รายงาน : การมาถึงของ "นิคมอุตฯ" ทางแพร่งของ "เชียงของ"

"คนเชียงของจะต้องคิดให้ลึก คิดให้รอบคอบว่า เหมาะสมหรือไม่ที่จะทำให้เชียงของ ซึ่งเป็นเมืองแห่งธรรมชาติและวัฒนธรรมมาเป็นเมืองอุตสาหกรรม" นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และสมาชิกสภาผู้นำแห่งชาติ จ.เชียงราย กล่าวด้วยสีหน้าเคร่งขรึม

 

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

 

เป็นที่รู้กันว่า โครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICT) จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อเปิดประตูการค้าการลงทุนระหว่างจีนตอนใต้กับอินโดจีน เอเซียใต้ และอาเซียน ในความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ภายใต้ความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

ก่อนหน้านั้น ทาง กนอ.ได้อนุมัติให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน ขึ้นที่บริเวณบ้านศรีบุญยืน ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในพื้นที่ 1,500 ไร่ โดยใช้งบประมาณ การก่อสร้างประมาณ 4,000ล้านบาท ซึ่งคาดกันว่าจะสามารถรองรับโรงงานอุตสาหกรรมได้ประมาณกว่า 100 แห่ง โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท

 

ซึ่งต่อมา ได้มีกลุ่มชาวบ้านในเขตพื้นที่ อ.เชียงแสน ได้พากันออกมาต่อต้านคัดค้านไม่ให้มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.เชียงแสนอย่างหนัก โดยออกมาคัดค้านว่าไม่เหมาะกับเชียงแสน เนื่องจากถือว่าเชียงแสนเป็นเมืองประวัติศาสตร์เก่าแก่โบราณ มีอายุกว่า 800 ปี และอาจมีการเสนอให้เป็นมรดกโลกในอนาคต นอกจากนั้น กลุ่มชาวบ้านยังหวั่นวิตกกันว่า หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรวม

 

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีข้อทักท้วงขอให้มีการเปลี่ยนย้ายแหล่งที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มติขอให้มีการชะลอโครงการ และให้มีการทบทวนในเรื่องของทำเลที่ตั้งกันใหม่

 

กระทั่ง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขต ต.ศรีดอนชัย และ ต.สถาน อ.เชียงของ ในเนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ บริเวณทุ่งสามหมอน ซึ่งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง ต.สถาน กับ ต.ศรีดอนชัย ซึ่งอ้างกันว่า หากสามารถดึงการลงทุนจากประเทศจีนมายังนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงของ ไม่เพียงจะเป็นการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่แล้ว ยังสอดรับกับการก่อสร้างถนนสาย อาร์ 3 ซึ่งจีนจะตัดจากเมืองเชียงรุ้ง ผ่านเมืองบ่อหาร-บ่อเต็น สู่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มารับกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่มีแผนจะสร้างขึ้นที่ อ.เชียงของ โดยจะเปิดให้ใช้ในได้ในปี 2550 นี้ด้วย

 

ขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนได้ลงพื้นที่เพื่อเข้ากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีการกว้านซื้อกันไร่ละ 30,000-50,000 บาท โดยวางเงินมัดจำกันไว้ล่วงหน้าไปบ้างแล้ว

 

 

นิคม

 

ล่าสุด "ประชาไท" ได้ลงพื้นที่ อ.เชียงของ เพื่อสอบถามความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว ซึ่งนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่า ขณะนี้ดูเหมือนว่ายังไม่มีความคืบหน้า แต่เชื่อว่าภาครัฐ ภาคการลงทุนยังคงใช้วิธีการแบบเดิม คือคิดวางแผนจากข้างบน เพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีการเปิดเผยออกสู่สาธารณะเท่านั้นเอง ซึ่งที่ผ่านๆ มา การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมักเป็นแบบนี้มาโดยตลอด โดยไม่ได้มองว่าชาวบ้านจะคิดอย่างไร

 

 "ที่ผ่านมา มีการออกมาพูดว่า จะเอาเชียงของเป็นเมืองนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ซึ่งตนก็อยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ว่าการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแล้วมันจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ได้อย่างไร คุณลองไปถามชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หรือนิคมฯ ลำพูน ดูสิว่า นิคมอุตสาหกรรมมันดีจริงหรือ ดังนั้น การจะสร้างนิคมฯ เชียงของ จะต้องมีการอธิบายให้ชัด และต้องให้ชาวบ้านได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย"

 

นายนิวัตร กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ คนเชียงของจะต้องคิดให้ลึก คิดให้รอบคอบว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะทำให้เชียงของ ซึ่งเป็นเมืองแห่งธรรมชาติและวัฒนธรรมมาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชียงของ โดยเฉพาะพื้นที่จะมีการสร้างนิคมฯ เชียงของ นั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ อยู่ติดกับแม่น้ำอิง ซึ่งไหลลงแม่น้ำโขง หากมีการสร้างจริง เชื่อว่าจะกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

 

"ตอนนี้ที่ทางกลุ่มรักษ์เชียงของ ต้องเร่งดำเนินการก็คือ รวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจากทั่วประเทศเตรียมทำเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ทำความเข้าใจถึงผลได้ผลเสียจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมให้ชาว อ.เชียงของได้รับรู้ ซึ่งรัฐจะมาอ้างเพียงแค่มวลรวมของรายได้ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมองถึงมวลรวมความสุขของคนท้องถิ่นด้วย เพราะคนเชียงของทุกวันนี้มีความสุขและอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งเราถือว่าทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่า และอยากจะบอกว่ากลุ่มนักลงทุนจีนที่จะเข้ามานั้น เขาไม่เคยสนใจชีวิตมนุษย์เลย"

 

ด้าน น.ส.ปวีณา สุยะวงศ์ ปลัดอบต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทราบข่าวว่าเริ่มมีการทยอยการซื้อขายที่ดินที่จะอยู่ในบริเวณที่ตั้งโครงการกันในราคาไร่ละ 2 แสนบาท ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ 2 ตำบล แต่จะอยู่ในพื้นที่ ต.สถาน เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าว ครม.มีมติอนุมัติโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงของ จนถึงขณะนี้ ทาง อบต.ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดๆ ออกมาชี้แจงรายละเอียดของโครงการเลย

 

"การที่จะให้สร้างหรือไม่ให้สร้างนิคมฯ เชียงของนั้น คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของชุมชนเป็นหลัก แต่ถ้าหากมีการดำเนินการจริง ทางอบต.คงต้องต้องเตรียมแผนการที่จะรับกับผลกระทบที่จะตามมาเอาไว้ ไม่ว่าในเรื่องของปัญหาขยะ น้ำเสีย ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องปรึกษาหารือกันอีกครั้ง"

 

ในขณะที่ นายอินสม วงศ์ชัย ประธานสภาวัฒนธรรม ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ กล่าวว่า โดยความเห็นส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงของ เพราะเชื่อว่าจะต้องเกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมทั้งวัฒนธรรมของคนเชียงของอย่างแน่นอน

 

"พื้นที่ทุ่งสามหมอน ที่จะสร้างนิคมฯ นั้น เป็นพื้นที่ทำนา ทำการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของ อ.เชียงของ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ต่อไปชาว อ.เชียงของต้องลำบากแน่ เพราะไปขายที่นา ต่อไปเงินหมด สุดท้ายก็สูญเสียที่ดิน และต้องซื้อข้าวกิน และอย่าหวังว่าจะได้งานทำในโรงงาน เพราะดูจากโรงงานที่อื่นๆ มีแต่แรงงานจากต่างถิ่น ต่างชาติไม่ว่า จีน พม่า ลาว ทั้งนั้นที่เข้ามาทำ"

 

นายอินสม กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ คนเชียงของนั้นอยู่กันแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำนา ปลูกพริก ข้าวโพด แม่บ้านทอผ้า ผู้สูงอายุจักสานไม้ไผ่ อยู่กันอย่างมีความสุข ซึ่งหากเกิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมาจริงๆ จะต้องมีคาราโอเกะ นวด ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ เข้ามา และเชื่อว่าวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนเชียงของ ต้องล่มสลายอย่างแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กลุ่มชาวบ้านในเขต อ.เชียงของ กำลังวิตกกังวลกันว่า ในที่สุดแล้ว จะมีการสร้างนิคมอุตสากรรมเชียงของหรือไม่นั้น มีรายงานแจ้งว่า ในส่วนของคณะกรรมการร่วมซึ่งมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นแกน ก็กำลังเร่งกำหนดสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการลงทุนให้ชัดเจน โดยจะเน้นสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่านิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวจีน คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทาง กนอ.น่าจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นที่ชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท