Skip to main content
sharethis

รายงานโดย : สุมาตร ภูลายยาว


 


 



 


เสียงรถสิบล้อกระหึ่มดังมาตามถนนเลียบแม่น้ำโขงก่อนจะเงียบเสียงลง เมื่อถึงใกล้ท่าเรือ หลังจากรถจอดสนิท กรรมกรท่าเรือไม่ต่ำกว่า 20 คนมุ่งตรงมายังรถ ผ้าใบคลุมหลังคาถูกเปิดออก บนรถมีกล่องกระดาษจำนวนมากวางซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น ข้างกล่องด้านหนึ่งมีภาษาจีนพิมพ์ทับลงบนกระดาษ อีกด้านหนึ่งพิมพ์เป็นรูปลำใย


 


แถวของกรรมกรขนสินค้าจากรถลงเรือจีนลำใหญ่ อาจดูเป็นเรื่องราวแปลกตาสำหรับคนต่างถิ่นผู้เพิ่งพบเห็น แต่สำหรับคนท้องถิ่น เรื่องราวเหล่านี้มันดูเป็นเรื่องราวปกติที่ได้ดูจนชินตา ว่ากันว่าปลายทางของลำใยอบแห้งอยู่ในมลฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน


 


เส้นทางการค้าในอดีต


การค้าแต่เดิมในเขตพื้นที่ 3 อำเภอคือ เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น เป็นการค้าขายขนาดเล็กระว่างชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นส่วนใหญ่ แม่น้ำโขงจึงเข้ามามีบทบาทในการเป็นเส้นทางการค้าและการคมนาคม การค้าขายรวมทั้งการไปมาหาสุ่กันระหว่างชุมชน ในอดีตเมืองเชียงแสนเป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งที่เป็นทางผ่านไปสู่จังหวัดเชียงราย และเมืองเชียงแสนเองนอกจากจะเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำแล้วยังเป็นเส้นทางการค้าทางบกไปสู่เมืองเชียงรุ่งด้วย


 


หากมองย้อนกลับไปหลังจากเรือลำใหญ่เดินทางมาถึงเชียงแสน เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นที่เชียงแสนมากมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและน่าหวาดหวั่นที่สุดเหตุการณ์หนึ่งคือ "การเปิดเขตการค้าเสรีไทย - จีน" ซึ่งจากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีนได้ส่งผลกระทบกับคนเชียงแสนพอสมควร อาจมีคำถามว่าการมาถึงของเรือลำใหญ่จากจีนทำให้การค้าในเมืองเชียงแสนเปลี่ยนไปมากมายเลยหรือ


 


หากเราลองพิจารณาขอบเขตในเรื่องการค้าชายแดนแล้ว เราจะพบคำตอบว่า ในอดีตการค้าตามเมืองชายแดนแทบทุกที่รวมทั้งเชียงแสนด้วย ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนกันในวงแคบๆ ระหว่างชุมชนกับชุมชน โดยเฉพาะผู้คนสองฝั่งโขง ในสมัยโบราณการค้าที่ผลผลิตหาได้จากสองฝั่งโขงจะมีการค้าด้วยระบบเงินตราระหว่างกันน้อย ส่วนมากผลผลิตที่ได้จะมีไว้เพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในระบบการค้าสมัยใหม่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น


 


ในรายงานการศึกษาการค้าข้ามแดนในเขตแหลมแอฟริกา (Horn of Africa) ซึ่งประกอบด้วยประเทศโซมาเลีย จีบูตี เอธิโอเปีย เอริเทรีย เคนยา และเมืองไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ใน ค.ศ.1998 พบว่า สินค้าที่ขายผ่านแดนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตรได้แก่ ข้าวฟ่างพื้นเมือง ข้าวโพดพื้นเมือง ข้าวเจ้าแดง แป้งสาลี น้ำตาล ชา ถ่าน โดยมีวัวเป็นสินค้าหลัก เพราะว่าวัวในแถบนั้นถือว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญ การค้าวัวเพื่อได้เงินมาซื้อพืชผลทางการเกษตร หรือใช้วัวแลกพืชผลทางการเกษตร การค้าชายแดนจึงมีผลต่อความมั่นคงทางอาหารในบริเวณนี้


 


ส่วนการค้าชายแดนในอำเภอเชียงแสนเองก็ไม่ได้แตกต่างกับเรื่องราวที่กล่าวมาเท่าใดนัก เพราะการค้าชายแดนในเมืองเชียงแสนก็หมายถึงความมั่นคงทางอาหารของคนสองฝั่งโขงเช่นเดียวกัน การค้าในเชียงแสนแบ่งเป็นช่วงระยะเวลาได้ดังนี้ ช่วงก่อนการปกครองของสยาม, ช่วงการปกครองสมัยราชกาลที่ 5-ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2, ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2-พ.ศ. 2500, ช่วงหลังปี พ.ศ. 2500-2520, ช่วงปี พ.ศ.2520-2530, ช่วงปี พ.ศ. 2530-จนถึงปัจจุบัน


 


ในช่วงก่อนการปกครองของสยามนั้น เมืองเชียงแสนมีสถานะเป็นหัวเมืองสำคัญของอาณาจักรล้านนา แต่ภายหลังที่ล้านนาถูกรวมเข้ากับสยาม การปกครองของสยามก็ผ่านมาทางศูนย์กลางของล้านนาคือเชียงใหม่ พอการปกครองมาอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงแสนก็ถูกรวมเข้าไปอยู่ในล้านนาด้วย


 


ช่วงปี 2347 เมืองเชียงแสนอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พม่าก็ถูกทัพสยามรวมกับทัพเชียงใหม่มาตีเอาเมืองเชียงแสน คืน หลังงจากพม่าแตกทัพพ่ายแพ้ ทัพสยามและทัพเชียงใหม่ก็มีการคนเอาคนในเมืองเชียงแสนไปอยู่ที่อื่น ในช่วงที่พม่ายังปกครองเชียงแสนอยู่นั้น ส่วนมากจะมีการค้าขายกับทางพม่าเป็นหลักโดยสินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าเกษตร เป็นหลัก


 



 


หลังจากพม่าแตกทัพแล้ว เชียงแสนก็กลายเป็นเมืองร้างจนเข้าสู่ช่วงการปกครองของรัชกาลที่ 5 ก็มีผู้คนเข้ามาอาศัยในเมืองเชียงแสน 3 ชุมชนคือ ชุมชนสบรวก ชุมชนเวียงเก่า ชุมชนดอยจัน อาชีพของคนใน 3 ชุมชนมีทั้งทำการเกษตร หาของป่า บางครั้งก็ข้ามไปหาของป่าและทำการเกษตรในประเทศลาว


 


ยุคนี้เมื่อผู้คนมีการเลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตร หาของป่ามากขึ้น การค้าขายก็เกิดขึ้น สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ข้าวและเกลือ โดยการซื้อ-ขายจะมีการล่องเรือขนาดใหญ่มาตามลำน้ำโขง พ่อค้าส่วนมากจะเป็นคนลาว พ่อค้าบางคนก็เข้ามาซื้อโดยตรงจากชาวบ้าน บางคนก็มาซื้อผ่านโรงสีข้าวขนาดใหญ่ในอำเภอแม่จัน (ขณะนั้นอำเภอเชียงแสนเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแม่จัน)


 


พ่อค้าที่มาซื้อข้าวก็จะนำเอาหมู ไก่ และพืชผักมาขายด้วย ส่วนเกลือมีพ่อค้าวัวต่างนำเกลือมาจากบ่อเกลือ จังหวัดน่านมาขาย นอกจากเกลือก็มีปลาทู ผ้าห่อม เกลือถือว่าเป็นสินค้าที่มีควมสำคัญพอสมควร เพราะมีคนจากประเทศลาวและพม่ามาซื้อเกลือที่เวียงเก่าเช่นกัน การค้าขายในยุคนี้นิยมใช้เงินรูปี เงินหมัน และเงินบาท (สตางค์แดง)


 


ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "สงครามเชียงตุง" เป็นยุคที่อำนาจรัฐจากสยามเฟื่องฟู เพราะมีการเกณฑ์ผู้ชายไปเป็นทหารเพื่อนำไปรบ ยุคนี้ชุมชนแถบนี้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอยางมาก การเดินทางไกลและได้สัมผัสเส้นทางการติดต่อกับชุมชนแถบเชีงตุงและทางฝั่งลาวก็มีมากขึ้น จนมการนำสินค้าจำพวกปลาทู เกลือที่หาซื้อได้นำไปขายที่เมืองเล็น เมืองไฮ จนถึงเชียงตุง โดยอาศัยเส้นทางที่สร้างไว้แต่สมัยทำสงคราม


 


ต่อมาเมื่อปีประมาณปี พ.ศ.2486 ได้มีการตั้งโงบ่มยาสูบกาแลดขึ้น โดยคนจากเมืองหลวงพระบาง ยาสูบที่นำเข้ามาปลูกนั้นต้นใหญ่กว่าและฉุนน้อยกว่ายาพันธุ์พื้นเมือง ต่อมาการปลูกยาสูบขายให้กับโรงบ่มก็เป็นที่นิยม โรงบ่มก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 10 แห่ง เนื่องจากการปลูกยาสูบมีการจำกัดพื้นที่ และยาสูบมีราคาดีก็มีคนจากเวียงเก่าข้ามไปปลูกในฝั่งลาว พอคนไทยข้ามไปฝั่งลาว ราชการลาวก็จะมาเก็บภาษีที่ดินในราคา 300 กีบต่อไร่


 


การค้าขายในยุคนี้ส่วนมากจะใช้แม่น้ำโขงเป็นทางผ่านไปสู่การค้าขาย บางคนก็ไปเก็บเขากวาง หนังสัตว์ต่างๆ บางคนก็ไปถึงน้ำเกิง น้ำยอน การค้าขายในยุคนี้ใช้สตางค์แดงเป็นหลัก แม้ว่าในยุคนี้สินค้าที่นำมาขายส่วนมากจะเป็นสินค้าเกษตร แต่ปลาที่จับได้ในแม่น้ำโขงก็เริ่มที่จะมีคนหาปลานำมาขายด้วยเช่นกัน  


 


ในช่วงปี พ.ศ.2500-2520 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งของคนในเวียงเก่าเชียงแสนก็ว่าได้ เพราะในปี พ.ศ. 2509 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ผู้คนก็อพยพขึ้นไปอยู่บนที่สูง บางคนก็หนีไปอยู่ตามพื้นที่สวน บางคนก็สูญเสียข้าวของเครื่องใช้รวมทั้งสัตว์เลี้ยง หลังจากน้ำลดพื้นที่ดินที่เป็นตะกอนจากน้ำท่วมทำให้ข้าวและพืชผักที่ปลูกขึ้นใหม่งามกว่าเดิม พื้นที่บางส่วนจากเคยเป็นป่ารกก็กลายเป็นพื้นที่ราบ คนในเวียงเก่าก็มีการปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่การปลูกยาสูบก็ยังมีอยู่เช่นเดิม ในช่วงนี้ถือว่ามีคนต่างถิ่นเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างตามโรงบ่มในเชียงแสนอยู่พอสมควร


 


หลังจากปี พ.ศ. 2500 การค้าขายในท้องถิ่นแถบนี้มีเส้นทางไกลกว่าเดิมคือจากเชียงแสนผ่านเมืองเชียงของไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง สินค้าส่วนมกาที่นำไปขายก็เป็นหนังสัตว์ หมู ไก่และข้าว การค้าขายหมูส่วนมากคนที่ทำการค้าคือคนท้องถิ่นกับคนจีนที่อยู่บ้านเวียงใต้ โดยพ่อค้าจีนก็จะรับซื้อหมูมาจากชาวบ้านอีกทีหนึ่ง


 


เมื่อเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาวคือปี พ.ศ.2518 การค้าขายระหว่างคนในเวียงเก่าเชียงแสนกับคนลาวโดยใช้น้ำโขงเป็นเส้นทางการค้าก็ค่อยๆ ยุติบทบาทลง


 


หลังจากก้าวเข้าสู่ช่วงปี พ.ศ.2521-2530 มีผู้คนจากตางถิ่นอพยพเข้ามาอยู่ในเชียงแสนมากขึ้นตามจำนวนของโรงบ่ม เพราะในโรงบ่มเองก็ต้องการแรงงานจำนวนมาก การปลุกยาสูบในช่วงนี้มีการนำระบบ "สมาชิกโรงบ่ม" เข้ามาใช้ เจ้าของโรงบ่มได้ใช้เงื่อนไขในการเป็นสมาชิกเข้ามากดดันชาวบ้านผู้ปลูกยาสูบ มีทั้งบังคับให้ใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง พอเริ่มใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงชาวบ้านก็เริ่มเป็นหนี้มากขึ้น


 


พอชาวบ้านไม่คุ้นเคยกับการเป็นหนี้ก็เกิดการต่อต้านโรงบ่ม บางก็เลิกปลูกยาสูบ บางคนก็ปลูกในปริมาณที่ลดลง หลังจากเลิกปลูกยาแล้ว ชาวบ้านก็หันไปทำการเกษตรอย่างอื่นมีทั้งปลูกมันสำปะหลังตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่การเกษตรที่เข้ามาส่งเสริม แต่การปลูกมันสำปะหลังก็ต้องยุติลง เพราะราคามันสำปะหลังไม่ดี


 


ในช่วงปี 2530-ปัจจุบัน เมืองเชียงแสนมีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานการยึดเอาคนในท้องถิ่นเป็นหลัก แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนมาจากนโยบายจากภายนอกแทบทั้งสิ้น


 


ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือนโยบายการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นโยบายดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงที่ดินจากที่เคยเป็นที่ทำกินก็ถูกทำให้เป็นสินค้า ที่ดินตามริมฝั่งโขงได้ถูกขายให้กับนายทุนต่างถิ่นเป็นจำนวนหลายร้อยหลายพันไร่ การกระจายตัวของการถือครองที่ดินของเหล่าบรรดานายทุนไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่เพียงในเขตเมืองชั้นในเท่านั้น แต่ได้กระจายไปตัวเมืองรอบนอกด้วย เช่น บ้านสบรวก บ้านสบกก เป็นต้น


 


ปัจจุบันที่ดินจำนวนมากในอำเภอเชียงแสนก็กลายเป็นของนายทุน คนท้องถิ่นที่ทำการเพาะปลูกบางคนก็ต้องเช่าที่ดินในการทำการเพาะปลูก เพราะที่ดินเดิมถูกขายไปหมด ไม่มีใครรู้ได้แท้จริงว่า ความเจ็บปวดมันจะมากมายเพียงใดที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ต้องเช่าที่ดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของตัวเองทำการเกษตร


 


เส้นทางการค้าในปัจจุบัน


การเปลี่ยนนโยบายสำคัญของจีนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ต่อภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ การเดินหนทางทุนนิยมของจีนมีการเปิดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามบริเวณชายฝั่งตะวันออก ในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนนโยบายดูเหมือนว่า จีนจะมีบทบาทลดลงอย่างเห็นได้ชัด และดูประหนึ่งว่า จะกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่อาจพลิกฟื้นเป็นประเทศมหาอำนาจได้ แม้ว่าจะเป็นยักษ์ที่ตื่นขึ้นมาแล้ว


 


กระทั่งเมื่อจีนกำลังก้าวสู่ทุนนิยมเต็มรูปแบบ และเริ่มเปิดการค้ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเดินเข้าสู่กลไกทางการค้ากับจีนด้วยเช่นกัน การค้าขายระหว่างไทยกับจีนแม้จะมีมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร แต่เมื่อรัฐบาลไทยได้เปิดเจรจากับจีน เพื่อเปิดเสรีการค้าไทย-จีนหรือเปิด FTA


 



 


รวมทั้งไทยเมื่อไทยได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region - GMS Summit) รวมทั้งโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นโครงการจากภายนอกกำลังเข้ามามีบทบาทเพื่อทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยแฉพาะเชียงแสน ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมทั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนด้วย โครงการเหล่านี้ได้ลดทอนบาบาทการค้าของคนท้องถิ่นลง


 


หลังจากไทยตกลงทำ FTA กับจีนตอนใต้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ประเทศไทยมีการส่งสินค้าไปประเทศจีนคิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 43 ล้านบาท และมีการนำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 149.2 ล้านบาท ส่วนการค้าไทย-จีน 6 เดือนหลัง สถิติการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่มาเป็นอันดับหนึ่งที่ด่านศุลการกรเชียงแสนในปี 2548 คือ ลำใยอบแห้ง ปริมาณที่ส่งออก 53,321 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,256 ล้านบาท ส่วนสินค้านำเข้าโดยรวมมีปริมาณการนำเข้า 50,164 ตัน คิดเป็นมูลค่า 617.04 ล้านบาท


 


หากมองดูข้อมูลที่นำมาแสดงนั้น ผู้เขียนเองก็เกิดคำถามว่า แล้วคนเชียงแสนได้รับประโยชน์อะไรจาก FTA ไทย-จีน บ้าง และการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ค้าขายกันนั้น ทางองค์กรท้องถิ่นอย่างเช่น เทศบาลได้เข้าไปมีส่วนร่วมอะไรบ้าง แม้แต่ภาษีที่จัดเก็บได้ ทางเทศบาลก็ไม่ได้รับโดยตรง ต้องส่งไปให้ทางส่วนกลาง และมีการจัดสรรแบ่งภาษีทั่วประเทศ ซึ่งทางเทศบาลได้รับไม่ถึง 10% แต่ธุรกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นกลับทำลายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อย่างมาก


 


ขณะที่การค้าชายแดน การเปิดเอฟทีเอไทย-จีน ได้ส่งผลกระทบต่อคนเชียงแสนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงรบกวนจากรถบรรทุกที่ขนถ่ายสินค้าภายในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลเวียง ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำโขงลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นคนเชียงแสนก็ยังได้รับผลกระทบด้านการค้าขาย เพราะว่าสินค้าจากจีนนั้นปลอดภาษีและมีราคาถูกกว่าผู้บริโภคจึงนิยมซื้อสินค้าจีน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net