ชุมชนบ้านตำแย ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง อนาคตเตรียมตั้งศูนย์ ศตจ.

รายงานโดย ศูนย์ข่าวประชาสังคม อุบลฯ

 

 

ชุมชนบ้านตำแยหมู่ 1 ต.ไร่น้อย อ.เมือง ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน เน้นการปลูกพืชผักสวนครัว การแปรรูปทรัพยากรในชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า ขณะที่ผู้ใหญ่บ้าน เตรียมจัดตั้งศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนในชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน

 

สืบเนื่องจากกระทรวงมหาดไทย โดยพลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยแต่ตั้ง คณะกรรมการอำนวยการเศรษฐกิจพอเพียงระดับกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดขึ้นรับผิดชอบดำเนินการ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางให้ทุกจังหวัดสำรวจ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น จังหวัดละ 1 หมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการขยายผลทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายสร้างชุมชนเข้มแข็งทุกตำบล

 

กำหนดเป้าหมายในปี 2549 อำเภอละ 1 ตำบล รวม 5,000 หมู่บ้าน , ปี 2550 เพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนเป็นร้อยละ 50 ของหมู่บ้านทั้งหมด , ปี 2551 เพิ่มความเข้มแข็งเป็นร้อยละ 100 ของหมู่บ้านทั้งหมด

 

ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยได้พบหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่มีลักษณะของความพอเพียงทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การลดราบจ่าย การเพิ่มรายได้ การออม การดำรงชีวิต การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการเอื้ออาทร ซึ่งได้คนพบแล้วทั้ง 75 จังหวัด

 

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทั้งหมด 19 จังหวัด มีหมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 19 หมู่บ้าน จังหวัดอุบลราชธานีหมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ "บ้านตำแย"

 

นายแสวง เพิ่มศรี ผู้ใหญ่บ้านตำแย หมู่ 1 ต.ไร่น้อย อ. เมือง จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของคนในชุมชน ว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน ช่วงฤดูกาลทำนาคนในชุมชนที่เป็นเกษตรจะลงนาเพื่อปลูกข้าวตามฤดูกาลปีละ 1 ครั้ง ซึ่งอาศัยธรรมชาติจากฝนเป็นองค์ประกอบหลักในการทำนา ส่วนกรณีที่แปลงนาตั้งอยู่ที่ราบสูงไม่สามารถรองรับน้ำได้ ชาวนาจะเปลี่ยนวิธีการทำนามาเป็นการทำสวน ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อจำหน่ายและเก็บไว้รับประทานเอง เพื่อไม่ให้ที่นาว่างเปล่า

 

สำหรับเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำในหมู่บ้านนั้น เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพิ่มรายได้ และการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันคนในชุมชนเองก็มีวิถีการดำเนินชีวิตที่อยู่อย่างพอเพียงอยู่แล้ว โดยการพึงพาธรรมชาติมีการเก็บผักที่รับประทานได้จากรั้วมาแปรรูปประกอบเป็นเมนูอาหารรับประมานในครอบครัว ประกอบกับพื้นที่ในชุมชนบ้านตำแยส่วนใหญ่ยังมีที่สำหรับการเพาะปลูกพืช ผัก สวนครัวได้ ทำให้หลายครอบครัวหันมาปลูกผักเพื่อเก็บไว้รับประมานเองเพิ่มมากขึ้น และผักที่เหลือจากรับประทานเองก็จะนำไปขายให้กับคนในชุมชนที่ไม่ได้ปลูก เป็นการเพิ่มรายได้ในระดับหนึ่งและลดค่าใช้จ่ายในบางส่วน บางครอบครัวยึดอาชีพปลูกผักเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากในบางฤดูกาลทำนาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลทำให้ต้องหันมาทำอาชีพอื่นแทน ซึ่งวิธีการนำแปลงนามาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นวิธีที่เหมาะสมกับคนในชุมชนมากที่สุด

           

นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยคดี เพื่อใช้เป็นสถานที่ไก่เกลี่ยให้กับคนในชุมชน ที่ผ่านมาผู้นำชุมชนร่วมกับคณะกรรมการสามารถไกล่เกลี่ยได้ทั้งหมดทุกคดี เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่มีความสามัคคีและมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่คนในชุมชนให้ความเคารพศรัทธรามากที่สุด คือ "พระครูอินทศาลโสภณ " เจ้าอาวาสวัดบ้านตำแย และเจ้าคณะตำบลไร่น้อย ซึ่งในระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 คนในชุมชนก็จะจัดงานสืบชะตาต่ออายุให้พระครูด้วยซึ่งคาดว่าจะมรประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

 

" กว่าระยะเวลา 200 ปี ที่บ้านตำแยได้ก่อตั้งขึ้นมาเป็นชุมชนที่อยู่ในแถบชานเมือง เดิมทีที่บรรพบุรุษได้เล่าสืบต่อกันมาว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่า ยังไม่มีประชาชนมาอาศัยอยู่หนาแน่นเหมือนเช่นในปัจจุบัน ระยะแรกในการก่อตั้งหมู่บ้านเริ่มมีประชากรเข้ามาแผ้วถางป่าเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นเป็นต้นมาเริ่มมีประชาชนเข้ามาก่อสร้างบ้านเรือนเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับการเจริญเติบโตของชุมชนเมืองทำให้มีการขยายตัวของหมู่บ้านไปยังที่แห่งใหม่ที่อยู่ใกล้เคียงขึ้น ปัจจุบันบ้านตำแยมีประชากรประมาณ 1,000 คน ในจำนวน 287 ครัวเรือน มีผู้นำชุมชนตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบันเป็นคนที่ 10 โดย ระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 5 - 6 กิโลเมตร คนในชุมชนส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรม การปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักกาด โหระพา และพืชผักที่สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล เนื่องจากทำเลในชุมชนเหมาะแก่การเพาะปลูก"

 

สำหรับแผนการทำงานในอนาคตนั้นชุมชนบ้านตำแยได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนในหมู่บ้าน โดยนำเงินกองทุนมาเป็นตัวช่วยหลักหมุนเวียงให้แก่คนในชุมชนที่เดือดร้อน โดยเน้นด้านการสร้างอาชีพเป็นหลัก โดยคิดดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน ตลอดจนการจัดตั้งกลุ่มสตรีที่ไม่มีงานทำมารวมกลุ่มสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

ด้านนายบุญหลาย กลิ่นแก้ว อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 70/ 1 หมู่ 1 บ้านตำแย ต. ไร่น้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ตนพร้อมครอบครัวได้ยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำนา และปลูกพืชผักสวนครัวขายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวมากว่า 30 ปี โดยไม่มีที่นาเป็นของตนเองอาศัยที่นาทำกินจากบุคคลอื่นและแบ่งปันผลผลิตให้เป็นค่าตอบแทน ในช่วงฤดูกาลทำนาที่ฝนมาช้ากว่าทุกปีตนจะเปลี่ยนวิธีการทำนามาเป็นวิธีการทำสวนปลูกพืชตระกูลถั่วขายให้แก่คนในชุมชน เป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว ถึงแม้ไม่ได้ทำเป็นกิจการใหญ่โตแต่ก็พอแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ภายในครอบครัวเป็นการดำเนินชีวิตที่อยู่อย่างพอเพียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท