Skip to main content
sharethis

๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ คือ "วันครบรอบ ๑ ปี" ของการฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ พระนักอนุรักษ์แห่งอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกคนร้ายไม่ทราบจำนวนเข่นฆ่าอย่างทารุณ ด้วยอาวุธของมีคมไม่ทราบขนาดและชนิด จนเกิดบาดแผลฉกรรจ์กว่า ๒๐ แผล


 


ท่านผู้นี้เป็นอดีตนายสัตวแพทย์ผู้หันมาสนใจในทางธรรม ได้รับการอุปสมบทจากพระพรหมมังคลาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) และเดินทางไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ จนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ทำหน้าที่สำคัญในสวนโมกขพลารามหลายต่อหลายด้าน


 


เมื่อย้ายมาทำงานเผยแผ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากงานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว พระสุพจน์ สุวโจ ยังเป็นผู้เผยแผ่ธรรมะของท่านพุทธทาส และพระเถรานุเถระอื่นๆ ผ่านหนังสือเล่มและเว็บไซต์หลายต่อหลายแห่ง จนเป็นที่ยอมรับนับถือในวงกว้าง กระทั่งมาถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายทารุณ ด้วยสาเหตุที่กรมสอบสวนคดีพิเศษยอมรับในภายหลัง ว่า "น่าจะเกี่ยวข้อง" กับประเด็นทางการเมือง นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เป็นเครื่องมือให้กับคนนอกกฎหมาย


 


ถัดจากนั้นไปไม่กี่วัน คือ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ ก็เป็นวันครบรอบ ๒ ปี แห่งการฆาตกรรม นายเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนคนสำคัญอีกผู้หนึ่ง ที่ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนกระหน่ำยิงจนถึงแก่ความตาย หลังนั่งรถประจำทางกลับจากการร่วมประชุม กับคณะกรรมาธิการแห่งวุฒิสภาคณะหนึ่ง ที่กรุงเทพมหานคร


 


คดีของ เจริญ วัดอักษร ก็เช่นเดียวกับคดี พระสุพจน์ สุวโจ ที่มีตัวละครหลักอยู่ไม่กี่กลุ่ม และปราศจากความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น...


 


ทั้ง ๒ คดีนี้เป็นข่าวเกรียวกราวระดับประเทศ เช่นเดียวกับคดี ทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐคร่ากุมและทำให้สูญหายไป เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗ จนหลายฝ่ายเชื่อว่าเสียชีวิตแล้ว โดยการเข่นฆ่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ "อุ้ม" เขาไปในคืนวันนั้นนั่นเอง หากพยานหลักฐานไม่มากพอ และไม่อาจเชื่อมโยงไปถึงตัวผู้กระทำผิด ตลอดจนผู้บงการ ในประเด็นเกี่ยวกับการฆาตกรรมได้


 


ทั้ง ๓ คดี เคยอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งระดับท้องที่และกองบังคับการปราบปรามอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อไม่อาจอำนวยความยุติธรรม หรือมิอาจสร้างความเชื่อถือให้แก่ญาติและผู้เกี่ยวข้อง ก็ถูกโอนย้ายมาอยู่ในการดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(Department of Special Investigation - DSI) หน่วยงานระดับกรมสังกัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งเพิ่งสถาปนาขึ้นได้ไม่นานนัก ด้วยขณะนั้น ทุกฝ่ายเชื่อว่าหน่วยงานพิเศษนี้ จะเป็นที่พึ่งหวัง สำหรับคดีที่มีความซับซ้อน และมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอันอาจเกินกำลังและการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของตำรวจโดยทั่วไปได้


 


แต่แล้วความหวังดังกล่าวก็ถูกกระทำให้แปรเปลี่ยน เมื่อญาติและผู้เกี่ยวข้องพบว่า เอาเข้าจริง การปฏิบัติหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษก็มิได้แตกต่างไปจากการทำงานของตำรวจแต่อย่างใด


 


ความอืดอาดล่าช้าเมื่อกระแสข่าว หรือความกดดันทางสังคมลดระดับลงยังคงเป็นพฤติกรรมปกติ เช่นเดียวกับการไม่แจ้งความคืบหน้า ไม่ชี้แจง ไม่เปิดโอกาสให้ญาติและผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม เช่น การให้ข้อมูลเชิงลึก และการร่วมตั้งสมมติฐาน หรือไม่อำนวยความสะดวกในการมีส่วนร่วม ตลอดจนการติดตามความเคลื่อนไหวในทางคดี ฯลฯ มีอยู่ในวิถีการปฏิบัติของตำรวจตามปกติอย่างไร ก็มีอยู่ใน DSI เช่นนั้น


 


แม้ว่าหน้าฉากหน่วยงานเกิดใหม่นี้จะมีนโยบายสวยหรู หรือมีอำนาจหน้าที่ ตลอดจนสิทธิพิเศษ และงบประมาณพิเศษ มากยิ่งกว่าตำรวจสักเพียงใดก็ตาม


 


ถึงบัดนี้ ทั้ง ๓ คดีที่กล่าวมาข้างต้น จึงยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่จะเป็นขวัญและกำลังใจให้กับญาติและผู้เกี่ยวข้อง ดังที่ผู้นำรัฐบาล หรือผู้รับผิดชอบในหน่วยงานนี้เคยแถลงไว้


 


คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังคงอยู่ในหมอกควันอันมืดหม่นและหมองมัว ของการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ใช้ทักษะทางวิชาชีพและกฎหมาย ตลอดจนอำนาจหน้าที่ปกป้องตนเองและพวกพ้องให้พ้นผิด


 


เช่นเดียวกับที่คดีฆาตกรรม เจริญ วัดอักษร ถูกลดทอนความสำคัญไปสู่ความขัดแย้งส่วนบุคคล จนบดบังผู้บงการให้พ้นขอบเขตของการสืบสวนออกไปทุกที


 


และสำหรับคดี พระสุพจน์ สุวโจ ดูจะยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพบว่าล่าสุด ชุดสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งขอสอบปากคำญาติและผู้เกี่ยวข้องซ้ำ เพราะกำลังจะมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่(อีกครั้ง) หลังจากที่ไม่สามารถแม้แต่จะตั้งข้อสันนิษฐานได้ ว่าการตายของพระภิกษุวัย ๓๙ ปีผู้นี้ เกิดขึ้นจากสาเหตุใดแน่ เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัย ไม่มีประจักษ์พยาน ไม่พบอาวุธ ไม่มีการเก็บวัตถุพยาน ไม่มีการเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุอย่างเพียงพอมาตั้งแต่ต้น หรือแรกเริ่มที่ DSI เข้ามารับผิดชอบคดีโดยตรง


 


ดูราวกับว่า ถ้าไม่นับ "คดีการเมือง" หรืองานสนองนโยบายรัฐบาลในการกดดันและเล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง (ของบางพรรคฯ) แล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีอธิบดีและเจ้าหน้าที่จำนวนมากเป็น "ตำรวจเก่า" จะทำงานอยู่ในระดับ "ระบบตำรวจแบบเดิมๆ" และมีความสามารถแค่ "สอบสวนคดีธรรมดา" เท่านั้นเอง


 


ว่าอย่างนี้คงมีคนไม่พอใจและอยากถกเถียงด้วยอยู่ไม่น้อย ซึ่งหากบุคคลที่ว่านั้นเป็นผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้เขียนก็ขอทัก หรือดักคอไว้ก่อนล่วงหน้า ว่า ถึงที่สุดแล้ว ความสามารถของคน ควรอยู่ที่ผลงาน หรือผลแห่งการกระทำของเขาเอง มากกว่าที่จะรอให้ใครหรือหน่วยงานใดมายกย่อง หรือช่วยกันปั้นแต่งด้วยลมปากและการโฆษณาชวนเชื่อ ว่าเป็นอย่างนั้น หรือกำลังเป็นอย่างนี้ ฯลฯ


 


ถึงบัดนี้ทั้ง ๓ คดีก็เป็นบทสรุป หรือเป็นข้อพิสูจน์ได้ดี ว่าเอาเข้าจริง "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" นั้น "พิเศษ" อย่างไร และ "พิเศษจริง" สักแค่ไหน ในวิถีแห่งการปฏิบัติ ซึ่งควรมีอะไรใหม่ ให้มากไปกว่าการเพ้อพร่ำถ้อยคำหวานหู หรือโกหกพกลมไปวันๆ


 


หากรับมือกับ "คดีพิเศษ" ไม่ได้ เพราะไร้ความสามารถ หรือปราศจากศักยภาพ ก็น่าจะใช้ชื่อหน่วยงานว่า "กรมสอบสวนคดีธรรมดา" ไปจนกว่าจะมีผู้บริหาร และคณะทำงานที่มีฝีมือเพียงพอ


 

หรือไม่อย่างนั้น ก็ยุบเลิกหน่วยงานให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียที เสียดายภาษีอากรของประชาชน!!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net