เปิดรายงาน กอส.: เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ "บทสรุปสำหรับผู้บริหาร"

หมายเหตุ- เนื้อหาดังกล่าวเป็นสรุปของรายงานส่งท้ายการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อแนวทางการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ บทสรุปสำหรับผู้บริหาร"

 

 

เป้าหมายของกอส.

1. มุ่งหาหนทางให้ผู้คนส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมและส่วนน้อยที่เป็นพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อยู่ในสังคมการเมืองไทยอย่างพลเมืองไทยที่มีความสุขตามสมควร

2.มุ่งหาหนทางให้ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าใจเหตุอันซับซ้อนซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ร้อนของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

3.มุ่งคิดถึงการสร้างอนาคตที่มีผู้คนซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข

 

วินิจฉัยเหตุของปัญหา ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นจากเงื่อนไข 3 ประการคือ

1. เงื่อนไขเชิงบุคคล ได้แก่ การใช้อำนาจทางการปกครองในพื้นที่ผิดเหมือนไม่มีขอบเขต การใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและการตอบโต้ของฝ่ายรัฐด้วยความรุนแรง

 

2. เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง ได้แก่

 (1) ความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากระบวนการยุติธรรมและลักษณะการปกครองที่เป็นอยู่

 (2) เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เข้มแข็ง มีคนจนจำนวนมากขณะที่ปัญหาทรัพยากรกำลังผลักชาวบ้านเข้าสู่ความยากจน และไม่มีทางเลือก

(3) การศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนส่วนใหญ่มีพลังเอาชนะการท้าทายทางสังคมในรูปต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม

(4) ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ขณะที่ประชากรส่วนน้อยที่เป็นชาวพุทธลดลงอย่างต่อเนื่อง

(5) ปัญหาเกิดขึ้นในบริบทภูมิรัฐศาสตร์บริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยและมาเลเซีย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างสองประเทศอย่างแจ่มชัด

 

3.เงื่อนไขทางวัฒนธรรม ได้แก่ลักษณะเฉพาะทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพื้นที่ คือ ศาสนาอิสลาม ภาษามลายู และประวัติศาสตร์ปัตตานี สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในสังคมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงหรือทำให้ผู้คนไม่ยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาศัยเงื่อนไขเหล่านี้นี้อ้างความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนในนามของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม

 

แนวโน้มในอนาคต

ถ้าเงื่อนไขต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลง อาจประเมินแนวโน้มในอนาคต จากข้อมูลความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปี 2547 ถึงสิ้นปี 2548 ได้ดังนี้

 

 1.แม้ในช่วงปลายปี 2548 จำนวนเหตุการณ์รุนแรงจะลดลงบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังไม่เห็นแนวโน้มที่ว่าความรุนแรงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

2. การใช้ระเบิดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มในครึ่งปีหลังของปี 2548 พบว่า มีการใช้ระเบิดสร้างความรุนแรงมากขึ้นกว่าการลอบวางเพลิงเช่นที่เคยเป็นมา

 

3. ชาวบ้านทั่วไปตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

 

4. ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

 

5. ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่ไว้วางใจในรัฐเพราะไม่แน่ใจว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ของรัฐมากน้อยเพียงไร

 

6. สถาบันทางวัฒนธรรมที่ผูกร้อยผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกันอ่อนกำลังลง และเปลี่ยนเป็นคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันแต่ต่างกัน ให้กลายเป็นคนแปลกหน้า หรือกระทั่งเป็นศตรูกัน ลิ่มแห่งความแตกแยกนี้ทำให้ผู้คนผูกติดอยู่กับการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นผลโดยตรงของความกลัวและความหวาดระแวงต่อกัน

           

สภาพเช่นนี้เองที่ทำให้การเลือกใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหานอกจากจะเป็นแนวทางที่ผิดแล้ว ยังจะทำให้สถานการณ์ข้างหน้าเลวร้ายลง ดังนั้นทางออกของสังคมไทยเพื่อหยุดยั้งแนวโน้มอันตรายในอนาคตจึงจำเป็นต้องหันมาหาแนวทางการสมานฉันท์ซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้

 

มาตรการสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง

 

มาตรการการเมืองสมานฉันท์

กอส. เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้(พ.ร.บ.ดับไฟใต้) เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง เสริมสร้างสันติสุขและสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างยั่งยืน

 

กอส. เห็นว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสำเร็จได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากกลไกที่อำนวยให้ยุทธศาสตร์ของรัฐในพื้นที่เป็นเอกภาพ และอีกส่วนมาจากกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่มีกลไกทั้งสอง หรือหากมีก็ไม่เข้มแข็งเพียงพอ ดังนั้น จึงเสนอให้ออกพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ร.บ.ดับไฟใต้) เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา

 

พระราชบัญญัติ ควรบัญญัติการตั้งองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 องค์กรดังนี้

 

1.ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยศ.) มีหน้าที่


  • ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และการแก้ปัญหาในหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ในหมู่ประชาชนในพื้นที่ ในสังคมไทยทั้งหมดและในประชาคมโลก

  • สร้างความเป็นเอกภาพในยุทธศาสตร์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในระดับนโยบาย ระดับบังคับบัญชา และระดับปฏิบัติการ

  • เสนอแนะโยกย้ายข้าราชการที่ไม่ดีไร้ประสิทธิภาพออกจากพื้นที่

  • ส่งเสริมการพัฒนาระบบและกระบวนการความยุติธรรมเพื่อสันติสุขและสมนาฉันท์ในพื้นที่

  • ระงับยับยั้งหารหระทำหรือนโยบายจากหน่วยราชการต่างๆ ที่ขัดยุทธศาสตร์ ศยศ. รวมทั้งมีอำนาจรายงานการกระทำดังกล่าวแก่รัฐบาล

  • ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษา พัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนธรรม และ เศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการกระจาอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

  • ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกภาคประชาชนที่จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ในการวางแผนการพัฒนา และในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรับธรรมนูญตามมาตรา 76

 

2. สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สภานี้จะไม่เป็นสภาที่ใช้อำนาจราชการหรืออำนาจบริหารอื่นใด แต่เป็นสภาที่ส่งเสริมกระบวนการการสร้างความรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การสร้างความยุติธรรม การพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมศาสนา และเศรษฐกิจพอเพียง

 

3.กองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์

ควรจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นองค์กรที่เป็นกฎหมายรองรับและรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนมากพอสมควร ให้มีคณะกรรมการบริหารหน่วยงานที่เป็นอิสระด้วย

 

มาตรการสมานฉันท์เฉพาะหน้า

1. เสนอให้กองทัพไทยจัดตั้งหน่วยสันติเสนา ซึ่งเป็นกองกำลังพิเศษผสมระหว่าง พลเรือน ทหาร ตำรวจ ไม่ติดอาวุธ ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้ว ลุกลามกลายเป็นควมรุนแรง

2. ให้รัฐเลือกใช้วิธีสานเสวนากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและสร้างความเป็นเอกภาพในนโยบายความมั่นคง

3. เสนอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยคัดเลือกข้าราชการที่สุจริตและมีความเข้าใจลักษณะเฉพาะหน้าของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปปฏิบัติราชการในพื้นที่แทน

 

 

มาตรการสมานฉันท์ยั่งยืน

1.กอส.เสนอให้มีการปฏิรูประบบการจัดการและระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ให้ชุมชนท้องถิ่นทีสิทธิมีส่วนอย่างเป็นระบบ

 

2.แก้ปัญหาการว่างงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้งภาครัฐและเอกชานช่วยกันคิดหาหนทางให้สอดคล้องกับความต้องการประชาชนในพื้นที่

3.สร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ด้วยความจริง-หลักนิติธรรม-ความรับผิดชอบและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม โดย สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมด้วยการสร้างความเป็นเอกภาพของการกำหนดนโยบายการบริหารงานยุติธรรมแบบบูรราการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งต้องปรับทัศนคติและวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการบวนการยุติธรรม รวมถึงเสริมสร้างบทบาทภาคประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก

 

4.ปรับปรุงระบบกฎหมายอิสลามในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพิจารณาใช่ระบบศาล ชารีอะ ในบางพื้นที่

 

 

5.แก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและความโปร่งใสชัดเจนใน

เรื่องการบริหารจัดการ

 

6.คงสภาพความหลากหลายในระบบการศึกษา เพื่อประสิทธิภาพการศึกษาสามัญและให้ความสำคัญกับนักเรียนไทยในต่างประเทศ

 

7.ส่งเสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นแนวทางในหลักนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

8.ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในขอบเขตทั่วประเทศ

 

9.ส่งเสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในการเผชิญกับความขัดแย้งทั้งประเทศ

 

10.ให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานเพิ่มเติมอีกภาษาหนึ่งในในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดอุปสรรคการติดต่อระหว่างประชาชนกับทางราชการ

 

11.จัดให้มีสานเสวนาเพื่อความสมานฉันท์

 

12.สร้างภูมิคุมกันทางวัฒนธรรมต่อต้านความรุนแรง ด้วยการเพิ่มความทนกันได้หรือ " ขันติธรรม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท