Skip to main content
sharethis




จากซ้ายไปขวา รศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,ผศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล และอาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล


วานนี้ (19 ก.ค.) ที่ห้อง 102 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วงเสวนาหัวข้อ "การเมือง" ของการเมืองไทย ถูกจัดขึ้น โดยมีนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นวิทยากรเสวนา ได้แก่ ผศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล, อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล และ รศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นับเป็นการเสวนาสาธารณะเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ภายหลังจากที่มีการ "วิวาทะทางความคิด" ระหว่าง นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจ้าของบทความ "จดหมายเปิดผนึก ถึง กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" ซึ่งตีพิมพ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 7-14 กรกฎาคม 2549 กับ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เจ้าของบทความ "กระฎุมพีภาคประชาชน" ซึ่งตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ประจำวันที่ 11 กรกฎาคม ในอีกแง่หนึ่ง การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังถูกจับตามองว่ากำลังชนกับ ผู้มีบารมี และถูกตั้งข้อสังเกตว่าปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลรักษาการเกินขอบเขต



 


อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล กล่าวว่า ในสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น หลายๆ คนสับสนต่อมาตรฐานทางกฎหมายและจริยธรรม รัฐบาลมักสร้างวาทกรรมความชอบธรรมด้านกฎหมายขึ้นมาสู้กับฝ่ายต่างๆ ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีการสร้างวาทกรรมความชอบธรรมทางจริยธรรมขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งความขัดแย้งของวาทกรรมดังกล่าว ไม่มีตัวกลางหาทางออก อย่างไรก็ตามสถาบันสำคัญคือ ศาล ก็ถูกนำเข้ามาเล่นเกมนี้ด้วย ซึ่งเป็นบทเรียนสะท้อนจุดยืนของศาล ว่าที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ศาลไม่เคยมีจุดยืนแบบ Active Judicial คอยแต่หลบปัญหาตลอด


 


 "จริง ๆ แล้ว ภาพของศาลเองก็ไม่ได้ต่างไปจากรัฐสภา มีกรณีผู้พิพากษาแย่งกันไปดูงานเมืองนอกก็มี มีการที่อำนาจทุนแบบ Rent Seeker ชนะคดีฟ้องร้องเพราะตนมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่าความ มีล็อบบี้ก็มี เพียงแต่ศาลมีอำนาจตัดสินให้คนติดคุก เราก็เลยไม่ไปข้องแวะ ไม่ไปแฉ"


 


ด้าน รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งในปัจจุบัน นั้นเกิดจากความล้มเหลวของแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่าง เมืองกับชนบท และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนจากนายทุนผู้แสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Rent Seeker) จากรัฐมาเป็นการเข้าไปยึดสมบัติชาติเป็นของตัวเอง โดยฉวยจังหวะของเสรีนิยมใหม่ หรือโลกานุวัตร ซึ่งต้องการใช้อำนาจรัฐเปลี่ยนสมบัติรวมของรัฐเป็นสมบัติเอกชน ทำให้ยิ่งตอกลิ่มความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท


 


รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ คือ เอากลไกข้าราชการซึ่งแต่เดิมเป็นอิสระมาเป็นกลไกของตัวเอง ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดอำนาจตกอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว และไม่มีการคาน ซึ่งสังคมไทยไม่เคยตกอยู่ภายใต้อำนาจหนึ่งเดียวมาก่อน ความขัดแย้งในสังคมไทยจึงสูง นอกจากนั้น ยังมีนักธุรกิจที่เป็น Rent Seeker เดิม แต่หนนี้เกาะรัฐไม่ได้ จึงต้องโค่นไทยรักไทย ขอให้นึกถึงทุนธนาคาร TPI ฯลฯ นี่จึงไม่ใช่ทุนล้าหลัง ทุนก้าวหน้า แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นทุนกาฝากเหมือนกัน มันทะเลาะกันและต้องการให้สังคมเข้าไปตอกลิ่ม เพื่อให้อีกฝ่ายถอย


 


"เพราะฉะนั้น ทุนไทยจึงเป็นทุนเฮงซวย ที่คอยเกาะอำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ หากทุนธนาคารหนุนพรรคการเมืองบางพรรคกลับมายึดอำนาจรัฐได้ กระบวนการแบบเดียวกับที่ทักษิณทำก็จะต้องเกิดอย่างไม่ต่างกัน" รศ.ดร.อรรถจักร กล่าว


