Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย วิทยากร บุญเรือง : สื่ออิสระล้านนา


 


 


มนุษย์ออกแบบเวลา ขีดแบ่งกั้นความแตกต่างออกเป็นฤดูกาลธรรมชาติ รวมถึงฤดูกาลที่ไม่เป็นธรรมชาติด้วย และขณะนี้ฤดูกาล World cup กำลังเริ่มต้นขึ้น 4 ปีมีหนหนึ่ง ถ้าจะทำตัวตกกระแสไม่พูดถึงกีฬาประเภทนี้ มันก็ดูจะกระไรอยู่


 


เกมกีฬาอันดับหนึ่งของมวลมนุษยชาติคืออะไร? ถ้าตั้งเป็นกระทู้ถามรายทาง คงไม่มีใครบ้าตอบเป็นมวยไทยหรือตะกร้อเป็นแน่แท้ ลองไปถามอาแปะข้างๆ บ้านหรือฝรั่งตาน้ำข้าวที่เข้ามาเที่ยวในเมืองไทย คำตอบที่เราจะได้ยินนั้นคือ "Football"


 


บุคคลที่เป็นหนี้ให้กับฟุตบอลมีมากมายๆ จริง (Pele, ปิยะพงษ์, Beckham - ชีวิตเขาเหล่านี้ได้ดิบได้ดีเพราะฟุตบอล) และบุคคลที่เป็นหนี้จริงๆ ให้กับฟุตบอลก็มีมาก (ผีพนันทั้งหลาย) … ถ้าลองมองไปรอบกาย ความเคลื่อนไหว (Dynamic) รอบตัว กระแสสังคมในแต่ละช่วงมีอะไรบ้าง? แน่ล่ะว่าเรื่องของฟุตบอลจะเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่สังคมให้ความสนใจ ดังนั้นฟุตบอลจึงเป็นอะไรที่มากกว่าเกมกีฬาไปแล้ว


 


โดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจ (Business) วันนี้เราลองมาพูดถึงเรื่องฟุตบอลในมุมมองนี้กันดูบ้าง


 


นิตยสาร Forbes เคยทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ โดยใช้ผลการแข่งขันของลีก (League) ประเทศอังกฤษ พบว่าก่อนทศวรรษที่ 1960 ผลการแข่งขันที่พลิกล๊อก ทีมต่ำชั้นชนะทีมใหญ่เกิดได้บ่อยครั้ง พูดได้ว่าโอกาสชนะของแต่ละทีมมีพอๆกัน แต่หลังจากการทำลายการจำกัดเพดานค่าเหนื่อยให้แก่ผู้เล่น (Wages) ทีมใหญ่เงินหนามีทุนมากกว่า ได้ตัวผู้เล่นดีๆไป ทำให้ทีมเหล่านั้นเริ่มมีการผูกขาดชัยชนะ(monopoly) การพลิกล็อกเกิดขึ้นน้อยลงเป็นเท่าตัว


 


แต่เนื้อแท้ของเกมฟุตบอลนั้น การแข่งขัน (competition) ถือว่าเป็นองค์ประกอบของเกมนี้ ถึงแม้ว่าทีมใหญ่ต้องการที่จะผูกขาดความสำเร็จ แต่ในแต่ละลีกอาจจะมีทีมแบบนี้ซัก 3-4 ทีม การแข่งขันแบบบอลลีกมันจึงเป็นแบบ oligopoly (มีพี่เบิ้ม 3-5 เจ้า) ดังเช่น


 


ลีกอังกฤษ นี่แน่นอน แมนฯยู , ลิเวอร์พูล , อาร์เซนอล , เชลซี


ลีกสก๊อต ก็ต้อง เซลติก กับ เรนเจอร์


อิตาลี ก็พี่ เอซีมิลาน , จูเวนตุส , โรมา , อินเตอร์มิลาน


 


และเนื่องด้วย ผลลัพธ์ความสำเร็จด้านการแข่งขันในเกม มิใช่หลักประกันความสำเร็จของทีมฟุตบอลอย่างเดียวต่อไปอีกแล้ว ตัวอย่างทีมที่จัดการบริหารด้านการเงินไม่ดี ที่เห็นแน่ๆ 2 ทีม คือ ฟิออเรนตินา ของอิตาลี และ ดอร์ทมุน ของเยอรมัน สองทีมนี้เคยใช้เม็ดเงินในการสร้างทีมจนสามารถคว้าความสำเร็จด้านการแข่งขันได้ แต่หลังจากนั้นมา ทั้งสองทีมเกิดวิกฤติการเงินอย่างหนักเป็นหนี้สินบานเบอะ และส่งผลทำให้ผลงานช่วงหลังย่ำแย่ลง


 


ทั้งนี้หลายทีมอาจจะเป็นทีมที่มีสภาวะแห่งฟองสบู่ พร้อมแตกอยู่ตลอดเวลา หากป้อนปัจจัยเข้าไปมากเกินผลที่จะได้ การจัดการสมัยใหม่(modern management) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกับฟุตบอลสมัยนี้มาก มันไม่ใช่แค่ว่าคุณยัดตัวผู้เล่นดีๆ ค่าตัว, ค่าเหนื่อยแพงๆ เข้าไปในทีม เตะแล้วได้แชมป์ … เงินรางวัลล่ะมันคุ้มไหม? ค่าตั๋วจากแฟนบอล? สปอนเซอร์? ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด? ลิขสิทธิ์สินค้า? แฟนคลับทั่วโลก? และอีกผลประโยชน์ยิบย่อยมากมาย เหล่านี้เป็นเหตุผลให้นักเตะ รีล มาดริด, แมนฯยู, ลิเวอร์พูล ต้องมาวิ่งเป็นมาหอบแดด เตะบอลกับทีมคนแคระแห่งประเทศไทยบ่อยๆ ในช่วงพักฤดูกาล


 


ข้อเสียของการแข่งขันแบบ oligopoly ล่ะมีไหม? ในทางทฤษฎีน่ะ! มีแน่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความซ้ำซากไม่แตกต่าง (slightly differentiate) การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน (mutual interdependence) การฮั้วการทำสัญญาลับ (collusion) การกีดกัน (party entry blocked) เป็นต้น


 


ในทางปฏิบัติในเกมแห่งฟุตบอล ทั้งในและนอกสนามล้วนมีสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น


 


ธุรกิจบันเทิง คือการนำเอาศิลปะมาทำเงินให้มากขึ้น ด้วยการนำเสนอในวงกว้างแบบมวลชน (mass) ธุรกิจการกีฬาก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะฟุตบอลที่ในรอบร้อยปีมานี้ หลายๆ ภูมิภาคในโลกก็เตะมันเป็นกิจวัตร … นักการตลาดไม่ต้องไปบุกเบิกเริ่มต้นอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ยัดคุณค่าในการทำเงินลงไปให้แก่กีฬาประเภทนี้เท่านั้น


 


สินค้าอะไรบ้างที่สามารถใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการตลาดได้ สังเกตง่ายๆ ลองดูป้าย banner รอบสนามฟุตบอลจากการถ่ายทอดทางทีวีดูสิ … เราจะเห็นว่าฟุตบอลนำเสนอสินค้าได้มากมายหลายอย่างจริงๆ (ปลุกผี Roland Barthes มาวิเคราะห์สัญญะ (sign) ป้ายโฆษณาข้างสนามบอล เขาจะต้องงงเป็นไก่ตาแตกกับความไม่สัมพันธ์กันของบางสิ่งบางอย่างกับเกมฟุตบอลแน่ๆ)


 


สิ่งที่ทำให้ฟุตบอลมีพลังในการตลาดอีกอย่างหนึ่งคือ การเข้าไปเล่นกับความใฝ่ฝัน เป็นจิตวิญญาณอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม นั่นก็คือ ความสำเร็จจากการเป็นยอดผู้เล่นของกีฬานี้ มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนชนชั้นและการได้รับการยอมรับจากสังคม เช่นเดียวกับ การเป็นร๊อคสตาร์ (Rock " n Roll Super star) … บอลโลกนี่เป็นการรวมตัวของมหาเศรษฐีพันล้าน มาเตะฟุตบอลให้เราดูนะครับ


 


ฟุตบอลกลายเป็นความมุ่งมั่น ความใฝ่ฝันของเด็กทั่วโลก (ไม่รู้ว่าถึงขั้นเป็นอุดมการณ์รึเปล่า?) การก้าวขึ้นไปเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพของเด็กละตินอเมริกาสมัยนี้ เทียบเท่ากับการก้าวไปเป็นนักรบจรยุทธ์ ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับ เช เกวาร่า (Che Guevara) ในอดีต …. เพียงแต่นอกจากความเท่แล้ว เป็นนักบอลยังได้ตังค์มากกว่าอีกต่างหาก (ส่วนนักรบจรยุทธ์มักได้รับลูกปืนจากจักรวรรดินิยม)


 


แต่หากการจะก้าวไปเป็นนักบอลอาชีพเก่งๆ อย่างน้อยต้องดูการถ่ายทอดฟุตบอล (จาก espn และผู้ผูกขาดลิขสิทธิ์เจ้าอื่นๆ ที่มีโฆษณาแฝงต่างๆ) , ต้องซื้ออุปกรณ์เสริม (adidas,nike) และต้องผ่านกระบวนการหลายกระบวนการทางการค้า ก่อนที่ก้าวไปถึงจุดนั้น ก่อนที่จะก้าวไปเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของกีฬาประเภทนี้ เด็กต้องเริ่มจากการเป็นผู้บริโภคมันเสียก่อน


 


มายาคติเกี่ยวกับเกมกีฬาฟุตบอล เช่น กีฬาต้านยาเสพติด, เพื่อความเป็นน้ำใจเป็นนักกีฬา, ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์, การเสริมสร้างสุขภาพ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่มีนักการตลาดเกี่ยวกับเกมกีฬานี้อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น


 


การที่จะมองอะไรเพียงด้านดีด้านเดียวเราคงไม่เห็นสิ่งที่แฝงเร้นภายใน บนโลกทุนนิยมไม่มีอะไรที่จริงใจกับเราหรอก ไม่มีอะไรที่ไม่หวัง "กำไร" จากเรา.


 


ฟุตบอล จึงมีนัยที่เป็นมากกว่าเกมกีฬา อย่างน้อยที่มันได้รับความนิยมสูงในปัจจุบันนั้น ก็เพราะมันเป็นเรื่องของธุรกิจบนโลกทุนนิยม และก็ไม่ใช่ธุรกิจแฝง แต่เป็นธุรกิจตรงๆโต้งๆ ที่สัมผัสจับต้องได้โดยตรง


 


ดังที่ von Wal Buchenberg คอลัมนิสต์ indymedia ของประเทศเยอรมัน(เจ้าภาพบอลโลก) ได้กล่าวไว้ว่า :


 


"Football is not proletarian, but a capitalistic kind of sport."


 


 


………………………………………………………………


ที่มา www.geocities.com/smallmagazine


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net