Skip to main content
sharethis

ภาคใต้—29มิ.ย. 2549 "สมช." จับมือ "กรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนใต้" ดัน "ธรรมรักษ์" ผุด "วิทยาลัยอิหม่าม" เชิญ "ธรรมรักษ์" โหมโรงเปิดปฐมนิเทศ "ตำรวจหาดใหญ่" เปิดแผนรปภ. ป้องกันผู้ก่อความไม่สงบถล่มเมือง กระจายกำลังคุมเข้มสนามบิน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ "ยะลา" สั่งเพิ่มมาตรการรปภ.ครู


 


"สมช." ดันตั้งวิทยาลัยอิหม่าม 3 จังหวัดใต้


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน 2549 ที่โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีปฐมนิเทศหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะหลักของอิหม่ามและผู้บริหารมัสยิดรุ่นที่ 1 ตามโครงการจัดตั้งวิทยาลัยอิหม่ามแก่ผู้นำศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 250 คน จัดโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาค 4 พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายภานุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้การต้อนรับ


 


พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าวว่า อิหม่ามเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารมัสยิด และหล่อหลอมผู้คนให้มีคุณธรรมจริยธรรมตามหลักศาสนา และการพัฒนาเสริมสร้างสันติสุขในชุมชน การที่อิหม่ามมีบทบาทพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานของศาสนา วิถีชีวิต และวัฒนธรรม จึงเป็นจุดแข็งของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนข่าวจะมีเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงนี้ว่า ยังเป็นเพียงข่าว ได้ให้หน่วยปฏิบัติช่วยกันตรวจสอบและดูแลความปลอดภัยให้มากขึ้น ไม่ว่าสถานที่ราชการหรือประชาชน ต้องไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมีเสรีมากเกินไป ตนได้คุยกับแม่ทัพว่า กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องปรับแผนเรื่อยๆ อาจจะต้องเปลี่ยนเส้นทาง หรือเปลี่ยนวิธีการบ้าง


 


"กรณีที่มีการเสนอให้ใช้ภาษามลายู บ้านเราเป็นประเทศไทยภาษาราชการต้องใช้ภาษาเดียว แต่อาจจะมีภาษาที่สอง ซึ่งตอนนี้ก็มีใช้กันเยอะ" พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าว


 


ผบ.ทบ.รับนโยบายดับไฟใต้


วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีเพื่อรับนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


หาดใหญ่คุมเข้มป้องกันเหตุร้าย


พ.ต.อ.โพธ สวยสุวรรณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดกำลังตำรวจดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ตามที่ได้รับแจ้งเตือนว่า อำเภอหาดใหญ่อยู่ในเป้าหมายเข้ามาสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ในส่วนรอบนอกมีการตั้งจุดตรวจบนเส้นทางสายหลักและสายรองเข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่


 


พ.ต.อ.โพธ เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบุคคลต้องสงสัยที่ได้รับรายงานว่าเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งตรวจค้นเป้าหมายต้องสงสัยว่า อาจจะใช้เป็นสถานที่พักพิง โดยมาตรการดังกล่าวจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะช่วงที่ได้รับแจ้งเตือนเท่านั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนป้องกันปัญหาอาชญากรรมอยู่แล้ว ทั้งนี้ การดำเนินการจะเป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยว


 


เพิ่มมาตรการรปภ.ครู - หมู่บ้าน


เวลา 09.00 น. วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอรามัน จังหวัดยะลา นายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เรียกประชุมกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา และผู้บริหารโรงเรียนในเขตอำเภอรามัน เพื่อร่วมหารือในการกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับครู และขอความร่วมมือจากผู้นำศาสนา ในการดูแลความสงบสุขภายในหมู่บ้านด้วย


 


ขณะเดียวกัน นายธานี หะยีมะสาและ ปลัดหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงอำเภอรามัน ได้เชิญภรรยาของอาสาสมัครรักษาดินแดนทั้ง 4 คน ซึ่งชุดรักษาความปลอดภัยครูที่เสียชีวิตจากการถูกลอบวางระเบิด ที่บ้านบูเกะบือราแง อำเภอรามัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2549 มาชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิรับเงินเยียวยาจากทางราชการ พร้อมกับให้ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ของผู้เสียชีวิตมาให้ครบตามที่กำหนด เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเร็วขึ้น ส่วนศพอาสาสมัครรักษาดินแดนทั้ง 4 คน ญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนา ในสุสานของหมู่บ้าน


 


ขณะเดียวกัน พ.ท.สถิตย์ บุญเมือง ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 อำเภอรามัน ได้ส่งกำลังทหารตั้งด่านตรวจเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านบูเกะบือราแง ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน ทั้ง 4 จุด เพื่อปิดกั้นการหลบหนีของกลุ่มคนร้ายออกนอกพื้นที่ พร้อมกับใช้หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 41 เป็นหน่วยยุทธการเข้ากดดันตรวจค้นในพื้นที่อย่างละเอียด เนื่องจากมั่นใจว่าคนร้ายที่ก่อเหตุ ถูกอาสาสมัครรักษาดินแดนคนที่รอดตาย ยิงตอบโต้ได้รับบาดเจ็บ


 


ส่วนนายนพรัตน์ นอบแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบูเกะบือราแง ได้เข้าพบนางอนงค์ เชาวนะกิจ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 เพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอปิดโรงเรียนชั่วคราว เช่นเดียวกับนายมะซูกี ยีเฮง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจำปูน ตำบลท่าธง อำเภอรามัน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันก็ขอปิดโรงเรียนชั่วคราวด้วย โดยมีทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 อำเภอรามัน เข้าไปดูแลโรงเรียนอย่างใกล้ชิด


 


รู้ตัวคนร้ายวางระเบิดดับ5อส.


วันเดียวกัน นายบุณยสิทธิ์ พร้อมด้วยนายอายา ดิษฐาภินันท์ นายอำเภอรามัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมที่กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปรับยุทธศาสตร์การทำงาน และติดตามความคืบหน้าคดีคนร้ายวางระเบิดและซุ่มยิงทหาร - อาสาสมัครรักษาดินแดนเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ที่ ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยล่าสุดทราบเบาะแสคนร้ายแล้ว


 


นายบุณยสิทธิ์ กล่าวว่า คดีวางระเบิดนั้น ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง รวมทั้งสายข่าวกำลังติดตามตัวผู้ต้องหาที่ก่อเหตุมาลงโทษตามกฎหมาย พร้อมทั้งติดตามหาอาวุธปืนที่คนร้ายนำไปด้วย เบื้องต้นพอจะทราบเบาะแสกลุ่มที่ก่อเหตุ แต่อยู่ระหว่างสืบสวน คาดว่าเป็นกลุ่มคนร้ายชุดเดียวกับที่ปฏิบัติการในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา เมื่อถูกทางอำเภอรือเสาะกดดัน คนร้ายกลุ่มนี้ก็จะเข้ามาในอำเภอรามัน ทั้งนี้ ได้ประสานการทำงานกับอำเภอรือเสาะ ในการติดตามกลุ่มคนร้าย รวมทั้งช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต


 


นายแพทย์วัฒนา วัฒนายากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลา กล่าวถึงอาการของนายกาดาฟี แบรอสะแม อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอรามัน ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดว่า ถูกระเบิดที่หน้าอก ไหล่ขวา หลัง และแขนซ้าย ปอดด้านขวาฉีกขาด บวมช้ำ กระดูกซี่โครงด้านขวาหัก 3 ซี่ แพทย์ได้ผ่าตัดใส่ท่อระบายเลือดที่ปอดด้านขวา ใช้เครื่องช่วยหายใจ รักษาอยู่ในห้องไอซียู ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี


 


ยิงครูสอนคอมพิวเตอร์ปางตาย


เวลา 10.10 น. วันเดียวกัน นายเจ๊ะอามิง เจ๊ะโก๊ะ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 2 ตำบลกอลาตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตำแหน่งครูประจำสอนวิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสันติวิทยา ขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ อาร์ซี สีน้ำตาล ทะเบียน จ - 7097 ปัตตานี กลับจากร้านถ่ายเอกสารมุ่งหน้าเข้าโรงเรียน มาถึงบริเวณหัวสะพาน บ้านปงสะตา หมู่ 5 ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีคนร้าย 2 คน ขับจักรยานยนต์ตามประกบ แล้วใช้อาวุธปืนพกสั้นกระหน่ำยิงจนรถเสียหลักล้มลง นายเจ๊ะอามิงพยายามเอาชีวิตรอดด้วยการวิ่งไปซ่อนตัวที่บริเวณใต้สะพานและตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ คนร้ายจึงขับรถหลบหนี ชาวบ้านจึงนำนายเจ๊ะอามิงส่งโรงพยาบาลยะรังทันที จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มิลลิเมตร 4 ปลอก หัวกระสุนขนาดเดียวกัน 1 นัด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net