเกือบทุกประเภทติดต่อกันมาร่วม 2 สัปดาห์แล้ว


 


ขณะเดียวกันชาวบ้าน กิ่ง อ.ทุ่งเขาหลวง  .ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญชะตากรรมกับปัญหาท่วมซ้ำซากติดต่อกันมานานกว่า 5 ปี (2543 - 2548) ก็กำลังรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ   และอยู่ในอาการหวาดวิตกว่าปีนี้แม่น้ำชีจะท่วมหมู่บ้านของพวกเขาจนต้องอพยพหนีน้ำขึ้นมากระจุกรวมกันอยู่อย่างลำบากบนพนังกั้นน้ำ (คันไดร์) เป็นเวลาร่วม 3 เดือนเหมือนทุกปีผ่านมาไหม  ?  หลายคนก็กำลังคิดว่าหากจะตัดสินใจลงทุนทำนาปีน้ำจะท่วมไหม ?  ถ้าท่วมจะเอาเงินไหนมาซื้อข้าวกิน  เอาเงินไหนไปใช้หนี้  ? ให้ลูกไปโรงเรียน  ฯลฯ


 


ความห่วงกังวลเหล่านี้อาจเทียบกันไม่ได้เลยกับเหตุการณ์ข้างต้น แต่หากแยกประเภทของอุทกภัยทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่า เหตุการณ์น้ำป่าและโคลนถล่มที่  .อุตรดิตถ์ นั่นคืออุบัติภัยทางธรรมชาติที่มาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว  เป็นภัยพิบัติที่เคลื่อนมากับเงามืด  เมื่อรู้ตัวก็สายเกินกว่าจะตั้งรับไหว  เป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง


 


ภัยธรรมชาติจากโครงการยักษ์


 


ปัญหาน้ำท่วมของชาวบ้านกิ่ง อ.ทุ่งเขาหลวงนั้นต้องเรียกว่าเป็นภัยธรรมชาติชนิดเรื้อรังที่รอการเยียวยาจากรัฐมานานกว่า 6 ปีแล้ว เป็นภัยธรรมชาติที่ติดเชื้อมาจาก อภิมหาโครงการของรัฐที่วางแผนจะผันน้ำจากแม่น้ำโขง ลงสู่ลุ่มน้ำมูลและน้ำชี  ภายใต้  โครงการ โขง ชี มูล  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำมูนและชี  และลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงบางส่วน  กำหนดแผนพัฒนาโครงการนี้เป็น 3  ระยะ รวม 42  ปี ใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น  228,000  ล้านบาท 


 


เพียงแค่โครงการฯดำเนินการเสร็จระยะที่ 1  ( 2535 - 2543 ) ก็ได้ส่งผลเสียหายเป็นวงกว้าง คือส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม และได้ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะลุ่มน้ำมูล และ ลุ่มน้ำชี  อย่างประเมินค่าไม่ได้


 


เฉพาะลำน้ำชีนั้น โครงการฯ ได้ก่อสร้างฝายกั้นลำน้ำชีทั้งหมด   6 ฝาย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า โคตรฝาย เพราะมันมีขนาดไม่ต่างจาก เขื่อน แม้แต่น้อย  ประกอบด้วย ฝายชนบท จ.ขอนแก่น  ฝายวังยาง  ฝายคุยเชือก  .มหาสารคาม  ฝายร้อยเอ็ด  ฝายยโสธร-พนมไพร  ฝายธาตุน้อย  .ร้อยเอ็ด


           


ผลก็คือนับจากปี 2543 เป็นต้นมา ชาวบ้านลุ่มน้ำชีก็ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร  และที่อยู่อาศัย  รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ  5 ล้านกว่าไร่  ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2547  และปี 2548 กรมชลฯยอมเปิดเขื่อนน้ำชีทั้ง 6 แห่ง น้ำจึงไม่ท่วม 


 


ขณะที่การช่วยเหลือของภาครัฐที่ผ่านมา  เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการจ่ายค่าชดเชยในการทำนาไร่ละ  243 บาท ขณะที่ชาวบ้านบอกว่าลงทุนไปเฉลี่ยไร่ละ 1,000 กว่าบาท


 


นอกจากนี้ชาวบ้านยังต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดจาก การกู้เงินทั้งในและนอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายในครัวเรือน  เช่น ซ่อมแซมบ้าน   ถมที่  ยกบ้านขึ้นหนีน้ำ รายละ 3-5 หมื่นบาท  และต้องซื้อข้าวสารอาหารแห้ง  เครื่องใช้ที่จำเป็นอีกมากมาย รวมปีละหลายหมื่นบาทต่อครอบครัว 


 


