กงสุลใหญ่สหรัฐจัดเสวนาย้ำ "FTA ไทย-สหรัฐ ถ้าไม่ใช่เวลานี้จะเป็นเวลาใด?"

ประชาไท—20 มิ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายข่าวสารและประชาสัมพันธ์ สถานทูตสหรัฐอเมริกา และสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ จัดเสวนาเรื่อง "ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อเมริกา ถ้าไม่ใช่เวลานี้จะเป็นเวลาใด" (the U.S.- Thailand FTA : IF not Now, When?) ขึ้นที่ ห้องอิมพีเรียล 5 โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง จ.เชียงใหม่

 

โดยการจัดเสวนาครั้งนี้ มิส เบียทริซ แคมป์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว โรงแรมแห่งนี้เคยใช้เป็นที่ประชุมเจรจาเรื่องเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ว่ามีผู้ประท้วงจึงได้ยุติไป การจัดเสวนาครั้งนี้ จึงได้เชิญผู้ประท้วงมาร่วมรับฟังด้วย โดยได้เชิญนายฮาวเวิร์ด โรเซ็น มาเป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อเมริกา ถ้าไม่ใช่เวลานี้จะเป็นเวลาใด

 

"ซึ่งนายโรเซ็น เป็นนักวิชาการ และเป็นกรรมการบริหารกลุ่ม Trade Adjustment Assistance Coalition เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานและชุมชนที่ออกจากงานเนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิจัยที่สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและกำลังจัดเตรียมข้อเสนออย่างละเอียดเพื่อปฏิรูปโครงการปรับเปลี่ยนตลาดแรงงานของสหรัฐฯ"

 

ด้านนายฮาวเวิร์ด โรเซ็น วิทยากร กล่าวว่า ตนมาพูดในครั้งนี้ในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศไทย แต่พอรู้ว่าเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงวางรากฐานเอาไว้นานแล้ว และเมื่อศึกษาดู พบว่าเศรษฐกิจไทยนั้นขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจเปิด หมายถึงว่า ยังต้องพึ่งพาการค้ากับต่างประเทศเป็นหลัก โดยดูได้จากกราฟแสดงความสัมพันธ์ทางตลาดและการค้า จะพบว่า ประเทศไทยมีจีดีพีการส่งออก ถึงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าการส่งออกของไทยอันดับต้นๆ นั้น คือสินค้าด้านอิเลคทรอนิกส์ฯ ประมาณ 29.3 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าส่งออกทั้งหมด

 

"และข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐ ได้เน้นถึงสินค้าบริการ การลงทุน ด้านการเงิน การโทรคมนาคม ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งมาตรฐานทางด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมีตัวเลือกมากขึ้น และทำให้สินค้ามีราคาถูกลง เกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้สินค้ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะทำให้เกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าแรงงานภาคเกษตรอาจลดลง แต่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็อาจมีผลเสีย อาจมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบเดือดร้อนบ้าง"

 

นายโรเซ็น ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของสหรัฐ นั้นสนใจไทยในเรื่องสินค้าส่งออก การสร้างถนน สาธารณูปโภค แรงงาน เรื่องสิทธิการจัดตั้งแรงงาน กลุ่มต่อรองในเรื่องแรงงาน เป็นต้น

 

นอกจากนั้น นายโรเซน ยังกล่าวย้ำอีกว่า หากมีการตกลงทางการค้าไทย-สหรัฐ คาดว่าไทยจะสามารถนำสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7-8 เท่า และเชื่อว่าไทยน่าจะได้ประโยชน์ทางการค้ามากกว่าสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถามกลับไปมาว่า จากการที่บอกว่า ไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าสหรัฐนั้น แล้วทำไมทางสหรัฐจึงกระตือรือร้นที่จะจัดให้มีการลงนามข้อตกลงเอฟทีเออย่างนั้น

 

นายโรเซ็น กล่าวว่า เป็นเพราะการปรับตัวในการดำเนินการทางการค้าของสหรัฐ ขององค์การค้าโลกไม่ทันใจ ดังนั้น จึงมีความพยายามเร่งให้มีการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การค้าโลก นอกจากนั้นยังเกี่ยวกับเหตุผลทางการเมืองด้วย

 

"สรุปแล้วก็คือ การเปิดข้อตกลงทางการค้าเสรีไทย-สหรัฐ จะทำให้รูปแบบการค้าของไทยนั้นมีความยั่งยืน และจะทำให้เกิดการปฏิรูปในเรื่องของกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายเรื่องแรงงาน และจะทำให้การเจรจาการค้าเร็วขึ้น และจะทำให้การสู้รบทางการค้ากับกลุ่มอาเซียนลดน้อยลง หากไทยเร่งเจรจาในช่วงนี้ น่าได้ประโยชน์จากกรณีที่ไทยจะได้สิทธิพิเศษด้าน GSP ซึ่งจริงๆ แล้ว สหรัฐจะให้สิทธินี้แก่ประเทศที่ด้อยพัฒนา ประเทศที่ยากจนเท่านั้น เพราะในขณะนี้ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว"

 

อย่างไรก็ตาม นายประหยัด จตุพรพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการเรียนรู้ ตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ได้ลุกถามนายโรเซ็น ว่า ถ้าหากมองว่า เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ นั้นมีผลดี และจะทำให้ไทยได้ประโยชน์นั้น ขอให้ช่วยอธิบายเหตุผล ถึงกรณีประเทศเม็กซิโกที่เข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ แล้วทำไม 10 ปีผ่านมา เหตุใดเม็กซิโกถึงเกิดวิกฤติอย่างรุนแรง ทำไมเม็กซิโกถึงต้องนำเข้าข้าวโพด ถั่วเหลืองจากสหรัฐ ทำไมเกษตรกรถึงต้องยากจนและเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ทำไมค่าแรงของคนเม็กซิโกต้องลดลง ทำไมผู้บริโภคของเม็กซิโกต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น

 

ซึ่งนายโรเซ็น กล่าวด้วยสีหน้าไม่สู้ดีว่า ตนไม่ได้ศึกษากรณีของประเทศเม็กซิโก จึงไม่สามารถอธิบายในเรื่องดังกล่าวได้

 

ในขณะเดียวกัน ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล ผู้เข้าร่วมเสวนา ก็ได้ถามถึงประเด็นกรณีเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งนายโรเซ็น ก็ได้พยายามเลี่ยงบอกว่า เรื่องสิทธิบัตรยา เป็นเรื่องสลับซับซ้อน ซึ่งต้องใช้เวลาอธิบายกันอีกยาวนาน

 

อย่างไรก็ตาม นายโรเซน ได้กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ เอาไว้ว่า ในส่วนของสหรัฐ อำนาจในการเจรจาข้อตกลงดังกล่าว ขึ้นอยู่กับสมาชิกสภาคองเกรส ทั้ง 535 เสียง ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ทางสภาคองเกรสได้โอนอำนาจทั้งหมดให้กับนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะสิ้นสุดอำนาจในเดือนเมษายน ปี 2007 นี้

 

"ดังนั้น การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ อาจติดขัด เนื่องจากประเทศไทยในขณะนี้ มีปัญหาในเรื่องการเมือง เรื่องการเลือกตั้ง ในขณะที่สหรัฐเองก็มีปัญหาในเรื่องระยะเวลาในการให้อำนาจประธานาธิบดีถึงฤดูร้อนปี 2007 นี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท