กอส.ทิ้งทวนสุดท้ายเพื่อดับไฟใต้ 3 เล่ม ใช้ไม่ใช้ ให้รัฐตัดสิน


ภาพจากศูนย์ข่าวอิศรา

 

ประชาไท - 6 มิ.ย. 49       วันที่ 5 มิ.ย. คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ยื่นข้อสรุปการทำงานทั้งหมดต่อรัฐบาล จากนั้นเวลา 11.00 น. มีการประชุมครั้งสุดท้ายที่กระทรวงการต่างประเทศ

 

เวลาประมาณ 13.30 น. นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. แถลงยุติบทบาทของ กอส.โดยกล่าวว่า ต่อไปนี้ กอส.จะหมดสภาพการเป็นคณะกรรมการ ส่วนใครจะทำต่อไปก็ด้วยใจรัก ด้วยความอิสระ โดยหวังว่าเอกสารของ กอส.ที่ทำขึ้นจะเป็นการปูพื้นฐานให้เกิดการสร้างความเข้าใจกันระหว่างประชาชนทั้งประเทศ

 

กอส.มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.48 มีคณะกรรมการทั้งหมดจำนวน 50 คน ที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ทั้งภาคประชาสังคมซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ ตัวแทนรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงของประเทศ ตัวแทนจากพรรคการเมือง นักวิชาการ และคนในพื้นที่ จากการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวได้จัดทำข้อสรุปเป็นรายงานจากฉันทามติของคณะกรรมการทั้งหมดจำนวน 3 เล่ม

 

รายงานเล่มแรกชื่อ "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" เป็นเนื้อหาทั้งหมดของการทำงาน เล่มที่สองชื่อ "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ : บทสรุปสำหรับผู้บริหาร" เป็นบทสรุปโดยย่อต่อฝ่ายบริหารประเทศ ส่วนเล่มสุดท้ายคือ "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ : ข้อเสนอ กอส.ต่อรัฐบาล (ระหว่างเมษายน - กันยายน 2548)" เป็นมาตรการที่เคยเสนอต่อรัฐบาลระหว่างการทำงานทั้งหมด

 

นายอานันท์กล่าวว่า ได้ส่งบทสรุปทั้ง 3 เล่มต่อนายกรัฐมนตรีในช่วงเช้า จากนั้นจะมอบรายงานทั้งหมดต่อประชาชน โดยผ่านการจัดพิมพ์จำนวนหลายพันเล่ม เตรียมส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ภาคประชาชน และห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ศึกษาและนำมาสู่การจัดเสวนาหรือการเขียนบทความต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ

 

"สื่อมีความสำคัญที่จะทำให้สังคมเข้าใจ โดยจัดรายการให้เกิดการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะการที่รัฐจะเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ก็อยู่ที่ประชาชนเห็นอย่างไร " นายอานันท์กล่าว

 

นายอานันท์ยังกล่าวอีกว่า ต่อไปนี้รัฐบาลคือผู้ตัดสินใจว่า จะรับข้อเสนอของ กอส.ไปปฏิบัติหรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมา ข้อเสนอต่างๆ ของ กอส. รัฐบาลก็รับบ้างไม่รับบ้าง บางทีรับไปแต่ก็ปรับเปลี่ยนบ้าง ทำให้ข้อเสนอของ กอส.ผิดประเด็นไป

 

เมื่อสื่อมวลชนถามถึงแนวโน้มของสถานการณ์ที่รายงานของ กอส.คาดการณ์ว่ากำลังรุนแรงขึ้นนั้นมาจากฐานคิดอย่างไร นายอานันท์ตอบว่า

 

"หน้าที่ กอส.เป็นเพียงให้ข้อคิดเห็นแนวโน้มในอนาคตทั้งที่รัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ดูเหมือนทุกอย่างเรียบร้อย ส่วนตัวผมคิดว่า แนวโน้มในอนาคตของเราจะผิด เป็นเพียงการคาดคะเนมากกว่า เพราะฉะนั้นตรงนี้ควรไปถามรัฐบาล เพราะมีทั้งหน่วยข่าวกรอง ทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่"

 

นอกจากนี้นายอานันท์ ยังได้กล่าวถึงเนื้อหาของรายงานโดยสรุปว่า รายงาน กอส.พูดถึงปัญหาขั้นพื้นฐาน เช่น เรื่องความยากจน วิธีการพัฒนาประเทศ คนตกงาน การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ กระบวนการยุติธรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ แต่ในพื้นที่ภาคใต้มีลักษณะพิเศษคือมีเรื่องศาสนาและเชื้อชาติ อย่างไรก็ตามปัญหาในภาคใต้ไม่ใช่เรื่องศาสนาและเรื่องการแยกดินแดน

 

แต่ยอมรับว่ากระบวนการแยกดินแดนมีจริงแต่มีน้อย เป็นเพียงองค์ประกอบของความรุนแรงรวมทั้งเรื่องศาสนาด้วย ในระยะยาว กอส.มั่นใจว่าสามารถแก้ไขได้ แต่สังคมไทยต้องเรียนรู้และเข้าใจปัญหา ส่วนในระยะสั้นอยู่ที่รัฐบาลนี้ว่ามีท่าทีอย่างไรกับข้อเสนอของ กอส.คือจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือไม่