 


นอกจากนี้ รศ.ดร.อรรถจักร์ ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นกลางในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่า น่าเสียดาย ที่การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการเติบโตที่ไม่สร้างเครือข่าย เป็นการต่อสู้ที่เน้นเผด็จศึก ไม่สามารถต่อสู้ยืดเยื้อ เพราะฐานทรัพยากรไม่พอ ซึ่งต่างจากการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในปี 2516 ที่การต่อสู้ของนักศึกษาเป็นการสร้างเครือข่าย จึงอยากให้สังคมไทยเรียนรู้การต่อสู้ของสังคมสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามเวียดนามคือทศวรรษที่ 1970-1980 ซึ่งมีเครือข่ายของประชาชนเกิดขึ้นเยอะมาก และเริ่มรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปัจจุบันนี้ที่จอร์จ บุช ทำสงครามกับอิรัก


 


"ดังนั้น ชนชั้นกลางจะต้องไม่รังเกียจคนจน จะต้องเรียนรู้ปัญหาคนจน เพราะถ้าคนชั้นกลางยังคิดแบบเดิม ต่อให้ทักษิณออกไปมีคนใหม่มาสังคมก็เหมือนเดิม"


 


ทั้งนี้ รศ.ดร.อรรถจักร์ ยังกล่าวถึงผู้มีบารมีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงด้วยว่า ไม่น่าจะใช่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ และการพูดในวันนั้น ทักษิณคงตั้งใจพูดเพราะมีสคริปต์ ขอเดาว่าสื่อมวลชนคงรู้ว่าทักษิณพูดถึงใคร แต่ไม่กล้าเขียน เพราะไม่คิดว่าใครจะวิจารณ์ไปถึงสิ่งสูงสุดที่เรารัก


 


ในขณะที่ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่สถาบันทางการเมืองต่างๆ ตกต่ำ แต่ในทางตรงกันข้ามสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อยู่สูงส่งและมีความชอบธรรม ดูได้จากกรณีฉลองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี เปรียบเทียบกับ 60 ปี ซึ่งกรณีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ภาพในหลวงโบกพระหัตถ์ต้องประทับอยู่ในสายตาคนไทย ผิดกับ 10 ปีมานี้ที่สถาบันรัฐสภาตกต่ำลง


 


นอกจากนี้ ผศ.สมชายยังกล่าวว่าแม้ว่ารัฐบาลสมัยนายชวน หลีกภัย กับรัฐบาลสมัย พ.ต.ทักษิณ ชินวัตร จะไม่ต่างกัน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นทำให้เกิดฐานความนิยมของประชาชนที่กว้างกว่า จะบวกด้วยแรงเสริมจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย


 


"อย่างไรก็ตาม ผมไม่ชอบใจกับคำพูดที่ว่า 16 ล้านเสียง โง่ ไม่รู้ข้อมูล เพราะจริงๆ แล้ว คนจนในสังคมไทยถูกละเลยมานาน แต่ทักษิณเป็นผู้ปลุกวิญญาณคนจนให้มีชีวิต ทำให้คนจนมีที่ทางของนโยบาย อาจกล่าวได้ว่าคนจนอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า รักในหลวง ห่วงทักษิณ ขณะที่ชนชั้นกลาง รักในหลวง เกลียดทักษิณ คนจนใส่เสื้อเหลืองมั้ย... ใส่ เลือกทักษิณมั้ย...เลือก คือในมุมมองของคนจน 2 สถาบันดังกล่าวคือสถาบันพระมหากษัตริย์และทักษิณได้ทำอะไรให้กับคนจนไว้มาก"


 


ในตอนท้ายของการเสวนา รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ต้องไม่ปฏิรูปเฉพาะกลไกกฎหมาย แต่เราต้องปฏิรูปสังคม สังคมจะต้องตระหนักว่า เราจะทำอย่างไรให้รัฐไทยบริการคนทุกคน คือ บางนโยบายที่ทักษิณทำอยู่ทุกวันนี้อย่างเช่น 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นหน้าที่ของรัฐที่ควรทำ แต่ปัญหาคือกลายเป็นว่า เป็นบริการของทักษิณ เราต้องกดดันให้ทุกพรรคทำแบบนี้ ต้องทำให้การประกันสุขภาพ หรือนโยบายต่างๆ เป็นหน้าที่ของรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net