วิเคราะห์ปฏิบัติการระเบิดป่วนชายแดนใต้ "ยิ่งนานยิ่งลึก"

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2006 15:53น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

เหตุการณ์ลอบวางระเบิด 63 จุดในพื้นที่ 31 อำเภอ ในปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ช่วงตั้งแต่เช้าวันที่ 15 มิ.ย. จนถึงบ่ายวันที่ 16 มิ.ย. กลายเป็นจุดอ้างอิงใหม่ในเหตุปฏิบัติการก่อความวุ่นวายทำลายขวัญของประชาชนนับแต่เหตุปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันเหตุดังกล่าว ยังทำให้เห็นภาพเชื่อมโยงของการวางระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 1 ปี นับแต่เหตุดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 รองจากเหตุลอบยิงรายวัน

 

 

63 จุดมุ่งทำลายขวัญ ปชช.

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี) เห็นว่า ปฏิบัติการเขย่าขวัญวันที่ 15-16 มิ.ย.นอกจากจะสะท้อนการต่อต้านท้าทายอำนาจรัฐแล้ว ยังทำให้เห็นถึงศักยภาพการประสานการก่อการซึ่งครอบ คลุมพื้นที่บริเวณกว้าง และสามารถประสานงานให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และต่อเนื่องทั้งระบบด้วย

 

เขาเห็นว่า การก่อการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ เพื่อข่มขวัญ แตกต่างจากเหตุลอบวางระเบิดหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งทำลายชีวิตเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสำคัญ

 

ดังเช่นกรณีเหตุระเบิดล่าสุดที่ ร้านน้ำชาพี่นะ ถ.ปานาเระ กลางเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 10 พ.ค.49 ทำให้มีทหารและครูเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 18 คน หรือเหตุระเบิดรถสายตรวจชุดคุ้มครองครู สภ.อ.รือเสาะ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บสาหัส 2 คน

 

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กองวิทยาการ ชี้ชัดว่า ระเบิดที่ลอบวางตามสถานที่ราชการใน จ.ปัตตานีและยะลา ในช่วงวันที่ 15-16 มิ.ย. ส่วนใหญ่เป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องบรรจุลงในกระบอกพีวีซี กระป๋องนมหรือถ้วยพลาสติก จุดระเบิดด้วยนาฬิกาข้อมูล มีอานุภาพทำลายล้างน้อยกว่าระเบิดซึ่งถูกจุดด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ก่อการนำไปติดตั้งไว้ในรถยนต์เป้าหมายรวม 5 ราย (ปัตตานี 1 คัน ยะลา 4 คัน ไม่ระเบิด 2 คัน)

 

ยกเว้นในหลายพื้นที่ของ จ.นราธิวาส กล่าวคือ อ.ตากใบ, อ.ระแงะ, อ.ศรีสาคร, อ.รือเสาะ, อ.จะแนะ, อ.เมือง, อ.แว้ง, อ.สุคิริน และ อ.ยี่งอ ที่มีการก่อการอย่างอุอาจกล่าวคือ ผู้ก่อเหตุใช้ระเบิดมือขว้างเข้าไปในสถานที่ราชการ,กลุ่มทหาร เว้นแต่ใน อ.เจาะไอร้อง ซึ่งใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม-79 ยิงใส่อาคารโรงพยาบาลแต่กระสุนพลาดเป้า

 

กรณีที่เกิด ส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่ราชการ อาทิ ห้องน้ำ ร้านอาหารในศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ (ดูตารางที่ 1) ยังก่อให้เกิดคำถามใหญ่ทั้งในแง่การรักษาความปลอดภัย และศักยภาพของผู้ก่อการที่ท้าทายอำนาจรัฐ ที่ลอบเข้าไปวางระเบิดได้สำเร็จเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นเครือข่ายการทำงานที่ค่อนข้างเป็นระบบซับซ้อนและรัดกุมกว่ารูปแบบการก่อการในลักษณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังต้องประกอบและใช้ระเบิดซึ่งมีการทำงานที่ซับซ้อนกว่าเครื่องมือก่อการในลักษณะอื่นๆ กว่า 40-50 ลูกในคราวเดียวกัน

 

 

 

ในส่วนของเป้าหมายก่อการ ก่อนหน้านี้มักเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่มีระบบดูแลรักษาความปลอดภัย อาทิ เสาไฟฟ้า เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ สะพานหรือรางรถไฟ ตัวอย่างเช่น เหตุวางเพลิงเสาสัญญาณโทรศัพท์ มือถือ 73 จุด ในปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาบางส่วน เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ปีนี้ ในเวลาไล่เลี่ยกัน หรือกรณีเหตุดับไฟปิดเมืองยะลา วันที่ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งกรณีหลังผู้ก่อการลงมือวางเพลิง และวางระเบิดพร้อมกันหลายจุด สร้างความแตกตื่นและหวาดผวาให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก

 

ที่สำคัญ ข้อมูลจากกองวิทยาการชี้ชัดว่า ระเบิดข่มขวัญในเหตุการณ์วันที่ 15-16 มิ.ย.เป็นชนิดเดียวกันกับระเบิดที่ใช้ก่อเหตุในกรณีเหตุดับไฟปิดเมืองยะลา เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว

 

ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอมรับว่า ได้รับทราบข้อมูลการเคลื่อน ไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ นอกจากนั้นในหลายพื้นที่ที่เกิดเหตุ พบว่ามีการติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน ทำให้ไม่มีหลักฐานสืบสาวติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้

 

31 อำเภอ ไร้เขตปลอดรุนแรง?

เมื่อพิจารณาพื้นที่เกิดเหตุใน 33 อำเภอ ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบว่า มีเพียง 2 อำเภอคือ อ.สุไหงปาดี และ อ.กรงปินัง ในเขต จ.นราธิวาสและยะลาเท่านั้นที่ไม่เกิดเหตุระเบิดในพื้นที่ อย่างไรก็ดีหากพิจารณาความเชื่อมโยงของเหตุกับตัวบุคคล พบว่า มีเหตุลอบระเบิดรถยนต์ 1 รายซึ่งเจ้าของเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอกรงปินัง แต่วันเกิดเหตุ(15 มิ.ย.)ไม่ได้ไปทำงาน และตรวจพบระเบิดขณะจอดรถไว้ที่บ้านพักในเขตเมืองยะลา ก่อนถูกจุดด้วยโทรศัพท์มือถือ

 

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบข้อมูล "การเกิดเหตุรุนแรงในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ปี พ.ศ. 2547-2548 เทียบรายอำเภอ" ในรายงาน "ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ. 2547-2548)" พบว่า ทั้ง 31 อำเภอล้วนแต่อยู่ในพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุความไม่สงบมากว่า 20 ครั้งในรอบ 2 ปี เว้นแต่กรณีของ อ.กาบังซึ่งเกิดเหตุเพียง 3 ครั้งในรอบ 2 ปี ไม่เกิดเหตุระเบิดในวันที่ 15 มิ.ย. (ดูกราฟที่ 2)แต่มาเกิดเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์ของปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน อ.กาบัง ช่วงเช้าวันที่ 16 มิ.ย. ทำให้มีผู้บาดเจ็บรวม 4 คน

 

 

ขณะที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ติดอันดับเกิดเหตุก่อความไม่สงบมาโดยตลอด กลับไม่มีเหตุการณ์ระเบิดแต่อย่างใด มีเพียงรายงานข่าวว่ามีจดหมายขู่เอาชีวิตกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ ในพื้นที่ ต.ริโก๋ พร้อมทั้งระบุให้ลาออก มิเช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยทั้งตัวบุคคลและทรัพย์สิน

 

1 ปี"ระเบิด 3จว."พุ่งอันดับ 2

 "เมื่อดูเหตุการณ์ในภาพรวมและแยกเป็นรายเดือนในวงรอบ 24 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึง ธันวาคม 2548 การยิงเป็นยุทธวิธีการก่อเหตุที่มากที่สุดในทุกเดือนในรอบสองปี... การวางเพลิงเป็นยุทธวิธีที่ใช้มากเป็นอันดับสองแทบจะทุกเดือน แต่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่มิถุนายน พ.ศ. 2548 มีเหตุการณ์การวางระเบิดเกิดขึ้นสูงอันดับสอง"

 

ข้อสังเกตในงานวิจัย "ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ. 2547-2548)" จัดทำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและทีมงาน (ดูกราฟที่ 3) แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 48 จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน เหตุร้ายจากการลอบวางระเบิดสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากเหตุลอบยิง

 

 

 

ทั้งนี้จากกราฟเส้นจะเห็นว่า ก่อนเดือนมิ.ย. 48 เหตุก่อความไม่สงบจากการวางระเบิดอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากการลอบยิงและวางเพลิง แต่ในเดือนมิ.ย. เหตุวางระเบิดเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 2 และรั้งอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวจนถึงปลายปี 48

 

และเมื่อประกอบกับข้อมูลในรอบ 6 เดือน (ต.ค.48- มี.ค.49) ของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ซึ่งแถลงระบุชัดว่า เหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัด ยังสูงเป็นอันดับ 2 เช่นเดียวกับ 6 เดือนหลังของปี 48

 

ขณะที่เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 15 - 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกิดขึ้นรวม 63 จุดทั้งที่ระเบิดและเก็บกู้ได้ ใน 31 อำเภอ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน บาดเจ็บอีกกว่า 30 คน

 

งานวิจัยของมอ.ปัตตานียังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุระเบิดซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ยะลา ไม่ได้หวังผลการเสีย ชีวิตของเหยื่อระเบิด เนื่องจากผู้ก่อการไม่ได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่หวังผลการทำลายที่รุนแรงสูงสุด เช่น การระเบิดพลีชีพหรือเป้าหมายในพื้นที่สาธารณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อหวังผลทางการเมือง เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดแก่ประชาชนเป็นสำคัญ

 

ทั้งยังหมายความว่า ช่วง 9 เดือน (มิ.ย.48-มี.ค.49) ซึ่งเหตุวางระเบิดยังสูงเป็นอยู่ในอันดับที่ 2 และเมื่อพิจารณาเหตุในรอบ 1 ปี (ครึ่งหลังของปี 48 จนถึงครึ่งปีแรกของ ปี 49) จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.49 โดยเฉพาะเมื่อรวมกับเหตุระเบิดในวันที่ 15-16 แล้ว การวางระเบิดทั้งที่มุ่งชีวิตและเพื่อข่มขวัญประชาชนเป็นรองเพียงเหตุลอบยิงซึ่งถือเป็นเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันมากว่า 2 ปีครึ่งแล้วเท่านั้น

 

ใช่หรือไม่ว่า ปฏิบัติการระเบิดป่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งซึ่งโผล่พ้นผิวน้ำ เพื่ออธิบายว่า ผู้ก่อการได้ปรับยุทธวิธีโดยเลือกวิธีการลอบวางระเบิดเป็นเครื่องมือยกระดับการก่อการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลสะเทือนในเชิงจิตวิทยามวลชนโดยตรงมาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท