Skip to main content
sharethis

ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ปี 2540 ท้องฟ้าแถบเกาะสุมาตรา ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของไทยดำทะมึน ประชาชนจำนวนมากล้มป่วย เพราะหายใจไม่ออก บางรายรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล หลายประเทศประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะสภาพอากาศเลวร้ายขั้นอันตรายรุนแรง ทั้งหมดเกิดขึ้นจากควันไฟป่าในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีอัตราการสูญเสียป่าไม้สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยในช่วงทศวรรษ 1960s พื้นที่ป่าครอบคลุมทั้งประเทศถึง 80% แต่เมื่อย่างเข้า ทศวรรษที่ 1980s มีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าถึงปีละ 1 ล้านเฮคแตร์ (6.2 ล้านไร่) ทศวรรษที่ 1990s ปีละ 1.7 ล้านเฮคแตร์ (10.54 ล้านไร่) ปัจจุบันมีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าถึงปีละ 2-2.4 ล้านเฮคแตร์ (12.4-14.88 ล้านไร่) พื้นที่ป่าไม่ถึงครึ่งของประเทศ

สภาพป่าในอินโดนีเซียเป็นป่าดิบชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม่ได้มาจากสภาพดินที่ดี เพราะเป็นดินเก่า หน้าดินน้อย แต่ที่อุดมสมบูรณ์เพราะมีป่าปรก นั่นหมายความว่า หากขาดซึ่งป่า ดินก็ไม่สมารถเพาะปลูกได้เลย

ไฟป่าในอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทุกปีนับตั้งแต่ปี 2540 จนได้รับการขนานนามว่า เป็นความยั่งยืนที่สุดในประเทศนี้ คงไม่สามารถเรียกว่าเป็นภัยธรรมชาติได้ แต่ควรเรียกมันว่า "หายนะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์" มากกว่า

ต้นทศวรรษ 1980s สมัยรัฐบาลซูฮาร์โตซึ่งขึ้นชื่อว่าคอรัปชั่นมากที่สุด มีนโยบายทำสวนป่าเพื่ออุตสาหกรรม หรือ รู้จักกันในนามโครงการ HIT โดยอ้างว่าเพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม และลดการพึ่งพาป่าไม้ธรรมชาติ แต่ความเป็นจริงแล้ว เบื้องหลังของโครงการคือความต้องการก้าวเป็นประเทศผู้ผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษยักษ์ใหญ่ของโลก

แน่นอนว่า รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้เอง แต่ก็เหมือนกับทุกๆนโยบายที่ผู้อยู่เบื้องหลังสมคบกันเป็นกระบวนการระหว่าง ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเทศร่ำรวยที่ต้องการทรัพยากรป่าไม้ของอินโดนีเซีย ต้องการขายเทคโนโลยี และต้องการส่งออกอุตสาหกรรมที่สกปรกที่สุดออกจากประเทศตัวเอง กลุ่มคนเหล่านี้ได้ร่วมมือกับชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาอย่างครอบครัวซูฮาร์โต และนักธุรกิจหัวใสจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย

กระบวนการก็เริ่มจากการให้สัมปทานพื้นที่ป่า ตัดป่าไม้ธรรมชาติ เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกสวนป่าเยื่อกระดาษ และสวนปาล์มน้ำมัน การรุกป่าเพื่อครอบครองพื้นที่มากขึ้นกว่าที่ได้สัมปทาน โดยมีการใช้วิธีง่ายๆในการถางเปิดพื้นที่ คือ "การโค่นแล้วเผา" แน่นอนว่า มันไม่ใช่วิธีของชาวบ้าน แต่เป็นรูปแบบของอุตสาหกรรม ฉะนั้นการเผาแต่ละครั้งกินพื้นที่วงกว้าง และในที่สุดก็ยากเกินจะควบคุม

ตัวเลขที่น่าตกใจก็คือ อุตสาหกรรมกระดาษในอินโดนีเซียที่อ้างว่าไม่สร้างภาระแก่ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะใช้ไม้ที่ปลูกในสวนป่านั้น อันที่จริงมีวัตถุดิบจากสวนป่าเพื่อป้อนโรงงานแค่ 20-25% เท่านั้น หมายความว่า กระดาษจากโรงงานในอินโดนีเซียทั้งหมดกว่า 75-80% ใช้วัตถุดิบจากป่าธรรมชาติล้วนๆ เมื่อเดือนมีนาคม 2547 สองบริษัทกระดาษยักษ์ใหญ่คือ APP และ APRIL ก็ยอมรับว่า "ใช้วัตถุดิบจากป่าธรรมชาติจริง แต่จะหยุดใช้ในปี 2550 หรือ 2551" ซึ่งสาเหตุที่สองบริษัทนี้ไม่ได้พูดไว้ อาจเป็นเพราะไม่มีป่าธรรมชาติเหลือให้เป็นวัตถุดิบอีกต่อไป

เช่นเดียวกับกรณีของสวนปาล์มน้ำมัน ทั้งธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟก็สนับสนุนให้อินโดนีเซียขายทรัพยากรของตัวเอง ด้วยการรับโครงการปลูกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ค่าแรงและที่ดินมีราคาถูก สภาพอากาศดี ดินเหมาะสม ผนวกกับความต้องการของจีนและอินเดียที่ถีบตัวสูงขึ้น

ผลของการโน้มน้าวใจ ปี 2540 พื้นที่ป่า 7 ล้านเฮคแตร์ (43.4 ล้านไร่) ปี 2541 รัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎหมายให้สามารถใช้ที่ดิน 30% ที่ได้สัมปทานไปปลูกปาล์มน้ำมัน นั่นหมายความว่า สัมปทานที่ได้ กลายเป็นการได้ที่ดินถาวร

ทั้ง 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษ มีความเหมือนกันคือ นอกจากจะทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกระดาษที่ใช้สารเคมีมาก ทำลายระบบนิเวศด้วยการเพาะปลูกเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ถูกทำลาย ยังก่อให้เกิดมหันตภัยธรรมชาติที่สร้างโดยน้ำมือมนุษย์ตามมากมาย คือ หน้าดินพังทลาย ดินถล่ม น้ำท่วม และไฟป่า

นอกจากนี้ ยังทำลายชีวิตผู้คนด้วย ประชากรของอินโดนีเซียจำนวนมากเป็นชนพื้นเมืองที่พึ่งพาอาศัยป่า คนเหล่านี้ถูกไล่ที่ ใช้กำลังทหารทำร้ายจนเสียชีวิตไปนักต่อนัก

ปี 2540 ชนพื้นเมือง ซามิฮิม ดายัค ทางตอนใต้ของเกาะกาลิมันตัน ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับบริษัท ซาลิม กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดฐานเป็นตัวการของไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อ 2540 ในที่สุดศาลได้พิพากษาเมื่อปี 2542 ให้บริษัท ซาลิม กรุ๊ป ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้าน 150 ล้านรูเปี๊ยะ อันที่จริงวงเงินดังกล่าวถือว่าไม่มาก แต่มันเป็นพลังให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆกล้าลุกขึ้นมาสู้ อย่างน้อย 3 คดีแล้วชาวบ้านก็ชนะทั้งหมด

แต่ตราบใดที่ชาวบ้านถูกไล่ออกจากพื้นที่ ออกจากป่าที่เคยอยู่ ป่าก็ไม่มีคนดูแล ข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียชี้ว่า 75% ของไฟป่าเกิดในพื้นที่สวนปาล์ม สวนป่ายูคาลิปตัส เขตสัมปทานทั้งสิ้น

ฉะนั้น เมื่อคนมาเลเซียเดือดร้อนจากควันไฟป่าที่เกาะสุมาตรา รัฐบาลมาเลเซียก็ยอมรับว่าไม่สามารถโทษรัฐบาลอินโดนีเซียได้มากนัก เพราะนักธุรกิจของมาเลเซียจำนวนมากที่ไปทำสวนปาล์มน้ำมันในเกาะสุมาตรา เป็นมีส่วนในการก่อไฟป่า

ล่าสุด 8 ใน 11 บริษัทที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะฟ้องร้องดำเนินคดีฐานเป็นต้นเหตุของไฟป่า ก็เป็นบริษัทของนักธุรกิจมาเลเซีย

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และสหภาพยุโรปเพื่อป้องกันและควบคุมไฟป่า ได้ออกข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระบุว่า "วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันและควบคุมไฟป่าคือ ต้องสนับสนุนให้ประชาชนวางแผนการใช้ป่า เพราะประชาชนใช้ประโยชน์จากป่าอย่างชาญฉลาด เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และสามารถควบคุมไฟป่าได้"

ซึ่งนั่นคงไม่ใช่การไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แล้วจัดการป่าด้วยการตัดถางป่า สร้างสวนปาล์ม หรือไร่ไม้ทำเยื่อกระดาษเพื่อกำไรของนายทุนและประโยชน์ของสถาบันการเงินต่างๆ เพราะหากวิถีทางนี้ยังดำรงอยู่ต่อไป ก็คงต้องเป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรีอับดุลลา บัลดาวี แห่งมาเลเซีย กล่าวไว้ว่า "พวกเราคงต้องสวดมนต์อ้อนวอนให้สถานการณ์ไฟป่าในอินโดนีเซียดีขึ้น" ในเมื่อมันไม่มีทางออกอื่นๆ เหลืออีกแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net