Skip to main content
sharethis

อาทิตย์ ธรรมประชา, สำนักข่าวประชาธรรม


 


 


ปรากฏการณ์น้ำท่วมและดินถล่มในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะ จ.อุตรดิตถ์ แพร่ นอกจากสร้างความเสียหายแก่ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจนยากที่จะประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้แล้ว ยังสะท้อนภาวะความไร้สมดุลของระบบนิเวศน์ได้เป็นอย่างดี


 


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(กอช.) ออกมาระบุว่าเป็นเหตุจากปรากฏการณ์ "ลานิญ่า"


 


ปรากฏการณ์ลานิญ่า(La nina)นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาให้ความหมายว่า เป็นปรากฏการณ์ที่มีสภาพตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่ประชาชนทั่วไปพอจะได้ยินชื่ออยู่บ้าง กล่าวโดยสรุปได้ว่าเอลนีโญเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้งผิดปกติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ตั้งของประเทศไทย


 


ขณะที่ลานีญ่าจะทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเอลนีโญและลานีญ่าเกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก


 


พายุฝนที่เกิดจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานิญ่าจนนำมาซึ่งปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มซึ่งสร้างความสูญเสียแก่ประชาชนโดยเฉพาะ จ.อุตรดิตถ์ครั้งนี้นับได้ว่าร้ายแรงสุดในรอบกว่า 40 ปี   ล่าสุดคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณกว่า 2,400 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ส่งผลต่อปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นอกไปจากปรากฏการณ์ลานิญ่าที่ทำให้ฝนตกอย่างหนักรวมทั้งลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่บริเวณที่เกิดความเสียหายโดยเฉพาะภูเขาที่เป็นดินลูกรังปนทรายที่มีความลาดชันสูงแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการเกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้คือผืนป่าบริเวณดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นสวนป่าสักที่ครอบคลุมพื้นที่นับแสนไร่ด้วย


 


สวนป่าสักเหล่านี้ส่วนใหญ่อายุยังน้อย มีอายุประมาณ 20 ปี สังเกตด้วยสายตาแต่ละต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร ความสูงเฉลี่ยประมาณ 20 เมตร ถูกบรรจงปลูกขึ้นเป็นแถวยาวตรงอย่างเป็นระเบียบ


 


จากต้นสักที่ถือว่ามีอายุน้อย รากจึงยังตื้นไม่สามารถยึดหน้าดินได้มาก ประกอบกับสวนป่าที่ปลูกขึ้นนั้นไม่มีความหลากหลาย ครั้นเมื่อฝนตกหนักต้นสักเหล่านั้นไม่สามารถยึดหน้าดินไว้ได้จึงถูกน้ำป่ากัดเซาะ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปรากฏการณ์น้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้น เกิดดินถล่มและพัดพาต้นไม้สักขนาดดังกล่าวไหลลงมาตามกระแสน้ำเข้าเอ่อท่วมทำลายบ้านเรือนชาวบ้านจนราบเป็นหน้ากลองโดยเฉพาะในเขต อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์


 


"สวนป่าที่นี่ปลูกโดยมูลนิธิหนึ่ง เกือบทั้งหมดปลูกต้นสัก เขามาปลูกมาตั้งแต่ปี 2528 แล้ว ผมว่าสวนป่านี่แหละที่ทำให้ดินถล่มเพราะเขาปลูกเป็นแถว ขนาดความสูงแต่ละแปลงก็เท่ากันหมด ไม่มีต้นไม้อื่นๆ  อยู่เลย ช่วงหน้าแล้งก็แล้งจัด หน้าฝนฝนก็ตกหนัก" ชาตรี พฤกษาภรณ์ ชาวบ้านห้วยทราย ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์เปรยออกมา  ขณะยืนมองสภาพบ้านเรือนที่ถูกน้ำป่าและดินถล่มที่อาจกล่าวได้ว่าราบเป็นหน้ากลอง


 


ลำห้วยที่ไหลผ่านท้ายหมู่บ้านเดิมมีความกว้างแค่ไม่กี่เมตร แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กลับเพิ่มขนาดความกว้างไปหลายเท่าตัว ขณะที่ริมตลิ่งที่ถูกน้ำกัดเซาะเกลื่อนไปด้วยเศษซากต้นไม้ กิ่งไม้รวมทั้งสิ่งของต่างๆ ที่ถูกกระแสน้ำพัดพามากองรวมกันดูระเนระนาด ไกลออกไปภาพภูเขาสูงชันที่เกิดเหตุการณ์ดินถล่มปรากฏอยู่เป็นจุดๆ


 


บ้านห้วยทราย เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แม้จะไม่เผชิญโศกนาฏกรรมร้ายแรงเท่าบ้านน้ำลีและบ้านน้ำต๊ะที่อยู่ถัดออกไปแค่ 3 กิโลเมตรในเขตตำบลเดียวกัน แต่ร่องรอยความเสียหายที่ปรากฏแก่สายตานับว่าสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไม่น้อยเช่นกัน


 


"ที่ผมรู้มาสวนป่าเหล่านี้กินพื้นที่ถึง 3 แสนไร่ และจะขยายไปอีกนะ มีที่ว่างตรงไหนเขาก็ปลูกไม้สักเข้าแถวหมดแหละ ชาวบ้านจริงๆ แล้วเขาก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่เขาอ้างว่าป่าที่นี่เสื่อมโทรม" ชาตรีเล่าต่อและยืนยันว่าเหตุการณ์น้ำป่าและดินถล่มที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นอกจากฝนตกหนักแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งมาจากสวนป่าอย่างแน่นอน


 


ภาพที่ปรากฏต่อสายตา  พื้นที่แถบนี้โดยเฉพาะส่วนที่เป็นภูเขาจะเห็นถึงป่าสักที่ถูกปลูกเป็นแนวยาวสุดลูกตา ลักษณะคล้ายสวนยางพารา ชั้นเรือนยอดมีความสูงเท่ากัน โทนสีก็เป็นสีเขียวอ่อนเหมือนกันหมด ขณะที่ระหว่างแถวต้นสักที่ปลูกนั้นแทบไม่มีต้นไม้ชนิดอื่นงอกขึ้นมา


 


ขณะที่พุทธ มันทุนา ชาวบ้านห้วยทรายอีกคน กล่าวว่า สวนป่าเหล่านี้ตนเห็นว่าอาจสร้างความชุ่มชื่นแก่พื้นที่และป้องกันน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเกิดภาวะฝนตกหนักสวนป่าเหล่านี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามก็สร้างปัญหาดินถล่ม ต้นไม้ที่ปลูกก็จะถูกน้ำพัดพาถอนรากถอนโคนไหลไปด้วย


 


พุทธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เพราะสวนป่าที่ปลูกมีแต่ไม้สักจึงไม่มีความหลากหลาย ทั้งยังปลูกเป็นแถวมีระยะห่างระหว่างต้น 4x2 เมตรเท่ากันหมด แถมแต่ละต้นยังมีขนาดเท่ากัน ชั้นเรือนยอดเท่ากัน ซึ่งการปลูกเป็นแถวอย่างนี้ตนเห็นว่าเป็นการทำลายความหลากหลาย เห็นได้ชัดว่าสวนป่าเหล่านี้แทบไม่มีสัตว์ป่าชนิดใดอยู่อาศัย ดังนั้นเมื่อฝนตกหนักจึงเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ชะล้างพัดพาหน้าดินโดยเฉพาะส่วนที่เป็นภูเขาถล่มลงมา


 


ด้านโอษฐ์ พุทธสาคร ชาวบ้านห้วยทรายที่เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากน้ำท่วมครั้งนี้ เพราะบ้านอยู่ห่างลำห้วยแค่ 20 เมตรส่งผลให้ชั้นล่างของบ้านพังราบยังดีที่เสาบ้านมีความมั่นคง ชั้นบนของบ้านจึงรอดพ้นจากความเสียหายอย่างหวุดหวิด กล่าวว่า สวนป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ติดต่อมายังอบต.หรือผู้ใหญ่บ้านให้จัดหาคนไปรับจ้างปลูกแบบรับเหมาเป็นแปลงๆไป ส่วนใหญ่แต่ละแปลงมีขนาด 1-2 พันไร่


 


ส่วนค่าจ้างนั้น โอษฐ์ บอกว่า การปลูกแบบเหมาจ่ายทั้งแปลงก็จะอยู่ที่หลักแสนบาท จะเสร็จช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับจำนวนชาวบ้านที่ไปรับจ้างปลูกในแปลงนั้นๆ ส่วนรายได้โดยเฉลี่ยจากการไปรับจ้างปลูกป่าของชาวบ้านที่นี่แบ่งเท่ากันทุกคนก็จะตกอยู่ที่คนละ 4-5 พันบาทต่อแปลง ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นรายได้ของชาวบ้านแถบนี้แม้จะได้จากการทำการเกษตรเป็นหลัก แต่รายได้จากการรับจ้างปลูกป่าก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว


 


แต่ถึงกระนั้น โอษฐ์ ยังบอกว่า กรณีการปลูกป่าแม้จะช่วยสร้างรายได้แก่ชาวบ้านที่นี่ ทว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนักเพราะป่าที่ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพย่อมไม่สามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ไว้ได้


 


ที่สำคัญเมื่อเกิดฝนตกหนักรากต้นไม้ที่ปลูกไม่สามารถยึดหน้าดินไว้ได้จึงถูกน้ำป่าชะล้าง ดินจึงถล่มลงมา แต่หากเป็นป่าธรรมชาติจริงๆ จะมีความหลากหลาย มีต้นไม้หลายชนิดหลายขนาด รากต้นไม้สามารถยึดหน้าดินไว้ได้ ขณะเดียวกันผืนป่ายังสามารถซับปริมาณน้ำฝนไว้ได้ ซึ่งหากมีป่าธรรมชาติเช่นนี้ตนเห็นว่าปัญหาดินถล่มไหลถอนรากถอนโคนต้นสักน้อยใหญ่ที่ปลูกเอาไว้อย่างเป็นระเบียบเข้าเอ่อท่วมทำลายหมู่บ้านจนย่อยยับก็จะไม่เกิดขึ้น


 


"ตอนนี้อยากให้เขาหยุดปลูกขยายพื้นเสียที ที่ผ่านมานี้พื้นที่ไหนว่างๆเขาก็เอาต้นสักลงหมด ผมว่าควรหยุดได้แล้ว ทางที่ดีควรปล่อยให้ป่ามันฟื้นตัวเองตามธรรมชาติไม่ต้องให้ใครไปยุ่ง ปล่อยให้เห็ดให้หน่อมันขึ้นบ้าง ให้นกหนูได้อยู่แล้วมันก็จะดีเอง" โอษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย


 


อย่างไรก็ตาม คำสะท้อนจากชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ในประเด็นปัญหาจากการทำสวนป่าถือเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรรับไปพิจารณาทบทวนอย่างจริงจัง เพราะแม้โดยเนื้อแท้ทุกฝ่ายต่างมีเจตนาดีในการเพิ่มพื้นที่ป่า แต่ในเมื่อผลกระทบเชิงประจักษ์ที่ออกมาเช่นนี้ก็น่าจะมีการทบทวนแนวทางการดำเนินการเสียใหม่ ก่อนที่โศกนาฏกรรมครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net