Skip to main content
sharethis

รายงานโดย : พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ


 


 


เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการเสวนาหัวข้อ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น" จัดโดย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นการระลึกถึงการครบรอบ 74 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 และเพื่อเป็นแสดงความยินดีกับ อาจารย์มาลินี คุ้มสุภา เจ้าของผลงาน "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น" รางวัล "ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์" สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประจำปี 2549


 


ซึ่งรายละเอียดของการเสวนา "ประชาไท" ได้สรุปเอาใจความสำคัญ วิทยากรผู้ร่วมเสวนาต่างสะท้อนบรรยากาศการเมืองและพัฒนาการทางการเมืองไทย นับตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมือง ปี พ.ศ.2475 จนกระทั่งสถานการณ์ทางการเมือง ปีพ.ศ.2549 ได้น่าสนใจ


 


0 0 0


 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล


คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


เรื่องที่ผมจะพูดถือเป็นเสี้ยวหนึ่งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือตำแหน่งแห่งที่ของรัฐธรรมนูญในสังคมการเมืองไทย ผมคิดว่าอาจารย์มาลินีได้พยายามอ่านสิ่งที่เรียกว่า "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ผ่าน "สัญลักษณ์" แล้วก็ดูว่ามีคนเข้าไปใช้สัญลักษณ์อย่างไร แล้วสัญลักษณ์มีผลต่อผู้ที่เข้าไปใช้อย่างไร ผมมี 3 ประเด็นที่จะพูดถึงด้วยกัน


 


เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญในห้วงปัจจุบัน มันมีตำแหน่งแห่งที่สถิตในสังคมการเมืองไทยอย่างไร ผมคิดว่าหลังจาก 2535 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เวลาเราคิดถึงรัฐธรรมนูญในสังคมการเมืองไทย มันหมายถึงเครื่องมือหรือกลไกในการจัดการกับนักการเมือง เพราะอะไร เพราะนักการเมืองมันสกปรก จริงไม่จริงไม่รู้นะครับ แต่มันคือทัศนะที่เชื่อว่านักการเมืองไทยสกปรก ต่ำช้า ผลประโยชน์ทับซ้อน คือเรามีวิธีคิดแบบนี้


 


งานที่เด่นชัดที่สุด คืองานของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่ได้รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ พร้อมอาจารย์มาลินี เรื่องเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ 3 เล่ม ลองไปอ่านดู งานของอาจารย์รังสรรค์ คืองานที่พยายามจะพูดถึงการสร้างรัฐธรรมนูญในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือจะทำอย่างไรให้การเมืองกลายเป็นตลาด เปิดโอกาสให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดการเมืองให้มากที่สุด มีมาตรการในการกำกับความชั่ว ความสกปรกของนักการเมืองเอาไว้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2540 นะครับ ความคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือจัดการกับนักการเมือง มันเกิดขึ้นหลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา อย่างเช่น หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 มีความคิดเริ่มต้นที่จะพูดถึงการปฏิรูปการเมือง มีคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน พูดกันว่าจะทำอย่างไร


 


เป้าหมายของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย คือ หนึ่ง ต้องทำให้นักการเมืองสะอาด ข้อสองคือทำให้พรรคการเมืองสะอาด สามคือทำให้องค์การทางการเมืองมีประสิทธิภาพ ที่เขาทำให้องค์กรทางการเมืองมีประสิทธิภาพ เพราะเขาเชื่อว่า ที่ผ่านมามันเป็นรัฐบาลผสม มันล้มบ่อยเปลี่ยนบ่อย มันไม่มีประสิทธิภาพต้องทำให้มั่นคง


 


สองข้อแรกทำให้นักการเมืองสะอาด ทำให้พรรคการเมืองสะอาดมันหมายความว่าไง ลองคิดดูถ้าคุณเดินไปแล้วมีคนบอก เอาไอ้นี่ไปทำให้สะอาดหน่อย หมายความว่าคุณเป็นไง โสโครกไง ใช่มั้ย เราไม่คิดว่าเราสะอาดใช่มั้ย เราโสโครก อันนี้เป็นความพะวงของสังคมไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2530 มาจนกระทั่งปัจจุบัน การปฏิรูปการเมืองที่เขาบอกว่าจะปฏิรูปการเมืองรอบ 2 ผมคิดว่าโจทย์ใหญ่ก็เหมือนเดิม ก็คือทำให้นักการเมืองสะอาด เพราะฉะนั้นนี่คือตำแหน่งแห่งที่ของรัฐธรรมนูญที่อยู่ในสังคมการเมืองไทย


 


ประเด็นที่ 2 ถามว่าตำแหน่งหรือที่สถิตของรัฐธรรมนูญในการเมืองไทยมันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่อดีตหรือเปล่า ถ้าเกิดเราดูง่ายๆ หลัง พ.ศ.2475 รัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมือที่จะจัดการกับนักการเมืองนะครับ หลัง พ.ศ.2475 รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือของคณะราษฎรใช้จำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ใช้จัดการกับเจ้า กับกลุ่มอำนาจเก่า


 


ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม เขียนไว้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปอยู่เหนือการเมือง อยู่เหนือการเมืองในที่นี้ นัยยะของมันคือ "Out of" คือคำว่า "เหนือ" มันหมายถึงเหนือเรา เป็นผู้ใหญ่กว่า แต่เหนือในที่นี้คือ "Out of" คือ ไม่เกี่ยว การเมืองเป็นเรื่องของกลุ่มอำนาจต่างๆ ในสังคม สถาบันกษัตริย์ไม่เกี่ยว คือควรจะเป็นอีกสถานะเหมือนๆ ที่ปฏิญญาฟินแลนด์พูดเอาไว้ประมาณนั้นน่ะ เป็นแค่สัญลักษณ์พอ อันนี้คือหลัง พ.ศ.2475


 


ที่ตั้งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 - 2516 รัฐธรรมนูญมีความหมายอย่างไร ในทัศนะของผมช่วงนี้รัฐธรรมนูญเป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่งในทางการเมืองของผู้มีอำนาจ โดยที่ไม่มีอุดมการณ์ใดๆ กำกับเอาไว้ ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ คือในช่วง พ.ศ.2490-2516 เป็นช่วงที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญและเขียนรัฐธรรมนูญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย


 


วิธีการฉีกรัฐธรรมนูญง่ายมาก คุณก็ลากรถถังไปที่กรมประชาสัมพันธ์ แล้วคุณก็พยายามยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยให้ได้ แล้วก็ประกาศว่า "ขณะนี้ข้าพเจ้ายึดอำนาจเอาไว้แล้วเรียบร้อย" ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วครับ


 


สิ่งที่ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ คือเวลาคุณยึดอำนาจ คุณต้องฉีกรัฐธรรมนูญก่อน แล้วค่อยเขียนใหม่ การทำให้รัฐธรรมนูญมีความหมายแบบนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมด้วยครับ


 


เคยมีคดีว่า รัฐธรรมนูญที่ประกาศโดยคณะปฏิวัติมันใช้ได้หรือไม่ คือมันมีการยึดอำนาจแล้วมีการออกกฎปลดข้าราชการ ก็เลยมีการฟ้องศาลว่า ที่ตนโดนปลดมาจากคำสั่งคณะปฏิวัติ ซึ่งเข้ามาโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจของคณะปฏิวัติจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาตัดสินว่า การใช้อำนาจของคณะปฏิวัติเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายตามระบอบปฏิวัติ ในรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิวัติ กฎหมายอาญาก็ไม่มีนะครับ แต่ศาลบอกว่าการใช้อำนาจของคณะปฏิวัติเป็นไปตามระบอบปฏิวัติคือผู้มีอำนาจสูงสุดสามารถใช้ได้


 


การตีความแบบนี้ ทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีน้ำยา คุณจะฉีกเมื่อไหร่ก็ฉีกได้ ขออย่างเดียวคือฉีกแล้วคุณต้องเป็นผู้ชนะ ประมาณว่าชนะเป็นเจ้า แพ้เป็นโจร เพราะฉะนั้น ตำแหน่งแห่งที่ของรัฐธรรมนูญในสังคมการเมืองไทยในอดีตมันมีความหมายอย่างนี้


 


แต่ในสังคมปัจจุบันมันน่าสนใจ ประเด็นคือ อาจารย์มาลินี คุ้มสุภา ที่ศึกษาเรื่องอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึง พ.ศ.2540 แล้วบอกว่า ภาพที่ทรงพลังที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และเหตุการณ์เดือนพฤษภา พ.ศ.2535 ผมอยากจะลองประเมินดูแบบนี้ครับ รัฐธรรมนูญที่อยู่ในพานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญในปัจจุบันมันมีตำแหน่งตรงไหนในสังคมการเมืองไทย รัฐธรรมนูญเป็นความหมายที่ผูกพันกับประชาชนจริงหรือเปล่า


 


ในปัจจุบัน มีปรากฏการณ์ชุดหนึ่งเกิดขึ้นครับ ปรากฏการณ์ชุดนี้ทำให้ผมคิดว่า เวลาเราจะทำความเข้าใจสังคมไทย ทำความเข้าใจสังคมการเมืองไทย ต้องคิดถึงปัจจัยต่างๆ ให้มากขึ้น ผมอยากจะลองพูดถึง 2-3 เรื่องที่สะท้อนถึงการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งในทัศนะผมมันพิสดารมาก


 


เริ่มจากเรื่องแรก การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากการเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน ผมคิดว่าอันนี้เป็นการใช้รัฐธรรมนูญที่ในทัศนะของผม คือน่าประหลาดใจ เพราะว่าการเรียกร้องมาตรา 7 หมายความว่า ให้ในหลวงเข้ามามีบทบาททางการเมือง คือคนตีหัวกันอยู่ ทะเลาะๆ กันอยู่นั้น ในหลวงพระราชทานนายกฯมาเป็นให้หน่อยครับ แต่ผลปรากฏไม่พระราชทานนะครับ อันนี้ปรากฏการณ์แรก


 


อันที่ 2 พระราชดำรัสวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2549 ผมไม่พูดในรายละเอียดนะครับ แต่นี่เป็นพระราชดำรัสที่เป็นวรรคทองที่ผมเข้าใจว่า นักศึกษาการเมืองไทยและประวัติศาสตร์จะต้องอ่าน ซึ่งผมจะไม่ขอพูด


 


อันที่ 3 กรณีเฉลิม อยู่บำรุง ออกมาเสนอแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองไทยโดยบอกให้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อระงับการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา


 


ทั้งหมดนี้ มันเป็นภาพสะท้อน มันบอกอะไรให้เราได้บ้าง อันนี้คือความหมายที่มองไม่เห็น แต่ตอนนี้กระจ่างแจ้ง ออกมาให้เห็นหน้ากันจะๆ คือคู่ขนานกับการควบคุมนักการเมือง คู่ขนานกับนักการเมืองที่สกปรก นักการเมืองต่ำช้า ก็คือสถาบันดั้งเดิมขยายอำนาจมากขึ้นทั้งในแง่ของรัฐธรรมนูญและในแง่ของวัฒนธรรม


 


ในแง่รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร คือรัฐธรรมนูญก่อน พ.ศ.2517 จะเขียนว่า "บุคคลย่อมเสมอภาคกันโดยกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี โดยประการอื่นก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย" มันถูกเปลี่ยนข้อความในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 รัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าเกิดจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมาจากการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิต นักศึกษา


 


นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะตระหนักรู้หรือไม่ ไม่ทราบ และความเปลี่ยนแปลงนี้สืบเนื่องมา นักวิชาการบางคนบอกว่า การเติบโตหรือการขยายตัวของสถาบันดั้งเดิมเกิดขึ้นจุดเริ่มต้นคือหลัง พ.ศ.2516 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน เราก็ยังเห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่อิงอยู่กับสถาบันดั้งเดิมเยอะ ผมคิดว่าในทางรัฐธรรมนูญเห็นได้หลายเรื่อง


 


ในทางวัฒนธรรม สถาบันกษัตริย์ขยายอำนาจมากขึ้นขนาดไหน ก่อนหน้านี้มีคนบอกว่า ในช่วงประมาณก่อน พ.ศ.2516 สถาบันดั้งเดิมจะออก TV ทำได้อย่างเดียวคือเล่นดนตรีนะครับ แต่ตอนนี้นะครับ Yellow T-shirt Fever ไม่ต้องพูดอื่นใดแล้วครับ เป็นระบบสัญลักษณ์แบบหนึ่งซึ่งตอบสนองต่อการขยายอำนาจของสถาบันดั้งเดิม


 


ในทัศนะของผม รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของไพร่ เราตีหัวกันมีกฎหมายควบคุมมีรัฐธรรมนูญใช้สำหรับไพร่ แต่เมื่อไหร่ที่ชนชั้นไพร่ ชนชั้นกุลี ตกลงกันไม่ได้ รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้มันก็จะทู่ มันก็จะไม่มีความหมาย การแก้ไขปัญหานี้จะทำอย่างไร เราต้องการสิ่งที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญขึ้นไป อันนี้แหละครับ มันเป็นความหมายของรัฐธรรมนูญ เป็นที่ตั้งที่สถิตของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คือเป็นที่กำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขของประชาชน ของไพร่ด้วยกัน แต่ว่าทั้งหมดนี้มีพระมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นี่แหละครับคือระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญและมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือ เหนือในที่นี้ไม่ใช่ Out of แต่เป็น Above นะ เหนือจริงๆ


 


อันนี้แหละ เป็นความหมายที่มองไม่เห็น เมื่ออ่านผ่านสัญลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์หรืออะไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นคือการกลับเข้ามาของสถาบันดั้งเดิม ดีไม่ดีไม่รู้ เถียงกันก่อน เถียงกันได้


 


เพราะฉะนั้นถ้าถามผมในวันนั้น ภาพที่ตรงลานพระบรมรูปทรงม้า บังเอิญถนนมันไม่ตรง ถนนมันเป็นมุมอับ ถ้าบังเอิญวันนั้นถนนเป็นเส้นตรง เราก็จะเห็นมวลมหาประชาชนในเสื้อสีเหลืองทอดยาวจากไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมคิดว่านั่นแหละ ภาพที่ทรงพลังที่สุดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 


0 0 0


 


รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์


ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


 


หนังสืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น มีความหมายสำคัญกับจังหวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเราวันนี้ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก อาจถือได้ว่าสำคัญไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่น้อยไปกว่าช่วงเวลานั้น หรือไม่น้อยไปกว่าช่วง พ.ศ.2475 แม้ว่าบรรยากาศอาจดูอึมครึม แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งมาก หากเราไม่ระวังให้ดี ไม่ตามให้ดี ไม่คิดให้ดี สังคมจะตกอยู่ในภาวะวังวนแห่งความมืดบอด และเกิดวิกฤตขึ้นมา


 


สิ่งที่ผมพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญวันนี้ ก็คือความขัดแย้ง ความแตกแยก รวมทั้งการปะทะกันของชนชั้นนำทางการเมืองไทย ได้ดึงเอาได้กระแทกเอาความแตกแยกหรือความขัดแย้งในระดับล่างของสังคมไทยเข้ามาเกี่ยวด้วย


 


เราจะพบว่าการเมืองไทยที่ผ่านมา มันเป็นความขัดแย้งของชนชั้นนำเป็นหลัก แต่ในวันนี้ความขัดแย้งของชนชั้นนำ ได้ดึงเอาทั้งสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเป็นช่วงจังหวะการเปลี่ยนแปลงการเมืองของสังคม มันไม่ใช่การเมืองของชนชั้นนำแบบเดิม เราปฏิเสธไม่ได้ว่า 14 ตุลา 16 หรือ พ.ศ.2475 ก็ตาม ตัวชี้ขาดชัยชนะอยู่ที่ชนชั้นนำ อาจารย์ธเนศวร์ (ธเนศวร์ เจริญเมือง ผู้ดำเนินรายการ) เป็นรองเลขาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ก็คงเข้าใจดีว่ามันมีความขัดแย้งของชนชั้นนำเป็นตัวชี้ขาด


 


แต่เหตุการณ์คราวนี้ไม่ใช่ ตัวชี้ขาดเป็นพลังของสังคม เป็นการเมืองของสังคมคราวแรก เรื่องนี้ อย่างที่บอก ถ้าเราไม่ตระหนักให้ดี ไม่เข้าใจการเมืองให้ดี เราทั้งสังคมจะวิกฤติ วิกฤติจะลามไปทุกระดับ ไม่ใช่แค่พวกเราแต่มันจะลามสูงไปกว่าที่เราจะคาดคิด ถ้าหากเราไม่ตั้งสติกันให้ดี ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เราเดินออกไปเชียร์ใคร แต่ว่าให้เราผลิตความรู้ทางสังคม ช่วยๆ กันคิด วันนี้ไม่มีใครสามารถเป็นคนคิดคนเดียวได้ การเมืองในวันนี้มันเป็นการเมืองระดับที่ใหญ่ไปแล้ว


 


"ในเมืองไทย สิ่งที่กลายเป็นตัวยืนยันอำนาจ คือความทรงจำ ไม่ใช่ความรู้ ในเมืองไทยตัวที่กำกับเราคือความทรงจำ และการกำกับเราโดยความทรงจำนี้ทำให้คนบางกลุ่มมีอำนาจ และกลายเป็นตัวกำกับทุกอย่างไป"


 


งานของอาจารย์มาลินีได้หยิบเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งขึ้นมาพูด คือความทรงจำกับอำนาจการเมืองขึ้นมา  มันมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างหลีกหนีไม่ได้ แล้วถ้าความทรงจำมันถูกฝังเข้าไปในหัวแล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นอย่างนั้น มันเป็นความจริงแท้สมบูรณ์ แล้วถ้าเราเชื่อว่าเป็นความจริงแท้สมบูรณ์ เราก็จะไม่มีคำถาม เราก็จะถูกผลักให้เดินตามความทรงจำที่เราเชื่อนั้นไปเรื่อยๆ


 


และการกำกับเราโดยความทรงจำนี้ทำให้คนบางกลุ่มมีอำนาจ และกลายเป็นตัวกำกับทุกอย่างไป ความทรงจำนี้ถูกสร้างขึ้น ถูกบีบขึ้น ถูกลบล้าง ถูกทำลายเบียดขับ ในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ความทรงจำไม่เคยมีก้อนเดียว ในสนามของการต่อสู้เพื่อทำให้บางคนหรือคนบางกลุ่มมีอำนาจ การฝังความทรงจำเข้าไปในหัว มันฝังเสร็จอาจจะไปโผล่ทางสัญลักษณ์ โผล่อย่างอนุสาวรีย์ หรือในแบบเรียน


 


คณะราษฎรก็เช่นกัน เมื่อปฏิวัติเสร็จ ก็พยายามจะสร้างความทรงจำอันหนึ่งขึ้นมา แล้วพยายามจะฝังความทรงจำนั้นลงในอนุสาวรีย์ ไม่เพียงเท่านั้นคณะราษฎรยังพยายามฝังความทรงจำนั้นไปในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญด้วย อย่าลืมว่าการจัดปฏิทินชีวิตของคนได้ ก็คือการจัดความทรงจำทั้งหมดฝังลงในวิถีชีวิตประจำวัน


 


เช่น เราพูดถึง 14 กุมภา ผมคิดว่าเรามีความทรงจำต่อภาพที่ถูกฝังอยู่ในวันนี้แน่นมาก หรือลอยกระทง วันสงกรานต์ ทั้งหมดนี้คือกระบวนการเปลี่ยนปฏิทินชีวิต บันทึกเข้าเป็นความทรงจำในชีวิตและกำกับชีวิตของเรา


 


ทำนองเดียวกันในเชิงการเมือง คณะราษฎรทำแบบนี้ แต่คณะราษฎรมีช่วงชีวิตที่สั้นมาก พ.ศ.2475 เริ่มขึ้นมาก็ทะเลาะกับพระยามโนปกรณ์ฯ ทะเลาะกับคณะเจ้า การฝังนี้ไม่สำเร็จ คณะราษฎรมีอำนาจจริงๆ คือปี พ.ศ.2480 คือคนในคณะราษฎรได้เป็นรัฐมนตรีจริง ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีลอย เสร็จแล้ว พ.ศ.2484 เกิดสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ 2) พ.ศ.2488 สงครามจบ คณะราษฎรมีชีวิตกลับมา 2 ปี ก็ถูกรัฐประหาร พ.ศ.2490 ดังนั้นการฝังความทรงจำเรื่องอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมันจึงเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก


 


จึงไม่น่าแปลกใจที่อาจารย์มาลินีจะพบว่า ความหมายต่างๆ ของระบบสัญลักษณ์ของอนุสาวรีย์หายไปจากความทรงจำหมดเลย เพิ่งมาถูกรื้อฟื้นในช่วงหลังๆ นี่เอง เนื่องจากกลายเป็นความทรงจำที่ไม่มีใครอยากจำ ดังนั้นกลุ่มต่างๆ ก็ทำลายมันให้กลายเป็นแค่ที่วิ่งรถวนเล่นๆ


 


กระบวนการความทรงจำกับอำนาจ หรือความทรงจำกับการเมืองนี้เอง มันคือตัวเล่นบทบาทที่สำคัญในการเมืองไทย ความรู้ชุดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น คืองานของอาจารย์มาลินี ก็เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ชุดใหม่ๆ ในแวดวงนี้ก็มี อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ฯลฯ อีกมากมายหลายคน ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ พยายามที่จะพูดว่าเราจะรื้อความจริง ความเชื่อที่ว่าจริงอย่างไร ขณะเดียวกันก็บอกว่า ถ้าเราจะรื้อความจริง ความเชื่อที่ว่าจริง เราต้องเข้าไปรื้อความทรงจำด้วย เรานึกถึงงานของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่พูดถึงประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม เพื่อจะบอกว่า ถ้าหากเราใฝ่ฝันถึงสังคมเสมอภาค เราคงจะต้องรื้อหรือเข้าไปยุ่ง เข้าไปแก้ไขรหัสหมายทั้งหมด เพื่อที่จะทำให้เรามีความสามารถที่จะตัดสินใจเอง ในสิ่งที่เราคิดว่าดีหรือไม่ดีได้


 


ความทรงจำกับอำนาจการเมือง ท้ายที่สุดมันนำไปสู่การใส่ Code บางอย่างในตัวเรา ถ้าหากเราไม่รื้อ Code นี้ เราไม่มีทางเห็นอะไรนอกจากนั้น ลองนึกถึงพวกเรานะครับ ถ้าเราไม่รื้อความคิดที่ว่า ร่างกายของเราเป็นอย่างไร เราจะตกอยู่ในบ่วงของยารักแร้ขาว ที่ขายได้ปีละ 1,700 ล้านบาท เวลาผมสอน Class ใหญ่ มีเด็กสัก 100 คน ผมถามว่าใครไม่ใช้ Whitening บ้าง แต่ละครั้งจะมีเด็กสักคนสองคนที่บอกว่าไม่เคยใช้ อันนี้คือ Code อย่างหนึ่ง Code เกี่ยวกับร่างกายเรา


 


อย่างเสื้อเบอร์ 5 S ใส่ก็ลำบาก กว่าจะยัดเข้าไปได้ แต่คุณต้องใส่เพราะ Code ร่างกายคุณมันเหลืออยู่เท่านั้น Code มันไม่เท่ากับกุลสตรี ไม่เท่ากับรักนวลสงวนตัว ไม่เท่ากับแม่ศรีเรือน ไม่มีอีกแล้ว ผู้หญิงมันเท่ากับแค่ตรงนั้น Code มันเข้าไปเสร็จก็ทำให้คุณประพฤติแบบนี้


 


แต่ Code ทางการเมืองมันสำคัญกว่านั้น มันเข้าไปฝังเข้าไป ใส่รหัสเข้าไป ทำให้คุณรู้สึกว่าคุณจะต้องทำอะไรในบางช่วงจังหวะ เช่น ทำไมคุณไม่สามารถที่จะใส่เสื้อดำในวันที่เขาใส่เสื้อเหลืองได้ เพราะกระบวนการ Code ฝังเข้าไปในหัว


 


ดังนั้นงานของนักวิชาการกลุ่มนี้ คืองานพยายามที่จะเข้าไปรื้อ เข้าไปบอกว่ากระบวนการของสิ่งสร้างที่เราเชื่อว่าจริงคืออะไร มันไม่มีความจริงแท้เกิดขึ้น มีแต่ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ถูกสร้างขึ้นในเงื่อนไขหนึ่งๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เช่นกัน ถูกผลิต ถูกสร้าง ถูกให้ความหมายในแต่ละช่วงเวลา รัฐธรรมนูญที่อาจารย์สมชายพูดเป็นตัวอย่างเดียวกันเลย เราพบว่ารัฐธรรมนูญถูกวางอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ๆ ไม่เหมือนกันตามจังหวะเวลา และการวางนี้เข้าไปสัมพันธ์กับอำนาจทั้งสิ้น


 


กรณีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ อย่างน้อยก็คือว่า เราเข้าไปรื้อความทรงจำ คงต้องรื้ออีกหลายๆ จุด รื้อเพื่อที่จะทำให้เราเห็นสิ่งที่เรียกว่า ทางเลือกของการคิด ในวันนี้ถ้านักศึกษา อาจารย์ สักครึ่งหนึ่งของประเทศ รวมทั้งเพื่อนสนิทของผมคือ อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง ถ้าหากเราไม่คิดกันให้ชัด เราไม่คิดกันให้ดี ทางเลือกของชีวิตเรา ทางเลือกของสังคมจะเหลือน้อยลง และทางเลือกที่เหลือน้อยลงนี้ไม่ได้นำไปสู่อนาคตที่ดี มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่คาดการณ์ไม่ได้


 


สมัยก่อน เราคาดการณ์ได้ว่าความขัดแย้งนำไปสู่อะไร แม้กระทั่งในเดือนพฤษภาคมปี 2535 พวกเราทั้งหมดอยู่ที่สนามวอลเลย์บอล (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) มีคนประมาณ 30,000-40,000 คน ประมาณนั้นอาจจะมากกว่าไม่ได้นับ ทั้งหมดในวันนั้น แม้จะรู้ว่าเริ่มยิ่งกันแล้ว มีข่าวลือว่าป๋าเอาทหารมา แต่ไม่มีจริงสักที แต่ทั้งหมดรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า อาจจะช้าหน่อย บางคนว่าทำไมออกมาช้าจัง แต่เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่วันนี้เรารู้ไหม เราไม่รู้ สิ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าหากเราไม่มีทางเลือกของวิธีคิดผมว่าอันตรายจะเกิดขึ้น


 


งานพวกนี้ รวมทั้งงานโพสต์โมเดิร์น (หลังสมัยใหม่) ที่พยายามจะบอกว่ามันไม่มีความจริงแท้ มันมีแต่ความจริงสัมพัทธ์หมด กลุ่มโพสต์โมเดิร์นทั้งหมด คือกลุ่มคิดที่ท้าทายระบบคิดแบบโมเดิร์นที่เชื่อว่ามันมีความจริงแท้อยู่ 1 ชุด และท้าทายที่โมเดิร์นบอกว่ามันจริงจริงๆ มันถูกสร้างอยู่ตรงนี้ ถามโพสต์โมเดิร์นว่าอะไรจริง ไม่รู้ เรื่องของมึง คือคืนการตัดสินใจให้กับสังคม คืนการตัดสินใจให้กับผู้อ่าน มันจะทำให้อย่างน้อยสังคมจะมีศักยภาพในการคิดมากขึ้น และถามว่าแต่ละคน ถ้าเราเริ่มคิดจะเป็นความคิดของปัจเจกหรือไม่ ไม่ใช่หรอก มันก็มีแนวโน้มของสังคมที่จะคิดแบบนี้ไปด้วยกัน


 


กระแสของการต่อต้านทักษิณมันเริ่มจากการต่อต้านแบบปัจเจกๆ แต่ท้ายสุดมันก็เริ่มมีชุดการอธิบายขึ้นมา เพราะฉะนั้นกระแสของโพสต์โมเดิร์น จึงไม่ใช่กระแสเพียงปัจเจกชนที่แสวงหาการหลุดพ้นทางปัญญาเพียงคนเดียว แต่ท้ายที่สุดมันจะคืนการตัดสินใจให้กับสังคม


 


แน่นอน ในช่วงจังหวะนี้ เราอาจจะพบว่ามีการรื้อกันหลายระดับ แต่ในอนาคตก็จะมีการรื้อมากขึ้น อย่างงานของอาจารย์สมชายทั้งหมดคือการรื้อความจริงที่เขาว่าจริง อาจารย์สมชายบอกไม่ใช่ อย่างน้อยมันจะทำให้คุณได้คิดมากขึ้น ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยวันนี้ บทความชิ้นหนึ่งที่ถูกอัดมากคือบอกว่า กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาจารย์สมชายบอกไม่ใช่บิดากฎหมายไทย แต่ถามว่า ต่อให้คุณอ่านแล้วยังเชื่อว่ากรมหลวงราชบุรีฯ เป็นบิดากฎหมายไทย คุณก็ยังรู้สึกว่ามีอีกทางหนึ่ง กระบวนการแบบนี้ คือพลังทางสังคม


 


ในวันนี้น่าสงสารสังคมไทย ที่เราหลงเชื่อ ถูกทำให้เชื่อว่ามีความจริงอยู่ชุดเดียว และพอเราเชื่อว่ามีความจริงอยู่ชุดเดียว เราจึงมีทางแก้ปัญหาต่างๆ เพียงทางเดียว และทางนั้นยิ่งทำเราลงเหวมากขึ้นๆ เรื่อยๆ


 


รัฐบาลทักษิณแก้ปัญหาภาคใต้มา 2 ปีครึ่งเกือบ 3 ปี สังคมไทยทั้งหมดยังสมาทานวิธีการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาแบบทักษิณ น่าตกใจ ทักษิณควรจะหมดเวลาแก้ปัญหาภาคใต้ไปแล้วเมื่อปีที่แล้วหรือ 2 ปีก่อน sms ที่ลงจอโทรทัศน์เวลามีปัญหาภาคใต้ ทั้งหมดชี้ให้เห็นความเบาปัญญาของคนในสังคมไทย "รักกันไว้เกิดเราเกิดร่วมแดนไทย" "รักกันไว้นะคนไทยด้วยกัน" ผมว่านี่มันน่ารัก นุ่มนิ่ม หน่อมแน้ม อะไรทำนองนั้น คือเราคิดกันอยู่อย่างเดียว


 


วันนี้ งานศึกษาที่อาจารย์มาลินีทำ อาจารย์สมชายทำ หรือท่านอื่นๆ ทำ เป็นทางที่จะเรานำไปสู่การคิดของเราได้มากขึ้น หากวันนี้เราร่วมกันรื้อสร้าง ไม่ต้องกลัวว่ารื้อสร้างแล้วจะไปกระทบสถาบันหลัก


 


ปัญหาปักษ์ใต้ สอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ได้ เดี๋ยวแบ่งแยก จะบ้าหรือไง ไปถามพี่น้องที่ยะลาว่าอยากไปอยู่กับมาเลย์หรือ ไม่มีใครอยากไป คนไทยที่อยู่รัฐกลันตันที่เป็นพลเมืองชั้น 2 ในประเทศมาเลเซีย เขาขอแค่ความเสมอภาคในชีวิต เราไม่ยอมให้มีการสอนภาษามลายู ขณะเดียวกันภาคเหนือสามารถสอนภาษาล้านนาได้เต็มไปหมด ฉะนั้น อย่าไปกังวลว่าสถาบันหลักจะมีอันตรายหากเราพูดถึงความหลากหลาย ไม่มีอันตราย รับประกันได้ เราฝังลึกมามาก จนกระทั่งรับประกันได้ว่าไม่น่าอันตราย แต่ความรู้ที่รื้อแบบนี้เองมันจะสร้างพลังให้เราในการที่จะเจอกับความเปลี่ยนแปลง ในวันนี้เราสู้เวียดนามไม่ได้ด้วยเหตุผลที่ว่าเราไม่มีคำถามอะไรเลย


 


ท้ายที่สุดสิ่งที่อาจารย์มาลินีทำ คือสิ่งที่เป็นภาระของนักวิชาการวันนี้ที่จะต้องช่วยกันถอดรื้อ ช่วยกันปฏิบัติภารกิจที่ให้สมกับที่เราได้รับเงินภาษีของประชาชน จะขวาจะซ้ายก็ได้ขอให้มีปัญญา ถ้าเราสร้างตรงนี้ได้ คณะรัฐศาสตร์จะเป็นคณะรัฐศาสตร์ที่เต็มความหมาย รวมทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะเป็นมหาวิทยาลัยของคนที่มีปัญญาในเขตภูมิภาคนี้


 


.................................................


อ่านเรื่องประกอบ


แนะนำหนังสืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น หนังสือดีที่สมัชชาพันธมิตรฯ และ ไทยรักไทย ควรอ่านเพื่อให้มองเห็นประชาธิปไตยใน "ความหมายที่มองไม่เห็น"


 


สัมภาษณ์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ : การเมืองเชิงวัฒนธรรม 2549


 


อ่านความคิด "มาลินี คุ้มสุภา" กับงานรางวัล : "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net