 

ด้าน นายแพทย์ประเวศ วะสี รองประธาน กอส.กล่าวถึงข้อสรุป กอส. ที่เสนอต่อรัฐบาลว่า เป็นการประมวลความรู้ต่อสถานการณ์ภาคใต้อย่างสมบูรณ์ที่สุดเป็นครั้งแรกและเป็นระบบ การศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาวต่อไป

 

ในรายงานมีทั้งข้อเสนอแนะที่ทำได้เลยและในส่วนที่เห็นว่าควรมีการออกเป็นกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกสั้นๆว่า พ.ร.บ.ดับไฟใต้ เพราะเมื่อเป็นกฎหมายจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน ทำให้ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการคิด

 

โครงสร้างของ พ.ร.บ.ดับไฟใต้ จะมีส่วนที่เป็นองค์กรยุทธศาสตร์เรียกว่า ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขชายแดนภาคใต้ (ศยส.) แนวคิดนี้มาจากปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลขาดเอกภาพในยุทธศาสตร์ ประเด็นสำคัญของ ศยส.คือมีส่วนในการเสนอย้ายข้าราชการที่ไม่ดีด้วย

 

"เดิมทีมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งทำงานค่อนข้างได้ผล มีหลายฝ่ายเข้าไปดูแลไม่ให้มีการอุ้มฆ่า แต่รัฐบาลชุดนี้ได้รับข้อเสนอจากราชการบางหน่วยให้ยุบ ศอ.บต.ทำให้มีการอุ้มฆ่าเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อรัฐบาลเป็นคนยุบหน่วยงานดังกล่าว การไปเสนอให้ตั้งขึ้นใหม่ก็คงมีทิฐิ กลัวเสียหน้า จึงเสนอให้ตั้งหน่วย ศยส. ที่คิดว่าน่าจะดีขึ้นกว่าหน่วยงานเดิม" รองประธาน กอส.กล่าว

 

ในส่วนที่สองของ พ.ร.บ.ดับไฟใต้ คือให้มีสภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนในการดูแลตัวเองเพื่อให้การพัฒนาต่างๆ สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจพอเพียง

 

ส่วนสุดท้ายคือการมีกองทุนเยียวยาสมานฉันท์ โดยคงกองทุนเดิมที่ นายอานันท์ ปันยารชุนได้รับบริจาคมา 76 ล้านบาท เพื่อเยียวยาเหยื่อจากความรุนแรงในภาคใต้ ถึงขณะนี้ใช้ไปแล้วกว่า 30 ล้านบาทในการช่วยเด็กกำพร้าและแม่หม้าย กองทุนนี้จะใช้ในการเยียวยาในฐานะเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดโดยไม่คำนึงว่าเป็น ศาสนาใด เชื้อชาติใด เป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่

 

นายพิภพ ธงไชย ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารกับสังคม กอส. กล่าวเสริมว่า ได้ลงไปฟังความเห็นจากในพื้นที่มีต่อข้อเสนอ กอส.มาแล้ว 2 ครั้ง คือจากกลุ่มติดตามปัญหาไฟใต้ และจากประชาชนในจังหวัดปัตตานี ต่อไปจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอต่อพื้นที่อื่นๆ ในประเทศด้วย

 

เพราะปัจจุบันกำลังมีกระแสการปฏิรูปการเมือง ดังนั้นจะปฏิรูปอย่างไรให้เกี่ยวข้องและสอดคล้องไปกับข้อเสนอของ กอส.ด้วย โดยข้อวิจารณ์ต่างๆ ต่อข้อเสนอ กอส. นี้จะนำไปประมวลเป็นเล่มเพื่อเป็นข้อเสนอในการเคลื่อนสังคมและการปฏิรูปการเมือง

 

"ส่วนนี้อนุกรรมการสื่อสารกับสังคมคงรับช่วงต่อ โดยไปนำเสนอต่อภาคประชาชน นักวิชาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองและสื่อมวลชนเพื่อกระตุ้นให้สังคมสนใจ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นข้อเสนอสู่การปฏิรูปการเมือง เป็นการทำงานที่ต่อเนื่องจาก กอส. ข้อเสนอที่ได้นี้จะเสนอต่อนายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส.อีกครั้ง ว่าจะส่งต่อให้รัฐบาลในนาม กอส. ได้หรือไม่ คงต้องคุยกันอีกครั้ง เพราะกอส.ได้ยุติบทบาทไปแล้ว "

 

ส่วน นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการงานวิจัย กอส.กล่าวถึงข้อเสนออีกประการของ กอส.ที่ให้มีการจัดตั้งหน่วยสันติเสนาว่า จากการคาดการว่าจะมีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐเกิดขึ้น เช่น การจับตัวประกัน ซึ่ง กอส.มองว่า ชุมชนมีความเข้มแข็งเพียงใด จึงเห็นว่าควรจะมีหน่วยงานเฉพาะไม่ให้ความเข้มแข็งนั้นเปลี่ยนเป็นความรุนแรง โดยหน่วยสันติเสนาที่ตั้งขึ้นจะเป็นหน่วยผสมผสานที่มีการฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าว แต่ไม่ใช่กองทัพติดอาวุธ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท