เทสโก้-ทุนท้องถิ่น ใครจะอยู่ ใครจะไป ?

ในมุมมองของนักธุรกิจ คงเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถทำธุรกิจให้มีผลกำไรเป็นพันๆ ล้านบาทต่อปี   และยังสามารถขยายสาขาของบริษัทไปทั่วทุกมุมโลก  ไม่ว่าเมืองเล็ก  เมืองใหญ่ก็สามารถแทรกซึมไปได้ทั่ว   สามารถดูดเงินจากผู้คนไปยังบริษัทแม่ได้อย่างไม่ขาดสาย

 

กลับกันในมุมของคนท้องถิ่นที่อยู่ตามที่ต่างๆ  การขยายตัวของบรรษัทข้ามชาติที่ข้ามพรมแดนของประเทศมาล้วงกินตับไตไส้พุงถึงในบ้านนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

 

ในช่วงไม่ถึง  10 ปีมานี้  หนึ่งในบรรษัทข้ามชาติที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จทางธุรกิจในบ้านเราอย่างสูง   แต่คนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยเริ่มหวาดกลัว  และมีกระแสการต่อต้านกันอย่างมากคงหนีไม่พ้น "เทสโก้ โลตัส"   ธุรกิจค้าปลีกระดับโลกสัญชาติอังกฤษ   

 

ภายหลังที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ร่วมลงนามความร่วมมือว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ องค์การการค้าโลก (WTO)  เมื่อปี 2538  ทำให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีทางการค้ากับนานาประเทศ    กลุ่มทุนข้ามชาติรุกคืบเข้ามาลงทุนการค้าในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง   ปี  2541  เป็นต้นมาห้างค้าปลีกข้ามชาตินานาประเทศเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย  และขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง  เริ่มตั้งแต่แมคโคร   เทสโก้  บิ๊กซี  คาร์ฟูร์  เป็นต้น

 

เทสโก้ ประเทศไทย  เกิดจากการร่วมทุนระหว่างกลุ่มเทสโก้จากอังกฤษและกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์  ปัจจจุบันมีสาขาซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งสิ้น 55 สาขา  แบ่งเป็น 24  สาขาในกรุงเทพฯ  และ 31 สาขาในต่างจังหวัด  ตลาดโลตัส  13 สาขา  คุ้มค่า 15 สาขา  และเอ็กเพรส 151 สาขา (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของเทสโก้) 

 

เทสโก้ ติดอันดับหนึ่งในสี่ของห้างค้าปลีกข้ามชาติ (อันดับหนึ่งคือ วอลมาร์ทของสหรัฐ ฯ คาร์ฟูร์ของฝรั่งเศส และเดอะโฮม ดีพอทของสหรัฐฯ ตามลำดับ)   ขยายสาขาไปทั่วโลก และซื้อหุ้นในกิจการค้าปลีกต่างๆ  ในต่างประเทศ เช่น จีน สาธารณรัฐเชก ฝรั่งเศส  ฮังการี ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย โปแลนด์ สโลวาเกีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน  ไทย และตุรกี    นับเป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดของอังกฤษด้วยยอดขายต่อปี 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  หรือ 2.5 ล้านล้านบาท   ซึ่งสูงกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทยถึง 2 เท่าตัว   ผลประกอบการของบริษัทเทสโก้เพิ่มขึ้นทุกปี  จากปี 2541 มีผลกำไรต่อปี  37,155  ล้านบาท  ปี  2549 มีผลกำไรต่อปีสูงถึง   129,789 ล้านบาทต่อปี   (ข้อมูลจากwww.wikipedia.com)

 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เทสโก้มุ่งกอบโกยกำไรเพื่อขนกลับไปบ้านตัวเอง   ก็พบว่ามีการก่อตัวของประชาชนจากมุมเล็กๆ  ที่คัดค้านการขยายตัวของเทสโก้อยู่ด้วยเช่นกัน

 

เครือข่ายต้านค้าปลีกข้ามชาติ       

 

หากใครได้ติดตามข่าวสารในช่วง  4-5 ปีมานี้จะพบว่ามีกระแสการคัดค้านการก่อสร้างเทสโก้  (อาจจะรวมถึงห้างค้าปลีกข้ามชาติอื่นๆ  เช่น บิ๊กซี  คาร์ฟูร์ด้วย )   ตามจังหวัดต่างๆ  ยกเว้นกรุงเทพฯ  มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่นที่ จ.จันทบุรี  ระยอง  อ่างทอง  เชียงใหม่  เชียงราย   แพร่   ซึ่งก็ไม่ต่างจากประเทศอังกฤษ   ประเทศแม่แท้ๆ  แต่ก็พบว่ามีการคัดค้านการขยายตัวของเทสโก้ตามเมืองต่างๆ  หลายเมือง  เช่น เมืองนอร์ริช  เมืองบริสตอล     เหตุผลในการคัดค้านการขยายตัวของเทสโก้มีตั้งแต่ ห้างใหญ่ทำให้การจราจรติดขัด  ก่อมลภาวะ   จนถึงการลดคุณภาพชีวิตของชาวเมือง  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของท้องถิ่น  เป็นต้น

 

แม้ว่าเทสโก้จะมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่กินขาดชนิดที่ว่าไม่ให้ผู้บริโภคกระเด็นออกไปซื้อของที่ห้างอื่นได้เลย  เช่นว่า "มีให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ"  แถมยังผลิตสินค้ายี่ห้อเทสโก้  ซึ่งจะเห็นบ้างแล้วในบ้านเรา  เวลาเราเข้าไปซื้อของ  บนชั้นวางสินค้าจากที่เคยเห็นหลากหลายยี่ห้อสินค้า   ก็จะพบว่าตอนนี้สินค้าอุปโภค บริโภคหลายอย่างตั้งแต่น้ำยาล้างจาน ไปจนถึงน้ำยาล้างห้องน้ำเริ่มจะมีแต่ยี่ห้อเทสโก้มาวางเคียงข้าง  และนับวันสินค้ายี่ห้ออื่นๆ  ก็จะลดลงเรื่อยๆ    

 

เพราะกลยุทธ์สำคัญของเทสโก้คือการขยายธุรกิจให้หลากหลายมากขึ้น  ปลายปี 2547  เทสโก้ยังได้ขยายธุรกิจไปนอกธุรกิจหลักของตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน สินค้าเครื่องสำอางและสุขภาพ  สินค้าที่เกี่ยวกับการสื่อสาร  เป็นต้น

 

กลยุทธ์การตลาดที่กินขาดสร้างความเจ็บปวดให้กลุ่มทุนท้องถิ่นไทยไม่น้อย  จึงไม่แปลกที่กระแสการต่อต้านเทสโก้  และห้างค้าปลีกข้ามชาติในไทยจะเริ่มต้นจากบรรดาร้านค้าโชวห่วย  หอการค้าหลายๆ แห่ง  เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มที่เสียประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้รับผลกระทบต่อมาคือผู้ผลิตรายย่อยที่ผลิตสินค้าส่งขาย   และ เกษตรกรรายย่อยที่ทั้งผลิตและบางส่วนก็เอาพืชผลทางการเกษตรมาขายด้วยตัวเอง ก็จะถูกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดเล็กๆ น้อยไปจนหมด     เพราะเมื่อเทสโก้ หรือห้างค้าปลีกข้ามชาติอื่นๆ มาตั้งก็ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ผลิตของมาแล้วก็ไม่รู้จะขายให้ใคร  เพราะของที่ขายในห้างค้าปลีกรายใหญ่ก็ถูกจัดสรรประโยชน์ให้แก่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการผลิตแบบอุตสาหกรรมอยู่แล้ว  เช่นซีพีที่เป็นบริษัทร่วมทุน   มีธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่  ผลิตทุกอย่างทั้งข้าว  ไข่ไก่  พืชผัก  จนถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคทั้งหลาย เป็นต้น  ดังนั้นเครือข่ายที่ค้านห้างค้าปลีกข้ามชาติจึงขยายตัวมายังคนกลุ่มนี้ด้วย

 

ส่วนผู้บริโภคในไทย  ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่ตื่นตัวช้าที่สุด  เพราะผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าสินค้าที่วางขายอยู่ในห้างค้าปลีกจะมาจากที่ไหน  ขอให้มีราคาถูกเข้าไว้เป็นพอ  เหตุผลอีกอย่างที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคพากันหลั่งไหลเข้าไปเดินในห้างใหญ่คือความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้า  และการบริการที่เอาใจลูกค้า

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าเครือข่ายต้านค้าปลีกข้ามชาติที่กำลังก่อตัวอยู่นี้  หลายๆ  แห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่แม่สาย จ.เชียงราย  แม่แตง  จ.เชียงใหม่   อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มักจะเริ่มจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับตลาดมานานทั้งการทำมาหากิน   และการมีสังคมเล็กๆ ของตนเอง  เรียกได้ว่าตลาดท้องถิ่นมีความหมาย คุณค่าทางจิตวิญญาณ  มากกว่าแง่เศรษฐกิจเพียงด้านเดียว               

 

ตลาดท้องถิ่น พื้นที่ทางวัฒนธรรม

 

ห้างค้าปลีกข้ามชาติมักจะเลือกทำเลในย่านชุมชนเดิม  อันเป็นแหล่งที่คนในท้องถิ่นมักจะเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอยู่แล้ว  ซึ่งหลีกไม่พ้นย่าน  "ตลาดท้องถิ่น"  เดิม   อันเป็นแหล่งที่มีความสัมพันธ์ของผู้คนมายาวนาน  บางตลาดมีอายุยืนยาวนับร้อยปี  เช่นตลาดศาลเจ้าโรงทอง  อ.วิเศษชัยชาญ  จ.อ่างทอง   หรือบางแห่งก็มีประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่น เช่นที่ ตลาดแม่มาลัย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่  ที่มีอายุประมาณ  50-60 ปี  ชาวบ้านเล่าว่าเดิมตลาดเคยเป็นวัดร้าง  อันเนื่องมาจากสมัยสงครามโลก  ญี่ปุ่นบุกจนพระเณรต้องละทิ้งให้เป็นวัดร้าง  ภายหลังสงคราม  ชาวบ้านก็นำของมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน    ตลาดเป็นทางผ่านไปสู่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน  อ.เชียงดาว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่    จึงเป็นจุดพบปะของชาวบ้านในแถบนั้นซึ่งมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์  เช่น คนลีซู  คนเย้า  และคนเมืองในเขตพื้นราบ

 

ชาวบ้านแม่แตงที่ค้านก่อสร้างห้างเทสโก้   ถึงกับพูดว่า  "ถ้าไม่มีตลาด  พวกเขาก็คงไม่พื้นที่ที่จะมาพบปะเจอกัน  พ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ย (คนแก่)  ก็คงจะเหงามาก  เพราะเคยมานั่งขายของตลาดอยู่ทุกวัน"    สะท้อนให้เห็นว่าตลาดไม่ใช่แค่เป็นแหล่งหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นเท่านั้น  แต่ยังมีความหมายในแง่จิตวิญญาณของคนในท้องถิ่นนั้นด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง  หรือแทบจะไม่ได้ใส่ใจเลย คือเรื่อง "อาหาร"  ถ้าเป็นตลาดในเมืองจะไม่เห็นความแตกต่างของอาหารที่ขายในตลาดสดกับห้างค้าปลีกข้ามชาติมากนัก  แต่ถ้าใครได้มีโอกาสไปเที่ยวตามตลาดท้องถิ่นในชนบท  จะพบว่าตลาดท้องถิ่นเดิมจะมีความหลากหลายของอาหารอย่างมากที่ไม่อาจหาได้ในห้างค้าปลีกข้ามชาติที่รับอาหารจากบริษัทใหญ่ๆ เพียงไม่กี่แห่ง      อาหารสดที่นำมาขายเป็นผลผลิตของชาวบ้านในแถบนั้น   และบางส่วนก็เป็นอาหารที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล   เก็บเอาตามรั้วบ้าน  หรือที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะ   เช่นที่ตลาดแม่มาลัยก็จะมีแผงผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านปลูก  และบ้างเก็บเอาตามรั้วบ้านและนำมาขายด้วยตัวเองอยู่หลายราย    ผักพื้นบ้าน เช่นผักปั๋ง   ผักแคบ (ตำลึง)   ผัก....   เป็นพืชผักที่ชาวบ้านกินอยู่เป็นกิจวัตร   เมื่อถึงหน้าฝนก็จะมีอาหารจากป่ามาขาย เช่นเห็ด หน่อไม้      

 

สุรพงษ์   นิ่มตระกูล เจ้าของร้านค้าในตลาดแม่มาลัย อ.แม่แตงถึงกับบอกว่าสื่อมวลชนจำนวนมากที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับการค้านห้างค้าปลีกข้ามชาติ  ส่วนใหญ่มักจะคิดว่ามีแต่พ่อค้า แม่ค้าในร้านโชวห่วยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ  และก็มักจะนำเสนอแต่มุมมองเรื่องเศรษฐกิจ  และยังไม่เคยมีใครเสนอในมุมมองของสังคม  วัฒนธรรม  และอาหารของคนไทยเลย  เพราะถ้ามองให้ลึกซึ้งและรอบด้าน  สุรพงษ์เห็นว่าผลกระทบของห้างค้าปลีกข้ามชาตินั้นสะเทือนหนักแน่ถึงสังคม วัฒนธรรมของคนไทยโดยเฉพาะในเขตชนบท

 

ใครจะอยู่ ใครจะไป ?

 

แม้ว่าการก่อตัวของเครือข่ายการค้านทุนค้าปลีกข้ามชาติกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ  ทั่วประเทศ  แต่ก็พบว่าเครือข่ายเล็กๆ ที่ก่อตัวอยู่นี้ก็ยังไม่อาจต้านทานกระแสการเข้ามาของกลุ่มทุนเหล่านี้ได้  ด้วยเหตุที่ยังมีปัญหาอยู่ที่ระดับนโยบาย กฎหมายของรัฐไทยที่เปิดกว้าง  และเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น  พ.ร.บ.ประกอบกิจการของคนต่างด้าว   กฎหมายผังเมือง      จนถึงในระดับท้องถิ่นเอง  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ควรจะปกป้องและพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น  แต่ก็ยังหวังประโยชน์จากภาษีเล็กๆ น้อยๆ ที่ห้างค้าปลีกข้ามชาติเหล่านี้โยนเศษเนื้อมาให้

 

ในส่วนของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการคนต่างด้าวนั้นแม้จะห้ามต่างชาติประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งก็จริงอยู่  แต่กลับมีข้อยกเว้นในกรณีที่มีเงินทุนจดทะเบียนมากกว่า 100 ล้านบาทนั้นสามารถที่เข้ามาประกอบกิจการได้    ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าทั่วประเทศได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายดังกล่าว  และให้มีการควบคุมค้าปลีกต่างชาติ  แต่รัฐบาลไทยรักไทยโดยดร.สุวรรณ  วลัยเสถียร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กลับแสดงวิสัยทัศน์ว่า ธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยนั้นจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาว 

 

นอกจากนี้ ดร.สุวรรณ ยังบอกอีกว่าแนวคิดเดิมที่เคยจะควบคุมค้าปลีกข้ามชาติ  โดยนำแนวกฎหมายค้าปลีกจากประเทศอื่นมาประยุกต์ใช้  เช่น  การกำหนดเวลาเปิด-ปิด  การโซนนิ่งพื้นที่  คิดว่ายังไม่เหมาะกับประเทศไทยในเวลานี้เพราะไทยยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดเสรีการค้าในฐานะสมาชิก WTO    ประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงเงินลงทุนจากต่างชาติ

 

ส่วนกฎหมายผังเมืองนั้น  เครือข่ายค้านการค้าปลีกข้ามชาติพยายามผลักดันให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสกัดกั้นการขยายตัวของห้างค้าปลีกข้ามชาติ   แต่ปรากฏว่าเมื่อปี  2548  กรมโยธาธิการกลับเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมค้าปลีก ค้าส่งขนาดใหญ่  จากเดิมที่กำหนดให้ตั้งห่างจากเมืองรวม  15 กิโลเมตร  ปรับลดลงมาเหลือเพียง 2 กิโลเมตร  พร้อมขยายพื้นที่จากเดิม 3,000 ตารางเมตรเป็น 5,000 ตารางเมตร     ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ากฎหมายผังเมืองที่ควรจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการขยายตัวของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จะมีหน้าตาเช่นไร

 

ล่าสุดปี 2549 นายเจฟฟ์ อดัมส์  ประธานกรรมการบริหารของเทสโก้ ยังเปิดเผยถึงแผนการลงทุนของเทสโก้ในไทยต่อ นสพ.โพสต์ทูเดย์ว่าขึ้นอยู่กับกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ของไทยที่จะประกาศใช้ว่าเอื้อต่อการลงทุนหรือไม่  หากไม่มีความชัดเจน  บริษัทก็จะย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่น  ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลดูเหมือนจะกลัวนักกลัวหนาว่าจะไม่มีเม็ดเงินต่างชาติมาลงทุน   โดยที่ไม่เคยคิดกลับกันว่าเขาขนเงินมาลงทุนเพียงนิดเดียว  แต่เวลาขนกลับนั้นมากมายมหาศาลแค่ไหน

 

ที่ผ่านมา กลุ่มค้านห้างค้าปลีกข้ามชาติจึงพยายามผลักดันให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง  แต่ก็ปรากฏว่ารัฐบาลไม่รับลูกในเรื่องนี้เสียเท่าไหร่  โดยให้เหตุผลว่าหากยกร่างขึ้นมาจะขัดต่อนโยบายการค้าเสรีที่ไทยจะต้องปฏิบัติตามในฐานะสมาชิก WTO

 

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากกลุ่มคัดค้านอีกว่า  ประเทศไทยควรมีกฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่เข้มแข็ง  โดยไม่ต้องใช้ข้ออ้างเรื่องการเปิดเสรีการค้า โดยอาจจะนำประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นตัวอย่าง  เช่น การให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นเป็นคนพิจารณากำหนดพื้นที่  ตั้งแต่พื้นที่ทำเลที่จะเปิดต้องอยู่ไกลออกไปจากชุมชน  เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้าปลีกรายย่อยได้ทำมาหากินบ้าง  ห้ามเปิดดำเนินกิจการทุกวันโดยไม่มีวันหยุด

 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการ เช่น ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นต่างมุมว่าการมุ่งให้รัฐส่วนกลางออกกฎระเบียบ หรือกฎหมายเพื่อควบคุมห้างข้ามชาติโดยนำหยิบยืมกฎระเบียบของประเทศอื่นมาใช้นั้นจะต้องมีการศึกษาให้เหมาะกับสังคมไทย  หากมีการออกกฎระเบียบ หรือนโยบายที่ขัดต่อวิธีคิดพื้นฐานก็จะนำไปสู่การบังคับใช้ที่ล้มเหลวในที่สุด   โดยมีข้อเสนอว่าสังคมไทยควรเรียกร้องรัฐไทยให้บังคับใช้กฎระเบียบอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเงื่อนไขภายใน

 

อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะที่น่าคิดต่อพลังของผู้ผลิตและผู้บริโภคในท้องถิ่น  โดยมีความเห็นว่าในระดับท้องถิ่นจะมีความยั่งยืนได้จะต้องมีการสร้าง "เครือข่ายการผลิตและบริโภคในระดับท้องถิ่น"  ให้เข้มแข็งที่สามารถทดแทนการนำเข้าจากส่วนกลางได้  เช่น เกาหลีใต้  รัฐบาลเลือกเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป  เครือข่ายผู้ผลิต และผู้บริโภคภายในประเทศมีความเข้มแข็งมีสำนึกต่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบการท้องถิ่น  จึงทำให้สามารถครองตลาดเหนือห้างต่างชาติได้  เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ 20 มิ.ย.2549)

 

ใครจะอยู่ ใครจะไป ห้างข้ามชาติ หรือ ทุนท้องถิ่นจึงมิใช่อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย และนโยบายเพียงด้านเดียว   หากแต่ผู้ผลิต  - ผู้บริโภคเองก็ต้องออกแรงด้วย.   

 

              

เบญจา ศิลารักษ์

สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท