Skip to main content
sharethis



 


 


ขณะที่สถานการณ์โลกเต็มไปด้วยปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะไร้ทางออก ทั้งเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สงครามอิรัก รวมถึงความยากจนและปัญหาขาดแคลนอาหารของชาวแอฟริกา แต่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมากลับมีความเปลี่ยนแปลงที่แปลกใหม่อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นขบวนการต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่พยายามลุกขึ้นต่อสู้กับการครอบงำทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการที่ผู้นำหลายประเทศในละตินอเมริกาหันมาใช้นโยบายประชานิยมเป็นหลักในการบริหารประเทศ


 


"คลื่นประชานิยม" ที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา เปรียบเสมือนความหวังของชาวโลกที่จะใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านอำนาจครอบงำของลัทธิเสรีนิยมใหม่ อันจะนำไปสู่การปฏิวัตินโยบายเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับแต่ละประเทศ เพื่อจะได้ไม่ต้องตกอยู่กับการผูกขาดและกลไกภายนอกประเทศ


 


อย่างไรก็ตาม ดร.วอลเดน เบลโล ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ และผู้อำนวยการของโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) ได้แสดงความคิดเห็นในการสัมมนาเรื่อง "การปฏิวัตินโยบายกับการสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือก - ประสบการณ์จากละตินอเมริกา" จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเปรียบเทียบการใช้นโยบายประชานิยมระหว่างกลุ่มประเทศในละตินอเมริกากับนโยบายประชานิยมในประเทศไทย และเสนอประเด็นให้ประชาสังคมไทยได้ทบทวนบทบาทที่ผ่านมา ซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิวัติด้านนโยบายและระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่เหมาะสมได้


 


จุดเริ่มต้น "นโยบายประชานิยม" จากเวเนซุเอลา


ในทัศนะของเบลโล "ประชานิยม" คือ แนวทางการเมืองและโครงการทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับบารมีของปัจเจกบุคคล โดยบุคคลผู้นั้นจะต้องมีแนวโน้มที่เข้าถึงประชาชนต่างชนชั้นได้ รวมทั้งนำเสนอโครงการสำหรับชนชั้นแรงงาน คนยากจนในเมือง ชนชั้นกลาง และคนชนบทที่ยากจน เพื่อแยกอภิิสิทธิ์ชนออกไป แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือประชาชนส่วนใหญ่ในละตินอเมริกามักจะต่อต้านสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้นำประเทศในละตินอเมริกาที่อันตรายที่สุดในสายตาของสหรัฐฯ ก็คือ ประธานาธิบดี ฮิวโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา ซึ่งทำให้ประชานิยมมีพลังมากขึ้นในระยะเวลาไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา


 


ชาเวซเคยเข้าร่วมในขบวนการจัดตั้งตามแนวคิดของโบลิวาร์ (เครือข่ายองค์กรรากหญ้าของประชาชน) เพื่อการปฏิรูปที่ดินแก่คนยากจนและชาวนาไร้ที่ทำกิน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์คารากัส (Caracazo) ในปี 2535 ประชาชนที่ยากจนของเวเนซุเอลาได้ลุกขึ้นต่อต้านไอเอ็มเอฟด้วยการเดินขบวนล้อมรอบหุบเขาคารากัส อันเป็นที่อยู่อาศัยของคนรวย เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นประกาศขึ้นราคาค่าโดยสารรถสาธารณะตามเงื่อนไขที่ไอเอ็มเอฟสั่งการมา


 


การเดินขบวนต่อต้านในเหตุการณ์คารากัสถือเป็นการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนเวเนซุเอลาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเกิดความเสียหายค่อนข้างมาก แต่ชาเวซซึ่งเป็นทหารอยู่ในขณะนั้นรู้สึกว่าถูกผู้นำรัฐบาลหลอกใช้ให้ฆ่าประชาชน ชาเวซจึงก่อรัฐประหารร่วมกับพรรคพวก แต่ไม่สำเร็จ จึงต้องยอมมอบตัวต่อรัฐบาล


 


ครั้งนั้น ชาเวซได้รับอนุญาตให้ใช้แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์เพื่อบอกให้ประชาชนวางอาวุธ ซึ่งเขาได้ประกาศต่อหน้าประชาชนว่าอย่าเพิ่งยอมแพ้ เพราะยังมีโอกาสเหลืออยู่ในวันข้างหน้า ซึ่งเขาได้สร้างความหวังให้แก่ประชาชนได้สำเร็จ เมื่อถูกปล่อยตัวออกจากคุกในปี 2541 ชาเวซจึงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา


 


การปฏิวัติโครงสร้างและนโยบายการปกครองที่ชาเวซและพรรคพวกทำให้เกิดขึ้น ได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ การผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดิน การจัดบริการทางสังคมโดยมอบหมายให้ทหารเป็นผู้จัดการด้านบริการต่างๆ รวมถึงการปฏิรูประบบสาธารณสุข แม้จะได้รับการต่อต้านจากแพทย์และพยาบาลซึ่งเห็นว่าการปฏิรูปมุ่งเน้นไปที่การบริการคนยากจนเพียงอย่างเดียว แต่ชาเวซแก้ปัญหานี้ด้วยการขอความช่วยเหลือจาก ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร - ผู้นำแห่งคิวบา ให้ส่งแพทย์จากคิวบามาช่วย ทำให้ชาวเวเนซุเอลาประสบกับปัญหาชาวคิวบาบุกรุกที่ดินในเวลาต่อมา


 


ถึงแม้ว่านโยบายปฏิรูปการปกครองและระบบเศรษฐกิจของชาเวซจะส่งผลกระทบตามมา แต่เขาก็ยังเป็นผู้นำเวเนซุเอลาที่ชนชั้นรากหญ้านิยมชมชอบ โดยสิ่งที่ยืนยันคำกล่าวนี้คือการที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุรัฐประหารขึ้น เพื่อต่อต้านชาเวซ แต่เขาก็รอดพ้นมาได้เพราะคนยากคนจนที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขายกขบวนลงมาเรียกร้องให้ชาเวซเป็นประธานาธิบดีต่อไป คณะรัฐประหารจึงล้มเลิกปฏิบัติการ และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ชาเวซได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง


 


ทางเลือกแบบประชานิยม VS อำนาจนิยม


แม้จะกล่าวได้ว่า ฮิวโก ชาเวซ สนับสนุนโยบายประชานิยม แต่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลก็มีความขัดแย้งกันหลายอย่าง เช่น การเลือกตั้งที่ชาเวซได้รับชัยชนะ ถูกคัดค้านว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการฉ้อฉลมากที่สุดในประวัติการณ์ และชาเวซอาจไม่ใช่คนที่เป็นอำนาจนิยม แต่เขาเลือกใช้วิธีการปกครองแบบรวมศูนย์ เพราะไม่ไว้วางใจในพรรคการเมืองที่มีปัญหาเรื่องคอรัปชั่นมากมายในอดีต และสถาบันเดียวที่ช่วยเหลือชาเวซมาโดยตลอดก็คือสถาบันทหาร ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นสถาบันเดียวที่ไม่ทุจริต


 


เป็นความจริงที่ว่าชาเวซใช้โอกาสในการรวบอำนาจทางทหาร เพื่อจัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วยหลายร้อยคนในปี 2545 เช่นเดียวกับที่ชาเวซเรียกร้องให้ทหารช่วยเรื่องการปฏิรูปที่ดินและสร้างคลินิก โดยมีแพทย์จากคิวบาช่วยเหลือด้านสาธารณสุข และมีกำลังสำรองที่เรียกว่ากองกำลังโบลิวาร์เลียน ซึ่งทางฝ่ายผู้สนับสนุนบอกว่านี่คือการให้ทหารรับใช้สังคม แต่ฝ่ายที่ต่อต้านชาเวซจะขนานนามว่านี่คือการใช้กำลังอำนาจทหารเบ็ดเสร็จ


 


นิตยสาร Foreign Policy พูดถึงชาเวซในแง่ของนักอำนาจนิยมที่นิยมการแข่งขัน และเป็นคนควบคุมแหล่งน้ำมัน เพื่อนำไปใช้ในการบริการสังคมและสร้างพันธมิตรกับต่างประเทศ เพื่อเป็นการให้ความสนับสนุนแก่รัฐบาลของประเทศในโลกที่สาม เช่น รัฐบาลลิเบีย และรัฐบาลอิรัก ขณะเดียวกันชาเวซก็เคารพกระบวนการประชาธิปไตย การล้มล้างชาเวซโดยใช้เหตุผลว่าเขาเป็นเผด็จการจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก 


 


นโยบายต่างประเทศของชาเวซในตอนนี้ สามารถตอบโต้สหรัฐอเมริกาได้อย่างเข้มแข็ง เพราะเขาสร้างฐานความนิยมในประเทศได้ และเวเนซุเอลาก็เป็นผู้ส่งออกน้ำมันร้อยละ 30 ที่ใช้ภายในสหรัฐฯ ความพยายามที่จะหยุดยั้งการครอบงำของสหรัฐฯ จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องที่ตอบโต้ได้อย่างชัดเจนที่สุดคือการปฏิเสธเรื่องเขตการค้าเสรี FTAA (เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา) ซึ่งเป็นการขยายข้อตกลงออกจากนาฟตา (NAFTA: North America Free Trade Agreement) ที่สหรัฐฯ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น


 


นอกจากนี้ ชาเวซได้จัดตั้งข้อตกลงทางเลือก หรือ ALBA (Bolivarian Alternatives for the America) ขึ้นมา โดยล้อเลียนคำว่า ALGA ในภาษาสเปน ซึ่งหมายถึงเขตการค้าเสรี FTAA ในภาษาอังกฤษ ต่างกันตรงที่ว่า ALBA ของชาเวซคือการเสนอทางเลือกทางการค้าแก่ประชาชนในแถบละตินอเมริกา ซึ่งเวเนซุเอลา คิวบา และโบลิเวีย ได้ตกลงร่วมกันในปี 2546 โดยระบุว่า เวเนซุเอลาจะให้ความช่วยเหลือด้านน้ำมัน ส่วนคิวบาจะส่งแพทย์ไปให้เวเนซุเอลาและโบลีเวีย การแปรรูปให้ทรัพยากรธรรมชาติและบุคลากรเป็นสินค้าส่งออกก่อให้เกิดผลในเชิงการเมืองและสังคมในละตินอเมริกาอย่างมาก


 


จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อฮิวโก ชาเวซ ขึ้นเป็นประธาธิบดีในเวเนซุเอลา นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ประเทศในแถบละตินอเมริกาก็เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมา เพราะกระแสความนิยมในตัวผู้นำที่มีแนวคิดต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่กลายเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในละตินอเมริกา สังเกตจากการที่ หลุยส์ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำพรรคฝ่ายซ้ายได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีบราซิลในปี 2545 และในปี 2546 เนสเตอร์ เคิชเนอร์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอาร์เจนติน่า ในขณะที่โบลิเวียได้ประธานาธิบดีที่เป็นชนกลุ่มน้อยเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือประธานาธิบดี เอโว โมราเลส ผู้ชนะการเลือกตั้งในปี 2548 ที่ผ่านมา


 


เหตุการณ์ทั้งสี่เป็นสิ่งที่แสดงถึงการต่อต้านเสรีนิยมใหม่ในละตินอเมริกา และในสัปดาห์หน้าก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในเม็กซิโก โดยตัวเก็งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่ โลเปซ โอบราดอร์ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่เป็นปากเสียงให้กับคนพื้นเมือง และเป็นผู้นำคนเข้ายึดโรงงานน้ำมันและบ่อน้ำมัน


 


ไม่ว่าโอบราดอร์จะชนะการเลือกตั้งครั้งหรือไม่ แต่เขาจะเป็นศูนย์กลางของการเลือกตั้ง เพราะเขาคือผู้ท้าทายอำนาจทางชนชั้น และได้สร้างฐานการเลือกตั้งซึ่งต่อต้านการค้าเสรีของประธานาธิบดีฟอกซ์คนปัจจุบัน ดังนั้นเขาจะไปเ้ข้าร่วมกับประธานาธิบดีในประเทศอื่นๆ ซึ่งมาจากพรรคฝ่ายซ้าย เช่นเดียวกับที่การสมัครเลือกตั้งในเม็กซิโกครั้งนี้ของโอบราดอร์ก็เป็นกระแสเกี่ยวกับสิ่งที่เ่กิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกา ซึ่งก็คือกระแสที่เรียกว่า "ประชานิยมฝ่ายซ้าย"


 


ถึงแม้ทั่วโลกอาจจะมองว่า การตัดสินใจมุ่งสู่กระแสประชานิยมฝ่ายซ้ายของละตินอเมริกาคือความบ้าบิ่น แต่ก็อาจจะเป็นทางเดียวที่ทำให้ประเทศเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งสังเกตได้จากการที่ประธานาธิบดีเคิชเนอร์ของอาร์เจนตินาขู่ว่าจะจ่ายหนี้เพียงหนึ่งในสี่ของจำนวนเงินที่กู้ไปในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก และเคิชเนอร์ก็ทำได้ตามที่เขาขู่ไว้ แม้ว่าเจ้าหนี้จะโวยวายให้ไอเอ็มเอฟมาจัดการกับอาร์เจนตินา เคิร์ชเนอร์กลับยืนกรานกับเจ้าหนี้ทั้งหลายว่า จะต้องยอมรับสถานการณ์ ไม่เช่นนั้นเงินที่จ่ายคืนจะลดไปอีก โดยจะจ่ายเงินให้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น การยืนยันดังกล่าว ทำให้หนี้ของอาร์เจนติน่าลดลงอย่างฮวบฮาบ และการกระทำเช่นนี้ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากประชาชน


 


เปรียบเทียบนโยบายและระบบเศรษฐกิจทางเลือก ไทย - ละตินอเมริกา


โครงการสร้างเครือข่ายการสื่อสารทางโทรทัศน์ร่วมกันกับประเทศในละตินอเมริกา เพื่อต่อต้านสถานีโทรทัศน์ที่ควบคุมการสื่อสารของโลกอย่าง CNN เป็นนโยบายที่สำคัญของเวเนซุเอลา แต่แนวคิดเรื่องการผลักดันให้มี "ธนาคารทางเลือก" มาทำหน้าที่แทนธนาคารของโลกทุนนิยม คือเรื่องที่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจในละตินอเมริกามากกว่า แต่ว่าโครงการเหล่านี้อาจจะถูกจำกัดอยู่แต่ในส่วนภูมิภาคเท่านั้น


 


อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านนโยบายประชานิยมในละตินอเมริกามีความสำคัญมากในการสร้างประชามติที่เป็นไปในทางที่ต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ เพราะประเทศในภูมิภาคเดียวกันมีความร่วมมือกันที่เข้มแข็ง เช่น ข้อตกลงระหว่างเวเนซุเอลาและประเทศยากจนในแถบคาริบเบียน ว่าด้วยการลดราคาน้ำมันน้ำเข้าร้อยละ 40 ให้แก่ประเทศในแถบดังกล่าว รวมถึงการแลกเปลี่ยนสินค้ากันแทนการจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งอาร์เจนตินาอาจจะจ่ายค่าน้ำมันให้แก่เวเนซุเอลาเป็นวัวแทน และโบลีเวียอาจจะซื้อน้ำมันบางส่วนโดยนำถั่วเหลืองมาแลกเปลี่ยนตามแต่ที่ได้ตกลงกันไว้


 


ทั้งนี้ การตั้งข้อตกลง ALBA ในละตินอเมริกา แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างผู้นำของแต่ละประเทศ ซึ่งต่างจากเอเชียอย่างมาก เพราะอาเซียนก่อตั้งตั้งแต่ปี 2514 จนถึงตอนนี้อาเซียนมีอายุ 35 ปี แต่อาเซียนก็ยังอ่อนแออยู่เช่นเดิม


 


แม้ว่าจะมีเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ข้อตกลงต่างๆ ก็ยังอยู่ในกระดาษมากกว่า และยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ผิดกับละตินอเมริกา เพราะมีการนำเสนอต่อต้านการครอบงำ FTAA โดยมีข้อตกลง ALBA เป็นทางเลือกที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้อาเซียนไม่ได้ต่อต้านอเมริกาอย่างเดียว แต่ยังมีจีนและญี่ปุ่นซึ่งเป็นอำนาจที่สำคัญเพิ่มขึ้นมา ดังนั้น ขั้วอำนาจในอาเซียนจึงมีความซับซ้อนมากกว่าในละตินอเมริกามาก


 


เมื่อมีผู้ตั้งคำถามว่า หากต้องการผลักดันให้เกิดข้อตกลงแบบ ALBA ขึ้นในอาเซียน จะต้องทำอย่างไรบ้าง เบลโล ได้ตอบว่า อาเซียนยังไม่เคยตกลงกันได้ว่าจะตั้งเป้าหมายร่วมกันอย่างไร แรงจูงใจให้มีการผสมผสานค้าขายกันเองในอาเซียนจึงยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเรามีกระบวนการที่อ่อนแอมากในการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างประชาชนและธุรกิจในภูมิภาค และถือเป็นภาระของเราทุกคนที่จะทำให้อาเซียนเปลี่ยนกรอบจากการค้าเสรีไปเป็นสมาคมทางการค้าโดยมีการผสมผสานและเข้าร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ มีการแบ่งงานกันทำในภูมิภาค ตามความถนัดและตามระดับเทคโนโลยี


 


แต่อภิสิทธิ์ชนของอาเซียน ไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน เพราะคิดแต่จะแข่งขันว่า ต่างฝ่ายต่างจะเจาะตลาดใหม่โดยการปิดตลาดของประเทศอื่นได้อย่างไร นั่นคือปัญหาใหญ่ของความร่วมมือในอาเซียน ดังนั้น 35 ปีที่ผ่านมาจึงไม่มีการผสมผสานทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถแข่งกับจีนได้ ขณะนี้อาเซียนจึงควรจะพยายามขับเคลื่อนไปข้างหน้า มิเช่นนั้นก็อาจจะกลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีนไป 


 


เบลโล ได้เปรียบเทียบระหว่างนโยบายของผู้นำประเทศในละตินอเมริกากับนโยบายของทักษิณด้วย และสรุปว่านโยบายของทักษิณในรัฐบาลทั้งสองสมัย ไม่ใช่ ประชานิยม เพราะแนวทางหนึ่งของประชานิยมจะต้องต่อต้านคนกลุ่มน้อย แต่ทักษิณเป็นตัวแทนของคนกลุ่มน้อย ซึ่งก็คือนายทุน ดังนั้นวิธีการอาจจะเหมือนประชานิยม แต่ตัวทักษิณไม่ใช่ผู้นำที่มีความเป็นประชานิยม


 


ถ้าหากเปรียบเทียบทักษิณกับฮิวโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา จะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีชาเวซในด้านหนึ่งไม่มีความเชื่อมั่นในพรรคการเมืองเลย แต่ในอีกด้าน เขาก็เคารพในระบอบประชาธิปไตย แต่ระบอบประชาธิปไตย  ต้องมีพรรคการเมือง และต้องใช้อำนาจผ่านพรรคการเมือง ซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกัน โดยพรรคการเมืองเท่าที่มีอยู่ในเวเนซุเอลา มีเพียงสองพรรคซึ่งอยู่ในอำนาจมานาน  ชาเวซมองว่าสองพรรคนี้เป็นพรรคของคนรวยซึ่งนำความทุกข์มาให้กับคนจน ส่วนพรรคฝ่ายซ้ายก็ยึดในอุดมการณ์มากเกินไปและแบ่งแยกออกเป็นสายต่างๆจึงมีปัญหาในแง่ของการแบ่งแยกทางอุดมการณ์ ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย


 


ทว่า ชาเวซเป็นคนที่มีบารมีมากกับคนจนในสลัมและในเมือง เขาเป็นผู้นำที่มีความสัมพันธ์กับประชาชน มีการออกรายการโทรทัศน์เป็นประจำเพื่อให้การศึกษากับคนเหล่านี้ ดังนั้นจึงเป็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเขากับประชาชนโดยไม่ผ่านพรรคการเมือง


 


ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือชาเวซสามารถหลีกเลี่ยงการท้าทายของฝ่ายขวาได้ เพราะว่าทำให้ขบวนเคลื่อนไหวเหล่านี้เข้ามาร่วมการเลือกตั้งในแนวทางประชาธิปไตยได้ ในขณะที่การเลือกตั้งในอดีตของเวเนซุเอลาเป็นการแบ่งแยก เพราะคนจำนวนมากไม่อยู่ในรายชื่อผู้เลือกตั้ง ชาเวซจึงดึงคนที่ไม่อยู่ในทะเบียนมาเป็นคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง รวมถึงผลักดันให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในเวเนซุเอลาเป็นเวลานานมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ ดังนั้น การขยายจำนวนคนที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งของชาเวซจึงเป็นพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่น่าสนใจ


 


เราได้เห็นประชานิยมในประเทศไทยคล้ายกับสิ่งที่เกิดในละตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลิกภาพผู้นำ หรือความสามารถในการเชื่อมโยงกับประชาชนในระดับล่าง และการมีนโยบายที่ประชาชนพอใจ แต่นั่นก็คือการนำประชานิยมไปใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมันจะต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา เช่น เวเนซุเอลามีนโยบายต่อต้านอภิสิทธิ์ชนอย่างชัดเจน และมีนโยบายทางภาษีและการปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายทรัพยากรไปสู่คนจน ซึ่งไม่เห็นเลยว่าทักษิณจะนำนโยบายเช่นนี้มาใช้ 


 


อย่างไรก็ตาม บทบาทของผู้นำในละตินอเมริกาก็มีข้อด้อยเช่นกัน เพราะการทำตามนโยบายต่างๆ อาทิ การผลักดันให้มีธนาคารและสื่อทางเลือกของชาเวซ ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เขาจะเอาประชาชนเข้ามาร่วมในการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันหรือเปล่า ไม่มีใครสงสัยถึงความจริงใจของชาเวซ หรือแม้แต่เอโว โมลาเลส เพราะประชาธิปไตยต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้เป็นสถาบัน และจะต้องทำให้ประชาชนอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net