พระสุพจน์ - เจริญ - สมชาย "สิ่งศักดิ์สิทธิ์สามานย์" คือกระบวนการยุติธรรมไทย

ประชาไท - 19 มิ.ย. 49     วันที่ 18 มิ.ย. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการเสวนาเรื่อง "3 นักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีคำตอบจากรัฐ ภาพสะท้อนโศกนาฏกรรมและกระบวนการยุติธรรมไทย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี เจริญ วัดอักษร 1 ปี พระสุพจน์ สุวโจ และการอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร


นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนมุสลิมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มหายไป กล่าวว่า คดีของทนายสมชายมีข้อพิรุธมากมายที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมดำเนินการ และไม่ได้ใช้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการทำคดี เช่น มีการพบเส้นผมในรถแต่ไม่เคยนำมาเปรียบเทียบกับจำเลย

 

หลักฐานสำคัญที่สุดในดคีอย่างเอกสารบันทึกการโทรศัพท์ที่ยื่นต่อศาลก็ใช้เป็นสำเนาที่มีการขีดฆ่ามากมายจนศาลไม่เชื่อถือในหลักฐาน จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารฉบับจริงอยู่ที่ไหน แล้วทำไมไม่มีการนำเจ้าหน้าที่ชั้นสูงมาเบิกความยืนยันความจริงของหลักฐาน

 

หรือในกรณีที่จำเลยทั้ง 5 คน ในคดีทนายสมชายให้การว่า ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เมื่อตรวจสอบกลับไปพบว่าจำเลยทั้ง 5 คนเคยทำงานร่วมกัน โดยมี พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้บังคับบัญชา และตอนนี้เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ

 

คดีของทนายสมชายไม่มีความคืบหน้าเลย และดีเอสไอไม่มีความสามารถเรียกพยานมาสอบสวนได้ แล้วจะทำคดีสำคัญได้อย่างไร คดีที่ดีเอสไอทำสำเร็จส่วนมากเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเท่านั้น จึงคิดว่าดีเอสไอ โดยเฉพาะภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สมบัติ ไม่มีความชอบธรรมในการทำคดีที่เกี่ยวกับชีวิตของประชาชน

 

"เชื่อว่าดีเอสไอและรัฐรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้ว่าพยานเป็นใคร สิ่งที่ดีเอสไอทำตอนนี้คือการแสดงละคร รู้ว่าหลักฐานอยู่ที่หนึ่งแต่ไปแสดงละครการหาหลักฐานอีกที่หนึ่ง การไปดำน้ำก็บอกว่า รู้มาจากปากต่อปาก แต่พอถามว่านำมาใช้ในทางศาลได้หรือไม่ ก็เงียบ คดีพระสุพจน์ และคุณเจริญ ถูกสรุปว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่คดีทนายสมชายหาย ไม่มีใครตอบได้ว่าเพราะอะไรถึงหายไป

 

"สาเหตุหนึ่งคือการล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ภาคใต้ อีกสาเหตุคือการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่มีการกระทำทารุณกับผู้ต้องหาในคดีภาคใต้ใช่หรือไม่ ในเมื่อดีเอสไอไม่สามารถหาตอบได้ จึงขอสนับสนุนการล่ารายชื่อปลดอธิบดีดีเอสไอ และขอให้มีการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้คนดีมาทำกระบวนการยุติธรรมให้ยุติธรรมจริงๆ"

 

พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ เครือข่ายศาสนิกชนแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ควรพิจารณาร่วมกันคือ สังคมควรมีท่าที่ใหม่กับกระบวนการยุติธรรม เพราะองคายพกระบวนการยุติธรรมถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ละเมิดไม่ได้ เมื่อคนเล็กคนน้อยต้องไปเกี่ยวข้องกับตำรวจ ศาล อัยการ จะรู้สึกหวาดหวั่นเพราะเป็นการเผชิญหน้ากับอำนาจและการชี้ถูกผิด

 

โดยความศักดิ์สิทธิ์ที่ละเมิดมิได้ของกระบวนการยุติธรรมนี้เองกลับเป็นดาบย้อนมาทิ่มแทงคนเล็กคนน้อยเป็นตัวแทนอาวุธของอำนาจและทุน เรียกว่าถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์แบบสามานย์ คือต้องเคารพเชื่อถือแต่ซื้อได้ มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าซื้อได้ทุกขั้นตอนยุติธรรมถ้ามีเงินหรือทุนเพียงพอ จึงมีคำกล่าวว่าคนรวยไม่ติดคุกอยู่เสมอ

