Skip to main content
sharethis



ขณะปีที่ 74 แห่งการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในสังคมไทยได้ดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ แต่ปรีดี พนมยงค์ยังเหลือมรดกทางปัญญาไว้ให้ศึกษาสืบทอด


 


ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาในหัวข้อ "ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์" ในงานปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2549 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการย้อนศึกษาแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ที่สังคมไทยไม่เคยเฉลิมฉลองให้


 


 0 0 0


 


ผลงานและความคิดของอาจารย์ปรีดีนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างที่เรารับรู้รับทราบกันอยู่โดยทั่วไป เช่น เข้าร่วมกับคณะราษฎรทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือบทบาทหน้าที่ต่างๆ ที่ดำรงตำแหน่งในภายหลัง แต่อีกด้านหนึ่ง กล่าวคือด้านความคิดและภูมิปัญญาของท่านอาจารย์ปรีดีนั้น เป็นผลิตผลที่สำคัญยิ่ง ที่ท่านได้มอบไว้เป็นมรดกทางปัญญาแก่เราในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าเราควรที่จะสนใจศึกษาและวิเคราะห์ความคิดและภูมิปัญญาของท่านในแง่มุมต่างๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การศึกษาต่อทางวิชาการความคิดด้วยการให้ความสำคัญในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ความใฝ่ฝันของอาจารย์ปรีดีสืบต่อไปได้ตราบนาน


 


วันนี้ (24 มิถุนายน) เมื่อ 74 ปีก่อน เป็นวันที่สำคัญต่ออนาคตของชาติ การอภิวัฒน์ในวันนั้นเสมือนเป็นหลักที่ปักลงบนเส้นทางของสังคมไทยแล้วว่าต่อไปนี้เราจะเดินไปสู่ทิศทางใด แม้ว่าบนเส้นทางนี้จะดูเหมือนล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง แต่สังคมไทยก็คงจะได้เรียนรู้ไม่มากก็น้อยตลอด 74 ปีที่ผ่านมา


 


และจะเรียนรู้ต่อไปด้วยสติปัญญา วิจารณญาณ ลดความเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ปราศจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบลงให้มาก เมื่อคณะราษฎรได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กับสังคมไทยมานานกว่า 74 ปีแล้ว ผมคิดว่าเพื่อมุ่งให้ไปสู่อุดมคติของสังคมในระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่า เราซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมไทยก็ควรเช่นกันที่จะได้อภิวัฒน์ให้ทัศนะประชาธิปไตยนั้นได้เกิดขึ้นในความคิดและจิตใจของเราเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุดมคติของระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้เตรียมไว้ให้พวกเราแล้วเมื่อ 74 ปีก่อน


 


ภราดรภาพนิยม


ประเด็นต่อมาคือ หัวข้อ ภราดรภาพนิยม ผมตั้งใจที่จะใช้คำภาษาฝรั่งเศส Solidarisme


การหยิบยกแนวความคิดภารดรภาพนิยม มิได้หมายความว่า ผมจะลบล้างความสำคัญของความคิดอื่น ๆ ของท่านอาจารย์ปรีดีตามที่มีผู้ได้ศึกษาค้นคว้าไว้แล้วแต่อย่างใด แต่ทุกท่านจะได้เห็นต่อไปว่า แนวคิด Solidarise เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดีพยายามเสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อปี 2476 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง "ฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในทางเศรษฐกิจ"


 


เมื่อลองย้อนดูโครงสร้างแนวคิดของอาจารย์ปรีดี ก็จะเห็นฐานความคิดที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่อง "สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย" แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างทางความคิดเรื่อง "สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย"


 


สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่อาจารย์ปรีดีอธิบายไว้มีวัตถุประสงค์ 5 ประการ แต่จริงๆ แล้วอาจสรุปลงได้เป็น 2 ส่วนคือ สังคมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยนั้นเป็นไปเพื่อชาติ และประชาชน


 


เกี่ยวกับชาติ ท่านพูดถึงหลักในเรื่องเอกราช อธิปไตย และสันติภาพ และท้ายสุดคือเรื่องความเป็นกลาง


 


ส่วนหลักประการสุดท้ายเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชน คือความไพบูลย์และประชาธิปไตยของประชาชนแนวคิดส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจจะอยู่ในส่วนนี้


 


อาจารย์ปรีดีได้ให้คำนิยามเรื่องประชาธิปไตยไว้ 3 ส่วน ส่วนแรกคือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 ประชาธิปไตยทางการเมือง และส่วนที่ 3 สังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย


 


อาจารย์ปรีดีอธิบายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจไว้ว่า "ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้นหมายถึงราษฎรส่วนมากของสังคมต้องไม่เป็นทาสของคนจำนวนส่วนข้างน้อยที่อาศัยอำนาจผู้ขาดเศรษฐกิจของสังคม และราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันพี่น้องออกแรงกายหรือแรงสมองตามความสามารถเพื่อผลิตสิ่งอุปโภคบริโภคให้สมบูรณ์"


 


แม้ว่าท่านจะได้ให้คำอธิบายนี้ไว้ในช่วงหลังๆ แต่ก็สามารถจะย้อนกลับไปอธิบายสิ่งที่ท่านพยายามนำเสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน


 


ภราดรภาพนิยมเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในเรื่องความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจารย์ปรีดีได้พยายามใช้ความคิดนี้อธิบายและแปรรูปออกมาให้เป็นเค้าโครงการเศรษฐกิจ และต้องถือว่านี่คือแนวคิดที่สำคัญในการอภิวัฒน์ ปี 2475


 


ความคิดในเรื่อง Solidarisme เกิดขึ้นมาได้อย่างไร


เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างไรที่ทำให้แนวคิด Solidarisme เกิดขึ้น ประเด็นนี้คงต้องให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ประการหนึ่งที่เราต้องระลึกไว้ตลอดเวลาในการทำความเข้าใจว่า ลัทธิ Solidarisme เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกระแสพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยการปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่ 3 (พ.ศ. 2418-2483) เป็นเวลา 65 ปี และอาจารย์ปรีดีได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงปี พ.ศ. 2463-2470 นั่นคือการเข้าไปอยู่ในบริบททางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองในสาธารณรัฐที่ 3 นั่นเอง


 


สาธารณรัฐที่ 3 เป็นสาธารณรัฐที่ยืนยาวที่สุดตั้งแต่ภายหลังปี ค.ศ.1789 (การปฏิวัติฝรั่งเศส) Solidarisme เป็นองค์ประกอบทางความคิดประการหนึ่งที่ทำให้สาธารณรัฐที่ 3 ก่อร่างสร้างตัวและเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงสาธารณรัฐที่ 5 ในปัจจุบัน


 


Solidarisme ที่อาจารย์ปรีดีรับมา มีคุณค่า สอดคล้อง และสามารถใช้ในบริบทสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด แม้แต่ก่อนที่อาจารย์ปรีดีจะเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีขึ้นในสังคมไทยในระยะนั้น ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้รับรู้ได้สัมผัสเพราะมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตทำนาอยู่กับบิดาถึง 2 ปี เป็นแรงผลักดันที่ทำให้อาจารย์ปรีดีศึกษาค้นคว้ารูปแบบการจัดการทางเศรษฐกิจของต่างประเทศว่ามีรูปแบบใดบ้างที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมไทยในอนาคต


 


ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ท่านได้สรุปไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจเมื่อปี 2476 ว่า "ตามหลักของข้าพเจ้านั้นเป็นหลายอย่างที่ข้าพเจ้าได้คัดเลือกเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซเชียลลิสม์ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ โดยถือว่ามนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน" และท่านอธิบายต่อจากนั้น เช่น คนจนนั้นฝูงชนทำให้จนก็ได้ หรือคนที่รวยเวลานี้ไม่ได้รวยเพราะแรงงานของตนเลย ผู้ที่มีที่ดินมาคนหนึ่งในกรุงเทพฯ เดิมที่ดินมีราคาน้อย ต่อมาที่ดินมีราคาแพง สามารถสร้างตึกสูงๆ ได้ ดังนี้ ราคาที่ดินที่แพงขึ้นนั้นก็เกิดมาจากฝูงชน ไม่ใช่เพราะการกระทำของคนนั้น "ฉะนั้นจึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน และร่วมกันในการประกอบการเศรษฐกิจ"


 


ผมคิดว่านี่เป็นบทสรุปที่สำคัญที่ทำให้เราเห็นแก่นหรือหัวใจของเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ท่านได้พยายามเสนอ


 


ในขณะเดียวกัน ถ้าเราย้อนดูในคำอธิบายกฎหมายปกครองที่ท่านเขียนและใช้เป็นตำราสอนในโรงเรียนกฎหมายก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ในส่วนที่ท่านพูดถึงภาระบทบาทหน้าที่ของรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปกครองนั้น ท่านเคยจำแนกแยกแยะภารกิจของรัฐไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางปกครองนั้นทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งคือในทางบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งท่านได้จำแนกไว้เป็น 3 จำพวกด้วยกันก็คือ จำพวก Liberalisme พวกเสรีนิยมที่ปล่อยให้เศรษฐกิจนั้นมีการพัฒนาไปตามแรงผลักดันของตลาด, Socialisme


 


และอีกพวกหนึ่งที่ท่านถือว่าเป็นรัฐบาลที่ผสมระหว่าง Liberalisme กับ Socialisme ซึ่งท่านยกตัวอย่างหลายตัวอย่างมาก และที่สำคัญที่สุด ท่านยกตัวอย่างลัทธิ Solidarisme


 


ท่านสรุปสาระสำคัญของลัทธินี้ว่า "ตามลัทธินี้ มนุษย์ย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน จึงควรจัดให้มีสหกรณ์ต่าง ๆ ในการประดิษฐ์ ในการใช้ จำหน่าย เป็นต้น ในเบื้องแรกเมื่อการศึกษายังไม่เจริญถึงขีด ก็จะต้องมีการบังคับ" นี่เป็นร่องรอย หรือแนวความคิดที่อาจารย์ปรีดีทิ้งไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำรากฎหมายปกครองนั้นเป็นตำราที่เกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจจะให้เรามองเห็นความคิดของท่านชัดขึ้นว่าท่านคิดอะไรอยู่


 


หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว หลังมีการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแล้ว ก็เป็นดังที่ทราบกันดีว่าเหตุการณ์ภายหลังต่อมานั้น เกิดมีความขัดแย้งกันขึ้นในคณะรัฐบาลของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์เป็นเหตุให้อาจารย์ปรีดีถูกเนรเทศและถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์


 


ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายว่า การที่จะพยายามทำความเข้าใจเรื่อง Solidarisme ให้เป็นที่กระจ่างในขณะนั้นก็คงจะเป็นการยาก เพราะว่ามีอุปสรรคอยู่หลายอย่าง เช่นไม่มีตำราที่อธิบายอย่างชัดเจนเห็นแจ้งว่าสิ่งที่อาจารย์ปรีดีพยายามนำเสนอนั้นคืออะไร อีกอย่างหนึ่งเมื่อท่านประสบปัญหา ท่านเองคงเห็นว่านี่เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างยิ่ง ภายหลังต่อมาเมื่อท่านให้สัมภาษณ์แก่อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ท่านก็บอกว่า สิ่งที่ท่านทำนั้นเร็วเกินไป แม้ผู้ใหญ่หลายท่านก็คิดจะไปด้วยกันได้ แต่ก็คงทำให้หลายท่านไม่สะดวกใจที่จะยอมรับ เพราะฉะนั้นท่านจึงงดเว้นเสียที่จะไม่พูดถึง


 


ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า เราไม่สามารถได้รับคำอธิบายจากปากคำจากผู้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจด้วยตัวเอง ว่าจริง ๆ แล้วที่ท่านต้องการทำนั้นมีรายละเอียด มีฐานทางความคิดหรือมีประเด็นปลีกย่อยใดๆ อีก


 


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าตลอด 73 ที่ผ่านมาในสังคมไทย เราคงจะยืนอยู่ในภาวะที่พร้อมที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่อาจารย์ปรีดีปรารถนาจะอย่างให้มีขึ้นในสังคมไทยเมื่อ 74 ปีก่อน และน่าจะเป็นหนทางทางปัญญาที่ถูกต้องที่เราจะหยิบยกเรื่องนี้มาศึกษาใคร่ครวญอย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่ท่านต้องการนำเสนอคืออะไร และจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไปในอนาคตได้อย่างไรบ้าง


 


Soridarisme หมายถึงอะไร


เมื่อถามว่าภราดรภาพนิยม (Soridarisme) หมายถึงอะไร คนทั่วไปอาจจะมีปัญหาอยู่นิดหน่อย แต่เมื่อพูดในแง่กฎหมายหรือหลักนิติศาสตร์ นักนิติศาสตร์น่าจะคุ้นเคยกับหลักประการหนึ่งคือ หนี้ร่วม หรือ ลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้ร่วม


 


เดิมในกฎหมายโรมันเรียกว่า insoridum คือการที่ลูกหนี้หลายคนเป็นหนี้ร่วมในหนี้เดียวกัน เพราะฉะนั้นเขามีหน้าที่ที่จะชดใช้หนี้ ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งเมื่อทำการชดใช้หนี้ไป ก็เป็นการชดใช้แทนลูกหนี้ทั้งหมด ลักษณะอย่างนี้ทำให้เราเห็นว่า การกระทำของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งกระทำการเพื่อเป็นไประโยชน์ร่วมกันของลูกหนี้ร่วมทุกคน


 


ต่อมาในประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสก็ได้หยิบเอาหลักการทางนิติศาสตร์นี้มาใช้ และก็แยกแยะอธิบายในฐานะที่เป็นหลักทางนิติศาสตร์


 


กระทั่งในศตวรรษที่ 19 คำว่า Solidarity หรือ Solidarité ในภาษาฝรั่งเศส จึงได้ถูกนำมาใช้ในวงวิชาการทางสังคมศาสตร์ เดิมเป็นคำที่ใช้อยู่ในวงวิชาการทางนิติศาสตร์ โดยนำมาปรับขยายความให้มีความหมายทางสังคมศาสตร์มากขึ้น จากนั้นจึงนำมาใช้ในทางปรัชญา


 


จนกลางศตวรรษที่ 19 หลักคิดเรื่อง Solidarité จึงกลายมาเป็นหลักคิดทางปรัชญาที่สำคัญประการหนึ่งของฝรั่งเศส ซึ่งได้พัฒนาต่อไปภายหลัง ค.ศ.1850 เป็นต้นมา


 


ภราดรภาพนิยม เป็นความคิดที่ค่อยๆ พัฒนามาจากความคิดทางนิติศาสตร์ เข้าสู่สังคมศาสตร์ และเข้าสู่หลักทางปรัชญา เราต้องเข้าใจว่าหลัก Soridarisme ภายหลังศตวรรษที่ 19 หรืออย่างน้อยกลางศตวรรษที่ 19 ก็ได้กลายมาเป็นหลักทางปรัชญาสังคมที่สำคัญของการเมืองในสาธารณรัฐที่ 3 และเป็นระบอบการเมืองที่ยืนยงยาวนานถึง 65 ปี จนกระทั่งอาจารย์ปรีดีเข้าไป และได้สัมผัสบรรยากาศและบริบทการเมืองและสังคมเช่นนี้


 


พัฒนาการทางสังคมของฝรั่งเศสที่ก่อแนวคิด Soridarisme


ประสบการณ์ของฝรั่งเศสนั้น นับตั้งแต่สมัยแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส กษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความไม่พอใจของราษฎรชาวฝรั่งเศสทั้งมวลและนำไปสู่การปฏิวัติ สัญลักษณ์ที่สำคัญก็คือการเข้ายึดคุกบาสติลล์ ในปี 1789 นำมาซึ่งผลผลิตทางปัญญาที่สำคัญประการหนึ่งของโลกตะวันตก ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นการรับรองสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผลจากการถูกบีบคั้นทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง


 


หลังจากนั้น นายพลนโปเลียนได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ เป็นจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต หลังจากนั้นสงครามวอเตอร์ลูในปี 1865 ได้ทำให้อำนาจของจักรพรรดินโปเลียนหมดสิ้นไป เป็นที่น่าแปลกใจว่า ฝรั่งเศสได้กลับคืนมาสู่ระบอบราชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แต่ว่ามีรัฐธรรมนูญ ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แล้วเกิดการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่งในปี 1830 แล้วจากนั้นฝรั่งเศสได้กลับคืนสู่ความเป็นสาธารณรัฐอีกครั้งหนึ่ง เป็นสาธารณรัฐที่ 2 มีพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปเป็นผู้ปกครอง แล้วก็มีการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี 1848


 


หลังจากนั้นฝรั่งเศสเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจสังคมและการปฏิวัติอุตสาหกรรม จากนั้นเมื่อพ่ายแพ้ในสงครามกับปรัสเซียในปี 1870 เป็นจุดกำเนิดของการสร้างสาธารณรัฐที่ 3 มีประธานาธิบดีเป็นประมุข


 


ผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้ทำให้สังคมฝรั่งเศสเปลี่ยนไปอย่างมาก เกิดปัญหาสังคมมาก เช่นเรื่องค่าแรง ความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน เป็นประเด็นปัญหาถกเถียงที่สำคัญมากในสมัยสาธารณรัฐที่ 3


 


ถ้าเรามองดูช่วงปลายสตวรรษที่ 19 จะพบว่างานของคาร์ล มาร์กซ์ ได้เขียนขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และในช่วงนั้นในฝรั่งเศสเองก็มีการต่อสู้ทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นพวกฝ่ายเสรีนิยม สังคมนิยม สังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ แต่ฝ่ายที่น่าจับตาก็คือฝ่ายที่เรียกว่า Radical ซึ่งในบริบทสังคมฝรั่งเศสไม่ได้หมายถึงพวกหัวรุนแรง แต่หมายถึงกลุ่มที่มีแนวความคิดต่างไปจากแนวคิดสังคมนิยม คือฝ่ายที่ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางใดแนวทางหนึ่ง แต่พยายามสร้างฐานทางความคิดและทฤษฎีทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองให้กับพวก Radical ด้วยกันเอง ซึ่งได้พัฒนาต่อมาภายใต้ความคิดที่เรียกว่า Soridarisme


 


หลักการ Soridarisme


ลัทธิโซลิดาริสม์เริ่มต้นที่ ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่นอกแวดวงของมหาวิทยาลัยก็มีอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น Radical คือเลอง บูชัวร์


 


Soridarisme ในความหมายของชาร์ลส์ จิ๊ด มองว่า มนุษย์ในสังคมมีความเป็นอยู่ร่วมกัน โดยเปรียบเทียบกับองคาพยพของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานประสานสอดคล้องกัน เพื่อการเป็นอยู่ของชีวิตนั้นเอง


 


เลอง บูชัวร์ นักการเมืองคนสำคัญในสมัยสาธารณรัฐที่ 3 เป็นนักทฤษฎีที่จัดระบบความคิด เป็นผู้ขยายความให้เป็นแบบแผนมากขึ้น


 


เลอง บูชัวร์พยายามให้คำอธิบายกับ Soridarisme ให้ชัดเจนขึ้นทั้งในแง่ทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติทางการเมืองและเลอง บูชัวร์ก็ใช้หลักคิด Soridarisme ในการทำงาน


 


สาระสำคัญของเลอง บูชัวร์ อยู่ตรงที่ว่า มนุษย์เกิดมามีเสรีภาพ แต่เสรีภาพนี้ต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วย หมายความว่ามนุษย์เกิดมามีเสรีก็จริง แต่มนุษย์นั้นผูกพัน มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกของตนเองด้วยในขณะเดียวกัน นั่นคือมนุษย์เกิดมาไม่ได้มีแค่เสรีภาพแต่มีหน้าที่ตามมาด้วย หน้าที่นี้เองที่เลอง บูชัวร์ ได้นำมาใช้เป็นแก่นในการอธิบายลัทธิ Soridarisme ในเรื่องพันธะของมนุษย์ในทางสังคม


 


พันธะในทางสังคมของเลอง บูชัวร์ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามนุษย์นั้น นอกจากจะเป็นผู้มีสติปัญญาทำความเข้าใจธรรมชาติ รับรู้ สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยสติปัญญาแล้ว อีกประการหนึ่งคือ มนุษย์ยังเป็นผู้มีจิตสำนึก ความเป็นผู้มีสติปัญญาและความเป็นผู้มีจิตสำนึก 2 ประการนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานให้เลอง บูชัวร์พัฒนาความคิดเรื่อง Soridarisme ขึ้น คือ 1. มนุษย์ต้องใช้ความรู้และ 2 มนุษย์ต้องคำนึงถึงหลักศีลธรรม และนี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ความคิดแบบ Soridarisme มีน้ำหนักขึ้น เพราะในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการโต้แย้งกันระหว่างความคิดแบบเสรีนิยมกับความคิดแบบสังคมนิยม และ Soridarisme อยู่ตรงทางสายกลางของสองแนวคิดที่สุดโต่งนี้


 


เลอง บูชัวร์ บอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้ามารวมอยู่ในรัฐนั้น คือการต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง รัฐนั้นเป็นอุปกรณ์อันหนึ่งในการช่วยให้สังคมก้าวต่อไปข้างหน้า แต่สิ่งที่สำคัญในรัฐก็คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันเอง


 


การมองเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เกิดจากการที่มองเห็นว่าความสัมพันธ์ที่เห็นได้ชัดจนที่สุดคือเรื่องการแบ่งงานกันทำ การที่มนุษย์แบ่งงานกันทำในสังคมนั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นการแบ่งงานกันเพื่อที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นหลักอีกประการที่สำคัญของ Soridarisme ก็คือ การที่เราจะต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสังคมให้พ้นจากความเสี่ยงภัยต่างๆ ที่ชีวิตมนุษย์แต่ละคนต้องประสบ


 


หลักอีกประการหนึ่งของ Soridarisme คือ หลักเรื่องการเข้ามารวมกัน หรือเข้ามาช่วยกันทำหน้าที่ทำงานให้กับสังคม แต่ก็มีปัญหาว่าเมื่อเราวางความคิดเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว เราจะนึกถึงรูปแบบอย่างไรได้บ้าง ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงในหมู่ Soridarisme เช่น ชาร์ลส์ จิ๊ด มองว่าน่าจะนำรูปแบบสหกรณ์มาใช้ แต่ Soridarisme คนอื่นๆ อาจจะมองว่าอาจจะเป็นการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรย่อยๆ เพื่อรวมกลุ่มกันทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ทางสังคมและการเมือง


 


ลัทธิอื่นมอง Soridarisme อย่างไร


ลัทธิอื่นมอง Soridarisme ว่าเป็นความคิดที่ค่อนข้างเลื่อนลอย เป็นยูโทเปีย เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ เสรีนิยมก็จะบอกว่าความคิดแบบ Soridarisme เป็นความคิดที่ไม่สามารถเอามาใช้ได้จริง มนุษย์ย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และความต้องการของตนเอง ในขณะที่ฝ่ายสังคมนิยมก็จะวิพากษ์วิจารณ์ Soridarisme ว่าเป็นพวกนายทุนที่พยายามที่จะสลัดข้อบกพร่องบางประการ ซึ่งทำให้ Soridarisme ไม่สามารถเข้าสังกัดเสรีนิยมได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถสังกัดเข้ากับกลุ่มสังคมนิยมได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน


 


ความคิด Soridarisme มีอิทธิพลอย่างไรบ้างต่อปรีดี พนมยงค์


เมื่อย้อนไปดูคำอธิบายกฎหมายปกครอง ก็จะอธิบายให้เราเห็นว่า เจตนารมณ์ส่วนหนึ่งที่ท่านเขียนคำอธิบายกฎหมายปกครองขึ้นก็เพื่อว่าจะทำให้สังคมไทยคุ้นเคยหรือรับรู้ว่าระบบการปกครองรูปแบบไหนที่มีกำลังจะมีขึ้น หรือการปกครองในประเทศที่ศิวิไลซ์นั้นเป็นอย่างไร และพยายามชี้ให้เห็นด้วยว่า สุดท้ายแล้วในทางเศรษฐกิจการเมืองนั้น สังคมไทยมีทิศทาง หรือความเป็นไปได้แบบไหนได้บ้าง


 


เราจะเห็นว่าลัทธิ Soridarisme เป็นแบบอย่างหนึ่งที่อาจารย์ปรีดีอธิบายไว้ในคำอธิบายกฎหมายปกครอง


 


และเราจะเห็นว่าคำอธิบายที่เป็นหัวใจสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นก็อยู่ในทิศทางเดียวกันกับคำอธิบายของ Soridarisme ในเรื่องการร่วมกันเข้าประกอบการร่วมกันระหว่างราษฎร หรือการร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน


 


นี่ก็เป็นแนวคิดที่อาจารย์ปรีดีได้รับอิทธิพลมา ท่านเคยอธิบายไว้ว่า "มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันดังกล่าวแล้ว มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์อื่นก็รับทุกข์ด้วย จะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้นเพียงแต่มีความอิสระและมีความเสมอภาคจึ่งยังไม่เพียงพอ จึงยังต้องมีการช่วยเหลือกันฉันพี่น้องด้วย"


 


Soridarisme กับ พุทธศาสนา


หลักคิดหรือว่าแรงบันดาลใจที่เป็นตัวตนของท่านอาจารย์ปรีดีอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้มองมนุษย์ด้วยกันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ มีความเมตตากรุณาต่อกัน เป็นหลักที่สำคัญของพุทธศาสนา


 


แม้ความคิดแบบ Soridarisme จะเกิดขึ้นในบริบทสังคมที่ต่างไป แต่โดยที่มันเปลี่ยนแปรสภาพคำอธิบายที่กลายมาเป็นวิทยาศาสตร์สังคมแล้ว Soridarisme สอดคล้องไปกันได้กับแนวความคิดของพุทธศาสนา


 


แม้ท่านอาจารย์ปรีดีจะไม่มีโอกาสอธิบาย แต่ก็มีบุคคลท่านหนึ่งที่ได้อธิบายความคิดในเรื่องนี้ แม้จะไม่ใช่การอธิบายถึง Soridarisme โดยตรง แต่ก็เป็นการอธิบายที่ใกล้เคียง คือท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งอธิบายถึงเรื่อง "ธรรมิกสังคมนิยม"


 


ท่านพยายามชี้ให้เห็นว่าจะต้องอยู่ร่วมได้ในสังคมระหว่างนายทุนและกรรมกร ต่างฝ่ายต่างเอื้ออาทรต่อกัน เมตตาต่อกัน ศีลธรรมเป็นใหญ่


 


คำอธิบายของท่านพุทธทาสไม่เพียงแต่ใช้ได้ในทางเศรษฐกิจ ท่านมุ่งหมายให้เป็นหลักธรรมที่สำคัญ เป็นหลักพื้นฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาสามารถไปกันได้กับหลักการ Soridarisme


 


ผมคิดว่าประเด็นนี้ อาจารย์ปรีดีคงจะมองเห็นว่า Soridarisme เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะยอมรับได้ เพราะว่า Soridarisme โดยสาระสำคัญก็คือการคำนึงถึงศีลธรรมของมนุษย์ในการปฏิบัติต่อกันในทางเศรษฐกิจนั่นเอง Soridarisme จึงไม่ขัดแย้งกับสังคมไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นกรอบที่สำคัญ


 


Soridarisme คือหัวใจสำคัญที่สุดของเค้าโครงการเศรษฐกิจในปี 2476


ประเด็นสุดท้าย สิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้นำเสนอไว้ในโครงการเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2476 เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อเรามองเห็นชัดเจนแล้วว่าการกล่าวหา หรือการต่อสู้ทางการเมือง ทำให้หนทางที่เป็นภูมิปัญญามันถูกลบเลือนไป สิ่งที่อาจารย์ปรีดีมุ่งหวังให้เป็นอุดมคติของสังคมไทยเมื่อ 73 ปีก่อน เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวน และน่าจะต้องทบทวนเป็นอย่างยิ่ง


 


Soridarisme ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และไม่ใช่เสรีนิยม แต่เป็นทางสายกลางอันหนึ่งที่วางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเองในทางเศรษฐกิจ ซึ่งในความเห็นของผม Soridarisme นี่แหละคือหัวใจสำคัญที่สุดของเค้าโครงการเศรษฐกิจในปี 2476


 


………………………………………………………………………


หมายเหตุ


ปาฐกถา "ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2549 โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์

เอกสารประกอบ

เอกสารประกอบการปาฐกถา ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล (ฉบับเต็ม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net