ทองสุข    เจริญอาจ  พ่อเฒ่าแกนนำกลุ่มผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนกั้นน้ำชี  .บึงงาม  กิ่ง อ.ทุ่งเขาหลวง  .ร้อยเอ็ด  เล่าว่าปีแรก  ๆ ที่น้ำท่วม ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดจากสาเหตุใด  ซึ่งแต่เดิมก็เคยท่วมแต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์น้ำก็ลด  ข้าวไม่เสียหายแต่กลับเป็นผลดีด้วยซ้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำสระหัวข้าว  แต่พอหลายปีเข้าก็เริ่มรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมชาติของแม่น้ำชี  จึงเริ่มหาต้นตอปัญหาและมารู้ทีหลังว่าเกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีนั่นเอง  จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน


 


"หลังจากน้ำท่วมซ้ำซากติดต่อกันมา 5 ปี   วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ก็เปลี่ยนไป  จากชุมชนที่เคยอยู่กันอย่างพอเพียงก็ต้องติดหนี้สิน  กลายเป็นชาวนาล้มละลาย   การแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ผ่านมา ก็เป็นแบบผักชีโรยหน้า  เช่น ข้าราชการระดับกิ่งอำเภอลงมาแจก มาม่า ปลากระป๋อง  และข้าวสารอาหารแห้ง  พร้อมกับคำขวัญสวยหรู   แข่งเรือหาปลา  ซับน้ำตาน้ำท่วม  เสร็จแล้วพวกเขาก็จากไปทิ้งชาวบ้านทนทุกข์กันตามลำพังต่อไป "


 


ทองสุข  เสนอทางออกว่า  หากรัฐจริงใจที่จะแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านที่นี่   ต้องให้องค์กรชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิด ปิดเขื่อนกั้นน้ำชี  ซึ่งมติของชาวบ้านได้เสนอให้เปิดประตูเขื่อนในเดือน พฤษภาคม ถึง ตุลาคมของทุกปี  ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำหลาก  อย่างปีที่ผ่านมา (2548) กรมชลได้ทดลองเปิดตามคำร้องขอของชาวบ้าน ก็ปรากฏว่าน้ำไม่ท่วมเหมือน 5 ปีก่อน    จึงคิดว่าน่าจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดแล้ว  และจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำความสงบสุขกลับมาสู่ชุมชนลุ่มน้ำชีอีกครั้ง


 


ประภา    ทิวาภัทร   ชาวบ้านอี่โก่ม  .เทอดไท  กิ่ง อ.ทุ่งเขาหลวง  กล่าวเช่นเดียวกันว่า   นโยบายของจังหวัดที่ว่า  "น้ำมาจับปลาขาย  น้ำไปทำนาปรัง " ก็เป็นเพียงนโยบายที่เลื่อนลอยไม่เป็นจริง  เพราะเราเป็นชาวนา จะรู้สึกอุ่นใจได้ ก็ต่อเมื่อมีข้าวไว้ในเล้า   การจับปลาก็เพื่อมาทำกินในครัวเรือนเท่านั้น ไม่ได้จับเป็นอาชีพ  และที่สำคัญช่วงน้ำมาใหม่ ๆ ก็พอจับได้ แต่พอจับไปสักระยะจำนวนปลาก็ลดลง  ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร


 


ประภา กล่าวอีกว่า  การทำนาปรังก็สามารถทำได้เฉพาะคนที่มีที่นาอยู่ติดคลองส่งน้ำเท่านั้น  และต้องจ่ายค่าน้ำชั่วโมงละ  65 บาท อาทิตย์ละ  3 ชั่วโมง ติดต่อกันตลอด 3  เดือน  เพราะดินหน้าแล้งจะแห้งเร็ว   ปุ๋ยก็ต้องใส่ 2 เท่าของนาปี  ต้นทุนการผลิตสูงกว่านาปีสองเท่าหรือมากกว่า อย่างปีที่แล้วตนทำนาปรัง  15  ไร่  ลงทุนไป 30,000 กว่าบาท   ส่วนที่นาของใครที่คลองส่งน้ำไม่ผ่านก็ต้องลงทุนซื้อน้ำมันสูบน้ำเอง    และยิ่งปีนี้ราคาน้ำมันแพงขึ้นเป็น 2 เท่า  ดังนั้นต้นทุนการทำนาปรังก็ต้องสูงขึ้นตาม ขายข้าวแล้วบางรายแถบไม่เหลือกำไรเลย


 


ประภา  กล่าวทิ้งท้ายว่าปีที่ผ่านมา กรมชลประทานยอมเปิดประตูเขื่อนน้ำชีให้ในช่วงหน้าฝน ทำให้น้ำไม่ท่วม   แม้ว่าตนจะไม่ได้เกี่ยวข้าวนาปีเหมือนคนอื่น ๆ  เพราะไม่กล้าเสี่ยงลงทุน  แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องอพยพหนีน้ำขึ้นมาอยู่พนังกั้นน้ำ (คันไดร์) ต้องทนลำบากเบียดเสียดกันอยู่ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง การสัญจรไปมาก็ไม่สะดวก เป็นเวลาร่วม 3 เดือน  นึกภาพแล้วก็รู้สึกหดหู่  ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกเลย


 


ปีนี้ทางแกนนำกลุ่มผู้เดือดร้อนจึงต้องเร่งประสานกับเจ้าหน้าที่เปิดปิดเขื่อนแต่เนิ่น ๆ โดยวันที่ 4 มิถุนายนนี้  จะเดินทางลงพื้นที่ไปสำรวจดูว่าประตูเขื่อนกั้นน้ำชีทั้งหมดถูกเปิดขึ้นตามข้อตกลงหรือยัง


 


จนซ้ำซาก


 


คำบอกเล่าของชาวบ้านที่ได้ยินคงเป็นเพียงคำบ่นและขาดน้ำหนัก  หากไร้ซึ่งข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุน ดังนั้น  ภาควิชาการเมืองการปกครอง  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ร่วมกับ เครือข่ายลุ่มน้ำชี จึงได้นำนักศึกษาลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำการศึกษาและวิจัยเรื่อง " ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเชิงเปรียบเทียบเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2543 - 2547 " ซึ่งพื้นที่เป้าหมายที่ลงไปประกอบด้วย บ.โนนราษี  .นาแพง  .ดอนแก้ว  .นางาม  .ท่าค้อ  .บึงงาม จ.ร้อยเอ็ด และ บ.ท่าเยี่ยม ต.ค้อเหนือ อ.เมือง  .ยโสธร  รวมทั้งสิ้น 294 ครัวเรือน


 


งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมนับตั้งแต่ปี  2543 - 2547 จำนวน 287 หลังคาเรือน ไม่ได้รับผลกระทบเพียง 3 หลังคาเรือน  เนื่องจากมีอาชีพรับราชการและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ   และมี 8 หลังคาที่ได้รับผลกระทบถึงขั้นเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว


 


งานวิจัยระบุต่อไปว่า  เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม  ชาวบ้านนอกจากจะไม่สามารถสร้างรายได้จากการทำนาแล้วยังต้องประสบกับปัญหาการขาดทุนเนื่องจากลงทุนทำนาแล้วไม่ได้ผลผลิตจากสาเหตุน้ำท่วมนาข้าวเสียหายเฉลี่ย 16,800 บาท / ปี คิดรวมทั้ง 6 หมู่บ้านเป็นเงิน 4.82 ล้านบาท / ปี


 


นอกจากนี้ชาวบ้านต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้นรวม  6 หมู่บ้านเป็นเงิน 13.24 ล้านบาทเฉลี่ยครอบครัวละ 45,034  บาท / ปี ยังไม่รวมดอกเบี้ย  แบ่งเป็นหนี้ ธกส. 5.15 ล้านบาท หนี้กองทุนหมู่บ้าน 5.67 ล้านบาท หนี้นอกระบบ 1.30 ล้านบาท และหนี้อื่น ๆ อีก 1.18 ล้านบาท


 


พร้อมกันนี้ รัฐต้องสูญเสียงบประมาณค่าตอบแทนน้ำท่วมให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม  โดยได้ดำเนินการจ่ายในปี 2545 - 2546 ในอัตราไร่ละ 243 บาท ครอบคลุมพื้นที่ทำกินจำนวน 4,614 ไร่  โดย 2 ปีที่รัฐจ่ายไปแล้วรวมเป็นเงิน 2.24 ล้านบาท หรือ 1.12 ล้านบาท/ปี


 


การแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมาในรอบ 5 ปีแรก (2543 - 2547) รัฐได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น การมอบพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกรผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัด การแจกถุงยังชีพผ่าน ส.. และ ส..  และการจ่ายค่าตอบแทนน้ำท่วมให้กับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านร้อยละ 52  เห็นว่าความช่วยเหลือของรัฐบาลอยู่ในระดับที่น้อยมาก  ร้อยละ 25.5  เห็นว่าความช่วยเหลือของรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ และร้อยละ 20.5 เห็นว่า ความช่วยเหลือของรัฐแก้ปัญหาได้ระดับปานกลาง ( ปี 2548-ปัจจุบัน ยังไม่ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม)


 


บุญทอง  สะดวก  กล่าวว่า   ปัญหาน้ำท่วม พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านลุ่มน้ำชีที่ได้ขยายวงกว้างและท่วมนาน 3-4 เดือนนั้น  ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแน่นอน  แต่เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีทำให้น้ำไม่ไหลเวียนตามธรรมชาติ   เพียงแค่สิ้นสุดระยะแรกของโครงการก็เริ่มสร้างผลกระทบมากมายเพียงนี้  อยากถามหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการโขง  ชี  มูล ว่า ยังจะดำเนินโครงการต่อไปอีกไหม   เพราะหากยังฝืนเดินหน้าต่อ ตนไม่อยากคิดเลยว่าปัญหาที่จะตามมาอีกมีอะไรบ้าง  


 


"โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นรัฐพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเลย   แต่กลับจะเดินหน้าโครงการใหม่มาอีกที่เรียกว่า เมกะโปรเจกต์   โดยเฉพาะด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ  25 ลุ่มน้ำหลักที่ใช้งบประมาณสูงถึง  200,000 ล้านบาท เท่าๆกับ โครงการ โขง  ชี  มูล  ซึ่งการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของภาครัฐนั้น  ตนไม่เห็นด้วยเลย มันเหมือนกับภาษิตที่ว่า  ความวัวยังไม่หายความควายก็เข้ามาแทรก  คือปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐก็จะสร้างปัญหาใหม่ให้กับชาวบ้านอีกแล้ว "


 


บุญทอง  จึงได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ดังนี้ 1. หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเปิดเขื่อนในแม่น้ำชีทั้ง 6 จุด ตั้งแต่เดือน พฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี   2. รัฐต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้าน 2 ฝั่งพร้อมกับฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำชีด้วย   3. เมกะโปรเจกต์ด้านน้ำควรระงับไว้ก่อน  แล้วหันกลับไปทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว ว่าได้สร้างผลกระทบอะไรบ้างกับชุมชน   จากนั้นจึงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม   4.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกอย่าง  ก่อนที่รัฐจะดำเนินโครงการต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างจริงจัง          


 


ด้าน กมล   เปี่ยมไพศาล  ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานเขต 6  กล่าวว่า เรื่องที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสร้างฝายของโครงการโขง ชี มูล  ตนได้นำปัญหานี้เสนอในที่ประชุมไปหลายครั้งแล้ว  ถามที่ประชุมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะเอาอย่างไร  ผลกระทบมันชัดเจนอยู่แล้วต้องรีบแก้ไขสงสารชาวบ้าน   แต่มันมาติดอยู่กับสัญญาเดิมที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ( เจ้าของโครงการเดิม ) เขาทำสัญญากับบริษัทที่รับศึกษาผลกระทบจากการสร้างฝาย  ซึ่งสัญญานี้ตนก็ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่เพราะโครงสร้างหน่วยงานราชการมันซับซ้อนมาก 


 


"ความจริงกรมชลประทานเป็นคนมารับช่วงต่อจาก กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ  พอน้ำท่วมพวกเราก็ถูกประณาม  อยากฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรผู้เดือดร้อนว่า กรมชลเราไม่ได้นิ่งนอนใจ   เท่าที่รู้มา  ปัญหานี้ได้ถูกบรรจุเข้าแผนงานแล้ว  ต้องเข้าใจว่าระบบราชการมันช้า แต่ก็ยืนยันว่าเราต้องแก้ปัญหาให้พวกท่านแน่นอน  เพราะถ้าไม่ทำเราเองก็เสียหน้า  ดังนั้นพวกเราต้องสู้แทนพวกท่านอยู่แล้ว"


 


ผู้อำนวยการ สนง.ชลประทาน เขต 6   แย้มข้อมูลให้ฟังอีกว่า  ความจริงกรมชลประทานก็มีฐานะเป็นเพียงผู้ใช้น้ำชีเหมือนกับเกษตรกรทั่วไปคือการสูบน้ำจากแม่น้ำชีเข้าไปยังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ชลประทานในช่วงหน้าแล้ง  ดังนั้นประตูเขื่อนมีหน้าที่เพียงการทดน้ำในหน้าแล้งเพื่อสูบเข้าคลองส่งน้ำ  แต่คนเข้าใจว่าประตูเขื่อนต้องปิดตลอดซึ่งไม่ใช่  แต่เป็นความพยายามของคนบางกลุ่มเช่นกลุ่มที่ทำประม  และกลุ่มที่เลี้ยงปลากระชัง ที่พยายามเรียกร้องให้ปิดเขื่อนตลอดทั้งปีเพื่อจะได้จับปลาขาย  ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อย


 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระแสน้ำที่นี่ไม่เชี่ยวกราดเหมือนน้ำภูเขา  แต่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  หนี้สินก้อนเล็กก็ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น ไม่ต่างจากเนื้อร้ายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็ย่อมมีวันคร่าชีวิตของคนได้เหมือนกัน  หากหน่วยงานที่รับผิดชอบโยนกันไปมาอยู่อย่างนี้ แล้วปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังไปเรื่อย ๆ ถามว่า ชาวบ้านจะต้องเผชิญเคราะห์กรรมที่เขาไม่ได้ก่อไปอีกนานเท่าไหร่


 


มนูญ มุ่งชู


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net