 

แม้แต่ผู้ที่มีสถานทางสังคมอย่างนายเจริญ แกนนำการต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด ทนายสมชาย และพระสุพจน์ สุวโจ พระนักอนุรักษ์ที่ต่อต้านการฮุบพื้นที่ป่าของนายทุนเมื่อถูกกระทำก็ได้รับผลไม่ต่างจากคนเล็กคนน้อยอื่นๆ

 

"น่าสนใจว่าแทนที่กระบวนการยุติธรรมจะต้องให้ความเป็นธรรม กลับกลายเป็นเราต้องร้องขอทั้งต่อบุคคลและตัวระบบ และกลับพบว่าช่องว่างช่องโหว่นำมาซึ่งผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น"

 

พระกิตติศักดิ์ เล่าถึงความไม่ยุติธรรมในคดีการฆาตกรมพระสุพจน์ว่า ได้ร้องขอการคุ้มครองพยานต่อหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแต่หน่วยงานเหล่านั้นล้วนปฏิเสธ โดยเฉพาะเมื่อข่าวซาลงไปแล้วมีการถูกคุกคามทั้งทางตรงทางอ้อม ในทางตรงคือจากกลุ่มผู้ฆ่า ส่วนทางอ้อมเป็นการถูกคุกคามจากกลไกของรัฐที่ไม่สนใจดูแล

 

"เจ้าหน้าที่จากกองปราบแจ้งมาทางวาจาโดยไม่ยอมตอบมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่มีกำลังเพียงพอในการคุ้มครองพยาน อีกทั้งพยานก็ไม่สำคัญในการดูแล แต่ในขณะเดียวนั้นเองกันเจ้าหน้าที่กองปราบกลับได้รับคำสั่ง ให้ดูแลเพื่อนของลูกชายผู้นำประเทศที่มั่วสุมยาเสพติดและร่วมก๊วนลูกชายได้"

 

พระกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องให้เกิดบทเรียนแก่สังคมต่อไปว่าการคุ้มครองพยานควรเป็นอย่างไร การดำเนินคดีควรทำอย่างไร ในคดีพระสุพจน์ แม้แต่ที่เกิดเหตุก็ไม่มีการล้อมกั้น หลักฐานบางอย่างเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเก็บ เช่น ขวดโซดา ก้นกรองบุหรี่ที่ไม่ใช่วิสัยของชาวบ้าน แต่ในคดีตำรวจระบุว่าชาวบ้านฆ่า ส่วนสิ่งของพระสุพจน์ที่เจ้าหน้าที่เก็บไปก็ไม่ได้เก็บหลักฐานแบบทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ แม้แต่สบงเมื่อไปถามก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ยังบอกกลับมาว่า สงสัยอยู่ที่โรงพยาบาล

 

นอกจากนี้ พระกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นไม่เคยรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องเลย ต่อไปคงต้องเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบอย่างชัดเจนต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคดีในกรณีที่ตั้งข้อสังเกตผิดพลาดและเก็บพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาจนทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีและทำให้หน่วยงานที่มารับช่วงต่อไม่สามารถทำงานต่อได้

 

ด้านนางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของนายเจริญซึ่งถูกสังหารโดยเชื่อว่าน่าจะมีมูลเหตุมาจากการเป็นแกนนำในการต้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด กล่าวถึงข้อสังเกตต่อกระบวนการยุติธรรมว่า อีก 3 วันจะครบ 2 ปี การถูกสังหารของนายเจริญ แต่ถึงตอนนี้สืบพยานได้เพียง 3 ปาก สืบพยานปากแรกกับปากที่สองห่างกัน 1 ปี จากนั้นมีการโอนคดีระหว่างหน่วยงานใช้เวลาอีก 19 เดือน ทำให้ต้องสืบพยานใหม่อีกครั้ง

 

"ความยุติธรรมนั้นล่าช้า ทำให้ในความรู้สึกก็คือไม่เป็นธรรม ปัญหาต่อมาคือการคุ้มครองพยาน ห่วยแตก ในคดีของนายเจริญหลังพยานไปขึ้นศาลแล้วก็กลับพื้นที่ไม่ได้ เพราะรู้กันว่ากลุ่มสังหารมีอิทธิพลมาก ดีเอสไอก็หาที่อยู่และหางานให้ทำในสลัมแถวคลองตัน เขาโทรมาว่า งานที่ดีเอสไอหาให้ไม่พอกินจึงต้องเสี่ยงกลับพื้นที่ การคุ้มครองพยานแบบนี้ทำให้พยานอื่นๆ ไม่กล้ามาให้ปากคำไปด้วย แล้วแบบนี้จะให้ความเป็นธรรมได้หรือไม่"

 

นางกรณ์อุมา ยังตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของดีเอสไอมีหลายมาตรฐาน โดยยกตัวอย่างคดีลอบสังหาร ส.ส.กอบกุล หรือการฆ่าข่มขืนผู้หญิงต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับหน้าตาของประเทศกลับทำคดีได้เร็วมาก อีกทั้งมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในคดี

 

"เมื่อเจริญลงรถทัวร์มาจากกรุงเทพก็ถูกยิงตาย จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ต้องมีการวางแผน ต้องมีคนชี้เป้า ไม่ใช่อย่างที่จำเลยสารภาพในศาล ไม่ได้วางแผน แต่เป็นเพราะเจริญเคยไปด่าเขา จึงมายิงด้วย ความแค้นส่วนตัว

 

"แต่ทำไมในคดีจึงไม่มีการโยงไปถึงกลุ่มเบื้องหลังหรือคนชี้เป้าเลย ในคดีของ ส.ส.กอบกุล ทำแม้แต่การตรวจสอบจากสัญญาณโทรศัพท์ แต่ในคดีของเจริญจับผู้ต้องหาได้จากพยานที่เห็น และเมื่อมีการซัดทอดจากมือปืนว่า หลังยิงเสร็จก็มีการโทรหาไป ส.จ.มโนช กิ่งแก้ว ระบุว่าเป็นลูกพี่ และเป็นผู้สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้า

 

"ในวันเกิดเหตุเจอ ส.จ.มโนช ที่งานศพชาวบ้านคนหนึ่ง เขายืนขึ้นโทรศัพท์ เดินผ่านหน้าไป แล้วหันมายิ้มเยาะ ก็คิดว่าเป็นเพราะไม่ชอบหน้ากัน แต่หลักฐานตรงนี้ทำไมไม่มีในสำนวน เมื่อคดีเข้าสู่ดีเอสไอก็บอกตรงนี้ ดีเอสไอก็บอกว่าไม่มีการใช้โทรศัพท์เช่นกัน"

 

นางกรณ์อุมา ระบุว่า สิ่งที่เจ็บปวดกว่าการเสียชีวิตของนายเจริญ คือการใช้กระบวนการยุติธรรมมาปั่นหัว ปัจจุบันคดียังไปไม่ถึงไหน ตำรวจในท้องที่ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลท้องถิ่น ส่วนดีเอสไอก็อยู่ใต้อำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตามจะไม่ยอมให้เจริญตายฟรี แม้ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมไทยยังเป็นที่พึ่งไม่ได้ก็บอกได้ว่าคงต้องพึ่งตนเอง

 

ในเวทีเดียวกัน ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวในประเด็นข้อเสนอและทางออกเพื่อหากระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมว่า ต้องพูดตรงๆว่าจะมีนักสิทธิมนุษยชนต้องเสียชีวิตมากกว่า 3 คนนี้อีกเยอะ จึงจะขอพูดที่การสร้างระบบเพื่อให้ปลอดภัยขึ้น

 

ดร.นิธิ ระบุว่า คำว่าสิทธิมนุษยชนแปลว่า "มนุษย์ต่างดาว" เพราะมันไม่มีในวัฒนธรรมหรือในกฎหมายไทย ดังนั้นกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้นักสิทธิมนุษยชนฟ้องร้องได้เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย ดังนั้นแนวทางอันดับแรกคือ ต้องทำให้เกิดคำว่าสิทธิมนุษยชนในกฎหมายให้ได้ คือสามารถเดือดร้อนแม้เราจะไม่ได้อยู่ที่บ่อนอกเป็นต้น

 

เรื่องความไม่ปลอดภัยของนักสิทธิมนุษยชนมาจากอิทธิพลท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ปัจจุบันมันเชื่อมโยงกันเองและเชื่อมเข้ากับกลไกของรัฐด้วย ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มอิทธิพลที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงจากท้องถิ่นไปถึงนักการเมืองระดับชาติและกำลังเชื่อมโยงกับทุนขนาดใหญ่ด้วย การตักตวงทรัพยากรในต่างจังหวัดจึงมีมากขึ้นและมีการติดต่อกับอิทธิพลท้องถิ่นเพื่อแย่งทุนทรัพยากร โดยอิทธิพลท้องถิ่นจะเป็นนายหน้า ในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบลหรืออะไรต่างๆ

 

"ส่วนประชาชนไม่มีอำนาจอะไรในมือเลย ดังนั้นเขาต้องสร้างอิทธิพลเชิงอุปถัมภ์กับอิทธิพลท้องถิ่น เพราะไม่มีทางเลือกอื่น นี่เป็นปัญหาสำคัญด้านความปลอดภัยของนักสิทธิมนุษยชน

 

ทางแก้ที่นิยมพูดกันคือ ทำรัฐให้บริสุทธิ์ แต่ถ้ามองความจริง มันไม่มีรัฐบริสุทธิ์ ดังนั้นต้องสร้างอำนาจประชาชนมาคานอำนาจอิทธิพลท้องถิ่น ตรงนี้อาจใช้เวลานาน"

 

ดร.นิธิ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ท้องถิ่นต้องมีคือ สื่อ ในความหมายถึงพื้นที่ ทำให้ได้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ตรงนี้เป็นพื้นที่แห่งอำนาจที่หายไป เมื่อก่อนมีวัดหรือตลาดเอาไว้นินทา ซึ่งเป็นการหารือหรือบอกข่าวสารร่วมกันได้ ทำให้มีการควบคุมทางสังคมในระดับหนึ่ง ต้องมองความหมายของสื่อมากกว่าวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ พื้นที่แบบนี้ต้องรวมไปถึงโรงเรียนและวัด ซึ่งสำคัญมาก ต้องยึดวัดมาจากหลวงพ่อ เพื่อทำให้เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนกัน และต้องมีพิธีกรรมด้วย

 

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เมื่อมีการเคลื่อนไหวจะเกิดสำนึกที่ออกจากเครือข่ายอุปถัมภ์ แล้วจะเกิดการมองประโยชน์ของตัวเอง

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีวิกฤติตำรวจมานานแล้ว ต้องการการปฏิรูปเร่งด่วน เพราะแม้จะปฏิรูปการเมืองหรือเศรษฐกิจพอเพียง แต่มีตำรวจแบบนี้ก็ไปต่อไม่ได้ ต้องปรับปรุงระบบ โดยเอาอำนาจจากข้างนอกมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจประชาชน อัยการหรือศาล เพื่อให้ตำรวจปรับตัวเอง

 

นอกจากนี้ต้องลงทุนด้านเทคนิคให้กับตำรวจด้วย เพราะตำรวจนั้น รัฐลงทุนให้แต่เครื่องแบบ เงินเล็กน้อยก็ต้องเอาเพื่อให้ทำงานได้ น่าสงสารมาก จะให้ทำงานก็ต้องทำให้เขาไม่จำเป็นต้องโกง มีเครื่องไม้เครื่องมือให้

 

นอกจากนี้ต้องมีการประเมินที่รัดกุมจากภายนอก ไม่ใช่แค่ ประเมินโดยคณะรัฐมนตรีหรือกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น และไม่ใช่เช็คเปอร์เซ็นต์สถิติของคดีเท่านั้น ส่วนอัยการต้องมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนด้วย ไม่ใช่ดูสำนวนอย่างเดียว คือเช็คสิ่งที่ตำรวจทำว่าจะฟ้องหรือไม่

 

นอกจากนี้ อัยการก็ต้องโดนเช็คด้วยว่า ที่ส่งฟ้องนั้น มียกฟ้องมีกี่เปอร์เซ็นต์ ระบบนี้ไม่ใช่การลงโทษแต่เป็นการให้ระบบอัยการขันน็อตตัวเองให้มากกว่าที่เป็นตอนนี้

 

อีกทั้งอัยการก็ต้องคุ้นเคยกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญระบุ เช่น กฎหมายที่ห้ามชุมนุมเกินสิบคน กับรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ว่าจะตัดสินอย่างไร เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ควรถึงศาล

 

ระบบศาลก็ควรเร็วกว่านี้ ผู้ต้องหาไม่ใช่ติดคุกง่ายๆ แบบโดนติดคุกไปสามปีแล้วไม่ผิด จำเป็นต้องทำให้ผู้พิพากษาคุ้นเคยกับสิ่งที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การชุมนุม วิทยุชุมชน จะตัดสินอย่างไรโดยที่คำพิพากษาที่อ้างรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือวินิจฉัย ที่ผ่านมาการอ้างรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยมีไม่น่าจะถึงสิบคดี ดังนั้นต้องเปิดให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพไหลเข้าไปในตัวระบบมากขึ้น

 

"แต่กลัวว่าระบบกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นระบบที่เป็นปราการรักษาอำนาจรัฐมากกว่าเป็นปราการรักษาอำนาจประชาชน สิ่งสุดท้ายคือต้องพูดถึงระบบรับผิดตั้งแต่ระดับบนสุดไปถึงล่าง ต้องมีระบบรับผิดได้ ทนายสมชายหายไปสามปี รัฐมนตรีมหาดไทย หรือนายกรัฐมนตรีไม่รู้สึกอายบ้างหรือที่คนหายไปได้กลางเมือง และค่อนข้างชัดว่ารัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ได้ว่าต้องนายกรัฐมนตรีต้องติดคุก แต่ไม่มีประเทศไหนหน้าด้านแบบนี้

 

"มันต้องมีความยอมรับผิด ก็ต้องด่าต้องกดดันต่อไป จะด่ากับเมียก็ได้ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในโลกที่บังคับให้คนยอมรับผิดได้ ถ้าไม่มีแรงกดดัน" ดร.นิธิกล่าว

 

ด้าน ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า องค์กรที่จะทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมต้องเป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่ถูกครองงำ แต่ตรวจสอบได้ เป็นหลักการพื้นฐาน แต่กระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบทักษิณฉาวที่สุดในด้านสิทธิมนุษยชน

 

อย่างที่พระกิตติศักดิ์พูดว่า "มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามานย์" คดีเหล่านี้เกิดกับคนที่ทำงานด้านสังคมแล้วขัดแย้งกับอำนาจรัฐ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ตั้งแต่ พ.ศ.2542 มีคดีทางสิทธิมนุษยชน ประมาณ 20 คน กระบวนการยุติธรรมมีทั้งไม่ดำเนินการหรือทำแบบไม่สามารถลากคนมาลงโทษได้ หรือจำกัดผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ต้องหา

 

"เช่นบอกว่า ทนายสมชายทะเลาะกับเมีย หรือพระสุพจน์คือพระปากเสีย ชาวบ้านเลยฟันกบาลเอา ดังนั้นสำนวนคดีไม่ไปไกลมาก แค่จับคนที่ลงมือได้เท่านั้นและไปไกลกว่านี้ไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่จึงไม่เพียงพอต่อผู้นำชาวบ้านหรือผู้ทำงานด้านสังคม"

 

ในทางตรงข้าม หากชาวบ้านตกเป็นจำเลย กระบวนการยุติธรรมจะรวดเร็ว ว่องไว พร้อมเพรียง เป็นเอกภาพ เช่นกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าหน้าที่จะระบุบอกว่าผิดชัดเจน แต่พอสื่อถามว่า แล้วที่นายกรัฐมนตรีบอกให้พระมหากษัตริย์มากระซิบข้างหูแล้วจะลาออกนั้น เจ้าหน้าที่จะตอบทันทีว่า ไม่หมิ่น ไม่มีหลักฐาน หรือเอาอะไรมาพูด

 

"ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นของรัฐบาล โดยรัฐบาลเพื่อรัฐบาล จะเผื่อแผ่มายังคนที่ทำงานด้านสังคมมาบ้างไม่ได้หรือไงวะ!" ผศ.สมชาย กล่าว

 

นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิรูปจากภาคสังคม องค์กรตรวจสอบโดยสังคมควรเกิดขึ้นด้วย ในลักษณะเดียวกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค สภาทนายความ หรือองค์กรที่ตั้งเพื่อปกป้องนักสิทธิมนุษยชน

 

"ผมคิดว่า ผู้เสียชีวิตคงไม่ใช่แค่ 3 คนนี้ ต้องระวังตัว การพยายามเรียกร้องให้ 3 คนไม่ตายฟรี จะเป็นเงื่อนไขในระยะยาวที่จะประกันให้การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในอนาคตดีขึ้นและดีกว่าปัจจุบัน ขอให้คุณพระคุ้มครองทุกคน ถ้าถูกปืนยิงก็ขอให้เฉียดไปเฉียดมา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท