Skip to main content
sharethis


ภายหลังจากที่นายแพทย์ลี ยอง-วุก ชาวเกาหลีใต้ ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การอนามัยโลกเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ได้มีการสืบสวนเกี่ยวกับคำสั่งย้ายที่นายแพทย์ลีระบุให้ย้ายนายแพทย์วิลเลี่ยม อัลดิส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งนักวิจัยในองค์การอนามัยโลกที่กรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย อย่างกะทันหัน ทั้งที่ผู้แทนองค์การอนามัยโลกโดยทั่วไปจะหมดวาระเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี แต่นายแพทย์อัลดิสดำรงตำแหน่งอยู่ที่ประเทศไทยได้เพียง 16 เดือนก็ถูกสั่งย้ายไปอยู่ที่อินเดียแทน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอะไรคือเหตุผลที่ต้องสั่งย้ายนายแพทย์อัลดิส

 


วารสารแลนเซทซึ่งเป็นแหล่งความรู้ทางด้านการแพทย์ชั้นนำ ได้เสนอบทความเกี่ยวกับเงื่อนงำของคำสั่งย้ายดังกล่าวไว้ในบทความชื่อ World health : A lethal dose of US politics ซึ่งเขียนโดย ดีแลน ซี. วิลเลียมส์ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่พอใจที่นายแพทย์อัลดิสเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2549 โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากันอยู่


 


ในบทความดังกล่าว นายแพทย์อัลดิสเตือนว่า การลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีดังกล่าว ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะการยอมรับข้อตกลงดังกล่าวอาจจะทำให้คนในประเทศไทยเข้าถึงยารักษาโรคได้ลำบากขึ้น


 


นอกจากนี้ ข้อตกลงทริปส์ (TRIPs) ซึ่งว่าด้วยข้อเสนอที่สูงกว่าข้อตกลงคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาตามกรอบขององค์การการค้าโลก ก็เป็นข้อเสนอที่ประเทศไทยยังไม่อาจทำได้จริงในขณะนี้ หากมีการทำสัญญาเอฟทีเอจริง จะส่งผลให้ราคายาแพงขึ้น เพราะติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งจะทำให้การทดลองเกี่ยวกับยาหรือการสั่งซื้อยา มีต้นทุนที่สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะยารักษาหรือป้องกันโรคเฉพาะทาง การทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ จะทำให้คนไทยจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนเรื่องยารักษาโรคที่ราคาสูงจนไม่สามารถเข้าถึงได้


 


ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งตัวแทนทางการทูตไปเจรจากับนายแพทย์ลี ยอง-วุก โดยมีการส่งหนังสือแสดงความไม่พอใจไปยังนายแพทย์อัลดิสด้วย เพื่อกดดันการทำหน้าที่ของผู้แทนองค์การอนามัยโลก โดยอ้างเหตุผลว่า "ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ควรจะวางตัวเป็นกลาง" จากนั้นไม่นานก็มีคำสั่งย้ายนายแพทย์อัลดิส ไปเป็นนักวิจัยสังกัดองค์การอนามัยโลก กรุงนิวเดลลี ทั้งที่ยังไม่หมดวาระผู้แทนฯ ในประเทศไทย


 


คำสั่งย้ายดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในองค์การอนามัยโลกอย่างมาก เพราะการกระทำของสหรัฐฯ และการยินยอมของนายแพทย์ลี คือการแทรกแซงภายในองค์กร ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลกอย่างยิ่งยวด


 


ทั้งนี้ ดีแลน ซี. วิลเลี่ยมส์ ผู้เขียนบทความรายงานการถูกย้ายของนายแพทย์อัลดิส ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าหากกระบวนการทำงานขององค์การอนามัยโลกสามารถครอบงำและแทรกแซงได้ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะสุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาพของประชากรโลก เนื่องจากองค์การอนามัยโลกควรจะดำรงสถานภาพการเป็นองค์กรอิสระเอาไว้ เพื่อช่วยเหลือและปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและดูแลสุขภาวะของประชากรโลกอย่างทั่วถึงและโปร่งใส


 


อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ รองปลัดกระทรงสาธารณสุขได้เขียนจดหมายส่งไปยัง องค์การอนามัยโลก ขอให้อธิบายเหตุผลเรื่องนายแพทย์อัลดิสถูกสั่งย้าย เพื่อแสดงความห่วงใยเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นและความโปร่งใสภายในองค์กร แต่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวปฏิเสธว่าการย้ายครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการที่นายแพทย์อัลดิสแสดงความคิดเห็นคัดค้านการทำเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่อย่างใด 


 


ขณะเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องการเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอมาตลอด ได้ยื่นแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก พิจารณาการทำงานของตนเองว่า ได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาและปกป้องสุขภาวะของประชากรโลกอย่างดีแล้วหรือไม่ และยังกล่าวอีกด้วยว่า องค์การอนามัยโลกไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลเหนือกว่า เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงก็แสดงว่าสุขภาวะของโลกจะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net