คนบางคนไม่มี "เสียง" และอาหารบางอย่างก็ถูก "กลืน"

 

 

หาก "โนบิตะ" เป็นตัวแทนของเด็กญี่ปุ่นที่เรียนไม่เก่ง ไม่ค่อยเข้าพวกกับใครเขา "แคน บอย เม้ง และจอนนี่" ในหนังสั้นเรื่อง "เด็กชายแฮมเบอร์เกอร์" ก็คงเป็นตัวแทนเข้าประกวดจากฝั่งไทย ต่างกันก็ตรงที่โนบิตะมีโดราเอมอน หุ่นยนต์แมวจากศตวรรษที่ 21 คอยให้ความช่วยเหลือด้วยของวิเศษจากกระเป๋าสี่มิติ ขณะที่เด็กชายทั้งสี่ต้องประคับประคองกันและกันผ่านอุปสรรคด้วยมิตรภาพ

 

"เด็กชายแฮมเบอร์เกอร์" เป็นเรื่องราวของเด็ก 4 คนที่ไม่มีใครอยากรับเข้ากลุ่มด้วย เพราะหนึ่งในนั้นเป็นลูกครึ่งซึ่งมีความแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ โดยธรรมชาติ อีกสองคนเรียนไม่เก่ง และอีกหนึ่งนั้นพิการ ดังนั้น นอกจากภารกิจทำอาหารตามที่อาจารย์มอบหมายให้ทำจะพิสูจน์ฝีมือทำกับข้าวของพวกเขาแล้ว ยังจะเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่า พวกเขาจะกลายเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ ได้หรือไม่

 

"เด็กชายแฮมเบอร์เกอร์" เป็นหนึ่งในหนังสั้น 11 เรื่อง (จากจำนวนหนังส่งเข้าประกวดทั้งหมดสามร้อยกว่าเรื่อง) ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดหนังสั้นในโครงการ "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่เพิ่งจะยุติบทบาทลงไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยสุดท้ายแล้ว ในวันประกาศผลรางวัลปรากฏว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้หนังสั้นทั้ง 11 เรื่องได้รับชัยชนะเท่าเทียมกัน

 

ที่การตัดสินเป็นเช่นนั้นเนื่องมาจากเหตุผลว่า "อาจมีภาพยนตร์บางเรื่องที่โดดเด่นกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่น แต่ภายใต้กรอบความคิด "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" คุณสมบัติส่วนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง และไม่ได้สำคัญมากกว่าคุณสมบัติในการจุดประกายความคิด เพื่อนำไปสู่การถกเถียง, แก้ไขหรือต่อยอด ความชัดเจนกลมกลืน และความมีพลังในการให้แง่คิดมุมมอง หากรวมอยู่ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันก็น่าจะได้ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ที่สุด แต่เมื่อคุณสมบัติสองส่วนดังกล่าวกระจายอยู่ในภาพยนตร์แต่ละเรื่อง อีกทั้งแนวคิดในภาพยนตร์แต่ละเรื่องล้วนเป็นส่วนประกอบหนึ่งของภาพรวมทั้งหมด การคัดเลือกเพียงบางเรื่องจึงไม่อาจได้ตัวแทนที่เหมาะสม"

 

อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับทั้ง 11 เรื่องได้โหวตให้ "เด็กชายแฮมเบอร์เกอร์" ของ ศิวดล ระถี ได้รับรางวัลพิเศษไป

 

ทั้งนี้ น่าสนใจว่าในขณะที่หนังสั้นหลายเรื่องเลือกหยิบเอาประเด็นเรื่องศาสนา และเรื่องเหตุการณ์ในภาคใต้มาเล่า แต่ศิวดลกลับเลือกที่จะเล่าเรื่องราวของเด็กกลุ่มหนึ่งในภาคอีสาน

 

"ทีแรกที่เห็นประกาศในไบโอสโคปก็ยังไม่แน่ใจว่าจะส่งเข้าประกวดไหม เพราะไม่ถนัดทำหนังที่มีคอนเซ็ปต์คลุม ก็พยายามหาประเด็นที่จะทำ คิดแต่เรื่องภาคใต้อย่างเดียวเลย ดูเรื่องศาสนา แต่รู้สึกว่าไม่มีความรู้ลึกซึ้งพอ"

 

"คิดว่าจะไม่ส่งแล้ว แต่พอใกล้วันสุดท้าย ก็นึกถึงบทหนังที่เคยคิดไว้ โดยไปปิ๊งกับประเด็นความหลากหลายของการอยู่ร่วมกันของชาติพันธุ์ เรื่องคนกลุ่มน้อยขึ้นมา"

 

เขาเล่าว่า แนวคิดของหนังได้มาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อยของคนกรุงเทพฯ เนื่องจากเขามาจากภาคอีสาน

 

"พอจบป.6 ที่ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ก็เข้าเรียนต่อ ม.1 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จำได้ว่าช่วงอาทิตย์แรกๆ ของการเรียน อาจารย์ให้เขียนเรียงความว่าจบจากที่ไหน มาจากไหนกันบ้าง เราก็เขียนเล่าไปว่ามาจากมหาสารคาม อาจารย์อ่านของแต่ละคนไป พอรู้ว่าเรามาจากไหน อาจารย์ก็เอาประเด็นนี้มาล้อเรา"

 

"สมัยนั้น ความเป็นอีสาน ความเป็นลาว ความเป็นเสี่ยว มันเป็นตัวตลกไง เราก็กลายเป็นเรื่องตลกของเพื่อน 50 คนในห้องเรียน"

 

"ลองนึกดูว่าเรามาด้วยความมั่นใจ เป็นประธานนักเรียน เป็นนักกีฬาของโรงเรียน สอบได้ที่ 5 ของจังหวัด แล้วอยู่ดีๆ มาเจอภาวะที่กลายเป็นที่หัวเราะของเพื่อนๆ รู้สึกว่าเราต่าง อาจารย์เข้ามากี่ชั่วโมงกี่ชั่วโมงก็ล้อแต่เรื่องนี้ ทั้งที่อาจารย์เองก็เป็นคนอีสานเหมือนกัน"

 

"สุดท้ายเลยดิ้นรนด้วยการเดินไปห้องพักอาจารย์แล้วบอกอาจารย์ว่า "อาจารย์ครับ อย่าล้อเลยนะครับ ผมอายเพื่อนครับ" ตั้งแต่นั้น อาจารย์ก็ไม่ล้ออีก แต่เวลาเห็นอาจารย์คนนี้ทีไรก็จะมองหน้าแกไม่ค่อยติด"

 

ความรู้สึกนี้ฝังอยู่ในใจจนเขาเลือกจะตอบคำถามของใครต่อใครว่า เขามาจากเชียงใหม่บ้าง สงขลาบ้าง หรือถ้ามาจากอีสานก็จะบอกว่ามาจากโคราช เพราะรู้สึกว่าดูดีกว่า

 

"มันเป็นอย่างนี้จนเกือบจบม.6 ตอนนั้นอายกับความเป็นอีสาน เวลาอ่านหนังสือเจอตลกก็ชอบเอามาเป็นมุข หรือเวลาอ่านนิตยสารที่เราชอบ แล้วเขาสัมภาษณ์ใคร แล้วพูดถึงความเชย ก็จะพูดว่า "เสี่ยว" ซึ่งเราน้อยใจมาก คิดว่าบก.น่าจะปรับ หรือคัดสรรคำพวกนี้ออกไป เพราะมันหมิ่นอยู่ลึกๆ นะ"

 

"พอโตขึ้นเราก็พยายามจะเข้าใจนะ เป็นวัยด้วยมั้ง พอโตขึ้นเข้าใจอะไรหลายอย่าง จากเดิมที่ไม่ค่อยชอบ ไม่กล้าเปิดเผยความเป็นเด็กบ้านนอก ความเป็นอีสาน ไม่กล้าพูด ตอนนี้เราไม่อายแล้ว"

 

เอาเข้าจริงๆ ศิวดลคิดว่า เพื่อนๆ ไม่ได้รังเกียจเขา เพียงแต่ล้อเล่นสนุกๆ เท่านั้น สิ่งที่เขาทำก็คือ การพิสูจน์ตัวเองและทำให้ทุกคนยอมรับ

 

"บางทีความรู้สึกเป็นคนกลุ่มน้อย ไม่เข้าพวกกับคนกลุ่มอื่นมันกดดันนะ เก็บกด แต่ความเก็บกดตรงนี้ แปรสภาพได้หลายอย่าง อาจแปรเป็นพลังด้านบวก เพื่อพิสูจน์ให้คนยอมรับ หรือเป็นด้านลบ แต่ผมเลือกจะมองแง่ดีไว้ก่อน"

 

"ถ้าเราใช้กำลัง มันไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา ก็เจ็บปวดทั้งสองฝ่าย อย่างน้อย เราไปชกหน้าเขาให้เขาเจ็บ เราก็เจ็บมือเหมือนกันไง"

 

กับคำว่า "สมานฉันท์" ศิวดล ให้คำจำกัดความว่า "คนเราไม่จำเป็นต้องรักกันก็ได้ แค่ไม่เกลียดกันก็พอ"

 

"คุณไม่จำเป็นต้องไปรู้สึกรักใครก็ได้ถ้าคุณไม่ได้รู้จัก แต่ก็อย่าไปเกลียดเขาเลย เพราะความเกลียดจะนำสิ่งแย่ๆมา"

 

"พยายามเข้าใจคนอื่นแล้วมองด้วยเหตุผลของเขา เวลาเราคิดอะไร เราก็มีเหตุผลของเรา ในขณะเดียวกัน เราก็เลือกจะมองเหตุผลของคนอื่นด้วยว่ามีเหตุผลอะไร เพราะการกระทำอะไรสักอย่างน่าจะมีแรงจูงใจให้เขาทำ มันน่าจะมีเหตุผล แล้วเราก็เอาเหตุผลของเรา ของคนอื่น มาประมวลร่วมกัน มันก็จะได้กรอบของความจริงประมาณหนึ่ง"

 

"ถ้าต่างคนต่างยึดหลักของกูยึดกฎของกู แล้วก็ตีความ มันก็จะเป็นอย่างนี้ เราไม่ได้มองคนอื่น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางก็เลยวุ่นวาย ทุกอย่างเปลือกนอกมันต่างกันนะ แต่เนื้อในก็คงเหมือนกัน ขนมปังที่ทำแฮมเบอร์เกอร์หรือข้าวจี่ที่ทำจากข้าวเหนียว มันก็คือแป้ง ก็คือคาร์โบไฮเดรตที่เรากินเหมือนกัน ไม่อยากให้มองว่า พอคุณต่างแล้วไม่เข้าพวก ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น"

 

กว่าจะเป็น "เด็กชายแฮมเบอร์เกอร์" ผู้กำกับหนุ่มเล่าว่า มีปัญหาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการแบ่งเวลาที่เขาเองก็มีงานประจำต้องรับผิดชอบ การทำงานร่วมกับทีมงานซึ่งมาจากหลากหลายที่ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่น การบริหารเงินทุนที่ใช้ในกองฯ รวมถึงสเกลงานที่ต้องถ่ายทำเด็กทั้งโรงเรียน และคำสบประมาท...

 

"คือก่อนทำมีคำปรามาส ดูแคลนว่า เราเข้ามาทำได้ไง เด็กเส้นรึป่าว ไม่เคยทำหนังเล่าเรื่องมาเลยแล้วมาทำหนังเด็ก จะทำได้เหรอ มืออาชีพยังทำยากเลย มันมาพร้อมความกลัวว่าหนังจะล่ม"

 

"อย่างสุดท้ายคือ นักแสดงที่เราได้มา ครูประจำชั้นก็ถามว่าจะเอาเหรอเด็กพวกนี้ เขาเรียนไม่เก่งเลยนะ จะเล่นไหวเหรอ คือถ้าหนังพูดถึงเรื่องคนกลุ่มน้อย คนที่ทำนี่ก็ underdog เป็นคนกลุ่มน้อยเหมือนกัน ก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง สุดท้ายก็ได้หนังเรื่องหนึ่งมา"

 

 

ฐิตินบ โกมลนิมิ ที่ปรึกษาโครงการฯ ให้ความเห็นว่าพ้นจากความสนุกที่ลงตัว แล้วมองเพียงผิวเผิน เราจะเห็นว่าผู้กำกับพยายามใช้เด็ก ภาษา และข้าวจี่ ซึ่งเป็นอาหารประจำท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นตัวดำเนินเรื่องให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากความคุ้นชินของคนดู ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางในเมือง

 

เธอบอกว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้เชื่อมร้อยกับหนังเรื่องอื่นๆ ในโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "ปอเนาะ" ที่เราจะได้เห็นเด็กชายวัยกำลังเติบโตพยายามเรียนรู้ศาสนา การดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมและได้ยินภาษามลายู หรือเรื่อง "Good Morning" ที่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวสวนยางภาคใต้ อาหารการกิน และภาษาใต้ด้วย

 

"แน่นอน เรากำลังบอกผู้ชมว่า เราอาจจะเชื่อมโยงความรู้สึกว่าเป็น "คนไทย" เหมือนกันผ่านสัญลักษณ์บางประการ เช่น ธงชาติ หรือบัตรประชาชน แต่ในความเหมือนกันนั้น เราก็มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ด้วย ดังนั้น เราไม่ควรพูดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างไร้เดียงสา แต่ควรให้คุณค่าและเคารพในความแตกต่างนั้นด้วย"

