ปรีดี-กุหลาบ-พุทธทาสภิกขุ : สามัญชนที่หล่นหายในการตัดต่อความทรงจำ


วันที่ 24 มิถุนายน 2549 สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ขึ้นพร้อมมีการอภิปรายหัวข้อ "ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พุทธทาสภิกขุ บุคคลสำคัญของโลก"ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชมัยภร แสงกระจ่าง สันติสุข โสภณศิริ พระดุษฎี เมธังกุโร ดำเนินรายการโดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ


 

ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นพูด นอกจากการยกย่องในความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นสามัญชนและการอภิปรายถึงลักษณะร่วมกันของบุคคลซึ่งเกิดร่วมยุคสมัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การหล่นหายไปของแนวคิด และตัวตนของคนสามัญ 3 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรีดี พนมยงค์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์

 

0 0 0

 

"จะว่าไปแล้วสังคมไทยก็ถูกตัดต่อความทรงจำเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ 2476 เพราะกรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของอาจารย์ปรีดี สังคมไทยก็ได้คอมมิวนิสต์คนแรกชื่อนายปรีดี พนมยงค์ นั่นคือการตัดต่อความทรงจำครั้งที่ 1 และมาถูกตัดต่ออีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ซึ่งเป็นวันที่เกิดกรณีสวรรคต"

 

"การตัดต่อตัดตอนนั้นเป็นไปเพื่อลบคนที่ชื่อนายปรีดี พนมยงค์ หรือคณะราษฎรที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ หรือฝ่ายทหารเรือที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีกบฏวังหลวง และกรณีกบฏสันติภาพ"

 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวและร่ายเรียงประวัติศาสตร์แห่งการตัดต่อความทรงจำเป็นลำดับ คือลำดับแรก ปี 2476 หลังปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ และประเทศไทยก็ได้คอมมิวนิสต์คนแรกชื่อปรีดี พนมยงค์

 

ลำดับที่ 2 กรณีวันสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2489 ลำดับที่ 3 เมื่อจอมพลผิน ชุณหะวัน ทำการรัฐประหารเมื่อ 2490 ตัดต่ออีกครั้งหนึ่งในกรณีของกบฏวังหลวง ลำดับที่ 4 กรณีกบฏแมนฮัตตัน ในปี2494 และ ลำดับที่ 5 กรณีกบฏสันติภาพ

 

โดยสุชาติ สรุปว่า การตัดต่อตัดตอนนั้นเป็นไปเพื่อลบคนที่ชื่อนายปรีดี พนมยงค์ หรือคณะราษฎรที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ หรือฝ่ายทหารเรือที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีกบฏวังหลวงและกรณีกบฏสันติภาพ และท้ายที่สุดก็ถูกตัดตอนอีกครั้งในช่วงปี 2500-2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

"ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกว่า "ความคิดที่ถูกต้อง" นั้นถูกตัดต่อตัดตอนไปในหลายช่วงของสังคมไทย ตั้งแต่เกิดการอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา ซึ่งหากเราพิจารณาจากงานของบุคคลทั้ง 3 คน (ปรีดี กุหลาบ และพุทธทาสภิกขุ) ที่ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้ว สิ่งที่ท่านทำ สิ่งที่ท่านคิดมันเกิดขึ้นเป็นรากเหง้าอยู่ในสังคมไทย เกิดขึ้นมาพร้อมกับการอภิวัฒน์สังคมไทยเมื่อ พ.ศ. 2475 แต่ว่ามันไม่ราบเรียบ ไม่ราบรื่น มีอุปสรรคต่างๆ นานา และอุปสรรคที่ชัดเจนที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ก็คือกรณีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489"

 

"ดิฉันเป็นคนที่ถูกตัดต่อความทรงจำมากที่สุด เพราะเติบโตมาในช่วงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นช่วงที่ความรู้ความทรงจำ ถูกตัดต่อไปมาก แล้วกว่าจะมารู้ก็เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ดิฉันเองโตมากับหนังสือกลุ่มค่ายสยามรัฐ เพราฉะนั้น ดิฉันเรียนรู้ช้ากว่าทุกคน และที่มีโอกาสเรียนรู้ช้ามากที่สุด คือการเรียนรู้จากศรีบูรพา เพราะห้องสมุดทั่วไปมี "ข้างหลังภาพ" มี "สงครามแห่งชีวิต" แต่ไม่มี "แลไปข้างหน้า" " ชมัยภร แสงกระจ่าง กล่าวรับผลของการตัดต่อความทรงจำโดยใช้ตัวเองเป็นพยาน พร้อมกล่าวว่า หากลองใช้คำว่า "ถ้า" เช่น ถ้ากุหลาบ สายประดิษฐ์ มีโอกาสทำหนังสือต่อเนื่องมา เราจะมีโอกาสได้อ่านหนังสือแบบไหน คำตอบย่อมน่าตกใจ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า เราพลาดที่จะได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง

 

สำหรับแนวคิดและผลงานของอาจารย์ปรีดีนั้น ไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า เธอจะไม่เคยเรียนรู้และสัมผัสมาก่อนจนกระทั่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เอง นั่นเป็นเพราะเธอถูกทำให้เชื่อว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น เป็นเรื่อง "อันตราย"

 

สำหรับผลงานของพุทธทาสภิกขุ เธอกล่าวว่า แม้ท่านพุทธทาสจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่หลักธรรมของพุทธทาสภิกขุนั้น ก็หาได้รับการยอมรับจาก "กระแสหลัก" แต่อย่างใด เช่นกัน

 

จุดร่วมของ 6 ประการแห่งความเป็นสามัญชน

สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวว่า ปรีดี พนมยงค์ พุทธทาสภิกขุ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลร่วมสมัยกัน และสิ่งที่ทั้ง 3 มีร่วมกัน คือการเป็นผู้สร้างสังคมทั้งทางโลกและทางธรรม ถือเป็นคนที่อยู่ใน "สำนึกคิด" เดียวกัน และเป็นคนที่อยู่ร่วมในศตวรรษแห่งสามัญชน

 

โดยที่สามัญชนทั้งสาม มีลักษณะร่วมกัน 6 ประการ

 

ประการแรก เป็นสามัญชนที่เกิดมาดี คือเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองไม่ใช่เป็นสมมติเทพหรือเป็นสมมติเทพ หรือเป็นเทวราช เป็นมนุษย์ธรรมดาที่เกิดมามีเหตุมีผล

 

ประการที่ 2 เป็นสามัญชนที่เกิดมาเพื่อประโยชน์ของคนอื่น "ในเรื่องสั้นซึ่งคุณกุหลาบเขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2487 เขียนว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น" ซึ่งผมคิดว่า นี่คือความหมายที่พิสูจน์ชีวิตการงานของคุณกุหลาบ และพิสูจน์ชีวิตการงานของท่านพุทธทาสและอาจารย์ปรีดีด้วย" สุชาติขยายความว่า การเกิดมาเพื่อผู้อื่น คือการเกิดมาเพื่ออยู่ข้างผู้คนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบ พูดง่ายๆ ก็คือยืนอยู่ข้างคนจนและยืนอยู่ข้างธรรมะนั่นเอง

 

ประการที่ 3 เป็นสามัญชนที่แสวงหา และเป็นสามัญชนที่เทศนาในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ขณะที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สร้างฐานความคิดเรื่องการปกครองและทำการอภิวัฒน์เมื่อปี 2475 กุหลาบ สายประดิษฐ์ก็มีความเสมอต้นเสมอปลาย ในหลักคิดเรื่องมนุษยชน ซึ่งเป็นงานเขียนของคนอายุ 24 ที่เขียนขึ้นก่อน พ.ศ.2475 เล็กน้อย และบทความเรื่อง "มนุษยภาพ" ของกุหลาบ ได้ให้ภาพที่เป็นการพิสูจน์ว่าขณะนั้น สังคมไทยพร้อมแล้วที่จะยอมรับความคิดแบบใหม่ กุหลาบเขียนว่า "มนุษย์นั้นเป็นอิสรชน" และ "มนุษย์นั้นไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม แต่เขาต้องมีความซื่อตรง เพราะว่าความจริงคือความซื่อตรง"

 

สำหรับผลงานของพุทธทาสภิกขุ เป็นหลักคิดที่ไปด้วยกันกับคุณกุหลาบ และปรีดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมาธิปไตย หรือ ธรรมิกสังคมนิยม

 

ประการที่ 4 คือเป็นสามัญชนที่เชื่อว่าความคิดที่ถูกต้องสำคัญกว่าเสรีภาพ สุชาติอ้างอิงถึงคติที่เขียนไว้ในหน้าสารบัญของนิตยสารอักษรสาสน์ว่า "ความคิดที่เสรีนั้นก็ดีอยู่ แต่ความคิดที่ถูกต้องย่อมดีกว่า" โดยที่ขณะนั้นกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการบทความของนิตยสารดังกล่าว และมีสุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการนิตยสาร

 

"เป็นการทำหนังสือที่ก้าวหน้ากล้าหาญมาก เพราะเป็นนิตยสารที่เกิดขึ้นมาในช่วง พ.ศ.2492 ช่วงที่กระบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ถูกมองในฐานะว่าเป็นกบฏวังหลวง

 

ประการที่5 เป็นสามัญชนที่เห็นเกียรติสำคัญกว่าทุกสิ่ง และด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ 2 ท่าน คืออาจารย์ปรีดี และคุณกุหลาบ ต้องระหกระเหินถูกอำนาจมืดเล่นงาน เกียรติคือรากฐานของสิ่งที่เรียกว่ามนุษยภาพ เกียรติคือรากฐานของสิ่งที่เรียกว่าการรับใช้ผู้อื่น เกียรติคือรากฐานของความคิดที่ถูกต้อง สำหรับท่านพุทธทาสนั้น เกียรติก็หมายถึงการได้รับใช้พระพุทธเจ้าในแง่ของการเผยแพร่ความคิดที่ถูกต้องนั่นเอง

 

ประการที่ 6 ในฐานะที่เป็นสามัญชนธรรมดา บุคคลทั้ง 3 ใช้ชีวิตสมถะและเรียบง่าย "ความเป็นสามัญชนของบุคคลทั้งสาม เป็นผู้รู้แจ้ง คือมิใช่เป็นเพียงผู้รู้อย่างเดียว แต่เป็นผู้รู้สำนึกมีจิตสำนึกต่อสังคม รู้พันธะ คือรู้ความถูกต้องชั่วดี ละอายต่อความชั่วเกรงกลัวต่อบาป รู้หน้าที่ว่าจะยืนอยู่ข้างผู้ใด กลุ่มใด ซึ่งสิ่งนี้เองที่สะท้อนให้เห็นจิตใจของคนทั้งสาม

 

ถ้อยคำที่สูญหาย หรือสังคมไทยเรียนรู้ช้าจนล้าหลัง

" ความเป็นสามัญชนที่เรียบง่ายนั้น ประกอบด้วยการนึกรู้พันธะรู้หน้าที่ หมายความว่า ความรู้ต้องคู่กับศีลธรรม หรือจะเรียกว่าความรู้คู่คุณธรรมก็แล้วแต่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนกับบุคคลทั้ง 3 ที่ท่านได้สร้างภาพรวมให้เราเห็นถึงสังคมไทย ว่าควรจะเป็นสังคมที่มีสันติภาพ มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ และเป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม" สุชาติกล่าวสรุปความเป็นสามัญชนของปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และพุทธทาสภิกขุ และตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า นับแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ซึ่งเป็นคำที่ ปรีดี พนมยงค์ กล่าวไว้นั้น จนทุกวันนี้คำนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

 

พระดุษฎี เมธังกุโร ผู้เคยศึกษาธรรมใกล้ชิดกับพุทธทาสภิกขุ กล่าวสรุปในประเด็นนี้ว่า ทั้งสามสามัญชนนั้น ล้วน 'ตาย" ในลักษณะเดียวกัน เป็นการตายที่แสดงว่า คนรุ่นหลังไม่เข้าใจสิ่งที่บุคคลทั้งสามเสนอมาตลอดชีวิต นั่นคือ ปรีดี พนมยงค์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ ต้องไปเสียชีวิตในต่างแดน ขณะที่พุทธทาสภิกขุ ซึ่งปรารถนาจะตายในวัด เพื่อให้การตายเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่ก็ไม่สมปรารถนา

 

"เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีมานี้ประเทศไทยมีสามัญชนได้รับการยกย่องถึง 3 คน และในรอบ 50 ปีมานี้ มีคนไทยได้รับการยกย่องถึง 16 ท่าน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอภิชน คือเป็นเจ้านาย เป็นกษัตริย์ แต่น่าสลดใจว่า ปัจจุบันนี้เราแทบไม่ได้เอาคุณูปการของท่านทั้ง 3 มาใช้เท่าไหร่"

 

สันติสุข โสภณสิริ กล่าวและว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของสามัญชนทั้งสามก็คือการเป็น "ผู้เกิดก่อนกาล" มีความคิดความอ่านที่ไปพ้นจากยุคสมัยของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่เรามีคนธรรมดาสามัญและคิดอย่างเชื่อมโยงอนาคต แต่เมื่อนับเวลาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผ่านมาถึงปีที่ 74 แล้ว คำถามที่เกิดขึ้นก็คือว่า เมื่อ 74 ปีที่แล้ว บุคคลทั้ง 3 อาจจะเป็นผู้เกิดก่อนกาล แต่หลังจากเวลาผ่านไป 74 ปี ความคิดที่ทั้งสามสามัญชนพยายามเผยแพร่สู่สังคมไทยยังไม่ได้ลงหลักปักฐานใดๆ

 

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ "สังคมไทยล้าหลังกว่ากาล" หรือมิใช่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท