Skip to main content
sharethis




ชัยวัฒน์ สถาอานันท์


บทความนี้เป็นปาฐกถา ของ "รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 ในวาระที่ได้รับเกียรติเป็นกีรตยาจารย์ ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีล่าสุด ซึ่งเป็นบทความที่แสดงมุมมองของผู้นับถือศาสนาอิสลามและวิจารณ์ศาสนาอิสลามเกี่ยวกับความรุนแรงและการก่อการร้ายอย่างตรงไปตรงมา



 


0000000


ต้านอธรรมและความตาย: ประสบการณ์นักรบสันติวิธีมุสลิม


 


เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 ศาลสหรัฐฯ ตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ซาการียา มูซาวี ด้วยข้อหาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีการก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 มูซาวีอ้างว่า เขาประสบชัยชนะเพราะถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแทนที่จะถูกประหารชีวิต แต่ผู้พิพากษา Leonie Brinkema แห่งเมือง Alexandria ในรัฐเวอร์จีเนีย กล่าวว่า


 


"ทุกคนที่นี่จะได้ออกจากศาลนี้ จะได้เดินออกไปสัมผัสแสงตะวัน สูดอากาศบริสุทธิ์ และได้ยินเสียงนกร้อง แต่สำหรับคุณ เมื่อคุณออกจากห้องพิจารณาคดี ก็จะต้องไปใช้ชีวิตที่เหลือทั้งชีวิตในคุก" มูซาวีแย้งว่า "เป็นทางเลือกของผมเอง" ผู้พิพากษาโต้กลับทันทีว่า "คุณไม่ได้เลือก คุณมาที่นี่เพื่อจะได้เป็นนักรบพลีชีพ แต่คุณจะได้ตายพร้อมกับเสียงครวญครางด้วยความหวาดหวั่น"


 


สตรีผู้สูญเสียสามีจากเหตุร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ในห้องพิจารณาคดีกล่าวกับมูซาวีว่า "หวังว่าแกจะเน่าตายในคุก ไม่ได้เห็นฟ้าเห็นตะวัน ไม่ได้พบผู้คน ไม่มีชื่อปรากฏให้ใครได้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์อีกต่อไป" มูซาวีตอบว่า "ฉันไม่รู้สึกอะไรกับคุณนอกจากจะดูถูกคน บางที วันหนึ่ง...คงจะได้คิดว่า CIA ทำลายชีวิตผู้คนไปมากเท่าใดแล้ว"


 


บทสนทนาในศาลเวอร์จีเนียระหว่างนักโทษ ผู้พิพากษาและภรรยาผู้ตายในเหตุการณ์ 9/11 น่าสนใจในที่นี้ไม่ใช่เพราะปัญหาสำคัญอย่างเช่น คำตัดสินยุติธรรมหรือไม่ การลงโทษจะแก้ปัญหาการก่อการร้ายได้อย่างไร หรือกระทั่งการลงโทษด้วยวิธีจำคุกตลอดชีวิตมี "อารยะ" กว่าการตัดสินประหารชีวิตหรือไม่ แต่อยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกและคำอธิบายความรู้สึกของฝ่ายต่างๆ ผู้พิพากษาตัดสินเช่นนี้ เพราะไม่ต้องการให้นักโทษสมปรารถนาที่จะได้ตายอย่างนักรบพลีชีพเช่นที่ฝ่ายนั้นประสงค์ ภรรยาผู้ตายต้องการให้นักโทษทนทุกข์สาหัสอย่างไร้ตัวตน ขณะเดียวกันนักโทษก็ถือว่า หนทางนี้เป็นทางที่ตนเลือกแล้ว ไม่รู้สึกอะไรกับเหยื่อผู้สูญเสีย และหวังว่าวันหนึ่งผู้สูญเสียเหล่านี้จะตระหนักว่า คนอื่นๆ ในโลกตกเป็นเหยื่อของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง


 


ข่าวเช่นนี้มีส่วนในการสร้างจินตนาการเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม เพราะข่าวนี้มิได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แต่ปรากฏขึ้นในบริบทของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยมีมุสลิมข้องเกี่ยวกับความรุนแรงเป็นตัวละครหลักในบางลักษณะ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้กระทำก็เป็นเหยื่อของความรุนแรง เช่นที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยมานานแล้ว และโดดเด่นเห็นชัดขึ้นในระยะสองปีมานี้


 


ที่สำคัญคือ ปรากฎการณ์เหล่านี้ดำรงอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์อื่นๆ ที่ Khalid Abou el Fadl เรียกว่า "การกระทำด้วยความน่าเกลียด" ที่แวดล้อมมุสลิมในโลก ไม่ว่าจะเป็นกรณีจับตัวประกันในอิหร่านและเลบานอน การไล่ล่าทำร้ายนักเขียนนักคิดที่เขียนหรือคิดสิ่งที่ดู "ให้ร้าย" ศาสนาอิสลาม การปราศจากขันติธรรมที่มุสลิมในบางสังคมแสดงต่อคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ถึงกระทั่งการทำลายสิ่งที่ผู้อื่นเคารพนับถืออย่างเช่นที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานใต้ระบอบตาลีบัน ทัศนะต่อสตรีเช่นที่ปรากฏในสังคมมุสลิมหลายแห่งในตะวันออกกลาง ตลอดจนการใช้วิธีก่อการร้ายรวมทั้งระเบิดพลีชีพต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามกับตนในที่ต่างๆ


 


ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนไม่น้อยในโลกมองว่าศาสนาอิสลามสอนให้มนุษย์ทำ "สิ่งที่น่าเกลียด" จนกระทั่งคำว่า "อิสลาม" กลายเป็นคำที่คนรู้สึกไม่ดี ตั้งแต่ไม่อยากข้องเกี่ยวด้วย สงสัยไม่ไว้ใจ หวาดระแวงไปถึงเกลียดชังล้ำลึก อันที่จริงเมื่อกว่าสองทศวรรษมาแล้ว นักทฤษฎีชาวปาเลสไตน์เรืองนามเคยกล่าวถึงสภาพของอิสลามในโลกว่า "สำหรับฝ่ายขวาก็มองอิสลามเป็นลัทธิป่าเถื่อน สำหรับฝ่ายซ้ายก็เห็นเป็นเทวาธิปไตยสมัยกลางล้าหลัง ส่วนพวกที่อยู่กลางๆ ก็เห็นอิสลามเป็นของแปลกเร้นลับที่น่ารังเกียจ อย่างไรก็ตาม ในทุกค่ายสำนักเห็นตรงกันว่า แม้จะรู้อะไรเกี่ยวกับโลกอิสลามไม่มาก แต่ก็ไม่มีอะไรให้เห็นดีเห็นงามด้วยนัก"


 


โลกมุสลิมโต้ตอบกับปัญหาประเภทนี้หลายวิธี ที่แพร่หลายคือ ยืนยันว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติ และอธิบายว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะแผนร้ายของบางพวกบางฝ่ายที่มุ่งทำลายศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็อธิบายว่าศาสนาอิสลามและคนมุสลิมตกเป็นเหยื่อของ "ปีศาจวิทยา" คือกระบวนการทำให้มุสลิมกลาย "เป็นอื่น" และถูก "ป้ายสี" ให้เป็นผู้ร้ายของโลก ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วนับศตวรรษ หรือไม่ก็เพราะโลกไม่เข้าใจศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมที่ถือว่าศาสนาเป็นวิถีชีวิตของตน บ้างก็ว่าเพราะสื่อมวลชนตกอยู่ในกับดักที่ยอมรับการใส่ร้ายป้ายสีมุสลิมอยู่แล้ว หรือไม่ก็ปฏิเสธว่าสิ่งเลวร้ายและความรุนแรงเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น หรือ ถ้าเกิดขึ้นจริงอย่างการใช้ความรุนแรงของชาวมุสลิมบางกลุ่มในโลก ไม่ว่าจะเป็นที่นิวยอร์ค บาหลี มาดริด หรือ ในตะวันออกกลางก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรยอมรับ เพราะเป็นการต่อสู้กับความอยุติธรรมและการกดขี่ครอบงำโลกและชาวมุสลิมอยู่


 


ในหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าทำงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาอิสลามกับสันติวิธีด้วยความพยายามจะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้โดยมุ่งชี้ให้เห็นว่า ในฐานะที่นับถือศาสนาอิสลาม มุสลิมไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในโลก แต่ในแง่วิธีการต่อสู้มุสลิมมีทางเลือกที่จะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธีก็ได้ การหันมาพิจารณาสันติวิธีในฐานะทางเลือกนั้น นอกจากจะต้องศึกษารากฐานทางศาสนาและปรัชญาอิสลามเป็นส่วนสำคัญ เพื่อยืนยันความชอบธรรมของแนวทางสันติวิธีสำหรับมุสลิมแล้ว ยังหมายความอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า ต้องพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สันติวิธีในโลกมุสลิมให้มั่นคงเข้มแข็ง ด้วยการนำเสนอตัวอย่างการใช้สันติวิธีของชาวมุสลิมเพื่อยืนยันว่า แนวคิดเช่นนี้มิใช่สิ่งเพ้อฝันและอาจเป็นทางเลือกสำหรับชาวมุสลิมในการเผชิญกับโลกที่ตนเห็นว่า อยุติธรรมและต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ด้วย


 


ปาฐกถานี้เป็นการนำเสนอการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของชาวมุสลิมโดยเลือกกรณี Khudai Khitmatgar (ข้ารับใช้พระเป็นเจ้า) ภายใต้การนำของ Abdul Ghaffar Khan ซึ่งร่วมขบวนการต่อสู้ของคานธีกับจักรวรรดินิยมอังกฤษจนทำให้อินเดียเป็นอิสระในที่สุด ข้าพเจ้าจะเริ่มต้นจากเหตุผลที่ควรให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์สันติวิธีในโลกมุสลิม จากนั้นจะได้อภิปรายลักษณะเฉพาะของ "ขบวนการนักรบเสื้อแดง" โดยเฉพาะทัศนะเกี่ยวกับความอยุติธรรมและความตายซึ่งไม่ต่างอะไรนักจากคำอธิบายของฝ่ายนักรบพลีชีพมุสลิมในปัจจุบัน ในตอนท้ายจะได้อภิปรายข้อต่างที่สำคัญระหว่างทัศนะของนักรบสันติวิธีมุสลิมกับฝ่ายใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง "ผู้บริสุทธิ์" และ "ฐานะการถือเอาความรุนแรงเป็นเครื่องมืออุปกรณ์" (instrumentality of violence) โดยจะชี้ให้เห็นว่าทั้งสองประการหลังเป็นสิ่งที่ก้าวข้ามให้พ้นไปได้ในฐานะมุสลิม ทั้งนี้เพื่อจะเสนอว่า ทางเลือกสันติวิธีเป็นไปได้สำหรับชาวมุสลิมที่มุ่งจะต่อสู้กับโลกที่ตนเห็นว่า ไม่เป็นธรรม


 


มองหามุสลิมกับสันติวิธี       


ข้าพเจ้าตัดข่าวเกี่ยวกับตะวันออกกลางไว้มาก แต่มีภาพข่าวชิ้นหนึ่ง เป็นภาพของชายคนหนึ่งกำลังดูแลคนเจ็บที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นภาพชายคนนั้นกำลังใช้มือประพรมน้ำบนใบหน้าของคนเจ็บเบาๆ ภาพนี้คงไม่ประหลาดอะไร ถ้าคนเจ็บไม่ใช่ตำรวจอิสราเอลที่กำลังจะเข้าไปตรวจสถานที่ชาวอาหรับกับอิสราเอลปะทะกันในนครเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ประสบอุบัติเหตุเสียก่อน ที่เกิดเหตุอยู่ใกล้หน้าผา Jaber-al-Mukaber ในเขตปาเลสไตน์ และคนที่ช่วยเขาก็เป็นชาวปาเลสไตน์ อันที่จริงชาวบ้านปาเลสไตน์ในบริเวณนั้นกรูกันเข้ามาช่วยตำรวจอิสราเอลที่ประสบภัยทั้ง 4 คน ภาพนี้ชี้ให้เห็นสองสิ่งคือ ประการแรกเส้นที่แบ่งแยกผู้คนออกให้เป็นศัตรูต่อกันควรต้องประหัตประหารให้ล้มตายจากกันไปนั้นเป็นเส้นที่อาจเอาชนะข้ามให้พ้นไปได้


 


ประการที่สอง เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายต้องอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน หรือสังคมก็น่าจะจินตนาการได้ว่า คงจะมีการเอื้อมมือก้าวข้ามเส้นแบ่งดังกล่าวมากครั้งกว่าที่สื่อมวลชนบันทึกกันไว้


 


จากการสำรวจขบวนการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการใน "โลกที่สาม" ตั้งแต่ปีค.ศ.1978 ถึง 1994 ซึ่งเกดขึ้นอย่างน้อย 18 กรณี ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว พบว่าหลายกรณีเกิดขึ้นในสังคมมุสลิมซึ่งหมายความว่า ต้องมีชาวมุสลิมเข้าร่วมใช้สันติวิธีต่อต้านรัฐบาลเผด็จการด้วย นอกจากนั้นยังมีกรณีศึกษาการลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐโดยไม่ใช้อาวุธ (unarmed resistance) ของชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง อัฟริกาเหนือ รวมตลอดถึงการใช้สันติวิธีในระดับชุมชนในประเทศไทย


 


หลายปีมาแล้วมีการศึกษาแนวปฏิบัติที่เรียกว่า sulha ซึ่งเป็นความหมายรวมๆ ของการเป็นคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย การเป็นอนุญาโตตุลาการ และการทำหน้าที่สมานฉันท์ ซึ่งชาวปาเลสไตน์ใช้ทั่วไป ในฐานะสัญลักษณ์แห่งสมานฉันท์ที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์เชิงวัฒนธรรมอันเป็นที่สนใจกันมากในแวดวงสันติศึกษา


 


เมื่อสองปีมานี้ก็มีงานศึกษาเกี่ยวกับอิสลามและสันติวิธีโดยนักวิชาการปาเลสไตน์ งานชิ้นนี้สำคัญเพราะทั้งเข้าใจสันติวิธีลึกซึ้งในความหมายของปฏิบัติการในชีวิตจริงและทั้งชี้ให้เห็นหลักการและคุณค่าบนพื้นฐานศาสนาอิสลามมาตรฐานที่น่าจะนำไปเป็นกรอบการคิดเพื่อประยุกต์ใช้กับงานสันติวิธีในบริบทสังคมมุสลิมได้ ในตำราว่าด้วยสันติวิธีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเล่มสำคัญล่าสุดก็ใช้การต่อสู้ของ Abdul Ghaffar Khan เป็นตัวอย่างสำคัญของกรณีสันติวิธีในเอเชีย ส่วนงานชิ้นใหม่ของนักวิชาการด้านสันติวิธีคนสำคัญของโลกคือ Gene Sharp ก็มีบทศึกษาบทหนึ่งว่าด้วยกรณีของขบวนการมุสลิมปาทานกลุ่มนี้ในฐานะการต่อสู้ด้วยสันติวิธีสำคัญหนึ่งในยี่สิบสามกรณีสำคัญแห่งคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งรวมการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย (ค.ศ.1930-1931) การต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ของครูนอร์เวย์ (ค.ศ.1942) ขบวนการมารดาแห่ง Plaza de Mayo ในอาร์เจนตินา (ค.ศ.1977-1983) เข้าไว้ด้วย


 


ข้าพเจ้านำงานศึกษาเหล่านี้มากล่าวไว้เพียงเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า มีงานศึกษาเกี่ยวกับอิสลามและสันติวิธีที่หนักแน่นจริงจังอยู่ไม่ใช่น้อยแม้บางชิ้นจะไม่ได้นำเสนอในฐานะเป็นบทศึกษาทางสันติวิธีโดยตรง แต่ที่สำคัญงานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า สันติวิธีในหมู่มุสลิมดำรงอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของการต่อสู้ต้านความไม่เป็นธรรม โดยมีหลักการฐานคิดทางศาสนาอิสลามสนับสนุนแนวทางนี้อย่างมั่นคงแข็งแรง ปัญหาอยู่ที่ว่าสันติวิธีของมุสลิมจะกลายมาเป็นทางเลือกเพื่อแปลงเปลี่ยนการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะการก่อการร้ายในนามของอิสลามที่บางฝ่ายใช้อยู่ได้อย่างไร


 


 


ถ้าจะพยายามนำเสนอทางเลือกสันติวิธีให้ฝ่ายที่เลือกใช้การก่อการร้าย คงต้องเริ่มต้นจากการพยายามทำความเข้าใจการก่อการร้ายในฐานะความรุนแรงทางการเมืองที่มีเหตุมีผล โดยผู้ใช้วิธีก่อการร้ายก็มีเหตุผลข้ออ้างมารองรับวิธีการของตน เช่น ดร.อับดุล อาซีส รันตีซี ผู้มีส่วนก่อตั้งขบวนการ Hamas เห็นว่าพวกตนกำลังทำสงครามและไม่ใช่เพียงสงครามกับรัฐบาลอิสราเอล แต่ทำกับสังคมอิสราเอลทั้งสังคม เพราะอิสราเอลต่อต้านแนวคิด "ชาตินิยมอิสลาม" มุ่งทำลายแนวทาง "ปาเลสไตน์ที่อิสลาม" ของ Hamas ตลอดมา


 


ปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้ขบวนการตัดสินใจใช้วิธีการก่อการร้ายที่มุ่งเอาสังคมอิสราเอลทั้งสังคมเป็นศัตรูที่สำคัญคือ กรณีผู้ชุมนุมประท้วงชาวปาเลสไตน์ถูกตำรวจอิสราเอลยิงเสียชีวิตหน้ามัสยิดอัล-อักซอ ในปีค.ศ.1990 และการสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่เมืองเฮบรอนโดยดร.บารุค โกลด์สไตน์ ในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อปีค.ศ.1994 ขณะที่ตำรวจอิสราเอลยืนมองเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร ดร.รันติซีสรุปว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นการโจมตีอิสลามในฐานะศาสนาและชาวปาเลสไตน์ทั้งผอง" ในสายตาของเขาไม่มีใครในสังคมจะนับได้ว่าเป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์ และที่สำคัญชาวปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้รุกราน ไม่ใช่ผู้ก่อความรุนแรงก่อน เพราะแผ่นดินของพวกเขาถูกยึดครอง และเผชิญกับความรุนแรงตลอดมา ด้วยเหตุนี้ เขาจึงกล่าวว่า "เราเป็นเหยื่อของความรุนแรง" และระเบิดก่อการร้ายเป็นบทเรียน "อันจำเป็น" เพื่อที่ "ชาวอิสราเอลผู้บริสุทธิ์" จะได้รู้สึกถึงความเจ็บปวดที่ "ชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์" ได้ประสบตลอดมา คนเหล่านี้จะเข้าใจว่าพวกเขาเผชิญอะไรมาบ้าง


 


ข้าพเจ้าเห็นว่าการก่อการร้ายกับสันติวิธีของมุสลิมมีสองสิ่งที่คล้ายกันอยู่คือ การต่อต้านอธรรมและความตาย แต่ก็มีเงื่อนไขสำคัญสองเรื่องที่คอยขัดขวางมิให้ฝ่ายที่ใช้และยอมรับวิธีก่อการร้ายหันมาพิจารณาทางเลือกอื่น นั่นคือ การมองไม่เห็นผู้บริสุทธิ์ และตรรกะในเชิงเครื่องมืออุปกรณ์ (instrumental logic) ที่ควบคุมการก่อการร้ายอยู่ ถ้าก้าวข้ามอุปสรรคสองประการนี้ไปได้โอกาสในการแปลงเปลี่ยนการก่อการร้ายก็น่าจะเปิดกว้างเป็นไปได้ยิ่งขึ้นเพราะลักษณะร่วมที่ดำรงอยู่ดังกล่าว


 


ความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่


ถ้าเข้าใจการก่อการร้ายในฐานะความรุนแรงทางการเมืองแบบหนึ่งที่ใช้โต้ตอบกับความอยุติธรรมที่รับรู้กันว่าดำรงอยู่ ก็น่าจะหมายความว่าการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นมักเป็นส่วนผสมระหว่างเงื่อนไขในท้องถิ่นกับเงื่อนไขในระดับโลก นี่ก็ไม่ต่างอะไรนักจากขบวนการสันติวิธีที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ผสมผสานแนวคิดทฤษฎีและเครือข่ายในระดับนานาชาติเข้ากับเงื่อนไขปัจจัยในระดับท้องถิ่น อย่างเช่น ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือขบวนการต่อต้านสงครามในอิรัก


 


ในช่วง ค.ศ.1930 ถึง 1947 มีกลุ่มชาวปาทานรวมตัวกันใช้สันติวิธีต่อต้านการยึดครองอินเดียของอังกฤษเป็นขบวนการที่เรียกว่า Khundai Khidmatgar ขบวนการของชาวปาทานที่ต่อสู้ด้วยสันติวิธีนี้มีเครื่องแบบสีแดงจึงมักเรียกกันว่า "นักรบสีแดง" (red shirts) ชาวปาทานหรือบางทีเรียกว่า "ปัคตูน" (ภาษาเปอร์เซีย) หรือ "ปัชตูน" (ภาษาอุรดู) เป็นกลุ่มภาษา-ชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกและตอนใต้ของอัฟกานิสถานและชายแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานในปัจจุบัน ลักษณะเฉพาะของคนเหล่านี้คือ มีภาษาของตนเอง ยึดถือกฎแห่งเกียรติและศักดิ์ศรีที่ดำรงกับเผ่าพันธุ์ของตนก่อนยุคอิสลามและนับถือมั่นคงในศาสนาอิสลาม แม้ "ยุคใหม่" ของคนเหล่านี้จะเริ่มต้นในปี ค.ศ.1747 แต่ประวัติศาสตร์ของพวกเขาย้อนกลับไปนับพันปี ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ดุดันไม่ยอมแพ้ใครของพวกปาทานเลื่องลือมานาน แม้กองทัพเกรียงไกรของอเล็กซานเดอร์มหาราชเมื่อสองพันปีที่แล้ว นักล่าอาณานิคมอังกฤษในศตวรรษที่สิบเก้า และจักรวรรดิโซเวียตในปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ก็ไม่อาจเอาชนะบังคับให้พวกเขายอมศิโรราบได้ คนเหล่านี้ต่อสู้กับทหารโซเวียตในฐานะนักรบมูจาฮิดดิน และต่อมาเข้าร่วมกับฝ่ายตอลีบันต่อต้านจักรวรรดิอเมริกัน จนสหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถานในที่สุด


 


ผู้นำขบวนการสันติวิธีมุสลิมของชาวปาทานในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปในเวลานั้นคือ Abdul Ghaffar Khan (1890-1988) ซึ่งผู้คนชาวปาทานเรียกเขาว่า Badshah Khan หรือ "จอมราชันย์" และชาวอินเดียในขบวนการของคานธีเรียกเขาว่า "คานธีชายแดน" (the Frontier Gandhi) คำเรียกหาเช่นนี้แม้ในสายตาชาวโลกจะเป็นการให้เกียรติ แต่ควรเข้าใจว่า อุปสรรคประการหนี่งของการรณรงค์เพื่อสันติวิธีในเขตชายแดนตะวันตกเฉียงใต้เวลานั้นคือ กลุ่มผู้รู้ทางศาสนากลุ่มหนึ่งซึ่งคัดค้านแนวทางสันติวิธีเพราะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับคานธี และเป็นแนวทางของชาวฮินดู ทั้งๆที่ข่านได้พัฒนาแนวคิดสันติวิธีด้วยตนเองโดยไม่ได้ขึ้นต่อความคิดสันติวิธีของคานธีมาตั้งแต่แรก


 


ข่านเรียกร้องให้ชาวปาทานเข้าร่วมขบวนการสันติวิธีต่อสู้กับอังกฤษโดยกล่าวว่า


"เด็กๆ ของเราครึ่งหนึ่งไม่สบาย โรงพยาบาลก็มีไว้สำหรับคนอังกฤษเท่านั้น ประเทศนี้เป็นของเรา เงินก็ของเรา ทุกอย่างเป็นของเรา แต่เราต้องอยู่ที่นี่ทั้งหิวทั้งหนาว เราไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีบ้านคุ้มหัว พวกเขาทำถนน pukka เพราะพวกเขาอยากใช้เอง ถนนพวกนี้สร้างด้วยเงินทองของพวกเรา ถนนของพวกเขาก็อยู่ที่ลอนดอนโน่น นี่มันถนนของเราแต่เรากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เดิน เขายั่วยุให้พวกฮินดูสู้กับมุสลิม...ให้พวกซิกข์รบกับมุสลิม เวลานี้ทั้งฮินดู ซิกข์และมุสลิมก็ต้องทุกข์ทรมาน ใครกันที่เป็นผู้กดขี่เรา ใครกันที่คอยสูบเลือดเราจนแห้ง ก็พวกอังกฤษนั่นแหละ" Gurfaraz Khan ชายชราอายุ 95 ปีซึ่งเคยฟังคำกล่าวปลุกเร้าของข่านในครั้งนั้นก่อนจะสมัครเข้าร่วมขบวนการนักรบเสื้อแดงกล่าวว่า "ข่านบอกพวกเราว่า ที่แผ่นดินของเราตกอยู่ใต้ปกครองของพวกอังกฤษเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง...ท่านชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมเมื่อลูกหลานของเราต้องวิ่งตีนเปล่า ขณะที่ลูกหลานพวกเขาแต่งกายเต็มยศ...พวกเขาเอาขนมปังมาเตะเล่นยังได้เลย แต่พวกเราอดอยากไม่พอกิน"


 


ในฐานะความเป็นมุสลิม ชาวปาทานตระหนักดีว่า ต้องทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า เพราะสำหรับชาวมุสลิม พระเป็นเจ้าตรัสในพระคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน ว่า


 


            "และทำไมเจ้าจะไม่ต่อสู้ในหนทางของพระเป็นเจ้า


            เพื่อผู้ถูกกดขี่เหล่านั้น ทั้งบุรุษ สตรี และทารกร่ำร้องว่า


            "พระเป็นเจ้า โปรดช่วยพวกข้าพระองค์ให้พ้นจากเมืองนี้


            ที่ซึ่งผู้คนเป็นผู้กดขี่


            ด้วยพระเมตตาของพระองค์


            โปรดประทานผู้คุ้มครองและช่วยเหลือพวกเรา"


            ผู้ศรัทธาต่อสู้ในหนทางของพระเป็นเจ้า


            ขณะที่ผู้ปฏิเสธ (ศรัทธา) ต่อสู้เพื่ออธรรม"


                                    อัล-กุรอ่าน (4: 75)


 


ผู้คนมากหลายที่ได้ฟังคำของข่าน ก่อนจะเข้าร่วมขบวนการของเขายอมรับว่า พวกเขาไม่รู้เลยว่าอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียแล้ว "ข่านอธิบายเรื่องพวกอังกฤษให้เราฟัง และเล่าว่าพวกนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นแสนไมล์มายึดครองดินแดนของเราซึ่งไม่ใช่ของตน พวกนี้มาที่นี่เพื่อมายึดเราเป็นอาณานิคมของเขา ข่านบอกว่า เราต้องเรียกร้องและต่อสู้เพื่อเอกราช" อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า "พวกมุลลาห์ (ผู้นำศานาท้องถิ่น) และพวกข่านอื่นๆ ทั้งหลายรับเงินจากพวกอังกฤษ พวกนี้เลยไม่เคยบอกความจริงกับเราเลย ทั่วทั้งแผ่นดินชายแดนนี้ไม่มีผู้ใดกล้าหาญ และใจถึงจะพูดต่อต้านพวกอังกฤษนอกจากจอมราชันย์ (Badshan Khan) คนนี้เท่านั้น"


 


มักเชื่อกันว่า ที่สันติวิธีของคานธีเอาชนะอังกฤษได้เพราะอังกฤษเป็นผู้ดี ใช้วิธีอารยะในการปกครองอินเดีย แต่ความเชื่อเช่นนี้เป็นมายาคติ เพราะที่สำคัญอังกฤษไม่เพียงยึดครองและขูดรีดอินเดีย แต่จัดการกับฝ่ายเรียกร้องเอกราชด้วยสันติวิธีโดยการจับกุมคุมขัง ทุบตี บังคับใช้แรงงานและบางครั้งก็ฆ่าเสีย ดังตัวอย่างการสังหารหมู่ที่เมืองอมฤตสารโดยคำสั่งของนายพลไดเยอร์ที่ทำให้ผู้ประท้วงด้วยสันติวิธีเสียชีวิตกว่า 300 คน ในกรณีของเขตชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ กองกำลังอังกฤษยิงใส่นักรบสันติวิธีมุสลิม สังหารนักรบเสื้อแดงเหล่านี้กว่า 300 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่าพันคนที่เมืองโคหัต ในปีค.ศ.1932 การที่นักรบสันติวิธีมุสลิมเหล่านี้สามารถเผชิญกับความรุนแรงด้วยสันติวิธีได้เป็นเพราะปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญคือ การจัดองค์กรวินัยที่เข้มงวดไม่ต่างอะไรจากวินัยในกองทัพและความมั่นคงในสันติวิธี คุณลักษณ์ประการท้ายนี้เกี่ยวพันกับวิธีที่นักรบมุสลิมสันติวิธีเข้าใจความตายซึ่งอิงอยู่กับรากฐานศาสนาอิสลามอย่างสำคัญ


 


ความตาย


ผู้ก่อการร้ายโดยเฉพาะผู้ที่ใช้ระเบิดพลีชีพมิได้เรียกตนเองว่า "มือระเบิดพลีชีพ" (suicide bombers) ดร.รันติซี ผู้ร่วมก่อตั้ง Hamas เห็นว่าการเรียกหาเช่นนี้ผิด เพราะสะท้อนความหมายว่า ผู้ใช้ความรุนแรงทำไปเพราะอารมณ์ความรู้สึกชั่ววูบหรือไม่ก็เป็นคนที่ขาดสติ ทั้งๆ ที่ผู้คนของ Hamas ที่ทำการเช่นนี้ ล้วนแต่ตัดสินใจเลือกหนทางพลีชีพในฐานะพันธกิจทางศาสนาอย่างหนึ่งที่มุ่งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น การปลดปล่อยประชาชนของตนและดังนั้นจึงควรเรียกคนเหล่านี้ว่า "ผู้พลีชีพที่เลือกหนทางด้วยตนเอง" (istishhadi-self-chosen martyrs) คนเหล่านี้ยอมสละชีวิตของพวกตนเพราะประสงค์จะตายอย่างมีความหมาย ในฐานะพันธกิจทางศาสนาในหนทางของพระเป็นเจ้า


 


การคิดถึงความเช่นนี้ไม่ต่างจากที่คานธีคิดเท่าใดนัก คานธีเห็นว่า มนุษย์ควรจะ "เรียนรู้ที่จะรักความตายเช่นเดียวกับชีวิต, ถ้าไม่รักความตายยิ่งกว่าการมีชีวิต...จะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพียงเท่าที่ถือเอาความตายเป็นมิตรและไม่มีวันเป็นศัตรู จะเอาชนะสิ่งเย้ายวนแห่งชีวิต ก็ต้องอาศัยความตายเข้ามาช่วย มีแต่คนขี้เขลาที่หนีความตายด้วยการยอมเสียเกียรติ เมีย ลูกและทุกสิ่ง"


 


สำหรับพวกปาทานเมื่อข่ายเชิญชวนอาสาสมัครเข้ามาร่วมขบวนการสันติวิธีของเขา ข่านก็พูดชัดเจนแต่แรกว่า ฝ่ายรัฐมีแต่ความโหดร้ายและดังนั้นความตายที่รออยู่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอาศัยความตายเข้ามาช่วย มีแต่คนขี้ขลาดที่หนีความตายด้วยการยอมเสียเกียรติ เมีย ลูก และทุกสิ่ง


 


สำหรับพวกปาทานเมื่อข่านเชิญชวนอาสาสมัครเข้ามาร่วมขบวนการสันติวิธีของเขา ข่านก็พูดชัดเจนแต่แรกว่า ฝ่ายรัฐมีแต่ความโหดร้ายและดังนั้นความตายที่รออยู่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เขาย้ำเน้นให้เห็นว่า คนเรานั้นทั้งหนีไม่พ้นความตายและถึงอย่างไรก็ตายเพียงครั้งเดียว เขากล่าวว่า "อย่างไรคนเราก็ตายครั้งเดียว ดังนั้นจึงควรตายเพื่อชาติและประเทศ" ในคำกล่าวที่สุเหร่าเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1931 ข่านย้ำว่า "ลูกผู้ชายถึงอย่างไรก็ต้องตายไม่ว่าจะเป็นคนขลาดเขลา แต่ความตายนั้นไม่เหมือนกัน อย่าได้ลืมเลือนเป้าหมายของท่าน เป้าหมายคือการปลดปล่อยประเทศชาติ ความตายที่ดีที่สุดคือ ตายในหนทางของพระเป็นเจ้าและพระศาสดา"


 


สาเหตุเรื่องที่ ญิฮาด (การต่อสู้ในหนทางแห่งศาสนาของชาวมุสลิม)เป็นคำที่เป็นปัญหาไม่ลงตัวมิใช่เพียงเพราะความเข้าใจที่แตกต่างกัน ญิฮาดทางกายภาพ และญิฮาดทางจิตวิญญาณเช่นที่มักกล่าวถึงเท่านั้น แต่ยังเพราะความสัมพันธ์ระหว่าง ญิฮาด กับความตายด้วยในฐานะปรากฏการณ์คำๆนี้มักถูกทำให้มีตัวตนและหมดความหมายในทางประวัติศาสตร์ ผลประการหนึ่งคือ ความแตกต่างและกำกวมซึ่งดำรงอยู่คู่กับประวัติศาสตร์อันสลับซับซ้อนของปรากฏการณ์ ญิฮาดถูกลบหายไป พัฒนาการความเข้าใจความตายในฐานะการกระทำทางการเมืองที่เผยปรากฏผ่านประวัติศาสตร์ถูกกะเทาะกัดกร่อน สถานการณ์เช่นนี้เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากวิธีที่ฝรั่งเข้าใจอัตตวินิบาตกรรมทางการเมืองนอกสังคมตนว่าเป็น "พยาธิสภาพทางวัฒนธรรม" โดยจับเอาผู้ก่อการร้าย นักรบจรยุทธ์ สตรีฮินดูผู้ทำพิธีสะตี(กระโดดเข้ากองไฟตามสามี) และ กระทั่งนักสู้ตามสัตยาเคราะห์ตามแนวทางของคานธี มาเหมารวมกันว่าเป็น "พวกที่คลั่งเสียสติ"


 


ข้าพเจ้าเห็นว่าที่พวกปาทานเลือกใช้สันติวิธีต่อสู้กับอังกฤษนั้นคล้ายกับทางเลือกของมือระเบิดพลีชีพอยู่มาก เพราะเมื่อนักรบสันติวิธีปวารณาตัวไม่ใช้ความรุนแรงขณะเผชิญหน้ากับความตายที่รออยู่ ความตายของนักรบสันติวิธีปาทานจะดูดเอา "ยาพิษแห่งความรุนแรง"ที่กำลังระบาดทำลายท้องถิ่นชายแดนในรูปของการยอมจำนนและฉ้อฉล มาที่ตัวเองทั้งโดยตรงและในเชิงสัญลักษณ์ ถ้าคิดถึงเรื่องนี้ในท่วงทำนองของ Violence and the Sacred งานชิ้นสำคัญของ Rene Girard อาจกล่าวได้ว่าความตายของนักรบสันติวิธีเมื่อเกิดขึ้น จะกลายเป็นการกระทำที่ "หลอกล่อ" ให้ความรุนแรงมาลงอยู่กับเหยื่อโดยความตายของเหยื่อจะไม่ก่อผลร้ายและยังช่วยเหลือให้คนอื่นรอดอีกด้วย แต่ที่จะต่างจากแนวคิดของ Girard น่าจะเป็นเพราะนักรบสันติวิธีมุสลิมมิใช่เหยื่อบูชายัญในพิธีกรรมที่ไม่เต็มใจ แต่เป็น "ผู้พลีชีพที่เลือกหนทางด้วยตนเอง" ซึ่งเลือกรับภาระนี้ โดยตระหนักรู้อยู่เต็มอกว่าเขาจะต้องสูญเสียอะไรไปในนามของการชำระแผ่นดินให้บริสุทธิ์และการฟื้นชีวิตให้กับชุมชน ในแง่ความตายสำหรับชาวมุสลิมโดยเฉพาะความตายที่ดี มิใช่พยาธิสภาพใดๆ แต่เป็นการหวนคืนสู่จุดเริ่มต้น เป็นอีกก้าวหนึ่งที่เข้าใกล้ทั้งวันสิ้นโลกและพระผู้สร้าง


 


            พระคัมภีร์ อัล-กุรอาน (45:26)ระบุว่า


            "พระเป็นเจ้าประทานชีวิตให้กับเจ้า


            และพระองค์จะเอาชีวิตของเจ้าคืน


            และแล้วพระองค์จะนำพวกเจ้ามารวมกันในวันแห่งการฟื้นคืนอย่างไม่มีที่สงสัย


            แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ"


 


ผู้บริสุทธิ์


เมื่อผู้ก่อการร้ายตัดสินใจระเบิดเครื่องบินหรือตลาดที่มีผู้คนมาซื้อหาสินค้า หมายความอย่างหนึ่งว่า สายสัมพันธ์ระหว่างเป้าแห่งความรุนแรงและเหตุผลที่จะใช้ความรุนแรงต่อเป้าดังกล่าวถูกตัดขาด แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ทัศนะของผู้ก่อการร้ายต่อโลกที่อยู่ตรงข้ามกับตน หมายถึง "โลกในฝั่งที่เป็นศัตรู" ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า บางคนตอบคำถามการสังหารทำร้าย "ผู้บริสุทธิ์"ด้วยการนิยามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นยามศึกสงคราม แต่สำหรับศาสนาอิสลามแม้ว่าในการทำศึกสงครามก็มีเงื่อนไขให้มุสลิมปฏิบัติตามหลายประการชี้ชัดว่า ในการรบนั้นคนที่ไม่ใช่นักรบ หรือสมาชิกของสังคมซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์เช่น สตรี สามัญ เด็ก และคนชรา จะต้องไม่ได้รับภัยจากความรุนแรง


 


ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงสำคัญของข้าพเจ้าในการนำเสนอว่า สันติวิธีเป็นทางเลือกที่ควรต้องเลือกสำหรับชาวมุสลิม เพราะสงครามและความรุนแรงสมัยใหม่ที่ถึงพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีแห่งการทำลายล้างชีวิตและสรรพสิ่งได้ให้เส้นแบ่งระหว่าง "ศัตรู" และ "เหยื่อผู้บริสุทธิ์" ต้องเลือนรางจางหาย


 


อย่างไรก็ดีโลกแห่งการก่อการร้ายแตกต่างจากสงครามและความรุนแรงอื่นๆอยู่บ้าง การให้เหตุผลในการรองรับการก่อการร้ายที่ไม่แบ่งแยกใดๆด้วยการนิยามโลกให้เป็นโลกแห่งสงครามไปทั้งหมด คือการมองโลกโดยไม่เห็นว่ามีคนบริสุทธิ์ใดๆอยู่ในฝั่งฝ่ายของ "ศัตรู" วิธีคิดแบบ "รวมทุกอย่างเป็นเนื้อเดียวเชิงลบ"(negative monolithic) บนพื้นฐานการเข้าใจ "ผู้ที่เป็นอื่น" ชนิดที่เชื่อว่ามีสาระแน่นอนไม่เปลี่ยนแปร ทำให้การใช้ความรุนแรงต่อคนเหล่านั้นยอมรับได้ง่ายและด้วยเหตุนี้จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยากไปด้วย


 


ข้าพเจ้าจึงสงสัยว่า ศาสนาอิสลามจะว่าอย่างไรหากมนุษย์มองเห็นโลกแต่แลไม่เห็นผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะที่อยู่อีกด้านหนึ่ง การหมดความสามารถที่จะเห็นผู้บริสุทธิ์ในท่ามกลาง "คนที่เป็นอื่น" สะท้อนให้เห็นศรัทธาที่อ่อนกำลังต่อพระผู้เป็นเจ้าในฐานะผู้มหาเมตากรุณาเพียงไร


 


เมื่อศาสดามูซา(โมเสส) เห็นผู้คนของตนหลงทาง ท่านทั้งสลดใจทั้งโกรธ จึงสวดอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าขอให้พระองค์ยกโทษให้ และขอพรว่า


 


            "โปรดรับเราเข้าไว้ในมหาเมตตาของพระองค์


            เพราะพระองค์ทรงเป็นองค์แห่งความเมตตาไพศาลสูงสุด


            ในบรรดาผู้ที่แสดงความเมตตา"


                        อัล-กุรอาน(7:151)


 


เมื่อบรรดาบุตรของศาสดายะอ์กู้บ(เจคอบ) มาขออนุญาตบิดานำเบนยามิน บุตรคนเล็กของท่านไปหาธัญญาหารศาสดายะอ์กู้บ เศร้าใจและเกรงว่าเบนยามินจะเผชิญกับชะตากรรมอย่างเดียวกับที่ศาสดายูซุป(โยเซฟ) เคยพบมาก่อนแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า


 


            "แต่พระเป็นเจ้าจะคุ้มครองเขาดีที่สุด


            และพระองค์ทรงมหาเมตตากรุณา


            ในบรรดาผู้ที่แสดงความเมตตา"


                        อัล-กุรอาน(12:64)


 


ข้อความในพระคัมภีร์เหล่านี้สะท้อนชัดเจนถึงความผูกพันระหว่างความเมตตาปราณีอันไร้ขอบเขตของพระผู้เป็นเจ้าและแสดงความศรัทธาของมนุษย์ในความเมตตาปราณีนั้น เหตุที่ศาสดามูซาและยะอ์กู้บยังทำการของตนต่อไปได้ เพราะทั้งสองท่านมีศรัทธาในพระเมตตาของพระเป็นเจ้า


 


หากความเมตตาของพระเป็นเจ้าเป็นที่ล้นพ้นไร้ขอบเขต เป็นไปได้หรือที่จะจินตนาการถึงโลกที่อีกฟากฝั่งหนึ่งไร้ "ผู้บริสุทธิ์" ที่หมดสภาพไร้โอกาสใดๆจะรับความเมตตาของของพระเป็นเจ้าเพราะเท่ากับเชื่อว่า ความเมตตาของพระเป็นเจ้ามีข้อจำกัดไปไม่ถึง "ฝ่ายตรงข้าม" ทัศนะเช่นนี้จะส่งผลอย่างไรต่อศรัทธาของชาวมุสลิม จุดนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญที่สันติวิธีแตกต่างจากการก่อการร้ายอย่างที่สุด


 


นักรบสันติวิธีมุสลิม Khudai Khidmatgar (ข้อรับใช้พระเป็นเจ้า) ในสังกัดของ Badshah Khan ทุกคน ต้องปฏิญาณตนเมื่อจะเข้าเป็นสมาชิกว่า


 


-          จะไม่ใช้ความรุนแรงและไม่แก้แค้น


-          จะยกโทษให้คนที่กดขี่และโหดร้ายต่อตน


-          จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งให้ร้ายกัน


-          จะเลิกประเพณีปฏิบัติที่ต่อต้านสังคม


-          จะดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย


-          จะเป็นผู้มีมรรยาทงดงาม


-          จะสละเวลาวันละสองชั่วโมงให้กับงานบริการสังคม


-          จะไม่เกรงกลัวภัยอันใดและพร้อมจะเสียสละได้ทุกอย่าง


 


แต่ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นคำปฏิญาณข้อแรกที่ระบุว่า "ข้าฯเป็นข้ารับใช้พระเป็นเจ้า และเพราะพระองค์ไม่ประสงค์การรับใช้ใดๆ การรับใช้สิ่งที่พระองค์สร้างขึ้นก็คือการรับใช้พระองค์ ข้าฯจึงสาบานว่าจะรับใช้มนุษยชาติในนามของพระเป็นเจ้า"


 


คำปฏิญาณข้อนี้สำคัญต่อนักรบสันติวิธีมุสลิมสามประการคือ ประการแรก เป็นการตอกย้ำยืนยันมหิทธานุภาพสูงสุดของพระเป็นเจ้าและดังนั้นจึงไม่ประสงค์สิ่งใดจากผู้ใดทั้งสิ้น ประการที่สอง เป็นการแสดงถึงพระมหาเมตตาของพระเป็นเจ้าเมื่อการรับใช้มวลมนุษยชาติกลายเป็นสิ่งทดแทนการรับใช้พระองค์ และประการที่สาม เป็นการตอกย้ำยืนยันความเมตตาปราณีอันเป็นสากลไม่เลือกพวกเขาเหล่าใดของพระเป็นเจ้าเป็นการชี้ด้วยว่า ผู้ที่นักรบสันติวิธีมุสลิมพึงรับใช้คือ "มนุษยชาติ" อันเป็นคำรวมไม่แบ่งแยกผู้ใดไม่เฉพาะแต่มุสลิมเท่านั้น


 


ประเด็นสุดท้ายนี้สำคัญทั้งทางเทววิทยาและในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะอาจกล่าวได้ว่ามี อายะห์(ข้อความ) ในพระคัมภีร์ อัล-กุรอาน ที่บางคนนำมาใช้สนับสนุนแนวคิดที่แบ่งแยกคนออกเป็นหมู่เหล่า และกระทั่งใช้ความรุนแรงต่อคนที่ไม่มีศรัทธาหรือไม่ใช่มุสลิมโดยที่บางพวกบางฝ่ายที่เห็นควรใช้ความรุนแรงหรือการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหายึดถืออยู่ แต่ฐานทางเทววิทยาของสันติวิธีสำหรับมุสลิมวางอยู่บนพระวจนะของพระเป็นเจ้าที่ครอบคลุมมนุษย์ทุกรูปทุกนาม พระเป็นเจ้าตรัสไว้ในพระคัมภีร์ว่า


 


            "...หากผู้ใดฆ่าคนๆหนึ่ง


            เว้นแต่เอาการลงโทษในการฆาตกรรม


            หรือเพื่อก่อความเสียหายในหน้าแผ่นดิน


            ก็เท่ากับว่าเขาได้ฆ่ามวลมนุษยชาติ


            แต่ถ้าใครช่วยชีวิตหนึ่งให้รอด


            ก็เท่ากับว่าเขาได้ช่วยชีวิตมวลมนุษยชาติทั้งมวล"


                                                อัล-กุรอาน(5:32)


 


ในทางประวัติศาสตร์ ขบวนการนักรบเสื้อแดงของ Badshah Khan ก็แตกต่างจากกลุ่มขบวนการอื่นๆ เช่น กลุ่ม Jama"at-l-Islami ของ Mauududi หรือ Tablighi-Jama"at ของ Muhammad llyas อย่างน้อยสามข้อ คือ ข้อแรกขบวนการนักรบสันติวิธีของข่านเป็นขบวนการที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะสมาชิกมุสลิมแต่มีชาวฮินดูและชาวซิกข์เป็นสมาชิกอยู่ด้วย


 


ข้อสองขบวนการนี้มิได้เชื้อเชิญผู้คนให้เข้าร่วมเพื่อทำให้ตนเป็นมุสลิมที่ดีขึ้น แต่เพื่อต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และ ข้อสุดท้าย ขบวนการนักรบสันติวิธีมุสลิมของข่านมิได้มุ่งจะสร้างชุมชนท้องถิ่นบนฐานของตัวอย่างสังคมมุสลิมที่บริสุทธิ์ในยุคเริ่มแรกของอิสลามเช่นขบวนการอื่นๆ แต่กล่าวได้ว่า ขบวนการนักรบมุสลิมเสื้อแดงนี้ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมด้วยสันติวิธี โดยมิได้ย่อหย่อนลดทอนศรัทธาความเชื่อในเดชานุภาพสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า ความเมตตาปราณีอันไร้ขอบเขตของพระองค์ และลักษณะสากลของศาสนาอิสลาม


 


ตรรกะเชิงเครื่องมืออุปกรณ์ในฐานะเครื่องบั่นทอนความเป็นมนุษย์


ความรุนแรงระหว่างฮินดูกับมุสลิมปะทุหนักขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1946 เมื่อ มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ หัวหน้ากลุ่มสันนิบาตมุสลิมและต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งประเทศปากีสถานประกาศให้เป็น "วันทำการตรง" (dirc action day) ในเมืองกัลกัตตาทั้งมุสลิมและฮินดูถูกสังหารไป 6000 คน ขณะที่สตรีและเด็กอีกกว่าสองหมื่นคนถูกข่มขืนหรือทำร้ายบาดเจ็บ Abdul Ghaffar Khan สลดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขากล่าวว่า "ฉันไม่เข้าใจว่าคนเรารับใช้ศาสนาอิสลามอย่างไรด้วยการเผาทำลายศาสนสถาน และปล้นฆ่าผู้บริสุทธิ์"


 


ข้าพเจ้าเห็นว่าศาสนาอิสลามเสียหายจากการใช้ความรุนแรงในปัจจุบัน เพราะความรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์-ศาสนาโดยเฉพาะการก่อการร้ายในนามของศาสนานั้นถูกควบคุมอยู่ด้วยทั้งแรงจูงใจและความปรารถนาของตัวผู้ใช้ความรุนแรงซึ่งก็มีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือความรุนแรงเหล่านี้ถูกควบคุมด้วยตรรกะชนิดหนึ่ง นักปรัชญาคนสำคัญของศตวรรษที่แล้วคือ Hannah Arendt เคยกล่าวไว้ว่า สาระของความรุนแรงนั้นถูกควบคุมอยู่ด้วย "การแบ่งเป็นเป้าหมายกับวิธีการ" ชนิดที่เป้าหมายอยู่ในสภาพที่จะถูกครอบด้วยวิธีการที่เป้าหมายเองทำหน้าที่ให้เหตุผลรองรับอยู่ Arendt กล่าวชัดเจนว่า "ในที่สุดแล้ว ความรุนแรงโดดเด่นเห็นชัดก็ด้วยลักษณะความเป็นเครื่องมืออุปกรณ์นั่นเอง"


 


ลักษณะความเป็นเครื่องมืออุปกรณ์นี้หมายความว่า ความรุนแรงโดยทั่วไปและโดยเฉพาะการก่อการร้ายเป็นเครื่องมืออย่าหนึ่งที่ถูกควบคุมบังคับอยู่ด้วยตรรกะแห่งความเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ ซึ่งขึ้นต่อลักษณะเฉพาะของเครื่องมือยิ่งกว่าจะเป็นไปตามอำเภอใจของผู้ใช้ตัวอย่างเช่น หากจะใช้วิธีการก่อการร้ายทำร้ายผู้อื่น "ธรรมชาติ" ของการก่อการร้ายนั้นเองจะเป็นตัวกำหนดกระบวนวิธีที่การกระทำนั้นจะเกิดขึ้น การปกปิดเป็นความลับจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ควบคุมผู้ใช้ การจำต้องเป็นองค์กรขนาดเล็กและปิดลับเป็นอีกส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่จะทำให้การแสวงหาครอบครองระเบิดอย่าง C-4 เกิดขึ้นได้


 


กล่าวอีกอย่างหนึ่งตรรกะของของเครื่องมืออุปกรณ์ที่นำมาใช้นั่นเองที่จะควบคุมบังคับผู้ใช้และกำหนดวิธีที่ผู้ใช้แลเห็นเป้าหมายแห่งความรุนแรงของตน แม้ว่าจะคิดถึงแห่งความรุนแรงหรือการก่อการร้ายได้หลายทาง แต่ทั้งหมดล้วนมีลักษณะร่วมประการหนึ่ง นั่นคือ เป้าหมายของการใช้ความรุนแรงถูกเปลี่ยนเป็นวัตถุ ซึ่งส่วนมากมักผ่านกระบวนการทำลายความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อทำให้เอาชีวิตเขาได้ง่ายขึ้น


 


ตรรกะชนิดนี้แตกต่างอย่างยิ่งจากการทำงานของนักรบสันติวิธีมุสลิมเพราะ คู่ต่อสู้ของพวกเขายังคงความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน ในการต่อสู้ต้านอธรรม ตรรกะสันติวิธีกำหนดให้ผู้ใช้สันติวิธียอมเสียสละตนเองรับความเจ็บหรือกระทั่งความตายโดยไม่ทำร้ายผู้อื่น แม้จะเป็นฝ่ายตรงข้ามเพราะเขาก็เป็นมนุษย์มีความรู้สึกเจ็บร้อน มีพ่อแม่ บุตรภรรยาไม่ต่างกัน


 


นักรบสันติวิธีมุสลิม สมาชิก Khudai Khidmatgar คนหนึ่งชื่อ Khalam Khan กล่าวว่า


"เราถูกทุบตีหลายครั้งหลายคราว แต่ไม่เคยโต้ตอบกลับเลย ฉันเคยสาบานว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง Badshah Khan อธิบายให้พวกเราฟังว่า เรากำลังทำสงรามกับพวกอังกฤษโดยใช้สันติวิธีและความอดกลั้น...และเราก็เชื่อเขา เราทำตามเขา มีอยู่ครั้งหนึ่งนายตำรวจอังกฤษถามฉันว่าทำไมพวกเราทำตาม Badshah Khan เขาถามว่า "มีคนจ้างแกทำใช่ไหม?" ฉันก็ตอบว่า "ไม่มีใครจ้างหรอก เรายังต้องเอาขนมปังแห้งจากบ้านมากินเองเลย แล้วก็จะไปกับ Badshah Khan ร่วมกันขับไล่คุณออกจากประเทศของเรา" นายตำรวจตบหลังฉันเบาๆ"


 


การเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นวัตถุภายใต้ตรรกะแห่งความเป็นเครื่องมืออุปกรณ์เป็นปัญหาจากมุมมองมุสลิมอยู่ด้วย เพราะหลักศรัทธาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาวมุสลิมคือ ความเชื่อว่าพระเป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยมีพระประสงค์บางอย่าง (อัล-กุรอาน 2:30) และมนุษย์ "จะไม่ได้สิ่งใดเว้นแต่ที่พวกเขามุ่งต่อสู้แสวงหา"


 


แต่ที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวมุสลิมคือ "พระผู้เป็นเจ้าคือเป้าหมายอันสูงสุด" (อัล-กุรอาน 53:39-42) ถ้าพระเป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์ของพระองค์ ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วยพระประสงค์บางอย่าง และมนุษย์ก็มุ่งแสวงหาสิ่งต่างๆสำหรับตนโดยมีพระเป็นเจ้าเป็นพระประสงค์สุดท้ายอันสูงสุด การเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นวัตถุก็เท่ากับนำสภาพของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเป้าประสงค์ทั้งของพระเป็นเจ้าและของมนุษย์เองทิ้งไป


 


ยิ่งกว่านั้นตรรกะชนิดนี้ยังสะบั้นสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีเป้าประสงค์ของตนให้ขาดจากการมุ่งแสวงหาเป้าหมายสุดท้ายในชีวิตคือ พระเป็นเจ้า กล่าวอีกอย่างหนึ่งการก่อการร้ายและความรุนแรงโดยทั่วไปที่เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นวัตถุกำลังสร้างโลกชนิดที่ปราศจากเป้าหมาย และตัดสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้สร้างที่มีความหมายขาดจากกัน ด้วยเหตุนี้ตรรกะแห่งความเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมกำหนดการใช้ความรุนแรง จึงแตกต่างขัดแย้งอย่างลึกซึ้งกับโลกทัศน์อย่างอิสลามที่ถูกกำหนดอยู่ด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า


 


บทสรุป:หนทางเปลี่ยนแปลงการก่อการร้าย?


ในฐานะความรุนแรงทางการเมืองประเภทหนึ่ง การก่อการร้ายเกิดขึ้นเพราะความอยุติธรรมดำรงอยู่ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก แต่นอกจากจะแก้ไขสาเหตุในเชิงโครงสร้างที่เอื้อให้ความรุนแรงอย่างการก่อการร้ายแล้ว ยังจำเป็นต้องหาทางเปลี่ยนแปลงการก่อก่อการร้ายนั้นเองด้วย


 


ข้าพเจ้าเสนอข้อถกเถียงในที่นี้ว่า แนวทางสันติวิธีมุสลิมน่าจะเป็นประตูไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เพราะ ความคล้ายคลึงระหว่างการก่อการร้ายกับแนวทางสันติวิธีสองประการคือ การต้านอธรรมและความเต็มใจที่จะเสียสละชีวิตเพื่อเหมายที่ชอบและยุติธรรม


 


แต่มีความแตกต่างที่สำคัญสองประการก็ดำรงอยู่คือ การที่ผู้ใช้วิธีก่อการร้ายปฏิเสธว่าไม่มีผู้บริสุทธิ์ในฝ่ายตรงข้ามกับตน และตรรกะแห่งการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ควบคุมวิธีการใช้ความรุนแรงและก่อการร้ายอยู่ แต่การปฏิเสธการดำรงอยู่ของผู้บริสุทธิ์และการถือว่ามนุษย์เป็นเพียงวัตถุขัดกับปรัชญาศาสนาอิสลามที่ถือว่า ความเมตตาปราณีของพระผู้เป็นเจ้าไพศาลไร้ขอบเขตและมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาด้วยพระประสงค์อย่างมีเป้าหมาย


 


ด้วยเหตุนี้ปรากฏการณ์นักรบมุสลิมสันติวิธีมาแทนที่การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้วยความรุนแรงและการก่อการร้ายจึงเป็นเรื่องที่เป็นได้ ข้อถกเถียงนี้มิได้เป็นเพียงข้อคิดในเชิงทฤษฎีเท่านั้น เพราะการต่อสู้ของกระบวนการเสื้อแดง Khudai Khidmatgar ในช่วงปี ค.ศ. 1930-1947 เป็นตัวอย่างขบวนการนักรบมุสลิมสันติวิธีที่หาญกล้าต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมด้วยสันติวิธี จึงอาจถือเป็นทางเลือกสำหรับมุสลิมทั่วไปที่ประสงค์จะต่อสู้ต้านอธรรม ให้เกียรติกับการเสียสละแม้ตนเอง ขณะเดียวกันก็มั่นคงกับความเชื่อในความเมตตาปราณีของพระผู้เป็นเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์โดยไม่ลดทอนต่อรองพร้อมกันไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net