 

"มากกว่านั้น เรื่องแฮมเบอร์เกอร์ ยังชี้ชวนให้เราตระหนักถึง "เสียงเงียบ" ของคนชายขอบ ถ้าด.ช.แคน บอย เม้ง รวมทั้งเด็กพิการอย่างจอนนี่... คือ "คนส่วนน้อย" จากการเป็นเด็กลูกครึ่ง เรียนไม่เก่ง เป็นคนไม่สมบูรณ์ "คนส่วนใหญ่" จะจัดแบ่งและจัดการให้เขาไปอยู่รวมกัน เด็กทั้งสี่คนก็เป็นตัวแทนของเสียงเงียบจากคนส่วนน้อย หรือคนชายขอบของสังคมในการพยายามชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีคุณค่าในตัวเองเหมือนกัน"

 

"เป็นเหมือนที่ผู้กำกับเล่าเบื้องหลังให้เราฟังตอนที่ไปคัดเลือกนักแสดง และยืนยันว่าต้องการเด็กทั้ง 4 คน เป็นผู้แสดงนำ ครูในโรงเรียนยังพยายามให้ผู้กำกับลองมองดูเด็กคนอื่นบ้าง เพราะเด็ก 3-4 คนนี้เรียนไม่เก่ง แต่ในที่สุด น้องๆ ทั้งสี่คนก็พิสูจน์ได้ว่า เขามีความสามารถในการแสดง มีความรับผิดชอบดังที่เราได้เห็นจากในหนัง"

 

"หนังเรื่องนี้จึงเรียกร้องให้เราตระหนักและให้คุณค่าแก่คนที่แตกต่างจากเราอย่างลึกซึ้ง"

 

"ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจซึ่งผู้กำกับแสดงออกมาอย่างเปิดเผย คือ เรื่องอาหารประจำชาติ (nation"s food) โดยในช่วงเด็กพักกลางวันกันและเด็กๆ คุยถึงอาหารที่พกพาง่าย...ด.ช.แคนบอกว่า แฮมเบอร์เกอร์เป็นอาหารชาติตะวันตก ด.ช.เม้ง บอกว่า ซาลาเปาเป็นของคนจีน และพอเด็กๆ ถามว่าแล้วของไทยล่ะ คืออะไร? ด.ช.บอย ก็ทำท่านึกออกแล้วบอกว่า ข้าวเหนียวหมูปิ้ง!! น่าสนใจไหม? ทำไมผู้กำกับที่พยายามให้ "ข้าวจี่" เป็นพระเอกของเรื่อง พอเอาเข้าจริงๆ ข้าวจี่ก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของอาหารประจำชาติเราได้ คำถามของดิฉันคือ "อะไร" หรือ "กลไก" ใดเป็นตัวกดวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ ไว้"

 

ฐิตินบ มองว่า เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่อาหารจากครัวชาติหนึ่งสามารถกลายเป็น "อาหารชาติพันธุ์" (ethnic food) ได้ก็เพราะการคมนาคม การค้าและการพัฒนา พอคนจากเมืองหนึ่งประเทศหนึ่งย้ายที่อยู่ ก็นำเอา "วัฒนธรรม" อาหารและของกินติดตัวมาด้วย ทำให้ขนมปังแฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก เข้ามาอาละวาดในบ้านเรา ดังที่ด.ช.แคนพยายามพิสูจน์ความมีตัวตนและคุณค่าของตนเองผ่าน "แฮมเบอร์เกอร์" และนาทีสุดท้ายก็มาดัดแปลงให้ ข้าวจี่เป็นแฮมเบอร์เกอร์

 

"ดังนั้น ถ้าเราสังเกตกลับมาในชีวิตประจำวันของเรา อาหารประจำชาติหลายอย่างก็กลายกลืนเป็นอาหารชาติพันธุ์ โดยที่บางอย่างเราแทบหารากเหง้าไม่พบว่า "ของแท้" (authenticity) อยู่ที่ไหน หนังเรื่องนี้จึงบอกเราอย่างอ้อมๆ ว่า เมื่อโลกาภิวัตน์มาเยือนเรา และเราเป็นท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ของตนเองอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสานหรือภาคใต้ตอนล่างก็ดี เราจะผ่านภาวะการปะทะกันของวัฒนธรรมอย่างไร ไม่ให้เกิดความขัดแย้งและก่อความรุนแรงระหว่างกัน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท