Skip to main content
sharethis


ภาพจากสำนักข่าว AP


 


อาเมียร์ เปเรตซ์ (Amir Peretz) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลแถลงการณ์ในวันที่ 19 ก.ค. 49 ว่ารัฐบาลอิสราเอลไม่มีเจตจำนงที่จะยุติปฏิบัติการทางทหารในเลบานอนจนกว่ากองกำลังฮิซบอลลาห์จะพ่ายแพ้ และรัฐมนตรีเปเรตซ์ยังกล่าวประณามฮิซบอลลาห์ที่ยิงขีปนาวุธเข้าโจมตีเมืองไฮฟาของอิสราเอล เป็นเหตุให้มีพลเมืองเสียชีวิตนับสิบรายด้วย


 


อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศของอิสราเอลยังคงบุกเข้าไปทิ้งระเบิดในเมืองเบรุตซึ่งเป็นเมืองหลวงของเลบานอน และยังคงโจมตีเมืองเทียร์ (Tyr) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเลบานอน และเป็นพื้นที่ที่กองกำลังฮิซบอลลาห์รวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่น และรายงานล่าสุดแจ้งว่ายอดผู้เสียชีวิตในเลบานอนมีจำนวนกว่า 300 ราย รวมถึงผู้บาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน


 


ทางด้านรัฐบาลของนานาประเทศที่มีประชาชนตกค้างอยู่ในเลบานอน อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา ไทย และสหรัฐอเมริกา ต่างพากันเร่งอพยพประชาชนของตนออกจากเลบานอนทั้งทางรถและทางเรือ แต่ก็ประสบปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากท่าเรือที่เบรุตคับคั่งไปด้วยเรือจากหลายแห่ง เพราะขณะนี้เลบานอนได้กลายเป็นเขตสงครามไปแล้ว การนำประชาชนออกมาจากประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหารจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก


 


ส่วนข้อกล่าวหาที่สื่อมวลชนและกลุ่มประเทศอาหรับคัดค้านอิสราเอลที่ใช้กำลังเข้าโจมตีเลบานอน ทั้งที่สาเหตุความขัดแย้งมาจากกองกำลังฮิซบอลลาห์ ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ชาวเลบานอนทั้งหมดนั้น รัฐมนตรีเปเรตซ์ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของวายเน็ตนิวส์ว่า


 


"เราตั้งใจจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าเราจะไม่มีทางยุติสถานการณ์สู้รบครั้งนี้เด็ดขาด เราจะยืนหยัดจนกว่าเราจะได้เห็นว่าฮิซบอลลาห์ไม่มีทางกลับมาผงาดที่ชายแดนภาคใต้ของเลบานอนอีก ธงของฮิซบอลลาห์จะไม่มีวันถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา และรัฐบาลเลบานอนที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ ต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในดินแดนของตนเองด้วย"


 


ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้ระหว่างกองกำลังฮิซบอลลาห์และอิสราเอลจึงไม่มีทีท่าว่ายุติลงง่ายๆ สำนักข่าวบีบีซีของประเทศอังกฤษจึงนำเสนอบทสัมภาษณ์ประชาชนคนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในฝั่งอิสราเอลและเลบานอน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเสียงระเบิด ควันปืน และขีปนาวุธ มีผลกระทบอย่างไรแก่ผู้คนที่อยู่ทั้งสองฝั่งบ้าง


 


เสียงจากฝั่งอิสราเอล


 


กัล โปลินอฟสกี (GAL POLINOVSKY) ประชาชนจากเมืองไฮฟา


"ตอนที่ไฮฟาถูกโจมตีเมื่อวานนี้ (18 ก.ค. 49) ฉันกำลังอยู่พิธีศพของนายทหารคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปในระหว่างที่ฮิซบอลลาห์ก่อเหตุลักพาตัวเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เขาเพิ่งจะอายุ 24 ปีเท่านั้นเอง และฉันก็ทำงานที่เดียวกับน้องชายของเขา มันเป็นเรื่องเศร้ามากที่พ่อของเขาต้องมากล่าวไว้อาลัยแก่ลูกชาย"


 


"นี่เป็นครั้งแรกที่มีจรวดยิงมาโจมตีที่ไฮฟา นับตั้งแต่สงครามอ่าวครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในปี 91 (พ.ศ.2534) แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เราก็ต้องเจอกับระเบิดพลีชีพอยู่หลายครั้งทีเดียว"


 


"ฉันทำงานให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ตอนนี้เราได้หยุดงาน และต้องรอว่าเมื่อไหร่จะได้กลับไปทำงานอีกครั้ง ฉันเลยวางแผนว่าจะไปพักร้อนที่ประเทศไทยสักสามอาทิตย์ แต่ฉันก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ เพราะถึงเราจะไปได้ และยังมีเที่ยวบินอยู่ แต่ตอนนี้มันก็มีการต่อสู้เกิดขึ้นรอบๆ ตัว มันคงยากที่ฉันจะเดินทางไปในขณะที่ญาติพี่น้องของฉันยังตกอยู่ในอันตราย"


 


ราฟี ไวน์เบิร์ก-ลิทมัน (RAFI WEINBERG-LITTMAN) ประชาชนจากเมืองคาร์มิเอล (16 ปี)


"วันนี้ (19 ก.ค. 49) มีจรวดโจมตี (จากฝั่งเลบานอน) มากกว่าเดิม ผมนับจรวดได้อีกสี่ลูก มีอยู่ลูกหนึ่งตกใส่บ้านหลังหนึ่ง ทุกอย่างพังราบ และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จรวดลูกหนึ่งตกใส่บ้านอาจารย์ผมด้วย"


 


"มีหลายคนอพยพจากที่นี่ไปอยู่เมืองหลวง แต่ครอบครัวผมจะอยู่ที่นี่ต่อไป เพราะเราเกิดและโตที่นี่ ผมรู้ว่ามันมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับชาวเลบานอน แต่สำหรับพวกเราชาวอิสราเอล สถานการณ์ที่นี่มันก็ไม่ได้ดีเหมือนอย่างที่พวกคุณจินตนาการไว้หรอก"


 


"พวกเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องใต้ดินของบ้าน เวลาที่มีจรวดยิงข้ามฝั่งมา เราก็จะวิ่งเข้าไปในห้องหลบภัย และอยู่ในนั้นประมาณ 15 นาที เพราะระยะเวลาในการโจมตีส่วนใหญ่จะกินเวลาประมาณนั้น แล้วพอทุกอย่างเงียบไป เราก็จะออกมาจากห้อง"


 


"ถ้าเป็นเวลาปกติ ตอนนี้ผมคงได้ไปออกกำลังกายที่โรงยิม เล่นบาสเกตบอลที่สนาม หรือไม่ก็ออกไปเจอเพื่อนๆ ตอนนี้ผมได้แต่นั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์อย่างเดียว"


 


เสียงจากฝั่งเลบานอน


 


เอดมันด์ คูรี (EDMOND KHOURY) 52 ปี ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา


"นับตั้งแต่มีการก่อตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมา พวกเรา (ชาวเลบานอน) ต้องสูญเสียอะไรไปมากมาย อีกสองปีข้างหน้าก็จะครบรอบ 60 ปี (สงครามแย่งชิงดินแดนระหว่างเลบานอนและอิสราเอล) แต่ทำไมประชาคมโลกถึงไม่เข้ามาช่วยกันหาทางแก้ไขนี้อย่างจริงจังเสียที เพราะสิ่งที่พวกเราต้องการมากที่สุดก็คือความสันติสุขในตะวันออกกลาง"


 


"แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ชาวเลบานอนก็ยังต้องทนทุกข์ทรมานหลังจากที่อิสราเอลบุกเข้าโจมตีเมื่อหลายสิบปีก่อน และเราคงทำอะไรไม่ได้ นอกจากเตรียมตัวให้พร้อมกับความเจ็บปวดครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น"


 


"มีคำกล่าวที่ว่า "อย่าแหย่เสือหลับ เพราะคุณอาจจะถูกมันกินได้" และตอนนี้เราจะหวังอะไรได้อีก"


 


วาลิด นาสรัลลาห์ (Walid Nasrallah) 50 ปี, ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย


"ผมได้แต่นั่งนิ่งอยู่กับบ้าน ไม่กล้าออกไปเดินเพ่นพ่านข้างนอก และพวกเราก็จะนั่งล้อมวงกันหน้าทีวีเพื่อรอฟังข่าว"


 


"ถ้าผมเป็นพวกฮิซบอลลาห์ ผมคงจะไม่ลักพาตัวทหารอิสราเอลทั้งสองนาย แต่ตอนนี้เรื่องมันก็เกิดขึ้นแล้ว มันคงไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเรา-ชาวเลบานอน ที่จะกล่าวโทษการกระทำนี้"


 


"เราตกอยู่ในสถานการณ์ของสงคราม ไม่มีอะไรที่เราจะทำได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว และผมไม่คิดว่าการตัดสินใจของฮิซบอลลาห์ครั้งนี้จะทำให้ชาวเลบานอนลุกขึ้นมาต่อต้านพวกเขา"


 


"หลายคนพูดว่าอิสราเอลตอบโต้กลับมาอย่างรุนแรง เป็นเพราะพวกเขารอให้มีข้ออ้างที่เหมาะสมในการบุกเข้าโจมตีหนักๆ อย่างนี้อยู่แล้ว และบางคนก็พูดว่ารัฐบาลเลบานอนพยายามใช้โอกาสนี้พิสูจน์ให้ชาวเลบานอนเห็นว่ามันลำบากยากเย็นแค่ไหนที่เราไม่มีมาตรการรับมือการโจมตีที่เหมาะสมเลย"


 


"เราทำได้แค่รอดูเท่านั้น ผมเชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่สงบในเร็ววันนี้หรอก ผมไม่ห่วงด้วยซ้ำว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่ผมกังวลว่าอีกเดือนหนึ่งข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไรต่างหาก"


 


นาตาลี มาลเฮม (NATHALIE MALHAME) ประชาชนในเบรุต


"คนส่วนใหญ่ รวมถึงฉันด้วย ต่างก็พากันไปซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาตุนไว้ทั้งนั้น รวมทั้งเรายังได้เติมน้ำมันจนเต็มถังด้วย แต่สิ่งที่เป็นห่วงกันมากตอนนี้ก็คือว่าเราจะจัดการกับสัตว์เลี้ยงของพวกเรายังไง"  


 


"เมื่อเช้านี้ (18 ก.ค. 49) ฉันคิดว่าอะไรๆ คงจะดีขึ้น แต่แล้วฉันก็ได้ยินข่าวจากวิทยุว่าพวกฮิซบอลลาห์โจมตีอิสราเอลอีกแล้ว ฉันก็เลยวิตกกังวลขึ้นมาอีก"


 


"ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคริสเตียน ฉันอาศัยอยู่ในย่านชาวคริสต์ การกระทำของฮิซบอลลาห์ไม่ใช่สิ่งที่ฉันจะสนับสนุนเลย ฉันคิดว่าพวกเขาเป็นบ้าไปแล้ว และพวกเขาไม่ใช่ตัวแทนของชาวเลบานอนทั้งหมดด้วย"


 


"เรารู้สึกเสียใจแทนประชาชนผู้บริสุทธิ์ในอิสราเอลที่เสียชีวิตไป ถึงแม้ว่ากองทัพของอิสราเอลจะไม่เคยรู้สึกรู้สาหรือเห็นอกเห็นใจพวกเราที่นี่เลยก็ตาม"


 


เดนิส นาสซิฟ (DENISE NASSIF) นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน


"ฉัน สามีของฉัน และลูกๆ อีกสามคน มีกำหนดจะบินออกจากจากเบรุตไปอเมริกาในคืนนี้ (18 ก.ค. 49) แต่เราก็ทำไม่ได้ เพราะทหารอิสราเอลระเบิดสนามบินซ้ำแล้วซ้ำเล่า"


 


"เมื่อคืนนี้เด็กๆ ร้องไห้กันใหญ่ เพราะพวกเขาได้ยินเสียงระเบิดทำลายสะพานข้ามหุบเขาเบกา ที่เชื่อมระหว่างเมืองที่เราอยู่กับกรุงเบรุต แรงระเบิดทำให้กระจกร้าวเลยทีเดียว"


 


"ที่เมืองบัลเบคก็โดนระเบิดเหมือนกัน เพราะที่นั่นเป็นฐานที่มั่นอีกแห่งหนึ่งของฮิซบอลลาห์ เสียงระเบิดดังตลอดทั้งคืนเลย"


 


"พวกเราถูกตัดขาดและติดอยู่ในเลบานอน พวกนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ก็ไม่ต่างจากเรานัก"


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net