วสันต์ พานิช : "เราทำงานช่วยรัฐบาล ถ้ารัฐฟังเรา จะได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ"

สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเวลานี้ดูจะเลวร้ายขึ้นทุกที แนวโน้มของการ "คุกคาม" ดูจะมีสูงขึ้นและแพร่ไปทั่วทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สัญลักษณ์แห่งการปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทยก็ยังตกอยู่ในภาวะนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าตระหนกว่า แล้ว "ประชาชน" ตาดำๆ ปากแดงๆ อย่างเราๆ ทั่วไปจะอาศัยอยู่ในประเทศนี้โดยรู้สึกปลอดภัยได้อย่างไร


 

บทสัมภาษณ์นี้เป็นการพูดคุยเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" จากการทำงานและประสบการณ์ของ "วสันต์ พานิช" คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2549 ที่ทำให้รู้ว่า "ประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน" กับ "เผด็จการในอดีต" ไม่ได้มีอะไรต่างกันนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะแม้จะมีรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการ "งดใช้" ในข้อที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประชาชนอย่างไม่มีปี่หรือขลุ่ย

 

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ดังกล่าว "วสันต์ พานิช" และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบใดก็ตาม

 

0 0 0

                                                                                             

เริ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่ พ.ศ.2519 เดิมอาจารย์ เสน่ห์ จามริก ได้จัดตั้งสหภาพสิทธิเสรีภาพของประชาชนขึ้นมา กรรมการชุดนั้นมี อนันต์ เสนาขันต์, เปรม มาลากุล ณ อยุธยา ร่วมกันก่อตั้ง

 

ผมเข้ามาในช่วงหลัง เป็นรองประธาน พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สหภาพถูกค้นและยุบไปโดยปริยาย ถามว่าทำไมสหภาพจึงเกี่ยวข้องกับด้านสิทธิมนุษยชน เพราะความหมายสิทธิมนุษยชนคือสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคที่รับรองโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

 

แต่ในสมัยก่อน รัฐธรรมนูญเขียนถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้น้อย ทำให้เวลาทำงานในช่วงนั้นจะอ้างถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี เป็นฐานวิธีคิดแต่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ

 

ทำงานยากหรือไม่ในช่วงปี 19

ที่ทำยากเพราะกรรมการทำงานเอง มีเจ้าหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานแค่คนเดียว งานก็เช่นเขียนบทความเรื่องความเดือดร้อนในขณะนั้น มีเรื่องแรงงาน มีการออกกฎหมายแรงงานฉบับชาวบ้าน

 

เทียบกับปัจจุบันแล้วสิทธิมนุษยชนเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน

หลัง 6 ตุลา ถือว่าอยู่ในยุคกึ่งเผด็จการ มีธรรมนูญการปกครองประเทศ แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญใช้ จนกระทั่งหลายปีพัฒนาการด้านสิทธิมีมากขึ้น ช่วงสมัยรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป้าหมายก็ชัดมาเรื่อยๆ ว่าต่อสู้กับเผด็จการ

 

ช่วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ขึ้นมา โดยมี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม, พล.อ.ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, ปู่แคล้ว นรปติ ทำงานเพื่อประชาธิปไตยรุ่นแรก ผมเข้าไปทำงานเผยแพร่ พอรุ่นสองรุ่นสามจึงเข้ามาเป็นคณะกรรมการจากนั้นเริ่มมีการจัดตั้งเป็นเครือข่าย

 

แรงบันดาลใจที่มาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคืออะไร ภายหลังเปลี่ยนแปลงความคิดไปบ้างหรือไม่

เปลี่ยน คือเราทำงานอยู่กับคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เขาก็ยังถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่วันยังค่ำ แต่อย่างน้อยเขาต้องมีที่พึ่ง ผมเองนอกจากทำงานเหล่านี้แล้วก็ยังมีการว่าความทางการเมือง ทำมาตั้งแต่ปี 19 มีคดีกบฏรถสองแถวที่ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ คดีต่อมาก็คดีอ้อมน้อย มีการจับนักศึกษา 4 คน ได้แก่ สุภาพ ฟัสอ๋อง พิสิฐ พัฒนเสรี นิภาพรรณ พัฒนไพบูลย์ ปัจจุบันก็คือสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คนสุดท้ายคือ เสมือนศรี เบญจาคกุล นอกจากนั้นก็มีการจับแรงงานอีกประมาณ 5 คน ในข้อหากบฏและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

 

มีการฟ้องศาลทหารโดยการเอาศาลยุติธรรมมาทำหน้าที่ศาลทหาร จากนั้นคดีการเมืองก็มีต่อเนื่องมาเรื่อย ก็ว่าความเรื่อยมา คดีสำคัญช่วงหลังก็ได้แก่กรณีทุจริตยาที่มีการดำเนินคดีกับ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข

 

ส่วนแรงบันดาลใจที่เข้ามาทำงานนี้ คือเติบโตมาในครอบครัวคนชั้นกลาง ขณะเดียวกันไม่เคยคิดรับราชการเพราะพ่อเป็นราชการที่ตรงไปตรงมา ฐานะก็เลยลำบาก พอมาอยู่กรุงเทพฯ พ่อก็ต้องขับแท็กซี่หาเลี้ยงครอบครัวไปด้วย เพิ่งมาดีขึ้นช่วงที่พ่อลาออกจากราชการ ได้รับบำนาญและมาทำงานที่ชมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย รายได้ก็ดีขึ้น พอเลี้ยงครอบครัวได้แบบสบายๆ

 

จากช่วงนั้นมาก็มองเห็นว่า เมื่อเคยลำบากแล้วขยับฐานะขึ้นมาเป็นคนชั้นกลาง หันกลับไปมองคนอื่นๆ เขาจะสู้อย่างไร ก็ไปร่วมในกระบวนการต่อสู้กับเขา

 

พื้นฐานการคิดมาจากการศึกษาด้วยหรือไม่

ไม่ ตอนเรียนอาจจะต่างจากคนอื่น ใส่ใจแต่ไม่ได้ร่วมในกระบวนการมากนัก อย่างการชุมนุมขึ้นค่ารถเมล์จาก 50 สตางค์ เป็น 75 สตางค์ ก็ไม่เห็นด้วย

 

แสดงว่ารากความคิดมาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ไม่ใช่ แสดงว่ายังเข้าใจผิด ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลายเรื่องหลายตอนคือพื้นฐานของสิทธิผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ต้องหาควรจะมีทนายความ

 

ในสมัยเผด็จการ ศาลจะเป็นศาลทหาร ผู้ต้องหาจะต้องว่าความด้วยตัวเอง อย่างดีก็มีที่ปรึกษากฎหมายโดยเอาตำราไปให้

 

ภายหลังเพิ่งมาแก้ให้มีทนายได้ ผมเลยเข้าไปเป็นทนายคนหนึ่ง แต่โดยกติกาของกฎหมายมีว่า ต้องว่าความศาลเดียว แล้วการอำนวยความยุติธรรมจะเป็นไปได้อย่างไร

 

ช่วงหนึ่งก่อนปี 19 จึงมีการประท้วงทั่วประเทศเรื่องการเอาศาลยุติธรรมทำหน้าที่ศาลทหาร ทนายความประท้วงว่าไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีศาลสูง ในที่สุดจึงยกเลิกไป ความคิดต่อสู้นี้ถูกสั่งสมมาในวิชาชีพทนายความอยู่แล้ว

 

เมื่อรัฐเองเป็นผู้ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำไมเรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับการใส่ใจน้อยมากแม้ในปัจจุบันนี้ก็ตาม

ในอดีตก็เพราะเป็นรัฐบาลทหาร แต่ถ้าเทียบกับปัจจุบันพูดให้ง่ายๆก็เหมือนการปฏิวัติเงียบ คือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง กติกาตามรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่มีการงดการบังคับใช้จึงไม่ได้ต่างกันเลย แต่เป็นการกระทำโดยรัฐบาลพลเรือนแค่นั้นเอง

 

ขยายความหน่อย

ลองกลับไปดูกระบวนการยุติธรรมในช่วงสงครามยาเสพติดมีการปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมปกติหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมปกติคือมีพยานหลักฐาน ถ้าไม่มีก็รอเอาไว้ นานาประเทศก็ใช้หลักนี้ แต่ประเทศไทยใช้หลักการนี้หรือไม่ในช่วงนั้น

 

คราวนี้มาพูดถึงโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราไปเซ็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง สิทธิเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่ออกมารองรับสิทธิในการกำหนดตนเองที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรที่ดี

 

มีรัฐธรรมนูญมาตรา 46 มาตรา56 ที่ว่าด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของราษฎร ชุมชน ท้องถิ่นดั้งเดิมกับรัฐ หรือมาตรา 58 และมาตรา59 เรื่องกระบวนการรับฟังข้อคิดเห็น

 

แต่ที่ผ่านมากระบวนการเหล่านี้มีหรือไม่ในโครงการต่างๆของรัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกกะโปรเจ็คที่กำลังจะเกิดขึ้น จะต้องจัดทำกระบวนการรับฟังข้อคิดเห็น ทำอีไอเอ แต่ปัจจุบันที่ตรวจพบนั้นไม่ใช่ และไม่พอ ถ้ารัฐบาลจะอ้างรัฐธรรมนูญว่าได้ถามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 290 แล้ว ถามว่าสิทธิของชุมชน ประชาชนอยู่ตรงไหน ทำไมมองแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มันต่างกันคนละมาตรา ทำไมจึงงดใช้รัฐธรรมนูญ

 

ต่อมาเอฟทีเอ มันเปลี่ยนแปลงอธิปไตยของรัฐหรือไม่ หรือผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเหล่านี้หรือไม่ ที่ว่าเปลี่ยนแปลงอธิปไตยของรัฐนั้น รัฐไปคิดแต่เพียงหลักดินแดนแบบเดิม เช่น สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เขตไมล์ทะเล

 

สมมติว่าผมเป็นนาย ก. ตกลงกับนาย ข. ว่าถ้าผิดสัญญากันใช้อนุญาโตตุลาการ อันนั้นเป็นเรื่องระหว่างปัจเจกกับปัจเจก แต่ไม่ใช่รัฐต่อรัฐ เพราะปัญหาคือการบอกว่าต่อไปนี้ไม่ใช้ศาล จะใช้อนุญาโตตุลาการ ถามว่าเป็นการยกเว้นอำนาจของศาลยุติธรรมเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยของประเทศหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนก็ต้องถามสภาก่อน แต่นี่ทำหรือไม่

 

ยังไม่พอ คราวนี้มาพูดถึงผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เกษตรกรกลุ่มต่างๆ กลุ่มเลี้ยงโคนม โคเนื้อ ปลูกหอม กระเทียม เคยถามหรือไม่ว่าเขามีส่วนร่วมอย่างไร มีผลกระทบอย่างไร รัฐมีทางแก้ไขให้อย่างไร กระบวนนี้หายไปเลย ถ้าไม่มีถือว่างดใช้รัฐธรรมนูญหรือไม่

 

แล้วคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ เข้าไปทำอะไรได้แค่ไหน

ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำ ถือว่าเป็นการช่วยรัฐบาล การจับจ้องว่ารัฐบาลเดินไปตามกติการัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศแล้วเสนอแนะต่อรัฐ ขอถามกลับว่า หากรัฐหันมามองเพื่อนำไปปฏิบัติแล้วในเวทีระดับนานาชาติจะได้รับการยกย่องหรือไม่

 

เราถือว่าเราทำงานช่วยรัฐบาล ช่วยเป็นหูเป็นตา เป็นกระจกส่อง ถ้ารัฐฟังเราแน่นอนว่า รัฐบาลจะได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ

 

แต่ปัจจุบันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเหมือนจะถูกรัฐมองเป็นหอกข้างแคร่ ฐานคิดแบบนี้เกิดจากอะไร

การที่คิดเร็วทำเร็วแสดงว่ามีปัญหา เนื่องจากรัฐธรรมนูญออกมาเพื่อแก้ปัญหาการปะทะกันระหว่างรัฐกับภาคประชาชน ซึ่งถ้ารัฐยังเดินแบบเดิม การปะทะกับประชาชนยิ่งสูงขึ้น สังเกตดูว่าขณะนี้ปะทะทุกหย่อมหญ้า

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ใช่คนก่อ แต่เข้าไปตรวจสอบว่ารัฐไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน

 

อำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดูจะมีน้อย เป็นเพราะประชาชนไม่เข้าใจหรือรัฐไม่รับฟัง

ทั้งสองส่วน รัฐธรรมนูญออกแบบมาตามลักษณะการเมืองภาคตัวแทน คือเลือก ส.ส.ให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชนในสภา แต่ปัจจุบันต้องดูว่าการเมืองภาคตัวแทนสำเร็จหรือไม่ มีพรรคที่คิดว่าเป็นตัวแทนของประชาชนที่ไว้วางใจได้เกิดขึ้นหรือไม่

 

เมื่อไม่มีจึงกลับมามองใหม่ที่การเมืองภาคประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ออกแบบมารองรับเรื่องนี้มากมาย ทั้งในการรับรู้ข่าวสาร เช่นมาตรา 39 40 41 เสรีภาพของนักวิชาการในมาตรา 42 ยังไม่พอในมาตรา 48 ก็บอกว่าข้อมูลข่าวสารในหน่วยงานของรัฐต้องให้ ต้องชี้แจงกับประชาชน และเกิดเป็น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารติดอาวุธให้กับประชาชน

 

นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ เป็นการหันมามองที่ประชาชนเป็นหลัก

 

แต่ก็ต้องหันมาย้อนดูความจริงอีกทางว่า พวกเทคโนแครตมองเรื่องการคานอำนาจทางการเมืองว่ารัฐต้องการพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ทั้งๆ ที่ตอนนี้พัฒนาการชุมชนยังไม่เข้มแข็ง เมื่อเป็นแบบนี้คือภาครัฐเข้มแข็งแต่ชุมชนยังไม่เข้มแข็งก็ปะทะกันไม่ได้ ไม่มีทางสู้

 

เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าสู่ปีที่ 4 เห็นแล้วว่ามันดุลย์กันไม่ได้ เลยคิดถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 46 และ56 คือถ้ารอรัฐออกกฎหมายการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือสิทธิของชุมชนก็อาจจะช้าเกินไป จึงคิดทำโครงการกระจายอำนาจสู่ชุมชน โดยเอา อบต.ทั่วประเทศทั้งหมด 20 แห่งมานำร่องโดยคุยกันว่าหลักการกระจายอำนาจคืออะไร เมื่อกระจายอำนาจแล้ว อบต.กับชุมชนทำอะไรร่วมกันได้บ้างเพื่อความเข้มแข็งร่วมกัน ปีกว่ามานี้ก็ออกเป็นข้อบัญญัติชุมชนตามที่กฎหมายการกระจายอำนาจออกมารองรับแล้ว

 

หรือถ้าร่างเป็นข้อบัญญัติชุมชนไม่ได้ก็ให้ทำเป็นข้อตกลงชุมชน แม้ไม่เป็นกฎหมายก็เป็นกติกาที่ชุมชนจะปฏิบัติร่วมกันว่าต้องการอนาคตอย่างไร ไอเดียนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะขายเป็นระยะ ถ้าชุมชนไหนเอาโมเดลนี้ก็ทำร่วมกัน ชุมชนไหนอยากมีอุตสาหกรรม เช่น อยากดูดทรายก็ให้ทำข้อตกลงกันว่าทำอะไรได้แค่ไหน ชุมชนต้องการอะไรก็ให้กำหนดวิถีของตัวเอง

 

แต่เมื่อมีชุมชนลักษณะนั้นมักจะถูกรัฐกระทำให้เกิดความกลัว ดังกรณีต้านท่อกาซจะนะ กรณีไล่ที่สึนามิ หรือใน 3 จังหวัดภาคใต้

ความจริงแล้วมันช้า เพราะข้อตกลงชุมชนยังไม่ออก ที่บ้านกรูด-บ่อนอกก็เคยบอกให้ทำ

 

กรณีสึนามิ รัฐที่ดีต้องไม่ไปทำลายวิถีของเขา แต่รัฐเองไม่เข้าใจวิถีของชุมชน ไม่ยอมรับสิทธิของชุมชนดั้งเดิมเลย ทั้งในการประกอบอาชีพและการดำรงวิถีชีวิตที่เป็นปกติสุข หรือที่กล่าวมาเรื่องประมงพื้นบ้านเขาก็ควรอยู่ริมทะเล อาจจะมีบ้านที่อื่น แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีกระต๊อบเล็กๆ ที่เขาจะแยกปลา เก็บอวนอุปกรณ์

 

ตรงนี้ชาวบ้านสามารถไปฟ้องรัฐได้ เป็นการเรียกร้องสิทธิของเขาว่า ใช้กันมาดั้งเดิม ทำไมต้องมาถูกริดรอนด้วยการมีบังกะโล รีสอร์ท ดังนั้นชุมชนอยู่ตรงไหน สามารถฟ้องศาลปกครองได้ อาจอาศัยรายงานของคณะกรรมการสิทธิในการฟ้องร้องได้ด้วย

 

แนวคิดนี้มาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำ มีคำสั่งทางปกครองโดยมิชอบ ถ้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตรวจเจอก็สามารถใช้สิทธิแทนชาวบ้านได้ อาจให้เพิกถอนคำสั่งปกครองโดยชาวบ้านไม่ต้องจ้างทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะยื่นให้และไปแถลงต่อศาลแทน ในส่วนค่าธรรมเนียมก็สามารถยกเรื่องความเดือดร้อนมายกเว้นได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเหมือนคนกลางในการตรวจสอบและถ่ายทอด เป็นการช่วยศาลในการหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น

 

หรือถ้ามองว่าเรื่องดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังทำไม่ได้ เพราะไม่มีเขียนไว้ในกฎหมาย แต่เขียนไว้ในกฎหมายของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา

 

อาจารย์รับผิดชอบส่วนไหนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบ้าง

ตอนนี้เป็นประธานอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง อนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ อนุกรรมการประสานงานกรณีธรณีพิบัติภัยสึนามิ อนุกรรมการเฉพาะกิจติดตามการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร อนุกรรมการเฉพาะกิจกรณีมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมออกสู่สาธารณะ อนุกรรมการพิจารณานโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่เสร็จสิ้นไปแล้วคืออนุกรรมการเฉพาะกิจกรณีกฎหมายก่อการร้าย

 

มีอยู่หลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งรัฐดูจะอ่อนไหวกับเรื่องเหล่านี้ ทำงานยากหรือไม่

เป็นเรื่องลำบากพอสมควรที่ทัศนคติของประชาชนภาคอื่นๆ มองเราแยกจากเขา เป็นปัญหาพอสมควร

 

สิ่งที่รัฐควรจะต้องเปิดเผยให้มากขึ้นหรือสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิจะเข้าไปทำมีอะไรบ้าง

ตอนนี้ผมเองตัดจากกรณีภาคใต้พอสมควร คงไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่เดิมมีความร่วมมือเรื่องแนวคิดระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นแต่ปัจจุบันไม่เป็นไปในแนวความคิดเดิม

 

แนวคิดเดิมคือ ศูนย์ดังกล่าวต้องสามารถเอื้อความยุติธรรมไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่ตอนนี้ทำงานด้านคดีอย่างเดียว จึงเป็นมิติที่แคบ จนเหมือนเป็นเพียงศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์

 

เลยกำลังคิดว่า จะกลับเข้าไปดำเนินการว่า ฟื้นแนวคิดเดิมหรือหาเงินทุนให้งานของศูนย์นิติธรรมดำเนินหรือขยายงานต่อได้ ทั้งในการประกอบอาชีพ การหันกลับมาใช้ชีวิตตามเดิม นอกจากนี้ยังมองไปถึงสถาบันการศึกษาที่จะร่วมมือกันทำความเข้าใจต่อสาธารณะในวัฒนธรรมที่แตกต่าง เช่น ปอเนาะคืออะไร ก็ให้กระจายความคิดออกมา แต่ไม่ใช่การไปปรับให้เหมือนกับโรงเรียนในกำกับของรัฐแบบปกติ ปอเนาะเป็นวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง ต้องคืนสภาพกลับเดิมให้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติและดำรงอยู่ไม่ใช่ทำลายวิถี

 

ตอนนี้มีข้อเสนอ กอส. ออกมาแล้ว และทางคณะกรรมการสิทธิฯมีความร่วมมือกันอยู่จะนำข้อเสนอมาประยุกต์ใช้อย่างไรในขณะที่ตอนนี้รัฐไม่พูดถึงเลย

ตอนนี้ กอส. คงหมดบทบาท เดิมคนในพื้นที่เองก็มองว่า กอส. แก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ ความจริงแล้วไม่ใช่คนแก้ไข กอส.เป็นคนเข้าไปศึกษาแล้วเสนอให้รัฐบาลแก้ไข แต่คนในพื้นที่เข้าใจผิดว่า กอส.เป็นคนแก้ไข คนทำหน้าที่แก้ไขจริงๆ ก็คือรัฐ แต่เมื่อรัฐไม่แก้ไข กอส.เลยถูกโจมตีว่า ไหนล่ะแนวทางสมานฉันท์ที่ว่าแก้ปัญหาได้ ความจริงขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ ถ้าเมินเฉยก็จบ

 

แบบเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนคงลงไปเป็นกลไกที่จะทำงานแก้ไขปัญหา แต่ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐด้วย ถ้าไม่แก้ไขก็จบแบบเดียวกัน

 

แต่คิดว่าน่าจะมีวิธีการอย่างอื่น เช่น ฟ้องต่อศาล ความคิดนี้อาจจะไปไกลกว่าแค่การนำเสนอต่อรัฐ บางอย่างสามารถฟ้องให้มีการปฏิบัติตามนั้นได้

 

เป็นจริงได้หรือ

อันนี้เป็นรูปธรรม แต่เป็นโมเดลที่ยังไม่ได้ลงไปทำ ยกตัวอย่างเช่น ปอเนาะที่รัฐจะเข้ามาควบคุม โดยหลักการกฎหมายแล้วคำสั่งนี้ชอบหรือไม่ที่ให้ไปจดทะเบียน ถ้าไม่ชอบ ก็ฟ้องให้เพิกถอน จะเป็นทางปฏิบัติที่รุกว่ารัฐเข้ามายุ่งไม่ได้ เป็นหน้าที่ของศูนย์นิติธรรมที่ไม่ใช่แค่การเสนอต่อรัฐแล้ว

 

แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน เพียงเสนอไปทางประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรมา แล้วจะมอบให้ไปเป็นคณะลงไปเจรจาทั้งกับสภาทนายความ คณาจารย์ในพื้นที่ว่าจะร่วมลงมืออย่างไร แล้วจึงลงมือปฏิบัติจริง

 

คงต้องขอเงินทุนด้วย เพราะเดิมที่มีเงิน กอส. เจียดมาให้ 5 ล้านบาท คิดว่าไม่พอในการทำงานระยะยาวแบบนี้ งานนี้ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยรัฐในการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ถ้ารัฐมองเห็นเจตนาดี

 

มันต่างจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้( ศอ.บต.) เดิม ตรงไหน

มันมากกว่า ศอ.บต.อาจจะมองไม่ครบทุกมิติ เราจะร่วมกับสถาบันการศึกษาและชุมชนเพื่อผนวกวิธีคิดว่าปัญหาคืออะไร จากนั้นจะช่วยผลักแนวความคิดให้ออกมา ศอ.บต.จะไม่มีการรุกฝ่ายรัฐ แค่เป็นทางผ่อนคลายเท่านั้น แต่แนวทางที่เราจะทำคือสามารถกลับมาดูว่าถ้าใช้กลไกอะไรได้ก็จะใช้

 

แล้วถ้าเทียบกับแนวคิดศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) ที่กอส.เสนอต่างกันหรือไม่

ไม่แน่ใจ แต่คงคล้ายกัน เพราะแนวคิดมาจาก 3 องค์กรที่รวม กอส.ด้วย เพียงแต่ศูนย์นิติธรรมที่ตั้งขึ้นมาแล้วผิดเพี้ยนไปเป็นการช่วยแค่เรื่องคดีอย่างเดียว คือแค่หาทนายมาว่าความให้ เป็นการจำกัดให้อยู่กรอบอันเล็ก ทั้งที่แนวความคิดเดิมมันใหญ่

 

ปัญหาที่ทำให้ผิดเพี้ยนอาจเป็นเพราะคนที่ประสานอาจจะขาดความเข้าใจ แต่ไม่ขอวิจารณ์ และตอนนี้ผมกำลังจะกลับเข้าไปทำให้เป็นแนวคิดตั้งต้น

 

กรณีคนต่างด้าวในกรณีศพนิรนาม 400 ศพ ที่ปัตตานีในมุมมองของสิทธิมนุษยชนจะจัดการอย่างไร

ตอนนี้ผมมุ่งไปที่เรื่องศพของแรงงานต่างด้าวมากกว่า แนวทางคือจะแจ้งไปที่สถานทูตของ 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา และประเทศพม่า ให้ช่วยประกาศกับญาติพี่น้องของเขาที่สูญหายเนื่องจากกรณีความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยผมเองยินดีที่จะพาหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ไปตรวจดีเอ็นเอถึงประเทศเขา เมื่อพิสูจน์ได้แล้ว หลักการสิทธิมนุษยชนประการแรกคือ เมื่อเขาเสียชีวิต ต้องหาให้ได้ว่าเขาถูกทำให้ตายได้อย่างไร และเมื่อถูกทำให้ตาย ก็ควรจะมีการเยียวยาชีวิตที่เสียไป กฎหมายเราก็ชอบที่จะเข้าไปช่วยเหลือ

 

ความจริงแล้วบุคคลเหล่านี้ที่เป็นแรงงานที่มาสร้างคุณูปการให้แก่คนไทย เขาเป็นแรงงานที่ค่าแรงราคาถูกด้วย อย่ามองว่าเป็นเพียงคนต่างด้าว ที่เรากินอาหารทะเลราคาถูกกว่าที่อื่นๆ หลายส่วนก็มาจากแรงงานราคาถูกของเขา เมื่อเป็นอย่างนี้รัฐต้องเยียวยา

 

อีกอย่างหนึ่ง นอกจากการเยียวยา คือความเชื่อของแต่ละศาสนาแม้จะต่างกัน แต่มีจุดที่เหมือนกันคือการนำศพไปประกอบพิธีทางศาสนา ดังนั้นญาติพี่น้องเขาควรจะได้รู้ว่าญาติเขาตายแล้ว ไม่ใช่ให้คิดว่ามาทำงานในไทยแต่ติดต่อไม่ได้ ญาติเขาควรได้นำศพไปประกอบพิธี ในทางพุทธก็พูดได้ว่าเป็นบุญ ศาสนาอื่นก็คงอยากได้ศพไปประกอบพิธีทางศาสนาเหมือนกัน ผมจะแยกมาทำส่วนนี้ จะได้ไม่ยุ่งยากกับใคร

 

แล้วจะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีอย่างนี้ได้อย่างไร

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีคณะอนุกรรมการด้านแรงงาน จะดูแลรวมถึงแรงงานต่างด้าว เพราะเวลาเกิดปัญหา เราไม่ได้แยกปัญหา เราต้องอำนวยความยุติธรรม เพราะหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดน ไม่จำแนกศาสนา เชื้อชาติ เพศ สีผิว แต่เป็นเรื่องสากล การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คือหัวใจของสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท