เปิดสุสานหาดใหญ่พิสูจน์ศพนิรนามชายแดนใต้

ภาคใต้ - "กรรมการสิทธิฯ" จับมือ "หมอพรทิพย์" ลุยสุสานปัตตานี เตรียมตรวจพิสูจน์ 300 ศพนิรนาม เผยกรกฎาฯ นี้ ขุดทุกศพย้ายไปสุสานบ้านพรุ หาดใหญ่ ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ชำแหละลายดีเอ็นเอ หาตัวผู้สูญหายชายแดนใต้ "อุกฤษ" ประกาศสานงานศูนย์นิติธรรมชายแดนใต้ ต่อจาก "กอส." พร้อมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมุสลิมใต้

 

"หมอพรทิพย์"ลุยสุสานจีนปัตตานี

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2549 คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังสุสานตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี สถานที่ฝังศพไม่มีญาติ มีนายดำรงค์ สิงค์โตทอง เลขานุการมูลนิธิท่งเต็กเซี่ยงตึ่ง รายงานข้อมูลและชี้บริเวณที่ฝังศพ 299 ศพ

 

คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ตนและคณะลงมาสำรวจพื้นที่และรับทราบสถานการณ์จริง เพื่อเตรียมการตรวจพิสูจน์ศพนิรนาม คาดว่าจะขุดศพขึ้นมาพิสูจน์ได้ ภายในเดือนกรกฏาคม 2549 ตอนนี้ยังไม่ขุด ต้องวางแผนก่อนว่าจะทำอย่างไร ศพส่วนใหญ่เป็นลูกเรือประมงลอยมากับน้ำ เป็นใครบ้างยังไม่ทราบแน่ชัด

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ต้องรอให้พร้อมทุกจุด จุดที่สำคัญที่สุด คือ จุดรองรับศพที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพราะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติยืนยันว่า ไม่เหมาะเพราะมีความชื้นสูง รวมถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย ถ้ามีการจัดระบบที่ดี อาจจะเจอคนหายก็ได้ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีความไว้วางใจรัฐมากขึ้น

 

นายดำรงค์ สิงค์โตทอง เลขานุการมูลนิธิท่งเต็กเซี่ยงตึ่ง เปิดเผยว่า จำนวนศพนิรนามที่มูลนิธิท่งเต็กเซี่ยงตึ่งจัดการฝัง ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2547 - วันที่ 28 พฤษภาคม 2549 มีทั้งสิ้น 299 ศพ แยกเป็นศพนิรนาม ปี 2547 จำนวน 79 ศพ ปี 2548 จำนวน 163 ศพ ปี 2549 จำนวน 53 ศพ ทั้งหมดเป็นศพต่างด้าวไม่ใช่ศพมุสลิม ก่อนที่จะฝังศพนิรนาม จะตรวจสอบเบื้องต้นใน 5 ลักษณะ คือ อวัยวะเพศ รอยสัก ใบหน้าหนวดเครา การแต่งกาย และเครื่องประดับ ถ้าพบเป็นศพมุสลิมจะมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ดำเนินการ

 

"กสม.-หมอพรทิพย์"ร่วมพิสูจน์ศพนิรนาม

เวลา 11.00 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี จังหวัดปัตตานี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แถลงถึงการติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ใกล้เคียง

 

นายวสันต์ พาณิชย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า เดิมทีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมมือคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ตั้งศูนย์นิติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดใกล้เคียง ได้มีโอกาสร้องเรียนกับศูนย์นิติธรรมฯ รวมทั้งกรณีบุคคลสูญหายด้วย

 

นายวสันต์ แถลงต่อไปว่า นอกจากนี้ กรรมการสิทธิสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาติดตามการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิม พร้อมกับผลักดันให้กระทรวงยุติธรรม จัดตั้งศูนย์ติดตามผู้สูญหายและพิสูจน์ศพนิรนาม โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิและสุสานทั่วประเทศ ในการพิสูจน์ศพนิรนาม และให้ความเป็นธรรมกับญาติผู้สูญหาย

 

"ขณะนี้เราได้รับแจ้งว่า ศพนิรนามที่ถูกฝังอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแรงงานต่างด้าว เราจะประสานไปยังสถานทูตของประเทศนั้นๆ เช่น พม่า กัมพูชา และลาว ให้เข้ามาตรวจสอบ ขณะที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สามารถมาแจ้งบุคคลสูญหายได้ ที่ศูนย์นิติธรรมฯ และศูนย์ติดตามบุคคลสูญหายและพิสูจน์ศพนิรนามได้" นายวสันต์ กล่าว

 

นายสัก กอแสงเรือง ประธานคณะอนุกรรมการติดตามผู้สูญหาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า การติดตามบุคคลสูญหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม ไทยยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลบุคคลสูญหายและพิสูจน์ศพนิรนามอย่างเป็นระบบ ศพนิรนามควรได้รับการพิสูจน์ เพราะต้องตอบคำถามประชาคมโลกว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนต่างด้าว รัฐบาลไทยต้องทำให้เกิดความกระจ่าง มีหลายครั้งที่ไทยถูกตั้งคำถามจากองค์กรนานาชาติ รวมทั้งสหประชาชาติ ถึงกรณีบุคคลสูญหาย แต่ไทยยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ ได้ กรณีนายสมชายหายไป 2 ปีเศษ รัฐบาลยังไม่มีคำตอบให้กับครอบครัวและสังคม ให้คลายความสงสัยได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต้องลุกขึ้นมา และร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ด้าน นายมานิต สุธาพร ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การเสนอตั้งศูนย์ติดตามผู้สูญหายและพิสูจน์ศพนิรนาม เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับกระทรวงยุติธรรม เมื่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผลักดันขึ้นมา จึงเป็นเรื่องที่บรรจบกันพอดี เพราะถ้ายังไม่สามารถพิสูจน์ศพนิรนามได้ กระบวนการยุติธรรมก็จะบกพร่อง

 

คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ แถลงว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับแจ้งคนหาย 30 ราย ได้เก็บ DNA ของญาติผู้สูญหายเอาไว้แล้ว ส่วนศพนิรนามที่พบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ฝังอยู่ในกุโบร์ และส่วนที่อยู่ในสุสานของมูลนิธิต่างๆ บางกรณีไม่ได้แจ้งสถานีตำรวจ จึงต้องประสานกับมูลนิธิ หรือกุโบร์ ที่รับศพมาฝัง เมื่อเจอศพแล้วหากไม่ทราบชื่อ จะต้องแยกเพศ นำไปตรวจสอบอย่างละเอียดตามขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง ศพนิรนามที่ฝังอยู่ในกุโบร์ทั้ง 3 จังหวัด มีประมาณ 10 - 20 ศพ ที่เหลืออยู่ในสุสานจีนที่จังหวัดนราธิวาส 30 ศพ ส่วนจังหวัดยะลา ถึงแม้จะไม่มีมูลนิธิ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีศพนิรนาม

 

คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ แถลงต่อไปว่า ส่วนที่จังหวัดปัตตานี มีการล้างป่าช้าครั้งล่าสุด เมื่อปี 2544 ข้อมูลเมื่อต้นปี 2547 พบว่า มีศพนิรนามประมาณ 300 ศพ ส่วนที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน จะอยู่ในช่วงปี 2547 - 2548 สำหรับศพที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นลูกเรือประมงลอยน้ำมา ทางมูลนิธิฯ ได้แยกฝังเป็นหลุมๆ ส่วนนี้จะขุดขึ้นมาแพ็กให้เป็นระบบ เพื่อนำกระดูกไปหาสาเหตุการตาย โดยนำศพใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไปตรวจสอบที่สุสานบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจะเดินทางมาถึงในเดือนกรกฎาคม 2549 จากนั้น จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ขุดศพขึ้นมาพิสูจน์

 

"เราได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกาว่า จังหวัดปัตตานีมีความชื้นสูง ต้องนำชิ้นส่วนกระดูกไปทำการตรวจสอบที่อำเภอหาดใหญ่ ตรงนี้เราไม่เคยมีองค์ความรู้มาก่อน จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกามาให้คำแนะนำ" คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ กล่าว

 

นายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้ได้มีการร้องเรียนจากญาติของ นายแวหะเล็ม กูแวกาแม อายุ 30 ปีเศษ อาชีพเป็นช่างก่อสร้าง อยู่บ้านบาตะปาเซ หมู่ที่ 6 ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส หายตัวไป เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 บนถนนในหมู่บ้านบาตะปาเซ หมู่ที่ 6 ตำบลบูกิต โดยญาติได้เข้าร้องเรียนให้ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วยติดตามหาตัว

 

หลังจากการแถลงข่าวเสร็จสิ้นลง มีประชาชนประมาณ 15 คน อ้างเป็นตัวแทนชาวจังหวัดปัตตานี นำโดยนายภูเบศร์ จันทนิมิ อดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี และเคยสมัครรับเลืกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคไทยรักไทย เข้ายื่นหนังสือกับนายสัก กอแสงเรือง ประธานอนุกรรมการติดตามผู้สูญหายฯ ไม่เห็นด้วยที่จะพิสูจน์ศพไร้ญาติ โดยเกี่ยวโยงกับประเด็นการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจะทำให้จังหวัดปัตตานี เสียภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

 

"อุกฤษ"รับสานต่อศูนย์นิติธรรมฯ

เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอยส.) เป็นประธานการสัมมนา "บทบาทของปัญญาชนมุสลิมในการสร้างความเป็นธรรม และการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม" โดยมีกลุ่มปัญญาชนมุสลิม ผู้นำศาสนา 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วม 150 คน

 

ดร.อุกฤษ กล่าวต่อที่สัมมนาว่า คณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยังคงให้ความสำคัญด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยจะจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยา การแก้ไขเรื่องคดีความ โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว เช่น สภาทนายความ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้

 

"กูจิงลือปะ" เปิดเรียนแล้ว

เวลา 07.30 น. วันเดียวกัน ที่โรงเรียนกูจิงลือปะ หมู่ที่ 4 ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีเด็กนักเรียนชาย - หญิงทยอยเดินทางมายังโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ทีร่จะเปิดการเรียนการสอนเป็นวันแรก หลังเกิดเหตุกลุ่มชาวบ้านจับน.ส.สิรินาฎ ถาวรสุข และน.ส.จูหลิง ปงกันมูล ครูโรงเรียนกูจืงลือปะ เป็นตัวประกันและรุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 ทำให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนนาน 2 สัปดาห์

 

โดยมีนักเรียนมาเรียน 138 คน จากทั้งหมด 203 คน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีครูเก่าที่ขอย้ายตัวเองทั้ง 11 คน ได้มาสอนสาธิตทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้กับครูอัตราจ้าง 6 คน จากทั้งหมดที่สมัคร 7 คน โดย 1 ใน 7 คน เปลี่ยนใจกะทันหัน ไม่ขอเป็นครูที่บ้านกูจิลือปะ

 

ต่อมาเวลาประมาณ 09.00 น.นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายไพรัช แสงทอง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนราธิวาส เขต 1 ได้เดินทางมาตรวจความเรียบร้อย โดยนายอิสมาน มุวรรณสินธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ให้การต้อนรับ

 

นายประชา เปิดเผยว่า จะยังคงกำลังทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 และหน่วยเฉพาะกิจที่ 34 เพื่อรักษาความปลอดภัยครูไว้ 1 กองร้อย เชื่อมั่นว่า จะไม่มีเหตุการณ์จับครูเป็นตัวประกันเกิดขึ้นอีก

 

นายไพรัช เปิดเผยว่า ยังคงเปิดรับครูสมัครอัตราจ้าง มาสอนที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะเพิ่มหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะครูที่มีความชำนาญเฉพาะทาง เช่น ครูคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ส่วนครูเก่าจะมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูใหม่ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะแยกย้ายไปสอนที่อื่น จากนั้น จะให้ครูอัตราจ้างทั้งหมดทำงานต่อ

 

อาการ "ครูจูหลิง"ไม่ดีขึ้น

วันเดียวกัน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 17 ระบุอาการของครูจูหลิงว่า ยังไม่รู้สึกตัว สัญญาณชีพคงที่ ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์เกือบปกติ ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง สามารถรับอาหารทางสายยางได้ดี แพทย์ยังคงให้ยาป้องกันการแข็งตัวในหลอดเลือดดำบริเวณขาทั้งสองข้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท