ไทย-มาเลย์จับมือปราบขบวนการค้ามนุษย์

ภาคใต้ - ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน 2549 ที่โรงแรมนี - โอ บูติคโฮเต็ล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการบูรณาการข้อมูลการค้ามนุษย์ในจังหวัดภาคใต้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม

 

ที่ประชุม ได้นำเสนอข้อมูลการค้าหลอกลวงเหยื่อ ซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ไปค้าประเวณีในประเทศมาเลเซียกันอย่างกว้าง พร้อมทั้งมีการกำหนดมาตรการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งระหว่างหน่วยงานของไทยกับมาเลเซีย ดังปรากฏในรายละเอียดในข้อสรุป ที่ฝ่ายจัดการประชุมสรุปไว้ ดังต่อไปนี้

 

สรุปสัมมนาเชิงปฏิบัติการปัญหาการค้ามนุษย์ในจังหวัดภาคใต้ของไทย

วันที่ 14 - 16 มิถุนายน 2549

 

หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวถึงสถานการณ์ทำงานและปัญหาการค้ามนุษย์ในจังหวัดภาคใต้ของไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับขบวนการค้าโสเภณีในประเทศมาเลเซีย ดังต่อไปนี้

 

1. กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา

จังหวัดสงขลาเป็นทั้งจังหวัดต้นทาง ปลายทางและทางผ่านของการค้ามนุษย์ ทางตำรวจภูธรสงขลามีชุดปฏิบัติการในกองกำกับการสืบสวน ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งสิ้น 17 คน และมีพนักงานสอบสวนหญิงอีก 4 คน

นอกจากนั้น ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้ตั้งเป็นศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรีทำหน้าที่สอดส่องสถานที่ที่เป็นที่ล่อแหลม ผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ รวมทั้ง NGO ต่างๆ ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

 

2. กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8

การทำคดีค้าหญิงและเด็กมีปัญหาหลายประการ เช่น เจ้าหน้าที่บางคนมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายด้านการค้าหญิงและเด็กจำกัด เหยื่อบางคนเป็นคนต่างด้าว ไม่เข้าใจภาษาไทยและหาล่ามแปลภาษาของเขายาก นอกจากนั้นแล้ว การสอบสวนยังต้องใช้ทีมสหวิชาชีพทำให้การทำงานล่าช้า เพราะเจ้าหน้าที่ซึ่งจะร่วมทำงานมีจำกัด รวมตลอดถึง ที่ผ่าน การทำงานเป็นไปในเชิงรับ

 

อุปสรรคข้างต้นทำให้การทำคดีค้าหญิงและเด็กเป็นไปด้วยความลำบาก

 

อนึ่ง ความรู้ที่จำกัดดังกล่าวถึงข้างต้นทำให้สถิติคดีค้าหญิงและเด็กมีน้อยกว่าความเป็นจริง

 

3. กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9

ตำรวจภูธรภาค 9 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากข้อมูลสถิติความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จังหวัดที่มีคดีค้ามนุษย์มากที่สุดคือจังหวัดสงขลา ในปี 2547 จาก จำนวนคดีทั้งหมด 31 คดี เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาจำนวน 24 คดี ในปี 2548 จากจำนวนคดีทั้งหมด 26 คดี เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา 14 คดี  นอกนั้นเกิดในจังหวัดอื่นๆ อีก   6  จังหวัด  

 

พื้นที่รับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 9 เป็นทั้งต้นทาง ปลายทาง และทางผ่าน จากการสอบสวนและสัมภาษณ์เด็กหญิงไทยที่ได้รับการช่วยเหลือทำให้ทราบข้อมูลว่า ต้นทาง ได้แก่ หญิงไทยในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภาค 9 ข้ามไปค้าประเวณีในประเทศมาเลเซีย ปลายทาง ได้แก่ หญิงไทยในภาคเหนือ อีสาน และกรุงเทพฯ  เดินทางมาประกอบอาชีพตามแนวชายแดน ทางผ่านได้แก่ หญิงไทยจากภาคเหนืออีสาน และกรุงเทพฯ เดินทางมายังพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แล้วเดินทางต่อไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์

 

นอกจากนี้ยังมีหญิงและเด็กจากประเทศอื่น เช่น ลาว และกัมพูชา เข้ามาและทางผ่านไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ฯลฯ

 

ปัญหาตำแหน่งพนักงานสอบสวนของศูนย์สืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ปัจจุบันไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งพนักงานสอบสวน ทำให้การสอบสวนสืบสวนขยายผลทางคดีมีอุปสรรค ต้องประสานกับท้องที่ หรือ บก.ปดส. ในการขออนุมัติการออกหมายจับ

 

4. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (ปดส.)

ปดส. ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 มีหน้าที่ในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และสตรี รวมถึงแรงงานและการจัดระเบียบสังคม โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ที่มีเครือข่ายโยงใยในหลายพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดฝึกอบรมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์รวมถึงการพัฒนาองค์กรให้เข้าสู่ระบบการอำนวยความยุติธรรมสากล

 

ปัญหาของการทำงานที่ประสบมา คือ เหยื่อไม่ค่อยให้ความร่วมมือและไม่ทราบว่าจะประสานการปฏิบัติและข้อมูลกับหน่วยงานใด งบประมาณที่ได้รับยังไม่เพียงพอ ขาดแคลนอุปกรณ์ในการสอบสวนเชิงรุก

 

5. ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา

เป็นด่านใหญ่และมีเส้นทางคมนาคมสะดวกสบายจากไทยจนถึงสิงคโปร์จึงมีผู้เดินทางผ่านเป็นจำนวนมาก และมีบุคคลที่ต้องการเดินทางออกไปเป็นจำนวนมากโดยถูกต้องตามกฎหมายและลักลอบเดินทางออกไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์โดยใช้กลอุบายหรือวิถีทางต่างๆ

 

ปัญหาของด่านคือเครื่องมือในการสกัดกั้นยังไม่ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านจึงเกินปัญหาให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยความยากลำบากในการสกัดกั้น การเดินทางออกนอกประเทศของกลุ่มบุคคลที่มีเป้าประสงค์จะไปประกอบอาชีพหรือขายบริการซึ่งใช้หนังสือเดินทางโดยถูกต้อง ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ให้เดินทางออกก็จะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ

 

6. ด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์

1. ปัญหาของผู้ที่จะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเอกสารการเดินทางสมบูรณ์ถูกต้อง ไม่เป็นบุคคลต้องห้าม เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่มีอำนาจที่จะยับยั้งการเดินทาง เมื่อมีมาตรการเข้มงวดกวดขัน ทำให้เกิดความไม่พอใจ บางครั้งถึงกับมีการร้องเรียน

 

2. ช่องทางธรรมชาติที่มีความยาวตลอดแนวชายแดนไม่สามารถควบคุมการลักลอบเข้าออกราชอาณาจักรที่ผิดกฎหมาย

 

3. เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองบางส่วนไม่มีความรู้เกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

 

4. เหยื่อที่ถูกส่งกลับมักไม่ให้ความร่วมมือในการตอบข้อซักถามเบื้องต้น

 

ที่ผ่านมา การปฏิบัติจะประสานงานโดยใกล้ชิดกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลาทุกครั้ง

 

7. ตำรวจสันติบาลประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศมาเลเซีย

หน่วยงานนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ (ประมาณเดือนตุลาคม 2548) ซึ่งมีหน่วยปฏิบัติในสังกัดประจำแต่ละเมือง 4 หน่วย โดยทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งการช่วยเหลือเหยื่อของการค้าหญิงและเด็ก

 

การที่เป็นหน่วยงานใหม่ ทำให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้การช่วยเหลือเหยื่อการค้าหญิงและเด็กเป็นไปอย่างไม่เต็มที่

 

8. สำนักปัองกันแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก (สปป.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีสถานสำหรับช่วยเหลือและให้ที่พักพิงแก่ผู้รับบริการ(รวมทั้งเหยื่อของการค้าหญิงและเด็ก) จำนวน 99 แห่งโดยแบ่งเป็นแบบชั่วคราว (จำนวน 93 แห่งซึ่งรวมทั้งบ้านพักเด็กและครอบครัวหรือบ้านพักฉุกเฉินจำนวน 26 แห่ง) และระยะยาว (6 แห่ง รวมทั้งบ้านศรีสุราษฎร์ และบ้านเกร็ดตระการ)

 

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทำหน้าที่ช่วยเหลือเหยื่อการค้าหญิงและเด็กโดยผ่านสำนักปัองกันแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก ด้วยการช่วยบำบัดฟื้นฟูจิตใจและฝึกอาชีพให้กับเหยื่อ รวมทั้งเตรียมการในการส่งเหยื่อกลับสู่ภูมิลำเนา (ทั้งในและต่างประเทศ) รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็ก

 

9. องค์กรพัฒนาเอกชน

ในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา องค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กร (เช่น AFESIP, Friends of Women Foundation, IJM, TRAFCORD) ได้พยายามช่วยเหลือเด็กและหญิง ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานในประเทศดังกล่าว และพบว่าการทำงานเป็นไปอย่างมีข้อจำกัด และเห็นว่าหากการทำงานช่วยเหลือจะดีขึ้น เมื่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศดังกล่าว ทำงานร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

 

สรุปการพบปะและหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและ NGO จากมาเลเซีย

ในวันที่ 15 มิถุนายน 2549 มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับคณะเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศมาเลเซีย และเพื่อให้การแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ได้มีการอธิบายระบบกฎหมาย และวิธีการทำงานในประเทศมาเลเซียให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาฝ่ายไทยฟัง

 

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่า การทำงานต้องหรือควรต้อง

ปฎิบัติตามกฎหมายและวิธีการ ทั้งนี้ เพื่อความถูกต้องในด้านต่างๆ รวมทั้งการหาพยานหลักฐานสำหรับการดำเนินคดีในศาล

 

ผู้ร่วมสัมมนาทั้งสองฝ่ายทราบและยอมรับว่า ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศ (ผ่านหน่วยงานรัฐ, องค์กรพัฒนาเอกชน) ได้พยายามช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์มาโดยตลอด

 

ข้อเสนอแนะ

ที่ประชุม ในวันที่ 16 มิถุนายน 2549 เสนอแนะให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งประสบปัญหางบประมาณในการดำเนินการช่วยเหลือเหยื่อ และ/หรือการป้องกันตลอดจนการปราบปรามการค้ามนุษย์ พิจารณาขอเงินสนับสนุนจาก "กองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทำจากกระบวนการค้ามนุษย์" ด้วยการจัดทำข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือ เสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณาขอรับทุน (ซึ่งมีปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ)

 

ผู้สนใจอาจหารายละเอียดเกี่ยวกับการขอรับทุนได้จาก website ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

องค์กรพัฒนาเอกชนเสนอว่า ควรมีการประชุมเกี่ยวกับคดี ตลอดจนการพบปะระหว่างหน่วยงานของประเทศที่เกี่ยวข้อง

 

เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งให้องค์กรต่างๆ ทราบถึงชื่อ ตลอดจนที่อยู่ของหน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท