Skip to main content
sharethis

ประชาไท—20 ก.ค. 2549 ฮิวแมนไรท์ เฟริสท์ ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในวานนี้ (19 ก.ค.) ว่า หนึ่งปีภายหลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศใช้ พ. ร. บ. ภาวะฉุกเฉิน มีสัญญานให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้นอ่อนแอลงอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นพ.ร.บ.ภาวะฉุกเฉินยังกลับเป็นเชื้อไฟโหมใส่ความรุนแรงในภาคใต้ขึ้นอีก รายงานฉบับใหม่ล่าสุดของฮิวแมนไรท์ เฟริสต์ ชื่อว่า ความพ่ายแพ้: นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านการก่อการร้ายของไทย


 


"ภาพพจน์ของไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนยังไม่ดี เพราะไม่มีการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย รวมทั้งยังคงมีการจับกุมคุมขังโดยพลการและการอุ้มหาย" มารีน บรานส์ ผู้อำนวยการบริหารของฮิวแมนไรท์ เฟริสต์กล่าว


 


นอกจากนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีความรุนแรงภาคใต้ ก็กลับถูกคุกคามและข่มขู่เนื่องจากการทำงานนี้ด้วย


 


 "มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกว่า 20 คนในรอบห้าปีนี้ที่ถูกสังหารเสียชีวิตไป ตั้งแต่พระภิกษุจนถึงทนายความ รัฐบาลไทยมีพันธกรณีที่ต้องรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้และการสังหารบุคคลเหล่านี้ก็ต้องมีการตรวจสอบอย่างโปรงใส่และจริงจัง" บรานส์กล่าว


 


ในรายงานได้กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงภาคใต้ว่ายังมีระดับความรุนแรงสูง และมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่าเป็นความล้มเหลวในการสร้างความโปร่งใสและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การเลือกที่จะไม่ใช่นิติวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรง ปัญหาการละเมิดสิทธิในขณะที่มีจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยโดยใช้พ.ร.บ. ภาวะฉุกเฉิน การใช้บัญชีดำในการจับกุมผู้ต้องสงสัย การอุ้มหายและการคุกคามนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนและการทำงานของทนายความในพื้นที่ เป็นต้น


 


ในรายงานได้ยกตัวอย่างกรณีหลายกรณี เช่น การดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยที่เป็นชาวบ้านด้วยข้อหากีดขวางการจราจรในกรณีเหตุการณ์สังหารนาวิกโยธินที่ตันหยงลิมอ การจับกุมชาวบ้านในร้านน้ำชากรณีเกิดเหตุการณ์ปะทะที่บันนังสตา การจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหากรณีปล้นปืน 4 มกราคม พ.ศ. 2547 และต่อมาทั้งหมดศาลยกฟ้องทั้งหมด หรือกรณีการดำเนินคดีครูสอนศาสนา 8 คนที่ฮิวแมนไรท์ เฟริสต์ได้ร่วมสังเกตการณ์ในคดีเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่ผ่าน ในการพิจารณคดีในศาล ตำรวจและอัยการนำพยานปากสำคัญคนหนึ่งมาเบิกความในชั้นศาล โดยข้อกล่าวหาครูสอนศาสนาทั้ง 8 คนว่าเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงนั้นอาจจะเป็นเท็จ


 


ทนายความจำเลยได้นำหลักฐานในชั้นศาลที่เป็นวีดีโอบันทึกพยานคนหนึ่งที่ต่อมาถูกฆ่าตายแล้วมาแสดงในศาล ภาพวีดีโอบันทึกภาพเป็นการซักซ้อมทางโทรศัพท์ระหว่างพยานปากสำคัญคนนี้กับพยานคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ว่าจะให้การในชั้นสอบสวนของตำรวจว่าต้องให้การซัดทอดจำเลยทั้ง 8 คนอย่างไร


ในรายงานฉบับนี้ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะในการคุมขังบุคคล การทำให้บุคคลหายไปหรือการอุ้มหาย และข้อเสนอแนะต่อกรณีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนดังนี้


 


•           รัฐบาลจะต้องยกเลิกการใช้พ.ร.บ ภาวะฉุกเฉิน หรือในระดับแรกต้องปรับปรุงมาตราที่ระบุให้เจ้าหน้าที่สามารถคุมขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่มีการตั้งข้อหา และไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับทนายความ เป็นเวลากว่า 30 วัน และแก้ไขมาตราที่เหมือนกับว่าเป็นใบอนุญาตให้ฆ่าสังหารได้ นั้นคือมาตราที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่จะได้รับการอภัยโทษไม่ต้องถูกดำเนินคดี ในกรณีที่มีการละเมิดหรือกระทำผิดเกิดขึ้น


•           รัฐบาลควรที่จะดำเนินการอย่างดีและจัดหากลวิธีในการแก้ไขเรื่องการอุ้มหายหรือบังคับให้คนหายไป โดยการยอมรับว่าการอุ้มหายเป็นการกระทำความผิดทางอาญา และสร้างแนวทางการปฎิบัติงานในระดับชาติให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีการอุ้มหายและรวมถึงการตรวจสอบศพไร้ญาติที่พบในภาคใต้ให้กระจ่างว่าเป็นใคร


•           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องทำให้แน่ใจว่ามีการสืบสวนสอบสวนที่มีประสิทธิภาพและการปกป้องคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าสังหารนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการจัดเพิ่มมาตราฐานการการคุ้มครองพยานให้ดีขึ้น


 


รายงานฉบับภาษาอังกฤษฉบับ เต็มหาดูได้จาก http://www.humanrightsfirst.info/pdf/06713-hrd-thailand-rep-web.pdf


 


รายงานฉบับย่อหาดูได้จาก http://www.humanrightsfirst.org/media/usls/2006/statement/233/


 


 


-----------------------------------------


(ฮิวแมนไรท์ เฟริสท์ เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน มีสำนักงานอยู่ที่กรุงนิวยอร์คและวอชิงตัน ดีซี เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 ทำงานในสหรัฐอเมริกาและในประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างให้โลกและนานาประเทศมีความยุติธรรม มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการเคารพต่อหลักนิติรัฐ ที่ผ่านมาในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำสงครามกับผู้ก่อการร้าย การออกรายงานสิทธิมนุษยชนกรณีค่ายกักกันที่อ่าวกัวตานาโม ประเทศคิวบา ประเทศอิรัก และอัฟกานีสถาน รวมทั้งการต่อต้านการทรมานโดยทหารสหรัฐ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ทางฮิวแมนไรท์ เฟริสท์ ให้ความสำคัญต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้และสถานการณ์ต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยได้มีการลงพื้นที่เพื่อพบเหยื่อที่ถูกละเมิด การสังเกตุการณ์คดีความมั่นคงและคดีการสังหาเจริญ วัดอักษร และที่ผ่านมาได้จัดทำรายงานการสังเกตการคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร )

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net