Skip to main content
sharethis


นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่ประธานวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 142 และมาตรา 266 กรณีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 35 คน ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยกรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

 


โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติ 7 ต่อ 6 ไม่รับคำร้อง โดยมีประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น คือมาตรา 142 ส.ว.รักษาการดำเนินการยื่นเรื่องได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นว่า ส.ว.รักษาการมีอำนาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 เท่านั้น จึงไม่รับคำร้องดังกล่าว


 


ขณะที่ประเด็นมาตรา 266 ที่ประชุมไม่รับคำร้อง เนื่องจากประธานวุฒิสภายังไม่มีการใช้อำนาจวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากจำนวน7 คน ประกอบด้วย นายชุมพล ณ สงขลา นายปรีชา เฉลิมวานิช นายมานิต วิทยาเต็ม นายศักดิ์ เตชาชาญ นายสุธี สุทธิสมบูรณ์พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช และนายสุระ หวังอ้อมกลาง ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อยประกอบด้วย นายผัน จันทรปานนายธีระกุล พจนสุนทร นายนพดล เพ็งเจริญ นายมงคล สลาตัน นายสุวิทย์ ธีระพงษ์ และนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์


 


ด้าน 35 ส.ว.เตรียมยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ กกต. โดย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รักษาการ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ 35 ส.ว.ที่ให้วินิจฉัยความเป็นกลางของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า สังคมคงเหลือความหวังอย่างเดียวคือรอการวินิจฉัยของศาลอาญา แต่ในที่สุดทาง กกต.ก็จะต้องยื้อไปถึง 3 ศาล เพื่อยืดเวลาไปอย่างน้อยครึ่งปี ตอนนี้รักษาการ ส.ว.คงทำอะไรไม่ได้นอกจากจะมีการรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ เพื่อถอดถอนกกต. ซึ่งเป็นช่องทางที่ยากมาก


 


"อีกช่องทางหนึ่ง คือการยื่นคำร้องถึงผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการพิจารณาตามที่เราเสนอไปหรือไม่ เพราะหน่วยงานนี้ไม่แข็งเท่ากับศาลปกครองและศาลอาญา แต่เมื่อมีช่องทางดังกล่าวเราก็คงจะมาหารือกันว่าจะยื่นหรือไม่ ถ้าเห็นว่าสามารถยื่นได้ก็คงจะดำเนินการเป็นธรรมดาของการจัดการกับความหน้าด้านมันก็ต้องใช้ความอดทน" รักษาการ ส.ว. ผู้นี้ระบุ


 


ขณะที่ นายชุมพล ศิลปอาชา รักษาการ ส.ว.กทม. หนึ่งใน 35 ส.ว.กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยคำร้องการขาดคุณสมบัติของกกต. ว่า รู้สึกเป็นห่วงในการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญเพราะจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของวุฒิสภาในอนาคตด้วย


 


"หากการวินิจฉัยว่าวุฒิสภารักษาการมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 168 คือเฉพาะการประชุมเท่านั้นจะเป็นปัญหาอย่างยิ่งเพราะจะทำให้เกิดช่องว่างในการทำงานตรวจสอบของวุฒิสภา เพราะหลังจากพ้นวาระไปแล้ว แต่ยังไม่มี ส.ว.ชุดใหม่เข้ามาทำงานปัญหาก็เกิดขึ้น แล้วอย่างนี้จะจ่ายเงินเดือนไปทำไมในเมืองทำงานไม่ได้ หากเป็นอย่างนี้ถ้ามีการตีความอย่างเคร่งครัดให้ใช้เฉพาะมาตรา 168 เรื่องของการประชุมวุฒิสภา มาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องคงไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะ 135 เรื่องการแต่งตั้งบุคคล โดยเฉพาะการประชุมสมัยวิสามัญของรัฐสภาเพื่อเปิดการประชุมวุฒิสภา ในการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช.ก็คงทำไม่ได้" นายชุมพล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net